25 ธ.ค.ตัดสินคดีโบรกเกอร์หนุ่มโพสต์ข่าวลือสถาบัน ทำหุ้นดิ่งปี52

17 ธ.ค.55  ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลนัดพร้อมคดีนายคธา (สงวนนามสกุล)  ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์   จากกรณีการโพสต์ข่าวอัปมงคลเกี่ยวข้องกับสถาบัน ในอินเตอร์เน็ตขณะตลาดหุ้นร่วงหนักเมื่อปี 2552โดยในวันนี้ศาลได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้จำเลยฟังว่า ตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตรา 14 (2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (3) หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

พร้อมกันนี้ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันอังคารที่ 25 ธ.ค.นี้ เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ คธา เป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์หุ้นตกในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ใช้นามแฝงว่า Wetdream จำนวน 2 กรรม โดยเว็บไซต์ศูนย์กฎหมายและคดีเสรีภาพ ของ iLaw ระบุถึงหนึ่งในข้อความที่ถูกฟ้องไว้ว่า “ตลาดหุ้นอาจจะสามารถทำนายปรากฏการณ์ของ XXX ครั้งนี้ได้ไม่แพ้แหล่งข่าวอื่นๆ ก็ได้”

เขาถูกจับกุมวันที่ 1 พ.ย.2552 และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีส่วนทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก มีความผิดตาม มาตรา 14(2) ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 คธาได้รับการประกันตัว แต่ถูกให้ออกจากงานในทันทีและตกงานอยู่จนปัจจุบัน

ในวันเดียวกับที่มีการจับกุมคธา เจ้าหน้าที่ตำรวจยังจับกุม น.ส.ธีรนันต์  (สงวนนามสกุล) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยธีรนันท์เป็นอดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แปลบทความของสำนักข่าวต่างประเทศ ‘บลูมเบิร์ก’ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์หุ้นตกและนำมา โพสต์ลงในเว็บบอร์ดประชาไท ใช้นามแฝงว่า BBB  อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ในช่วงนั้นด้วยว่า พนักงานสอบสวนได้ขอออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีข่าวลือทำให้หุ้นตกเพิ่มอีกประมาณ 3-4 คนด้วย โดยหนึ่งในผู้ต้องหาเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

คดีของนายคธามีการสืบพยาน ในช่วงเดือน มิ.ย.และก.ค.ที่ผ่านมา โดยในระหว่างนั้น ทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40(3) เพราะเป็นบทบัญญัติที่กำกวม เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจดุลพินิจได้อย่างไร้ขอบเขต ประชาชนอ่านแล้วไม่สามารถทราบได้ว่าการกระทำเช่นใดจึงผิดต่อกฎหมายโดยเฉพาะ ถ้อยคำว่า “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”

ต่อมาวันที่ 13 ก.ย.55 เว็บไซต์สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่า มาตรา 14 (2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นมุ่งคุ้มครองความมั่นคงประเทศ และความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม และการกำหนดความผิดทางอาญาแก่บุคคลตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ถูกต้อง และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (3) แล้ว คำโต้แย้งของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211

 

 

อ่านรายละเอียดการสืบพยานเบื้องต้นที่น่าสนใจได้ที่ http://prachatai.com/journal/2012/11/43892

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท