Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

ข้อกล่าวหาที่ได้ยินกันบ่อยในเมืองไทยคือการโจมตีนักวิชาการหรือปัญญาชนที่ไม่ทำอะไรเพื่อสังคมว่าเป็นนักวิชาการประเภท "หอคอยงาช้าง"

คำนี้มีความหมายในสังคมไทยที่ติดลบ เห็นแก่ตัว น่าขยะแขยง เป็นทาสระบบ อนุรักษนิยม ฯลฯ จนไม่มีปัญญาชนคนไหนอยากถูกติดป้ายแบบนี้

คำนี้จึงมีพลังมากจนผลักดันให้ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยต้องมีกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตลอดเวลา

สำหรับสังคมไทยแล้ว ปัญญาชนที่ดีคือปัญญาชนที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องที่ "สาธารณะ" มากๆ จะเป็นเรื่องการเมืองก็ได้ เรื่องเศรษฐกิจก็ดี หรือเรื่องนโยบายสาธารณะก็ยิ่งดีใหญ่

ปัญญาชนที่ดีขึ้นไปอีกคือปัญญาชนที่มีบทบาทเป็นผู้นำความคิดของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

และปัญญาชนที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือปัญญาชนที่เป็นผู้นำหรือหัวขบวนของการเคลื่อนไหวการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปเลย

ใครไม่เชื่อข้อความในย่อหน้าที่แล้ว ก็ลองนึกถึงใบหน้าของปัญญาชนที่มีชื่อเสียงในสังคมไทย รวมทั้งนึกถึงวิธีที่สังคมไทยเปรียบเทียบว่าปัญญาชนคนไหนน่าเลื่อมใสกว่าปัญญาชนคนอื่นดูก็ได้

เราไม่มีทางประเมินค่าปัญญาชนโดยเป็นเอกเทศจากคุณค่าเชิงสังคมได้แน่ๆ เช่นเดียวกับไม่ง่ายที่จะจินตนาการถึงการยกย่องให้ใครเป็นปัญญาชนที่ดีทั้งที่เขาคนนั้นไม่ได้สนใจความเป็นไปในสังคม

แต่คำว่าหอคอยงาช้างแบบที่ใช้กันในสังคมไทยแปลว่าสังคมไทยมีปัญญาชนหรือนักวิชาการประเภท "หอคอยงาช้าง" ตามความหมายที่ใช้กันในโลกตะวันตกจริงหรือ?

ความพยายามประกอบกิจกรรมเพื่อสังคมในหมู่ปัญญาชนในบ้านเรามีแง่มุมไหนบ้างที่ขาดหายไป?




คําว่า "หอคอยงาช้าง" เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อบรรยายสภาพที่ปัญญาชนมุ่งหาความเป็นเลิศทางปัญญาโดยหันหลังให้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของมนุษย์

ความหมายของคำนี้จึงหมายถึงสภาวะที่ปัญญาชนลอยตัวอยู่เหนือโลกอย่างเด็ดขาด หมกมุ่นสู่ความเป็นเลิศเฉพาะแต่เรื่องที่ตัวเองและกลุ่มสนใจ แต่ไม่ได้คำนึงว่าตัวเองและเรื่องนั้นสัมพันธ์กับโลกอย่างไร

นักวิชาการบางคนบอกว่าปัญญาชนพึงมีวัตรเฉกเช่นนักบวช

คติแบบนี้สะท้อนโลกทัศน์ที่เห็นว่าปัญญาคือสัจจะสูงสุดที่บริสุทธิ์และเป็นอกาลิโกซึ่งเป็นฐานของความคิดที่เรียกว่า "หอคอยงาช้าง" ทั้งหมดด้วย ปัญญาโดยนัยนี้มีตำแหน่งแห่งที่สถิตในวิหารศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นเอกเทศเหนือโลกีย์วิสัย และเพราะปัญญาไม่ได้อยู่ในสังคม นักปราชญ์ทั้งหลายจึงสมควรขึ้นหอคอยเพื่อเพ่งหาสัจธรรม

ฝ่ายประกอบสร้างวาทกรรม "หอคอยงาช้าง" เห็นว่าปัญญาอยู่ในสังคมหรือในโลกที่เป็นจริง คำว่า "หอคอยงาช้าง" จึงเป็นการประณามสภาวะที่ปัญญาชนให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาเฉพาะทางโดยไม่สนใจประเด็นอื่นและไม่ใส่ใจความเชื่อมโยงกับอะไรในโลกอีก

ปัญญาชนหอคอยคือปัญญาชนที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศในวงปราชญ์

หรือพูดอีกแบบคือปัญญาชนที่มุ่งมั่นเป็น "อำมาตย์" ในวงการผู้มีปัญญา



ในบริบทของโลกตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา คำว่าหอคอยงาช้างถูกใช้เป็นพิเศษกับผู้รู้ในวงการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

นักวิชาการบนหอคอยมีนัยยะถึงนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ นักวรรณคดี นักภาษาศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นักนิติศาสตร์ นักสังคมวิทยา ฯลฯ ที่ไม่รู้และไม่ประสงค์จะรู้เกี่ยวกับทุกขภาวะและชีวิตจริงของคนกลุ่มไหนในโลกนี้แม้แต่นิดเดียว

สุภา ศิริมานนท์ ในหนังสือเล่มที่แสดงความคิดของเขาไว้มากที่สุดแต่ได้รับการกล่าวถึงน้อยที่สุดอย่าง "ดั่งสายใยในผองชน" ปัญญาชนประเภทหอคอยถูกเปรียบเทียบกับตัวตุ่นที่ขุดดินในหลุมของตัวเองลึกลงไปเรื่อยๆ

ส่วนผู้เขียนคำนำของ "อยู่เมืองไทย" ก็พรรณนาชะตาของ เสน่ห์ จามริก นักรัฐศาสตร์อาวุโสของไทยกับ "โศกนาฏกรรม" ของนักปราชญ์ผู้ไม่ได้สนใจอะไรมากกว่าการนั่งริมสายน้ำแห่งปัญญา

แต่สังคมไทยมี "หอคอยงาช้าง" อย่างที่พูดกันในโลกตะวันตกจริงๆ หรือ?



กล่าวโดยย่อแล้ว การศึกษาในโลกตะวันตกไม่ได้เริ่มต้นด้วยโลกทัศน์ที่มองว่าการศึกษาเป็นสาธารณกิจ สถานศึกษาไม่ใช่มหาชนสถาน ความเป็นมวลชนจึงไม่ใช่เหตุให้ใครมีสิทธิเข้าสถานศึกษาโดยอัตโนมัติ

การศึกษาเป็นกิจของผู้อยู่ในวิสัยจะศึกษาเพื่อความพึงใจในปัญญาล้วนๆ คนเหล่านี้อยู่ในวงจรของศาสนจักร ผู้มีทรัพย์ หรือไม่อย่างนั้นก็คือนักปราชญ์ภายใต้ความอุปถัมภ์ของกษัตริย์ ขุนนาง หรือคหบดี

ควรระบุด้วยว่าสาขาวิชาในสถานศึกษาในยุคต้นได้แก่ปรัชญา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เทววิทยา และวรรณคดี ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับมหาชนในสังคมทาสและศักดินาแม้แต่น้อย

ชาวนาและคนส่วนใหญ่ในสังคมก่อนสมัยใหม่ไม่มีเวลาและความสามารถลงทุนเพื่ออ่านไบเบิ้ลหรือไขความลับของจักรวาลแน่ๆ อรรถประโยชน์ของความรู้จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญในการศึกษายุคแรกแต่อย่างใด

ภูมิหลังแบบนี้ทำให้การศึกษาในโลกตะวันตกเป็น "หอคอยงาช้าง" ในความหมายที่เคร่งครัดโดยแท้

นั่นคือเป็นชุมชนของชนผู้ "รัก" ในความรู้มากพอจะเสียเวลาและเสียโอกาสในชีวิตไปนั่งแปล History of the Peloponnesian War , ไปนั่งอ่าน Histories ของ Herodotus, เขียน De Revolutionibus Orbium Coelestium อุทิศให้สันตะปาปา ฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องคิดว่าจะเอาความรู้ ไปใช้ประโยชน์อย่างไร

การศึกษาสมัยใหม่ในโลกที่ภาษาแบบอาณานิคมเรียกง่ายๆ ว่า "โลกที่สาม" ไม่ได้เกิดขึ้นบนเงื่อนไขนี้

การศึกษาในสังคมไทยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐในความหมายแคบ นั่นคือเป็นการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่ชนชั้นปกครองเห็นว่าจำเป็นต่อการปกครอง

ยิ่งการอุดมศึกษาของไทยก็ยิ่งชัดว่ามุ่งผลิตข้าราชบริพารและมหาดเล็กมาตั้งแต่ต้น ไม่อย่างนั้นก็คือผลิตบุคคลเพื่อตลาดการพัฒนาประเทศในช่วงถัดมา

งานเขียนเรื่องปฏิรูปการศึกษาของ อาจารย์เสน่ห์ จามริก อ้างเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีบ่อยมากเรื่องอุดมคติในการจัดการศึกษาเพื่อให้คนเป็นยักษ์อย่างเท่าเทียมกัน แต่ความเท่าเทียมกันในที่นี้ถูกคิดผ่านการเป็นพลเมืองของรัฐ การทำคนให้เป็นยักษ์เท่ากันคือสภาวะที่ทุกคนมีโอกาสเป็นกำลังแรงงานเพื่อราชการและตลาดเสมอกัน

คติเรื่องความเท่าเทียมในบริบทนี้เป็นคนละเรื่องกับความเท่าเทียมทางการเมือง

โปรดสังเกตว่าวิชาที่เจ้านายและราชนิกุลไทยในยุครัชกาลที่ 5 ให้คุณค่าจนไปศึกษาต่อในต่างประเทศมากที่สุดคือ วิชาทหาร, วิศวกรรม และการแพทย์

ส่วนวิชาที่มีเปิดการเรียนการสอนในไทยเป็นแห่งแรกๆ ได้แก่ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และบัญชี วิชาเหล่านี้ผลิตหมอ ตำรวจ ศาล นายพล นายช่าง ข้าราชการมหาดไทย เจ้าหน้าที่การเงิน ฯลฯ ซึ่งเป็นวิชาชีพที่จำเป็นต่อการสร้างสังคมสมัยใหม่โดยตรง

ขณะที่ระบบการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับอรรถประโยชน์ของการศึกษาขนาดนี้ วิชาซึ่งดูไร้ประโยชน์อย่างดาราศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ วรรณคดี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ ปรัชญา ก็เป็นวิชาที่ถูกมองข้ามมาตั้งแต่ต้น

ทุกวันนี้หลายมหาวิทยาลัยพูดถึงการยุบภาควิชาเหล่านี้อย่างเปิดเผย และงบประมาณที่สาขาเหล่านี้ได้รับก็น้อยกว่าสาขาอื่นที่ดูมีอรรถประโยชน์อย่างมีนัยยะสำคัญ

ตรงกันข้ามกับข้อกล่าวหาว่าปัญญาชนอยู่บน "หอคอยงาช้าง" เกินไป ปัญญาชนไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาที่มีอรรถประโยชน์เป็นสดมภ์หลักจนอยู่ไกลจาก "หอคอยงาช้าง" มาโดยตลอด

แต่น่าอัศจรรย์ที่วาทกรรม "หอคอยงาช้าง" กลับประสบความสำเร็จในการสถาปนาวิธีประเมินปัญญาชนผ่านแง่มุมทางสังคมได้มีพลังจนเป็นเรื่องยากมากที่จะปฏิเสธวาทกรรมเรื่องพันธะที่ปัญญาชนมีต่อสังคม



ข้อเรียกร้องให้ปัญญาชนมีพันธะต่อสังคมเป็นเรื่องซึ่งพบได้จากคนทุกฝ่าย

ตัวอย่างเช่น ในช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 คำว่า "วิศวกรสังคม" เป็นคำซึ่งปัญญาชนฝ่ายจรรโลงระบบรุ่น คึกฤทธิ์ ปราโมช, บุญชู โรจนเสถียร, อากร ฮุนตระกูล ฯลฯ ใช้บรรยายภารกิจของปัญญาชนในการออกแบบและกำกับสังคมไปในทิศทางที่ดีที่สุด ปัญญาชนโดยนัยนี้พึงมีบทบาทเขียนประเทศให้เป็นอย่างที่ต้องการ

อันที่จริง ใน พ.ศ.2554 อมร จันทรสมบูรณ์ ก็ใช้แนวคิดนี้ในการอธิบายว่าทำไมศาลปกครองจึงพึงต่อต้านการผูกขาดอำนาจของพรรคการเมืองและนายทุน

ในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ปัญญาชนฝ่ายเปลี่ยนแปลงระบบใช้มโนภาพ "ปัญญาชนปฏิวัติ" ชักชวนให้ปัญญาชนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมใหม่

ข้อเสนอนี้เห็นว่าบทบาทเพื่อสังคมหมายถึงการเป็นแนวร่วมหรือเข้าร่วมการปฏิวัติสังคมของชนชั้นผู้ยากไร้

งานเขียนรูปแบบต่างๆ จึงเรียกร้องให้ปัญญาชนละทิ้งความเป็นปัญญาชน ดัดแปลงตัวเองเป็นกองทัพชาวนาชาวไร่ หรือไม่อย่างนั้นคือจุดเปลวเทียนแห่งสัจจะส่องทางให้มวลชน

แม้มโนภาพวิศวกรสังคมหรือปัญญาชนปฏิวัติจะปิดฉากไปในทศวรรษ 2530 ร่องรอยของความคิดนี้ก็ยังอยู่ในรูปของการคุ้ยหาปัญญาชนเพื่อเป็นผู้นำยามวิกฤติต่างๆ ต่อไป

มีการพูดถึงผู้ชายพฤษภาและดอกไม้เดือนพฤษภาในเหตุการณ์ 2535, ยกย่องนักวิชาการเป็นลูกที่ดีของประชาชนในช่วงหลัง 2553 หรือสดุดีปัญญาชนที่เป็นตัวกลางในการเขียนรัฐธรรมนูญหรือสานเสวนาเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง

น่าสนใจว่าขณะที่สังคมไทยจินตนาการถึงรูปแบบการกระทำเพื่อสังคมของปัญญาชนโดยวนเวียนอยู่กับกิจกรรมไม่กี่แบบ ได้แก่ การอภิปรายประเด็นสาธารณะ การเป็นผู้นำความคิด และการเป็นหัวหอกของการเปลี่ยนแปลงสังคม

สังคมอื่นและปัญญาชนในบริบทอื่นกลับมีรูปแบบของการกระทำเพื่อสังคมที่ไม่จำเป็นต้องดู "เพื่อสังคม" อย่างที่ปรากฏในเมืองไทยดังที่กล่าวมา



บทความในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนรายงานว่า Brian Caffo รองศาสตราจารย์ด้านชีวสถิติแห่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปส์กินส์ ทำสิ่งที่นักวิชาการในมหาวิทยาลัยไม่เคยคิดทำมาก่อน หรือถึงคิด ก็มีคนลงมือทำไม่มากนัก

นั่นคือใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเปิดโอกาสให้ทุกคนในโลกลงทะเบียนเรียนวิชาที่อยากเรียนได้ฟรีๆ

ข้อน่าพิจารณาคือ Caffo เป็นผู้สอนวิชาสถิติและคณิตศาสตร์ชั้นสูงเกี่ยวกับสาธารณสุขและชีวเวชศาสตร์ ลำพังการสอนวิชาแบบนี้ในห้องเรียนปกติก็ยากอยู่แล้ว การสอนแบบออนไลน์จึงยากไปกันใหญ่

แต่น่าทึ่งที่ทั้งผู้บรรยายและผู้เรียนออนไลน์ตกลงจะอยู่ใต้กติกาเดียวกับการเรียนปกติ มีการบ้านให้ทำ มีการบรรยายผ่านวิดีโอ มีการแบ่งกลุ่มถกเถียง มีการประเมินผลการเรียนอย่างเคร่งครัดจริงจัง ถึงแม้ตอนนี้จะมีผู้ลงทะเบียนไปกว่าหนึ่งหมื่นห้าพันรายแล้วก็ตาม

ที่จริง นักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่ทำแบบนี้ไม่ได้มีแต่ Caffo คนเดียว เพราะ Al Filreis ผู้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษ และผู้อำนวยการโครงการงานเขียนร่วมสมัยแห่งมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐเพนซิลวาเนีย ผู้เขียนหนังสือสำคัญเรื่อง Counter-revolution of the Word ก็เปิดสอนวิชากวีนิพนธ์แบบนี้ผ่านเว็บไซต์ชื่อ Coursera ซึ่งถึงตอนนี้มีคนลงทะเบียนเรียนแล้วกว่าสามหมื่นราย

โปรดสังเกตว่าสองวิชานี้เป็นวิชาที่แสนจะเป็น "หอคอยงาช้าง" จริงๆ



มองในภาพกว้างออกไป ทุกวันนี้มีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยราว 38 แห่งในสหรัฐ เช่น University of Virginia และ University of Maryland เข้าร่วมโครงการ MOOC หรือ Massive Open Online Courses ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนเรียนกว่า 1.7 ล้านคน

ตัวเลขนี้ดูเยอะจนคิดถึงรูปแบบการบรรยายที่มีประสิทธิภาพได้ไม่ง่าย แต่เพราะโครงการนี้เชื่อว่าการถกเถียงคือหัวใจของการเรียน จึงพยายามออกแบบให้ทุกคนได้เรียนได้โดยไม่ถูกขัดขวางด้วยอุปสรรคจากรูปแบบการบรรยาย

ควรระบุด้วยว่า MOCC เป็นโครงการที่ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่กับปรัชญาการศึกษาของอิวาน อิลลิช ที่เชื่อว่าการศึกษาคือการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงผู้เรียนเข้ามาสู่กระบวนการเรียนให้มากที่สุด ผู้จัดการศึกษามีหน้าที่อำนวยให้ผู้เรียนเข้าถึงทรัพยากรให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

นอกจากนั้นคือเอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ผู้เรียนพบผู้เรียนที่จะให้ประโยชน์ในการเรียนรู้จากกันและกัน

กระบวนการจึงสำคัญเท่ากับเนื้อหาในขณะเรียน



www.edx.org ก็เป็นอีกเว็บไซต์ที่มีการเรียนการสอนออนไลน์ ที่น่าสนใจคือมหาวิทยาลัยอย่าง MIT, ฮาร์วาร์ด และคอร์แนลก็กำลังจะเข้าร่วมโครงการนี้

ผู้ผ่านการศึกษาตามกติกาที่กำหนดจะได้ใบรับรองการศึกษาหรือประกาศนียบัตร แม้เอกสารนี้จะไม่ใช่ใบแสดงคุณวุฒิทางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ แต่การได้เรียนในเรื่องที่อยากเรียนก็เป็นเรื่องที่มีความหมายในตัวเองสำหรับใครหลายคน

ความเคลื่อนไหวแบบนี้เป็นหลักฐานของข้อเท็จจริงที่สำคัญแต่ถูกมองข้ามไปหลายข้อ

ข้อแรกคือโลกนี้มีคนอีกมากที่อยากเรียนมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีโอกาสได้เรียน

ข้อสองคือความสามารถจ่ายค่าเรียนเป็นกำแพงกั้นคนส่วนใหญ่จากการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแน่ๆ

และข้อสามคือการออกแบบการศึกษาให้เอื้อต่อการเข้าถึงของคนส่วนใหญ่เป็นเรื่องทำได้ ถ้ามีคนลงมือทำจริงๆ

แน่นอน ว่ามหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังเผชิญแรงกดดันทางการเงินจนมีงานเขียนเยอะแยะเกี่ยวกับภารกิจซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องทำเพื่อ "ความอยู่รอด" ผ่านการขึ้นค่าหน่วยกิต ค่าเทอมแบบเหมาจ่าย งบวิจัย การระดมทุนจากศิษย์เก่าและธุรกิจ รวมทั้งเงินบริการการศึกษาอื่นๆ

ปัญหาคือหลายกรณี "ความอยู่รอด" เป็นข้ออ้างเพื่อปกปิดการแสวงหา "กำไร" ของคณะ, โครงการ หรือกระทั่งโบนัสของผู้บริหารหลักสูตรต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงผลต่อโอกาสในการศึกษาของผู้คน



โครงการ MOOC ตั้งอยู่บนปรัชญาอีกแบบ นั่นคือการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทุกคนจึงมีสิทธิเรียน เช่นเดียวกับทุกคนมี "พันธะ" ที่จะทำให้การศึกษาเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ฟรีๆ หรือมีอุปสรรคขัดขวางน้อยที่สุด จึงต้องออกแบบการศึกษาให้ไม่มีใครไม่ได้เรียนเพราะไม่มีเงิน ไม่มีพื้นฐานการศึกษาตามที่กำหนด

หรือสาเหตุแย่ๆ อย่างการต้องสาละวนทำงานหาเลี้ยงชีพจนไม่มีเวลาเรียน

ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนแบบนี้สำคัญ เพราะสิทธิไม่ได้หมายถึงแค่การเรียกร้องให้ผู้อื่นยอมรับสิทธิของตัวเอง ไม่ได้หมายถึงแค่การผลักดันให้มีกฎหมายซึ่งรับรองสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ

แต่หมายถึงการที่คนซึ่งเชื่อหลักสิทธิมนุษยชนนั้นต้องเชื่อและปฏิบัติบนความเชื่อว่าตนเองมี "พันธะ" กับผู้อื่นบนหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผลักดันให้สังคมมีกลไกที่แสดง "พันธะ" ด้านสิทธิมนุษยชนต่อสมาชิกในสังคม

น่าสังเกตต่อไปด้วยว่าโครงการนี้เป็นไปได้เพราะปัจจัยสามข้อ

ข้อแรก การมีบุคลากรในมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่ตระหนักในพันธะที่จะอำนวยให้คนส่วนใหญ่เข้าสู่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

ข้อสอง มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้การเรียนยืดหยุ่นจนใครก็เรียนได้จากทุกที่และทุกเวลาโดยต้นทุนต่ำมาก คือขอแค่ให้มีอินเตอร์เน็ตเท่านั้น

และข้อสามคือการมีสถาบันการศึกษาที่พร้อมจะสนับสนุนกำลังคนและงบประมาณในเรื่องที่ไม่ได้ผลกำไร โดยเฉพาะการยอมรับว่าการสอนแบบนี้เป็นภาระการทำงาน

ในบรรดาปัจจัยสนับสนุนทั้งสามข้อ ปัจจัยด้านบุคลากรในมหาวิทยาลัยคือปัจจัยที่สำคัญต่อโครงการนี้มากที่สุด

ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดขึ้นเพราะมีคนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่ให้คุณค่ากับความเท่าเทียมทางการศึกษามากพอจะแบกรับความท้าทายและแรงกดดันจากการสอนในห้องเรียนไร้รูปขนาดใหญ่โดยไม่กระทบต่อคุณภาพการสอน

ส่วนข้อสองและสามเป็นเพียงปัจจัยสนับสนุนชั้นรองลงมา



คําถามคือสังคมไทยมีองค์ประกอบอะไรที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดโครงการแบบนี้หรือไม่?

คำตอบคือในเวลานี้ยังไม่มี เพราะมหาวิทยาลัยไทยสนใจการพัฒนาตัวเองในแง่มูลค่าการตลาดเพื่อขายผลิตภัณฑ์การศึกษาสู่ลูกค้าให้มากที่สุด

ทุกมหาวิทยาลัยจึงมุ่งเปิดวิทยาเขตและหลักสูตรพิเศษสำหรับผู้มีกำลังซื้อทุกระดับ ไม่ว่าปริญญาตรีภาคภาษาอังกฤษ ปริญญาโทภาคพิเศษ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ฯลฯ ที่จะขายได้ก็ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยปั่นตัวเองเป็นสินค้าที่เข้าถึงยากจนผู้เรียนยอมจ่ายค่าเรียนแพงๆ

จิตวิญญาณแบบนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการทำให้ทุกคนเข้าถึงมหาวิทยาลัยได้ในราคาต่ำที่สุด เรียนจากที่ไหนก็ได้ และเรียนตอนไหนก็ได้อีกอย่างที่พูดไป

มีโอกาสที่บุคลากรในมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนระบบนี้หรือไม่?

คำตอบคือคงมีไม่มาก เหตุผลง่ายๆ คือหลักสูตรแบบนี้จ่ายดีกว่าหลักสูตรปกติจนหากสอนหลักสูตรแบบนี้เทอมละ 1 หรือ 2 วิชา ก็หาเงินเดือนละแสนได้ไม่ยาก จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดหวังให้ปัญญาชนสละเวลาและโอกาสทางเศรษฐกิจไปผลักดันโครงการที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้นโดยตรง

ความย้อนแย้งของเรื่องทั้งหมดคือขณะที่วาทกรรม "หอคอยงาช้าง" มีพลังจนปัญญาชนและมหาวิทยาลัยไทยเต็มไปด้วยการทำอะไรในนามสังคม

ความเป็นจริงคือคำว่า "สังคม" ของปัญญาชนกลายเป็นอะไรก็ได้ถึงขั้นที่แม้การปั่นมูลค่าของการศึกษาหรือการแสดงความเห็นอย่างฉาบฉวยก็เป็นการทำ "เพื่อสังคม" ไปได้อีก

ความเข้าใจของสังคมไทยว่า "สังคม" คืออะไรจึงเป็นเรื่องที่มีปัญหามากจริงๆ

MOOC เป็นตัวอย่างว่ามหาวิทยาลัยและปัญญาชนแนว "หอคอยงาช้าง" สามารถทำเพื่อสังคมได้มากกว่าคิด

การเปลี่ยนแปลงที่ลดทอนอภิสิทธิ์ของปัญญาชนและสถานะของสถาบันการศึกษาแบบนี้คือการทำ "เพื่อสังคม" แบบที่อยู่นอกกรอบความเข้าใจของสังคมไทยและปัญญาชนไทยในปัจจุบัน

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม, 7-13 ธันวาคม และ 14-20 ธันวาคม 2555
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net