รวันดา: ความโหดร้ายบนคราบน้ำตาของมนุษยชาติ (10)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รวันดา กลับสู่สภาวะปกติ
ทั้งๆที่ความรุนแรงยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินชีวิตในรวันดาก็เริ่มกลับมาสู่สภาวะปกติ ร้านอาหารและบาร์ก็กลับมาเปิดอีกครั้ง ตลาดก็ทั้งกักตุนทั้งจำหน่ายเครื่องอุปโภคและบริโภคตามปกติ การค้าดำเนินต่อไป ผู้คนในเมืองและหมู่บ้านตลอดทั่วประเทศก็กลับมาทำกิจกรรมของตนอีกครั้ง รัฐบาลได้กำจัดซากระเบิดและรถที่พังยับ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเรียงรายอยู่ทั่วถนนหลายสายของกรุงคิกาลี

แต่สิ่งที่ย้ำเตือนให้ทุกคนระลึกถึงสงครามกลางเมืองยังคงมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เพราะถนนและอาคารหลายแห่งในคิกาลีมีร่องรอยของหลุม บ้านเรือนทั้งในคิกาลีและทั่วประเทศอยู่ในสภาพซากปรักหักพัง บ้างก็ถูกระเบิดจนไม่เหลือซาก ขณะที่บางหลังก็ไร้หลังคา บางหลังตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว

เด็กๆซึ่งอยู่ในชั้นประถมและมัธยมก็กลับไปเรียนหนังสือตามปกติ หนึ่งในบทเรียนแรกๆที่ครูได้สอนก็คือจะทำอย่างไรที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายจากกับดักระเบิดที่มีอยู่ทั่วประเทศ ครูยังต้องมีหน้าที่ดูแลปลอบขวัญนักเรียนที่ได้พบเห็นเหตุการณ์ร้ายแรงจากสงคราม เช่น เห็นเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวถูกทรมานหรือถูกสังหาร ซึ่งภาพเหล่านี้เป็นสิ่งชั่วร้ายที่มาหลอกหลอนทำให้เด็กๆชาวรวันดาทุกข์ทรมานยิ่งนัก

มหาวิทยาลัยของรัฐเพียงแห่งเดียวของรวันดา คือ Université Nationale du Rwanda ตั้งอยู่ที่บูแทร์ และ รูเฮนเจรี ก็ได้เปิดการเรียนการสอนขึ้นใหม่ หนังสือพิมพ์ของประเทศซึ่งหยุดพิมพ์ระยะหนึ่งในช่วงสงครามก็กลับมาพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง สถานีวิทยุซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลที่เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ ข่าวโคมลอย ในช่วงสงครามกลางเมืองเพื่อทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่ง กลับมาแพร่กระจายเสียงเสนอข่าวสารแบบปกติเพื่อส่วนรวม ช่วยกระจายข่าวทุกชั่วโมงกระตุ้นให้ผู้ลี้ภัยอพยพกลับมายังรวันดา อีกครั้ง

ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาณของความหวังก็ตามรวันดาก็ยังคงมีเส้นทางอันยาวไกลที่จะก้าวต่อไป แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามตั้งใจที่จะปรับปรุงโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจและระบบพื้นฐานของประเทศ แต่รัฐบาลยังคงครอบครองหัวข้อข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง การต่อสู้ทางชนเผ่าและการเมืองก็ยังคงดำเนินต่อไป

นอกเหนือจากนั้นพลเมืองชาวรวันดา ทั้งชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ก็ทุกข์ทนกับความขมขื่นซึ่งเกิดขึ้นในปี 1994 เพราะต่างสูญเสียสมาชิกในครอบครัว สูญเสียเพื่อนบ้านรวมทั้งทรัพย์สิน บางคนดำรงมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวเนื่องจากความรุนแรงได้กระทำขึ้นโดยเพื่อนและเพื่อนบ้าน และคนในครอบครัวของตน เมื่อผู้ลี้ภัยอพยพกลับมายังประเทศเหยื่อของเหตุการณ์ความรุนแรงก็ถูกขอร้องให้ทุกคนให้อภัยบุคคลที่เคยทำร้ายและพยายามจะทำร้ายตน ต่างฝ่ายต่างเพ่งมองกันอย่างสงสัยและไม่ไว้ใจต่อกัน

ตั้งแต่สงครามกลางเมืองยุติลงปัญหาสำคัญสองประการที่รัฐบาลรวันดาต้องดำเนินการ นั่นคือการลงโทษผู้เกี่ยวข้องในการบงการฆ่าและผู้ทำการฆ่าประชาชนที่เกิดขึ้นในปี 1994 และการอพยพผู้ลี้ภัยจำนวนประมาณ 2 ล้านคนซึ่งอพยพหนีจากประเทศไปเมื่อกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (Rwandan Patriotic Front-RPF) ได้รับชัยชนะให้กลับมาอย่างปลอดภัย ซึ่งภารกิจหลักทั้งสองประการนี้ รัฐบาลรวันดาจะต้องหาทางที่จะรักษาดุลยภาพระหว่างความโกรธแค้นของชาวตุ๊ดซี่ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย กับความหวาดกลัวและความต้องการให้เกิดความยุติธรรมของชาวฮูตูซึ่งเป็นชนหมู่มาก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นปัญหาอันยาวนานซึ่งต้องมีการวางแผนและแนวทางในการเจรจาอย่างจริงจัง

สิทธิเหนือทรัพย์สิน
ปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งของรัฐบาลเมื่อสงครามกลางเมืองยุติลง คือปัญหาผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่ที่ได้ลี้ภัยออกจากประเทศจำนวนประมาณ 7 แสน 5 หมื่นคนไปต่างประเทศ ทั้งประเทศอูกันดา เบอรันดี แทนเซเนีย และแซร์ ต้องอพยพกลับเข้าประเทศของตน ครึ่งหนึ่งของการอพยพกลับมาของชาวตุ๊ดซี่นั้นได้ย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากอยู่พื้นที่แห่งใหม่ที่ชานเมืองในรวันดา ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งได้ตั้งรกรากอาศัยในเมือง

ในระหว่างการตั้งถิ่นฐานใหม่นั้นหลายคนได้ยึดบ้านและร้านค้าของชาวฮูตู ที่หลบหนีทหารกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา RPF ในกรุงคิกาลี ส่งผลให้ร้านค้า ธุรกิจและบ้านเรือน ส่วนใหญ่ มีเจ้าของใหม่ เป็นชาวตุ๊ดซี่ การกระทำเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกเมื่อผู้ลี้ภัยชาวฮูตู ผู้เป็นส่วนหนึ่งของการหนีจากสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1994 เริ่มกลับเข้ามาในประเทศ เมื่อปลายปี 1996 พวกเขาพบว่าทรัพย์สินของของตนถูกชาวตุ๊ซี่ ชาวบานยารวันดาหรือไม่ก็ทหาร RPA หรือประชาชนที่ไม่ยอมลี้ภัยในระหว่างสงคราม ได้ครอบครองและยึดเอาไปแล้ว และไม่ยินยอมคืนทรัพย์สินเหล่านั้นให้กับเจ้าของเดิม

แม้ภายใต้กฎหมายรวันดา เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิทวงทรัพย์สินของตนคืนภายในเวลา 10 ปี แต่เมื่อผู้ลี้ภัยจำนวนมากอพยพกลับบ้านได้พยายามอ้างสิทธิในทรัพย์สินของตน เจ้าของคนใหม่ก็มักจะเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐมาจับกุมโดยอ้างว่าผู้อพยพที่กลับมามีส่วนร่วมในการเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อปี 1994 คนเหล่านั้นจึงถูกจับบ้าง ถูกจำคุกบ้าง และบางครั้งก็ถูกฆ่า ด้วยความกลัวผู้อพยพชาวฮูตูส่วนใหญ่ไม่อยากเสี่ยงต่อการเจรจาเหนือทรัพย์สินของตน ต้องจากบ้านเรือนของตนที่ถูกครอบครองโดยเจ้าของคนใหม่

รัฐบาลรวันดาได้พยายามที่จะบรรเทาสถานการณ์นี้โดยให้ผู้ครอบครองคืนเจ้าของเดิม และหาพื้นที่ใหม่ให้แก่ชาวบานยารวันดาเพื่อตั้งถิ่นฐาน เรียกว่า “สถานที่ตั้งถิ่นฐานใหม่” ซึ่งรวมพื้นที่ที่เคยเป็นอุทยานแห่งชาติอคาเกร่าอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรวันดา เมืองบยุมบา ทางตอนเหนือ เขตคิบังโกในทางตะวันออกเฉียงใต้ของรวันดา และภูมิภาคระหว่างจิเซนยีและรูเฮนเจรี ในตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนสหประชาชาติเองก็ได้พยายามช่วยเหลือรัฐบาลรวันดารวันดา ผ่านนักสิทธิมนุษยชนในรวันดา (Human Rights Field Operation in Rwanda - HRFOR) ในการพยายามที่จะให้ประชาชนได้กลับบ้านของตนให้มากที่สุด โดยต้องแน่ใจว่าสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของผู้ลี้ภัยจะไม่ถูกละเมิดในระหว่างการเดินทางกลับไม่ว่าในขั้นตอนใด

บทบาทขององค์กรเอกชน
องค์กรเอกชน(NGO )มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับวิกฤติผู้ลี้ภัย สถานการณ์หลังสงครามของรวันดา องค์กรเอกชนเกือบ 180 องค์กรได้ร่วมงานกับชาวรวันดาและประเทศเพื่อนบ้านในการช่วยเหลือบรรเทาโรค ทั้งจัดตั้งโรงพยาบาล คลินิกให้เปิดดำเนินการได้ จัดหาอาหารและยารักษาโรค สร้างและรักษาสภาพความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ และจัดหาเครื่องมือให้สร้างบ้านเป็นการชั่วคราว และยังช่วยให้สมาชิกครอบครัวกลับมารวมตัวกัน โดยเฉพาะเด็กๆให้กลับไปอยู่กับพ่อแม่และญาติพี่น้อง NGO ยังช่วยแม้กระทั่งขั้นตอนการแผ้วถางพื้นที่เพราะพื้นที่หลายแห่งไม่มีประชาชนดูแลทั้งไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตมาเป็นเวลานาน

การทำหน้าที่ของ NGO ได้ส่งผลอย่างสำคัญต่อชุมชนที่พวกเขาช่วยเหลือ ปัญหาด้านสุขภาพในรวันดาหนึ่งปีหลังจากสงครามยุติคือการขาดแคลนบุคลากรทางแพทย์ หมอชาวรวันดาและพยาบาลหลายคนยังคงอาศัยอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัยนอกประเทศ ดังนั้นจึงยังไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพที่จะเปิดและบริหารสถานพยาบาลได้

นักเรียนแพทย์ได้รับการฝึกฝนเพื่อเข้ามาเติมเต็มในตำแหน่งดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์จึงมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว NGOได้ใช้เวลาหนึ่งปีในการดูแลเหยื่อจากบาดแผลสงคราม จากโรคร้ายอื่นๆ หลังจากนั้นผู้อพยพและประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในรวันดาเริ่มมีสุขภาพดีขึ้น

นอกจากนั้นอาสาสมัครจากทั่วโลกได้นำมาเครื่องมือที่มีค่าและทักษะความเชี่ยวชาญสู่ชุมชนชาวรวันดา ตลอดทั่วประเทศ และได้ทำงานร่วมกับบุคลากรท้องถิ่นเพื่อจะช่วยเหลือให้จัดตั้งคลินิกขึ้นอีกครั้ง ในครั้งนี้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อที่พวกเขาจะได้รู้คุณค่าของตัวเอง ที่คลินิก มูเดนดี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดาบุคลากรของ องค์กร Adventist Development and Relieve Agency( ADRA ) เริ่มที่จะขอร้องให้คนไข้จ่าย 100 ฟรังรวันดาเพื่อเข้ารับการรักษา สิ่งนี้จะช่วยทำให้ประชาชนกลับมาคุ้นเคยกับการจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง

สถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามีส่วนสำคัญเช่นกัน เด็กๆชาวรวันดาได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและการดูแลรักษาสุขภาพฟัน ทั้งยังได้รับเสื้อผ้าบริจาค อาหารและที่พัก ได้ เรียนศิลปะ เรียนรู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเคินยารวันดาอีกด้วย เด็กๆยังมีงานให้ทำหลายอย่าง เช่น ทำงานในโรงครัวและทำความสะอาด การทำงานอื่นๆ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าจะสอนให้เด็กรู้จักรับผิดชอบตนเองและตระหนักถึงความพอเพียง เด็กๆที่ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ADRA ในโกมาได้ทำงานและทำโครงการต่างๆ เมื่อมีกิจกรรมให้ทำ เริ่มมีความคิดเห็นในสิ่งที่ทำ นดายิซาบา ชอง วิทคลิฟ ( Ndayisaba Jean Witcliff )ผู้ช่วยผู้จัดการแคมป์ได้กล่าวไว้เมื่อปี 1994 ว่า“ทุกคนไม่ว่าตัวใหญ่หรือเล็กจะต้องทำงานที่นี่ หากคุณไม่มีเงิน คุณก็จะต้องทำงาน ฉันไม่ให้อะไรฟรีๆหรอก” ระบบนี้ทำให้สิ่งที่เด็กๆได้รับมีคุณค่ารู้สึกถึงความพึงพอใจ ทำให้มีศักดิ์ศรีของการเป็นคน

NGO และองค์กรช่วยเหลืออื่นที่ทำงานในรวันดาและประเทศเพื่อนบ้านของรวันดายังได้จัดทำโครงการรวมเด็กที่ถูกทอดทิ้งให้ได้พบกับสมาชิกครอบครัวที่รอดชีวิต บางครั้งเด็กๆที่โตกว่าและผู้ใหญ่ยังต้องหาสมาชิกครอบครัวของตนด้วยตัวเอง หาก NGO ไม่สามารถหาสมาชิกที่รอดชีวิตได้ก็จะพยายามที่หาบ้านใหม่ให้แก่เด็กๆซึ่งมีอายุตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 18 ปี

ถึงแม้ว่าองค์กรเอกชนจะประสบความสำเร็จในการหาครอบครัวของเด็กให้มาเจอกัน ก็ยังมีเด็กกำพร้าจำนวนมาก สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าคาโกนิ (Gakoni )ตั้งอยู่ทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของคิกาลี 70 ไมล์ ได้รับเด็กกำพร้าจำนวน 166 คน ไว้ในบ้าน 14 หลังซึ่งทำด้วยอิฐกับโคลน บ้านแต่ละหลังมีลักษณะเป็นครอบครัวคือเด็กๆและแม่คอยดูแล ดอกเตอร์รันจัน คูลาเซเคเร่ (Ranjan Kulasekere )ซึ่งทำงานใน Adventist Development and Relief Agency กล่าวว่า “พวกเราให้ทั้งเด็กชายและหญิงทั้งโตและเล็กอาศัยอยู่ด้วยกันเพื่อที่จะทำให้รู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวจริงๆ” “ พวกเขาทานข้าวด้วยกัน สวดมนต์ด้วยกันและเก็บกวาดบ้านด้วยกัน”

เวลา 9.30 น. เด็กๆก็จะทานอาหารเช้า ซักเสื้อผ้าและทำความสะอาดบ้าน จากนั้นก็จะออกไปเรียนหนังสือซึ่งเด็กๆก็จะมีกะเวลาของตน เด็กที่เล็กสุดจะเข้าเตรียมตัวในสถานก่อนวัยเรียน เด็กที่โตกว่าก็จะเข้าเรียนในโรงเรียนประถมจะได้เรียนรู้ในการอ่าน การเขียน เลขและฝรั่งเศส เด็กๆทุกคนที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ต้องไปเรียนที่โรงเรียนประถม ซึ่งมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ผ่านการสอบวัดผลจึงจะได้ไปเรียนต่อมัธยม ส่วนที่ไม่ผ่านก็จะหันไปเรียนวิชาชีพ เช่น การเรียงอิฐ ก่อสร้าง บางคนก็เรียนเกษตรกรรม สำหรับคนที่สุขภาพแข็งแรงเพียงพอก็จะทำงานในโครงการเกษตรกรรม เด็กๆได้ปลูกผักและผลไม้เพื่อเอามาเป็นอาหารด้วยตัวเอง หลังทานอาหารค่ำเด็กก็จะช่วยแม่(ผู้ดูแล) และผู้ช่วยเหลือคนอื่นทำความสะอาด จากนั้นก็จะร่วมกันสวดมนต์และร้องเพลง ทุกคนจะเข้านอนก่อนเวลาสองทุ่มครึ่ง

ความพยายามของคนในท้องถิ่น
ขณะที่รวันดาต้องการความช่วยเหลือจากประชาคมโลกเพื่อที่จะเยียวยาและประนีประนอมต่อกันนั้น สิ่งเหล่านี้จะสำเร็จลงได้ต้องขึ้นอยู่กับความพยายามของพลเมืองชาวรวันดาเองด้วย ดังนั้นเพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดความพยายามในหมู่ประชาชน NGO บางแห่งพยายามที่จะกระตุ้นผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ให้ช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้น องค์กรซึ่งดำเนินการโดยคนในท้องถิ่นจำนวนมากพยายามที่จะช่วยเหลือชาวรวันดาให้รับมือกับผลกระทบจากความขัดแย้ง เช่น อวีโก – อกาโฮโซ เป็นองค์กรช่วยเหลือตัวเองของสตรีม่ายชาวรวันดาจัดการฝึกฝนที่จะทำให้สตรีม่ายชาวรวันดาคนอื่นๆมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การฝึกฝนนี้เป็นที่คาดหวังว่าสตรีม่ายชาวรวันดาจะสามารถอ้างสิทธิในที่ดินและสร้างชีวิตของตนอีกครั้งและสามารถหาเลี้ยงครอบครัวตนเองได้

Woman Net เป็นองค์กรของผู้หญิงชาวรวันดาซึ่งช่วยเหลือโดยการให้คำปรึกษาเหยื่อของการข่มขืน ดูเทริมเบเร่ หนึ่งในองค์กรสตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่ช่วยเหลือสตรีโดยการให้กู้ยืมเพื่อทำธุรกิจ ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ฝึกฝนทักษะ ซ่อมแซมบ้านและให้คำปรึกษาอื่นๆ นอกจากนั้น เซราฟีน บิซิมังกู สตรีหมายเลขหนึ่งของรวันดา ได้ช่วยเหลือสตรีที่สามีเสียชีวิตและเด็กๆที่สูญเสียครอบครัว รวมทั้งได้ร่วมกับ NGO นานาชาติสร้างบ้านจำนวน 250 หลังให้แก่ประชาชน และเดินหน้าโครงการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างต่างๆ เพื่อหวังว่าท้ายที่สุดแล้วภารกิจเหล่านี้จะกลับไปสู่คนชาวรวันดาผู้ซึ่งจะต้องจัดการและสร้างประเทศของตนขึ้นมาอีกครั้ง เผื่อว่าหลังจากนั้นประเทศจะพบกับหนทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ต่อไป ซึ่งหลายๆฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าแม้กระบวนการสร้างประเทศจะเริ่มขึ้นแล้ว แต่โชคร้ายที่ไม่มีหนทางแก้ปัญหาใดๆที่ง่ายเลยสำหรับชาวรวันดา เพราะหนทางในการเยียวยาประเทศนั้นเต็มไปด้วยร่องรอยของการฉีกขาดและแตกสลาย…….

 

หมายเหตุ:  *บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict. Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict. Rawanda : country torn apart . Manufactured in the United States of America. By Lerner Publications Company

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
รวันดา: สภาพปัญหาและความขัดแย้ง (1)
รวันดา: อำนาจทางการเมืองกับวิกฤตด้านมนุษยธรรม (2)
รวันดา รากเหง้าของความขัดแย้ง: บทเรียนของโลก บทเรียนของไทย (3)
รวันดา: ภายใต้อาณานิคม : บทเรียนของโลก บทเรียนของไทย (4)
รวันดา: ความเสมอภาคทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของสองชาติพันธุ์ (5)
รวันดา: ความเปลี่ยนแปลงภายใต้การแสวงหาอำนาจทางการเมือง (6)
รวันดา : บนความเพิกเฉยของสหประชาชาติ (7)
รวันดา : ปัญหาผู้ลี้ภัยนำไปสู่การยึดอำนาจในแซร์ (8)
รวันดา: ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากความยุติธรรม(9)

 

 







                       

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท