Skip to main content
sharethis

ข่าวดีสำหรับชาวอังกฤษผู้ชอบเล่นตลกและเป็นนักล้อเลียนในยูทูบ เมื่อรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศให้การใช้สื่อไปในทาง 'ล้อเลียน' จะได้รับการงดเว้นจากกฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ เช่น วีดิโอ 'ฮิตเลอร์ซับนรก' ที่ดัดแปลงล้อเลียนภาพยนตร์ Downfall

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2012 กรมธุรกิจการค้าของอังกฤษได้ปรับเปลี่ยนกฏหมายลิขสิทธิ์ภาพเคลื่อนไหว, ดนตรี และวรรณกรรม โดยบอกว่าสื่อต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการงดเว้นจากกฏหมายลิขสิทธิ์หากเป็นสื่อที่มีการ "ล้อเลียน เสียดสี และลอกเลียนทางศิลปะ" (parody, caricature and pastiche)

สำนักข่าว The Independent ของอังกฤษกล่าวว่า การงดเว้นล่าสุดเป็นการสนับสนุนให้วีดิโอจากทางบ้านที่เป็นการดัดแปลงแบบ 'แมช-อัพ' (mash-ups) มีเพิ่มมากขึ้น และทำให้มีการนำวัตถุดิบมาใช้ในคลิปรายการตลกได้ง่ายขึ้นด้วย

โดยแต่เดิมแล้วกฏ 'การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ' หรือ fair-use อนุญาตให้ใช้คลิปสั้นๆ ของภาพที่มีลิขสิทธิ์เพื่อประกอบการรายงานข่าวโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ไม่ได้มีการอนุญาตให้ใช้ในงานแนวตลกขบขัน

The Independent กล่าวว่าในเชิงปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องยากที่จะบังคับใช้กฏหมายลิขสิทธิ์ในยุคดิจิตอล ผู้สร้างภาพยนตร์จำนวนมากเลิกแบนคลิปจำพวกแมช-อัพไปแล้ว เช่นในกรณีของภาพยนตร์เรื่อง Downfall ซึ่งเป็นภาพยนตร์สะท้อนความพ่ายแพ้ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ถูกนำมาล้อเลียนผ่านคลิปวีดิโอเป็นจำนวนมาก (เป็นที่รู้จักในชื่อไทยว่า 'ฮิตเลอร์ซับนรก')

ทางรัฐบาลอังกฤษได้ปรับเปลี่ยนกฏหมายลิขสิทธิ์ตามรายงานชื่อ Digital Opportunity ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์กฏหมายลิขสิทธิ์โดย เอียน ฮากรีฟส์ ศาตราจารย์ด้านเศรษฐกิจเชิงดิจิทัล มหาวิทยาลัยคาร์ดีฟฟ์ ในรายงานมีการวิจารณ์ว่ากฏหมายทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันตามไม่ทันความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงในแง่ของการแพทย์ซึ่งนักวิจัยจำนวนมากมีความยากลำบากในการค้นคว้าข้อมูลจากรายงาน รวมถึงในกรณีของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วย

เอียน ฮากรีฟส์ กล่าวถึงกระแสการดัดแปลงวีดิโอแบบแมช-อัพ ว่า "การล้อเลียนทางวีดิโอกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างผู้คนไปแล้ว ซึ่งมักจะอาศัยช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก และถือเป็นการสนับสนุนทักษะการแสดงออกผ่านมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ"

นอกจากการอนุญาตวีดิโอล้อเลียนแล้ว ทางรัฐบาลอังกฤษยังได้อนุญาตให้มีการก็อบปี้สื่อดิจิตอลที่ซื้อโดยการดาวน์โหลด เช่นเพลงหรืออีบุ๊ค จากเครื่องมือรับชมสื่อชิ้นหนึ่งไปยังอีกชิ้นหนึ่งได้ที่ตนเองเป็นเจ้าของได้ เช่นจากแท็บเล็ท ไปยังสมาร์ทโฟน หรือบริการเก็บข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต (cloud storage) ตราบใดที่เป็นการนำไปใช้เอง

นอกจากนี้ยังมีการอนุญาตให้ครูอาจารย์ใช้สื่อที่มีลิขสิทธิ์กับกระดานอัจฉริยะ (Interactive Whiteboard) หรือสื่อการสอนอื่นๆ ที่คล้ายกันในห้องเรียนได้ ขณะที่นักวิจัยด้านการแพทย์ก็มีสิทธิ์ในการค้นคว้าข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น

รัฐบาลอังกฤษวางแผนให้การเปลี่ยนแปลงกฏหมายมีผลในปีหน้า และประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้อังกฤษมีรายได้เพิ่มอย่างน้อย 500 ล้านปอนด์ ภายใน 10 ปี

 

เรียบเรียงจาก Online video rights: You can copy it, as long as you make 'em laugh, The Independent, 21-12-2012

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net