Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1

ผมนึกทบทวนหลายครั้งว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีหรือไม่ เพราะว่ามีคนออกมาแสดงความคิดความเห็นอย่างหลากหลายแล้วในมิติต่างๆ อย่างกว้างขวาง และด้วยวิสัย “นักเรียนประวัติศาสตร์” ที่รอให้ฝุ่นผงจางหายแล้วค่อยกลับมาครุ่นคิด (แม้อาจได้คำตอบที่ไม่ดีนัก) และน่าจะเป็นละครแห่งปีก็ว่าได้แม้ว่าผมจะดูบ้างไม่ดูบ้าง เพราะเย็นมามักนั่งคลุกอยู่ไหนสักที่โดยไม่แจ้งก็ตาม (ในที่นี้ผมจะไม่พูดถึงเรื่องย่อ หรือบุคลิกของตัวละครใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอนุมานว่าผู้อ่านทราบดีกว่าผู้เขียน)  แต่โลกผ่าน FB ก็คลาคล่ำไปด้วยวลีเด็ดของ “แรงเงา” เช่น “นกไนติ่งเกว” “ผอ. ย่อมาจากอะไร ผัวธัญญา ผัวคนอื่น...” “นานแค่ไหนผมก็รอได้ครับ เพราะ....ผมวางมัดจำไว้แล้ว” “สิ่งที่เห็น...และสิ่งที่เป็น...อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน...” “ความรักที่แท้จริงคือการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” “ผมเป็นคนแรกของคุณ....ฉันขอโทษทีนะคะชั้นไม่ได้นับว่าคนเป็นคนที่เท่าไหร่” (คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา 2555)

 

ที่มา: คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา 2555

2

เอาละครับทั้งหมดทั้งมวลที่ผมยกออกมาข้างต้นเพื่อจะบอกว่า ละครเรื่องนี้มันอัศจรรย์ยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา สำหรับผมความน่าอัศจรรย์ คือ ทำไมละครเรื่องนี้ถึงเข้าไปอยู่ในหัวจิตหัวใจคนไทย ได้อย่างล้นเหลือขนาดนั้น ในฐานะคนดูบ้างไม่ได้ดูบ้าง ขอลองตอบสัก 6 ประการ

ประการแรก ผมคิดว่าแรงเงานี้ มันคือ “เงา” ของสังคมไทย (1) ที่สะท้อนให้เห็นโครงสร้างอำนาจที่ลักลั่น ที่แต่ละคนมีอำนาจไม่เท่ากัน  ผ่านตัวแสดงหญิง/ชาย ชาย/หญิง/เกย์/กระเทย ผู้มีศีลธรรม(ดวงตาเห็นธรรม)/ผู้อยู่ในโลกีย  นายทุน/ขุนนางเก่า มาเฟีย/ข้าราชการ ซึ่งมันซับซ้อนในแง่ที่มันเลื่อนไหลถ่ายเทได้  (2) แต่โครงสร้างฐานะทำให้คนเข้าถึงทรัพยากร และอำนาจแตกต่างกัน เช่น ความเป็นเพศที่ 3 ที่ถูกขับเน้นในละครเรื่องนี้ กลับมีสถานะของ “ชายขอบ” ที่เป็น “ตัวตลก” (Joker) หรือคนที่ถูกลดถอนให้เหลือแต่ความหมกมุ่นแต่ในเรื่อง “เพศ” และ “เรื่องของชาวบ้าน” หรือแม้แต่ผู้หญิงก็ถูกทำให้เป็น “เครื่องเล่น”(มุนิน) และสยบยอม เป็นต้น

 (3) ความเป็น “พหุลักษณ์” นี้มันเป็น “สมัยใหม่” ที่ “อัตลักษณ์” ของคน กลุ่ม มีความแปรเปลี่ยน บิดพลิ้ว เลื่อนไหลได้ตามบริบท เอาอย่างบางครั้งก็เป็นสามี วันดีคืนดีเป็นภรรยา อย่าง ผ.อ. เจนภพ บางที่ก็เป็นสามีของมุตา บางทีก็เป็นสามีของนพนภา เป็นเชื้อสายขุนนาง มีภรรยาเป็นแม่ค้า (นายทุน) มีลูกที่เป็นทั้งเกย์ และผู้หญิงที่รักหมดใจ ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ผมว่าตัว ผ.อ. เจนภพ นี้มีความหลากหลายโลดแล่นที่สุดในแง่ที่ความเป็น “พหุลักษณ์” (4) “เงา” ของสังคมชายเป็นใหญ่ที่อย่างไร สังคมไทยก็ยังสลัดไม่หลุดพ้น ดังวลีที่ว่า “ผู้ชายมีหลายเมียเรียก “เมียน้อย” ผู้หญิงมีหลายชายเรียก “มีชู้”” แม้ว่าในปัจจุบันผู้หญิงจะมีการศึกษา หน้าที่การงาน และเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่สถานะของผู้หญิงไทยก็เสมือนว่าจะ “ด้อย” กว่าชายในหลายมิติ

ประการที่สอง โครงเรื่องหรือตัวละครในตอนกลาง ถึงปลาย เป็นการ “กลับหัวกลับหาง” หรือ “ปฏิวัติ” เพราะแสดงให้เห็นถึงความไม่ “สยบยอม” ต่ออำนาจของมุนิน ซึ่งสัมพันธ์กับบริบทของสังคมไทย ที่มีการลุกขึ้นมาของ “ไพร่”  รวมถึงการ “เปลี่ยน” อำนาจหญิง/ชาย ที่สร้าง “อำนาจ” ของผู้หญิงผ่าน “ความงาม” “มายา” และ “การทำงาน”  เช่น มุนินเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่มีการศึกษาสูง มีหน้าที่การงานที่มั่นคง และสามารถเลี้ยงตนเองได้ ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย ทำให้มี “อำนาจ” และ “อิสระ” ในตัวเองสูง ไม่ต้องอยู่ในมายาภาพชายเป็นใหญ่ในสังคมไทย และที่สำคัญคือ การสร้าง “จริต” ข้างต้นไปกันได้อย่างพอดิบพอดีกับ “บริบท” ของคนไทยที่ลุกขึ้นต่อต้าน ขัดขืนในสังคมไทย

ประการที่สาม “ความลักลั่น” “พร่ามัว” ของละครแรงเงา (1) ที่เสมือนว่าต่อต้าน ขัดขืน ยืนทรนง ต่อวัฒนธรรมไทยอย่างถึงรากถึงโคน อย่างที่ไม่ค่อยมีหนัง หรือละครไทยก่อนหน้านี้กล้าทำ (ผมเห็นมี 2 เรื่องก่อนหน้านี้ คือ แผ่นดินของเรา และดอกส้มสีทอง) แต่ในท้ายที่สุด (2) “วัฒนธรรมไทย” และ “วัฒนธรรมพุทธ” นี้ช่างมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างน่าพิศวง มุนินอโหสิกรรมให้นพนภา ผ.อ. และ ฯลฯ นพนภา  ผ.อ. ได้รับผลแห่งกรรมที่ก่อไว้ ครอบครัวคืนดี จบแบบมีสกุลมาก (3) แม้ว่าคนทำผิดกฎหมายอย่างนพนภา ก็ไม่ต้องชดใช้กรรม ผู้มีอิทธิพล นายทุน ต่างหลุดพ้น หลุดรอดกฎหมาย อย่างดาดเดื่อนในสังคมไทย ซึ่งก็เข้ากันได้ดีกับสังคมไทย ที่ “คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น” อาทิ “มุนินทร์เอาพวงหรีดไปเยี่ยมนพนภา แต่เมื่อเห็นสภาพนพนภาก็เปลี่ยนใจเอาพวงหรีดทิ้งไป แต่เนตรนภิศเห็นเข้ารีบเอาพวงหรีดมาวางใหม่ นพนภาเห็นเข้าอาการยิ่งทรุดลงไปอีก มุนินทร์มีธุระเข้าโรงแรมกับเจ้านาย วีกิจสะกดรอยตามไปและยิ่งเข้าใจผิด จากนั้นก็เห็นมุนินทร์กับอินทีเรียดีไซน์เนอร์เก๊กแมนจึงยิ่งเข้าใจผิดอีก และเข้าไปต่อว่า มุนินทร์โกรธแต่กลับรับสมอ้าง วีกิจเข้าลวนลามเธอ เกิดการตบจูบ ด้วยความรักที่ทั้งคู่มีต่อกัน ทำให้ทั้งคู่มีความสัมพันธ์กัน” (เรื่องย่อละครแรงเงา 2555) “...เจนภพเสียใจมาก เขาไปบอกนพนภาเล่าเรื่องทั้งหมด เรื่องมุตตาท้อง ฆ่าตัวตาย การแก้แค้นของมุนินทร์ นพนภาได้สติขออโหสิกรรม ทุกคนเดินทางไปงานศพ ขออโหสิกรรมซึ่งกันและกัน วีกิจบอกรักมุนินทร์ขอคืนดี แต่มุนินทร์คิดว่าเป็นแค่ความรับผิดชอบเธอปฏิเสธ มุนินทร์เจอจดหมายขออโหสิกรรมของมุตตาต่อเธอ มุนินทร์ร้องไห้ เพราะมุตตาผู้โง่เขลากลับรู้จักคำนี้ก่อนเธอนานนัก” (เรื่องย่อละครแรงเงา 2555)

 

ที่มา: คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา 2555

ประการที่สี่  “อำนาจ” มันกระจายไปตามที่ต่างๆ ไม่มีใครกำหนดทิศทางของอำนาจได้ (ดูเพิ่มใน อานันท์  กาญจนพันธุ์ 2552; รัตนา โตสกุล 2548) ในเรื่องนี้เราจะเห็นว่าตัวละครต่างสร้างอำนาจ หรือบุคลิกของอำนาจได้อย่างหลากหลาย เช่น ผ.อ.เจนภพ สร้างอำนาจจากการเป็นข้าราชการ และผู้บังคับบัญชา สามี พ่อ   มุตา/มุนิน/นก สร้างอำนาจของความเป็นผู้หญิงผ่านมายาสาไถ (ที่มีทั้งดีและไม่ดี) นพนภา (ในความคิดผมถือว่าเป็นตัวละครที่มีสีสันที่สุดอีกตัวหนึ่ง) ที่สร้างอำนาจผ่านความเป็นผู้หญิง เมีย ทุน(เงิน) อำนาจเถื่อน อาทิใช้นักเลงทำร้ายทำลายคู่แข่ง เส้น (นามสกุล/และความเป็นข้าราชการของสามี/การรู้จักเส้นสาย) ในการกำจัด ทำลายคู่แข่ง (มุนิน/มุตา/นก ฯลฯ) “อำนาจ” จึงกระจายไปตาพื้นที่ต่างๆ แล้วแต่ใครจะฉวยใช้ และสร้างพื้นที่ของอำนาจได้มากกว่ากัน

ซึ่งที่สำคัญคือ ในปัจจุบันใครที่คิดว่าผูกขาด “อำนาจ” ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผูกขาดการนิยาม หรือให้ความหมาย “ความจริง” แบบคนมา “อวย” อย่างมืดฟ้ามัวดินอาจจะคิดผิดแล้วละครับ เพราะ “โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว”

 

ที่มา: คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา 2555

ประการที่ห้า ละครไทยมิได้สะท้อนชีวิตจริงของตัวละคร แต่สะท้อนให้เห็นอุดมคติบางอย่างที่เป็นความคาดหวัง ความใฝ่ฝันร่วมกันของคนในสังคมไทย (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2551) (1) สุดท้าย “ศีลธรรม” “จรรยา” “ความสงบสุข” จะกลับสู่สังคมไทยถ้าเรา “อภัย” “อโหสิกรรม” (2) ความแค้น ให้เก็บไว้และปล่อยมันไปกับสายลม (3)  ความผิดอย่าได้ขุดคุ้ย ปล่อยให้เป็นไปตามกรรม กาลเวลาจะลงทัณฑ์เขาเหล่านั้น “สิ่งที่เห็น...และสิ่งที่เป็น...อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน...” “กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” “ความรักที่แท้จริงคือการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” “ฉันรู้แล้วว่าเวรต้องจบด้วยการไม่จองเวร” “กฎข้อแรกของการที่เราจะไม่ทุกข์เลยก็คือ กรรมอะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้เกิดทุกข์ เราก็ไม่ทำ” (คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา 2555) เหมือนท่าน ว. วชิรเมธี กำลังโลดแล่นในละครอยู่เลยครับ (4) ผมคิดว่าตัวละครหลายตัวเป็นบุคลาธิษฐานของสังคมไทย เช่น เจนภพที่เป็นผู้ชายเจ้าเสน่ห์ มากเล่ห์หลายเหลี่ยม เจ้าชู้ มีอำนาจ มีเงิน ซึ่งผมคิดว่าผู้ชายไทยหลายๆ คนก็อยากเป็นเหมือน ผ.อ. หรือตัวของของวีกิจ ก็เป็นผู้ชายในฝันของสาวไทย ที่ทั้งหล่อ รวย ดี (แบบซื่อๆ) มุนิน เองก็ถอนรากถอนโคนความเป็นหญิงไทย (แม้ท้ายที่สุดจะจบแบบเซื่องๆ แบบไทยๆ ก็ตาม)

ประการสุดท้าย ผู้เขียนบท/ ผู้กำกับ/ เข้าใจ “เมืองไทยนี้ดี” อย่างถึงรากเพราะสามารถลดทอนปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หรือพูดง่ายคือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ให้เหลือเพียงปัญหาเชิงศีลธรรม  คือ ปัญหาที่เกิดจากคนบางคนขาดศีลธรรม ไม่มีคุณธรรมเป็นปัญหาของปัจเจก เป็นความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมักได้ ตะกละของตัวบุคคล เศรษฐกิจ สังคมไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการกระทำ หรือพูดง่ายๆ ว่า “ดี/เลวโดยกำเนิด” “เมืองไทยนี้จึงดี” และสงบ (ดู สายชล สัตยานุรักษ์ 2550)

ละเลยเงื่อนไขที่ผลักให้ “เขา” ทำนั้นว่าเกิดจากอะไร นำมาสู่การ “ตีตราทางศีลธรรม” แต่ว่าศีลธรรมอันนั้นใครเป็นผู้กำหนด และกำหนดด้วยวัตถุประสงค์ใด เมืองไทยนี้ดีมักละทิ้ง ลดทอน มองข้าม ซึ่งบางครั้งได้กลายเป็นปัญหาต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง นำมาสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทำอย่างไรก็แก้ไม่ได้ในปัจจุบัน และเราก็สามารถโยนอะไรต่อมิอะไรให้นักการเมืองเป็น “แพะ” ได้อย่างสบายอารมณ์

ท้ายที่สุดผมไม่สรุปว่า “อะไรเป็นอะไร” แต่ที่แน่ๆ สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้วและไม่มีทางหวนคืน มุตาอาจมีตัวตน แต่คนอย่างนก/มุนิน/ต่อ/ก้อง “...เป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้… เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ไดบ้างสิ่งบางอย่างชั่วครั้ง ชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป” (ฟ้าเดียวกัน 2555) “ปีศาจ” ตัวนี้ได้ “ตื่น” และจะเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย และไม่จบแบบ “แรงเงา” อย่างแน่แท้ (แต่ผมก็เดาไม่ออกว่าจะเป็นแบบไหน อาจเหมือนพฤษภาคม 2553 หรือ 2535 หรือ 6 ตุลาคม 2519 หรือ 14 ตุลาคม 2516 ก็เป็นได้ ฯลฯ) 

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม
คำคมกระแทกใจในละครแรงเงา.  [ออนไลน์].  https://www.facebook.com/pages/สืบค้นวันที่ 12/12/2012

ชัยพงษ์ สำเนียง.  วัฒนธรรมเกาหลีแบบไทยๆ.  [ออนไลน์].   http://prachatai.com/m/journal/31884 สืบค้นวันที่ 12/12/2012

นิธิ เอียวศรีวงศ์.  อุดมคติในละครทีวีไทย. มติชนรายสัปดาห์ประจำวันที่ 10-16 กันยายน 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1568, หน้า 25-26. สืบค้นจาก http://serichon.org/board/index.php?topic=35948.0 สืบค้นวันที่ 12/12/2012

ฟ้าเดียวกัน.  [ออนไลน์].  ปีศาจแห่งกาลเวลา (บทบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกันปีที่ 10 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม –ธันวาคม 2555).  http://www.prachatai.com/journal/2012/12/44081.  สืบค้นวันที่    12/12/2012

รัตนา โตสกุล.  (2548).  มโนทัศน์เรื่องอำนาจ = The concept of power.  กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

เรื่องย่อละคร แรงเงา.  [ออนไลน์].  http://drama.kapook.com/view47325.html.  สืบค้นวันที่    12/12/2012

สายชล  สัตยานุรักษ์.  (2550).  คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย เล่ม 1, 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

อานันท์ กาญจนพันธุ์.  คิดอย่างมิเชล ฟูโกต์ คิดอย่างวิพากษ์ : จากวาทกรรมของอัตบุคคลถึงจุดเปลี่ยนของอัตตา.  เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2552.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net