Skip to main content
sharethis

ศาลอาญานัดฟังคำสั่งไต่สวนการตาย 'มานะ อาจราญ' ลูกจ้างสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 10 เม.ย.53 แล้ว 21 ก.พ.56 นี้


เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา รัชดา ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ อช.8/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ชันสูตรการเสียชีวิตของนายมานะ อาจราญ ลูกจ้างของสวนสัตว์ดุสิตแผนก บำรุงรักษา ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อกลางดึกของวันที่ 10 เม.ย. 53 บริเวณสวนสัตว์ดุสิต แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กทม. ภายหลังการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำบริเวณแยกคอกวัวและถนนดินสอสงบลง ทั้งนี้ ลานจอดรถของสวนสัตว์ดุสิตเป็นจุดพักของเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหลายกองร้อย

โดยวันนี้เป็นการไต่สวนนัดสุดท้าย มีพยานทั้งสิ้น 5 ปาก หลังเสร็จการไต่สวน ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่  21 ก.พ.56 เวลา 09.00 น. สำหรับคดีนี้ไม่มีการแต่งตั้งทนายความ และไม่มีญาติผู้ตายร่วมสังเกตการณ์คดี

พยานปากแรก ส.อ.ศักดิ์อนันต์ ผุยโสภา ศูนย์ต่อสู้ป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบกที่ 2 ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา เบิกความว่า เมื่อปี 2553 ได้รับคำสั่งให้มาควบคุมการชุมนุมของกลุ่ม นปช. โดยมีกองกำลัง 120 นาย มีอาวุธคือ โล่ กระบอง และเสื้อเกราะ ไม่มีอาวุธปืน ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 22 นาฬิกาเศษ ขณะที่กำลังพลพักอยู่ที่ใต้อาคารจอดรถสวนสัตว์ดุสิต หลังจากรักษาการที่หน้าประตูสวนสัตว์ดุสิต เพื่อป้องกันไม่ให้รถของผู้ชุมนุมผ่านเข้าไปบริเวณถนนอู่ทองใน มีเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 2 นัด บริเวณด้านนอกรั้วรัฐสภา จากนั้น ทหารที่พักอยู่ด้านนอกก็วิ่งกรูผ่านประตูสวนสัตว์เข้ามา ราว 400-500 นาย โดยตนเองได้ใช้ไม้งัดสังกะสีที่ปิดซ่อมอยู่ เพื่อเปิดทางให้ทหารวิ่งไปด้านหลัง ทั้งนี้ นอกจากทหารแล้วจะมีผู้อื่นด้วยหรือไม่ ไม่ได้สังเกต

ส.อ.ศักดิ์อนันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเองนั้น วิ่งผ่านช่องเก็บตั๋ว และพลัดตกลงในบ่อน้ำ โดยระหว่างวิ่งทางจากอาคารจอดรถผ่านที่ขายตั๋วจนถึงบ่อน้ำ ไม่ได้ยินเสียงอะไรนอกจากเสียงปืนจากทางหน้าสวนสัตว์แต่ไม่รู้ว่ามาจากทิศใด โดยขณะที่อยู่ในบ่อน้ำ ราว 20 นาทีนั้นไม่ได้ยินเสียงปืนแต่อย่างใด จากนั้น ได้หาวิธีขึ้นจากบ่อ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ตชด. ช่วยขึ้นจากบ่ออีกด้านหนึ่ง และพักอยู่กับเจ้าหน้าที่ ตชด.ในสวนสัตว์ จนมีเจ้าหน้าที่จาก สน.ดุสิต มารับตัวไปส่งที่จุดรวมพลใต้อาคารจอดรถ นอกจากนี้เขายังระบุว่า ก่อนหน้านั้นระหว่างเข้าเวร เคยมีกลุ่ม นปช. 4-5 คน ขับรถมาแวะต่อว่าด้วย

พยานปากที่สอง จ.ส.ต.รังสรรค์ โฮชิน กองร้อยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา เบิกความว่า คืนเกิดเหตุ หลังจากเข้าเวรยามเพื่อไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในรัฐสภา ได้เข้าไปพักผ่อนบริเวณลานจอดรถในสวนสัตว์ เวลา 22.00น. จากนั้น 5-10 นาทีต่อมา มีคนร้องโวยวาย วิ่งแตกตื่นจากลานจอดรถไปด้านหลังสวนสัตว์ ขณะนั้นไม่ทราบสาเหตุ แต่ตกใจจึงวิ่งตามไป จนถึงบริเวณที่มีการก่อสร้าง ได้วิ่งหลบบริเวณกำแพงที่มีเสาไฟฟ้าและพุ่มไม้ ขณะที่วิ่งก่อนถึงกำแพง ได้ยินเสียงคนพูดว่า ถ้ามึงไม่ออกมา จะยิง แต่ไม่เห็นตัวและไม่รู้ทิศทางผู้พูด เพราะบริเวณดังกล่าวมืด และจากนั้นก็ไม่ได้ยินเสียงปืน เพราะมัวแต่วิ่งหลบ โดยบริเวณที่หลบอยู่นั้นมีทหารคนอื่นอยู่ด้วย แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะมืด โดยตนเองได้แอบอยู่สักพักจนเหตุการณ์ปกติ เมื่อมีคนมาตามเรียกไปรวมพล จึงออกมา

พ.ต.อ.ณัฎฐ์ บูรณศิริ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. เบิกความว่า เมื่อเวลา 0.40 น. ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ให้ร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีฆาตกรรมในสวนสัตว์ จึงเดินทางตรวจที่เกิดเหตุด้วยตัวเอง โดยไปถึงสวนสัตว์เวลาประมาณ 1.30น. โดยศพนายมานะ มีบาดแผลถูกยิงที่ศีรษะด้วยกระสุนปืนจากด้านหลังทะลุไปด้านหน้า บนทางเดินมุ่งหน้าไปทางสวนสัตว์ห่างจากศพ ประมาณ 20 เมตร พบปลอกกระสุน .223 จำนวน 2 ปลอกตกอยู่ ใกล้ปลอกกระสุนพบโล่ปราบจลาจล กระบอง และเสื้อสีเขียวระบุชื่อ "บารมี ชีพไธสง" โดยของกลางทั้งหมดได้ส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบต่อไป

พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ผู้อำนวยการกองสรรพาวุธ 2 สตช. เบิกความว่า พนักงานสอบสวนได้ขอให้ตนเองให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธและกระสุนปืน โดยให้ข้อมูลว่ากระสุนขนาด 5.56 มม. หรือ .223 ใช้ได้กับปืน M16 HK33 ซึ่งทั้งทหารและตำรวจมี และใช้ได้กับทราโว่ ซึ่งมีแต่ทหารเท่านั้นที่มีใช้ ส่วนอาก้านั้นใช้ไม่ได้  เมื่อยิงปืนแล้ว หัวกระสุนจะปรากฏรอยสันเกลียว ส่วนที่ปลอกกระสุน จะปรากฏรอยขอคัดปลอก บริเวณด้านข้างปลอกและรอยเข็มแทงชนวน ที่ท้ายปลอกและริมปลอก ปืนแต่ละกระบอกเมื่อยิงจะปรากฏร่องรอยไม่เหมือนกัน ทำให้ตรวจได้ว่ามาจากปืนกระบอกใด โดยปืนแต่ละชนิดสามารถแยกชิ้นส่วนหลักและสับเปลี่ยนกันได้ ซึ่งจะทำให้การพิสูจน์เทียบหัวและปลอกกระสุนเปลี่ยนไปด้วย เพราะร่องรอยเปลี่ยน

พ.ต.ท.มานิต เกษมศิริ รอง ผกก.สน.ดุสิต ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า ปลอกกระสุน M16 ที่พบนั้นห่างจากจุดพบศพประมาณ 25 เมตร บนทางเท้า โดยหลังตรวจที่เกิดเหตุ ชันสูตรศพ และสอบปากคำพยานบุคคลแล้ว เห็นว่าเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ อันเป็นความผิดอาญา โดยยังไม่ทราบว่าฝ่ายไหนเป็นผู้กระทำ ต่อมาหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนชันสูตรกลับมาที่ สน.ดุสิต โดยมีความเห็นว่านายมานะตายจากการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยอ้างว่าปฏิบัติตามหน้าที่ ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น ซึ่งตนเป็นหนึ่งในนั้นด้วย มีการขออาวุธปืนจากกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 ซึ่งมีการเบิกจ่ายปืน M16 จำนวน 29 กระบอกมาใช้ในช่วงดังกล่าว เพื่อตรวจเทียบกับปลอกกระสุนของกลาง แต่พบว่าปลอกกระสุนไม่ได้มาจากปืนทั้ง 29 กระบอก ทั้งนี้ ในช่วงดังกล่าว ทหารแจ้งว่าอาวุธปืนที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ถูกแย่งปืนไป โดยได้แจ้งความไว้ด้วย แต่ภายหลังก็ตรวจยึดคืนได้จากสถานที่ชุมนุมของ นปช. อย่างไรก็ตาม หลังตรวจสอบเพิ่มเติม คณะทำงานได้ทำสำนวนใหม่ว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เห็นควรส่งให้อัยการยื่นต่อศาลเพื่อไต่สวนต่อไป

สำหรับคดีมานะ อาจราญ เป็นรายที่ 6 ที่มีการไต่สวนเสร็จสิ้น โดยก่อนหน้านี้ มี 4 รายที่ศาลมีคำสั่งว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ได้แก่ พัน คำกอง, ชาญณรงค์ พลศรีลา, ชาติชาย ชาเหลา และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ และในวันที่ 16 ม.ค.2556 ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนการตายของบุญมี เริ่มสุข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net