Skip to main content
sharethis

พรรคร่วมรัฐบาลออกแถลงการณ์เสนอการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 แกนนำ40 สว.ประกาศไม่ขวางแต่เชื่อประชามติไม่ผ่าน จารุพงษ์ระบุเข้า ครม.18 นี้ น่าจะได้ลงประชามติ มีนา-เมษา 2556

15 ธค.2555  พรรคร่วมรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลในการเสนอให้ ครม.ดำเนินการจัดทำประชาติเพื่อแก้ไข รธน.ฉบับปัจจุบันโดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... วาระที่ 1 และวาระที่ 2 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 77 คน และจากการคัดเลือกของรัฐสภา จำนวน 22 คน  เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  แต่ยังไม่มีการลงมติในวาระที่ 3  เนื่องจากมีกรณีกลุ่มบุคคลไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68  ซึ่งในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวหา นั้น

ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย  พรรคร่วมรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อศึกษากรณีปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ค้างการพิจารณาอยู่ในวาระที่ 3 นั้น ได้กำหนดให้มีการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับข้อแนะนำในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก็ยังอาจมีความไม่เข้าใจ หรือความเห็นว่า ควรจะมีการทำประชามติเสียก่อนจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่  ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง  คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลจึงได้เสนอไว้ในรายงานว่า

ในกรณีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประสงค์มิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง   คณะรัฐมนตรีก็อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความปรารถนาดี  มิใช่ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี  หากประชามติไม่ผ่าน หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะ ให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้  หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เพิ่มเติมการทำประชามติกรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป  แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่นเดียวกัน ทั้งต้องอธิบายให้ชัดเจนด้วยว่า ไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่เป็นความรอบคอบ โดยจะเร่งรัดดำเนินการไปพร้อมๆ กับการรณรงค์ทำความเข้าใจ

พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นชอบร่วมกันว่า

1. แม้ว่าการลงมติในวาระที่ 3 จะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรรัฐสภาเท่านั้น  แต่หากสมาชิกรัฐสภา หรือประชาชน 50,000 คนที่เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ประสงค์จะให้มีการทำประชามติว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่  ก็ไม่มีช่องทางจะทำได้  คงมีเพียงคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552

2. เพื่อให้ข้อเสนอแนะของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีความมุ่งหมายให้เกิดข้อยุติ ลดความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว  คณะรัฐมนตรีจึงควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ว่าสมควรจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีความชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมขึ้นหรือไม่ โดยการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  โดยจะไม่มีการแก้ไขในเรื่องรูปของรัฐ รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

3. รัฐบาลควรสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง สถาบันการศึกษา องค์กรประชาธิปไตย และองค์กรประชาชนในทุกภาคส่วน  เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณณรงค์ ชี้แจงต่อประชาชนให้เข้าใจถึงเหตุผลในการจัดทำประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมยิ่งขึ้น

4. การทำประชามติในครั้งนี้ มีความชัดเจนว่า เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง และเป็นความปรารถนาดี เพื่อให้สังคมไทยมีทางออกอย่างละมุนละม่อม  ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่อไป  ดังนั้น ไม่ว่าผลของประชามติออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องถือเป็นข้อยุติ และไม่มีกรณีที่จะอ้างประโยชน์ หรือกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งให้ต้องรับผิดชอบในผลแห่งประชามตินั้น

5.  ไม่ว่าผลแห่งประชามติจะออกมาในทางใด ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่ารัฐสภาทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม  ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สอดคล้องต่อหลักนิติธรรมได้ตลอดไป   

ในขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงการเดินหน้าทำประชามติ เพื่อให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า การทำประชามติเป็นเรื่องที่ดีที่ควรกระทำ ซึ่งการลงประชามติต้องมีความชัดเจนว่าสนับสนุนให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี2550 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือประมาณ 23 ล้านคน แต่ถ้าไม่เสียงไม่แตกต่างกันมาก ก็ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการยกเลิกรัฐธรรมนูญจะดำเนินไปรอดหรือนำมาอ้างได้ ความขัดแย้งของคนที่เห็นต่างก็จะยังคงมีอยู่ เสียงที่เห็นด้วยจะต้องเป็นเสียงที่มากเป็นพิเศษไม่ใช่เสียงข้างมากปกติ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ออกมาเห็นด้วยกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ถ้าหากการดำเนินการลงประชามติไม่สำเร็จผล ก็หมายถึงว่ากระบวนการยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ประชาชนจะยอมรับ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่มีปัญหา สามารถทำได้โดยการเอามาพูดคุยในสภาฯ ก่อนได้ เพื่อหาข้อสรุป ประชาชนก็จะได้รับทราบข้อมูลด้วย ไม่ใช่ไปยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วไปตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นมาร่างรับธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการยกเลิกหลอกๆ แล้วปิดปังข้อมูลประชาชน

ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยกับแนวทางที่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเสนอว่า เชื่อว่าเมื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินในการทำประชามติ ก็เชื่อว่าจะจบและเดินตามแนวทางนั้น ส่วนขั้นตอนการดำเนินการการทำประชามติเป็นหน้าที่ของกทม.  โดยพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ได้เสนอเรื่องกับนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อทำการพิจารณาในวันอังคารที่ 18 ธ.ค. นี้  จากนั้นเมื่อ ครม.มีมติจะแจ้งไปยังรัฐสภา ให้ประธานวุฒิสภาและประธานสภารับทราบต่อไป และดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คาดว่าระหว่างวันที่ 12 มี.ค. - 12 เม.ย. 56 จะเป็นห้วงวันที่จะให้มีการลงมติ ซึ่งอยู่ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดที่ระบุว่าไม่เกิน 90 วันหลังจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

ที่มา:  นสพ.มติชน
          นสพ.ข่าวสด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net