Skip to main content
sharethis

22 ธ.ค. 55  – เนื่องจากในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2555 นี้ จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพ่ือกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ Public Scoping โครงการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัททุ่งคำจำกัด ณ ห้องประชุมศาลาประชาคมจังหวัดเลย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย เวลา 8.00 – 12.00 น. ซึ่งเวทีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขอประทานบัตรเพื่อขยายการทำเหมืองทองของบริษัททุ่งคำในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ไปยังบริเวณป่าโคกภูเหล็ก ตามคำขอประทานบัตรที่ 104/2538 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้ ทางตำรวจภูธรจังหวัดเลยได้เตรียม “แผนรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านจราจร การประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด” เพื่อรับมือกับการชุมนุมคัดค้านที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองของบริษัททุ่งคำและไม่ต้องการให้เหมืองขยายตัวอีก ซึ่งมีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจากทุกอำเภอของจังหวัดเลยประมาณ 1,500 คนเข้าร่วมปฏิบัติการ รวมถึงกองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดนและเจ้าหน้าที่ทหารบก ให้เป็นหน่วยสนับสนุนปฏิบัติการด้วย โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าว อ้างอิง “แผนรักษาความสงบ (กรกฎ 52)” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แผนกรกฎ เป็นแผนการควบคุมฝูงชน ที่เคยใช้กับการสลายผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย หน้าโรงแรมเจบีหาดใหญ่เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2545 และใช้กับการควบคุมการชุมนุมทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเป็นที่มาของความวิตกว่าอาจเกิดการปะทะและใช้ความรุนแรงในการสลายผู้ชุมนุมซึ่งอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน แหล่งข่าวแจ้งว่ามีการว่าจ้างประชาชนจากต่างอำเภอมาเข้าร่วมเวที Public Scoping ดังกล่าวประมาณ 400 คน ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงไม่พอใจและเป็นชนวนความขัดแย้งได้ ทั้งนี้ ต่อประเด็นความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในเวทีวันพรุ่งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าวันที่ 18 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผลกระทบจากเหมืองทอง และได้กล่าวในตอนปิดการประชุมให้บริษัทกลับไปทบทวนว่าจะจัดเวทีในวันที่ 23 นี้หรือไม่ “เนื่องจากการทำ Public Scoping ต้องเน้นเรื่องหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งตอนนี้ตัวแทนบริษัทได้เห็นแล้วว่าสิ่งที่ทำมามีผลกระทบต่อชาวบ้านมาก การมีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ให้ถามใจตัวเองว่า [ถ้าจัดเวทีฯ] ชาวบ้านจะตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอา” โดยเตือนว่าหากบริษัทยังดึงดันจะทำให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิ


อนึ่ง บริษัททุ่งคำจำกัดได้พยายามจัดเวที Public Scoping สำหรับการขอประทานบัตร แปลง 104/2538 เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำเพิ่มเติมมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 อย่างไรก็ตาม มีการเลื่อนเรื่อยมา และกำหนดเวทีในวันที่ 23 ธันวาคม นี้ถือเป็นการเลื่อนเป็นครั้งที่ 8 แล้ว เนื่องจาก ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการขยายเหมืองทองของบริษัทดังกล่าวในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ด้วยเหตุว่าการทำเหมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนใน6 หมู่บ้านบริเวณรอบเหมือง ซึ่งได้ร้องเรียนปัญหาของเหมืองทองที่ดำเนินการอยู่และเจตจำนงค์ในการคัดค้านการขยายเหมือง แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายกรัฐมนตรี จนเป็นผลให้เกิดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ระบุว่า “ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตร ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่น ๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพ หรือ HIA”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net