Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักพิมพ์อ่านจัดสัมมนาวิชาการ เรื่องเล่าและความทรงจำในงานวรรณกรรมบันทึก กรณีศึกษา “รักเอย” โดยมีผู้ร่วมสัมมนาจากหลายสาขา สร้างความสนใจให้กับหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง

“รักเอย”เขียนโดย คุณรสมาลิน ตั้งนพกุล เพื่อเป็นหนังสืองานศพของคุณอำพล ตั้งนพคุณ หรือ อากงที่ได้ทำการฌาปนกิจศพไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ2555 คุณอำพลนั้นตกเป็นเหยื่อจากความไม่เป็นธรรมของมาตรา 112 ต้องได้รับชะตากรรม คือ ติดคุกโดยปราศจากความผิด และในที่สุด ก็ถึงแก่กรรมในคุก ซึ่งกลายเป็นเครื่องประจานความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม และเป็นมลทินอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของศาลไทย

ในหนังสือเล่มนี้ คุณรสมาลินเล่าว่า ที่ใช้ชื่อ “รักเอย” เพราะเป็นเพลงที่คุณอำพล ขอให้คุณรสมาลินร้องในวันแต่งงานของทั้งสองคน ซึ่งเป็นวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2511 คุณรสมาลินเล่าถึงคุณอำพลว่า เกิดในครอบครัวคนเชื้อสายจีน มีชื่อจีนว่า อาปอ เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2493 ที่อำเภอบางบ่อ สมุทรปราการ เตี่ยเป็นคนขายกาแฟ มีลูก 8 คน คุณอำพลจึงมีพื้นฐานครอบครัวที่ยากจน จบประถมศึกษา 7 และต้องไปทำงานเป็นลูกจ้างในโรงไม้ที่จังหวัดชลบุรี ส่วนคุณรสมาลินเป็นคนกรุงเทพฯ เกิด พ.ศ.2495 พ่อเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย ยากจนมากเช่นเดียวกัน คุณรสมาลินได้เรียนแค่ประถมสี่ ต้องออกมาเลี้ยงน้อง และช่วยแม่ทำงาน ต่อมาได้ไปทำงานที่โรงไม้ ได้รู้จักคุณอำพล

คุณรสมาลินได้เล่าถึงการพบกันและรักกัน อย่างเป็นธรรมชาติมาก ซึ่งเป็นการสะท้อนชีวิตของคนธรรมดาสามัญที่เป็นคนยากจนในสังคมไทย เช่น คุณรสมาลินเล่าว่า เธอไม่เคยมีห้องส่วนตัว ที่บ้านไม่มีอะไรเป็นส่วนตัว ต้องอยู่กับน้องหลายคน ดังนั้น ก่อนไปทำงาน เธอชอบถีบจักรยานไปชายทะเล ตรงที่เรียกว่า หน้าศาล ไปพูดเสียงดังใส่ทะเล ระบายอารมณ์ด้วยการเขวี้ยงหินลงไปในน้ำ ไปจับปู ไปตะโกนใส่ทะเล พื้นที่ชายทะเลที่นั่นกลายเป็นโลกส่วนตัวของเธอ การมีโลกส่วนตัวคล้ายอย่างนี้ คงเป็นเรื่องธรรมดาของลูกหลานคนยากจน แต่ลูกหลานชนชั้นกลางคงนึกไม่ถึง ต่อมา ชายทะเลแห่งนี้ก็เป็นที่พบปะกับคุณอำพล และคุณอำพลได้บอกกับคุณรสมาลินว่า ทะเลเป็นพยานรักไม่ได้ เพราะมันมีขึ้นมีลง ในที่สุดทั้งสองก็แต่งงานกัน ขณะที่แต่งคุณรสมาลินอายุได้เพียง 16 ปี

คุณรสมาลินได้เล่าถึงการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน มีทั้งความสุขและความทุกข์ มีเรื่องทะเละกันบ้าง เขียนต่อว่ากันผ่านกระจก เดี๋ยวก็ดีกัน คุณอำพลชอบร้องเพลงร่วมสมัย ชอบเพลงของชรินทร์ นันทนาคร นอกจากนี้ก็ชอบเพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน ส่วนคุณรสมาลินชอบเพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต ที่ขึ้นว่า “นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาน” ทั้งสองคนมีลูกถึง 7 คน เป็นหญิง 5 คน ชาย 2 คน คุณอำพลและคุณรสมาลินต้องขยันทำมาหากินอย่างยากลำบาก แต่ก็มีหนี้มีสินเหมือนคนทั่วไป เพื่อหาเงินเลี้ยงลูกจนลูกโตและมีครอบครัวไปหมด

จนหลัง พ.ศ.2540 เมื่อลูกโตหมดแล้ว คุณอำพนจึงหยุดทำงานเพื่อมาดูแลแม่ที่สูงอายุ ต่อจากนั้น ก็อยู่เลี้ยงหลาน 5 คน จึงได้ถูกเรียกเป็น “อากง” ส่วนเงินที่ใช้จ่ายก็มาจากลูก และมาจากที่คุณรสมาลินทำขนมขาย คุณอำพลก็ใช้เงินอย่างประหยัด เพื่อนำเงินที่เหลือมาซื้อนมวัวแดงให้หลานกิน ในที่สุด คุณอำพลและคุณรสมาลินก็ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมา 44 ปี

คุณรสมาลินเล่าว่า เธอเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตอนวัยรุ่นก็อ่านพวกศาลาคมเศร้า นอกจากนั้น ก็อ่านสามก๊ก จอยุ่ยเหม็ง แต่ต่อมามีลุกหลายคนไม่ค่อยมีเวลาอ่าน เคยเขียนบันทึกหลายครั้ง แต่หายหมด และชีวิตประจำวันเก็ไมเอื้อต่อการเขียน ก่อนหน้านี้ เรื่องการเมืองทั้งหลายไม่เคยอยู่ใกล้ การดำเนินชีวิตก็เป็นธรรมดา จนเมื่อ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา สถานการณ์ทางการเมืองไทยรุนแรงมากขึ้น คุณอำพลก็เคยใช้เวลาว่างไปติดตามดูทั้งฝ่ายเสื้อแดงเสื้อเหลือง ในซอยที่อยู่ที่สำโรงเป็นถิ่นของคนเสื้อแดง คุณอำพลเองก็ชอบนโยบายของคุณทักษิณมากกว่า เพราะเขาเคยผ่าตัดมะเร็ง ก็ใช้สิทธิของบัตรสามสิบบาท ทำให้มีชีวิตรอดมาได้ และยังชอบนโยบายปราบปรามยาเสพติด แต่ก็ไม่ได้มีความชัดเจน ชีวิตครอบครัวก็ดำเนินไปเช่นปกติธรรมดา จนกระทั่งวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2553 คุณอำพลก็ถูกจับในข้อหาส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้กับเลขานุการนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คุณรสมาลินเล่าว่า ตำรวจมากันตั้งแต่เช้ามืด มาเคาะประตู คนอำพลยังนอนหลับอยู่ ทั้งตำรวจและนักข่าวมากันเต็มไปหมด หลานก็ร้องไห้กันระงม ตำรวจก็มาค้นทั้งบ้าน โดยคุณรสมาลินก็ไม่รู้ว่ามาค้นหาอะไร พอคุณอำพลแต่งตัวเสร็จ ตำรวจก็ใส่กุญแจมือ คุณรสมาลินถามว่า “ลื้อไปทำอะไร ลื้อได้ทำมั๊ย” คุณอำพลตอบว่า “อั๊วไม่ได้ทำ อั๊วไม่รู้เรื่อง” ขณะที่คุณอำพลถูกจับแล้ว คุณรสมาลินก็ยังไม่รู้ว่า มันรุนแรงและเลวร้ายแค่ไหน จนเวลาผ่านไปเป็นเดือน จึงได้ติดต่อกับคุณปลา ผู้สื่อข่าวประชาไท และได้ติดต่อคุณอานนท์ นำภา และ คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ มาเป็นทนายความให้ ต่อมา คุณอำพลได้ประกันตัวออกมา ทั้งสองคนจึงตัดสินใจย้ายบ้าน เพราะไม่อยากจะอยู่กับบรรยากาศแบบที่โดนจับอีก

วันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2554 คุณอำพลถูกเรียกตัวไปศาล ตั้งแต่วันนั้น ก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย เพราะศาลสั่งถอนประกัน ให้นำตัวคุณอำพลเข้าคุก ขอประกันตัวหลายครั้งก็ไม่อนุญาต ภาระที่หนักอยู่แล้วก็หนักยิ่งขึ้นอีก คุณรสมาลินต้องรับส่งหลานไปโรงเรียนแทน และยังต้องจัดเวลาไปเยี่ยม จนกระทั่งวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ศาลก็ตัดสินจำคุกคุณอำพล 20 ปี คุณรสมาลินเล่าว่า ความรู้สึกทั้งเคว้งคว้างทั้งคับแต้น ตนเหมือนคนเสียสติ ต่อมา นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาล เขียนบทความว่า “อากงปลงไม่ตก” โจมตีอากง และยืนยันความถูกต้องของศาล ทำให้คุณรสมาลินสติแตก รู้สึกว่าจะต้องตอบโต้ แต่ก็ไม่สามารถเขียนได้ดังใจ

เมื่อ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ถูกทำร้าย จากการรณรงค์ต่อสู้เรื่องมาตรา 112 คุณรสมาลินก็ได้เขียนจดหมายไปให้กำลังใจ คุณอำพลที่อยู่ในคุกได้ทราบ ก็ภูมิใจมาก ในระหว่างที่อยู่ในคุก คุณอำพลห่วงหลานเสมอ หลานเองก็คิดถึงอากง และได้เขียนจดหมายและวาดรูปถึงอากง ซึ่งคุณรสมาลิน ก็ได้นำมาพิมพ์ในหนังสืองานศพนี้ด้วย

ด้วยปัญหาหลายประการ คุณอำพลจึงตัดสินใจเลิกต่อสู้คดี ทั้งที่ไม่ได้ทำความผิด เพื่อเตรียมการขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อจะได้ออกมาอยู่กับหลาน แต่ก็ไม่ทันกาล เพราะคุณอำพลถึงแก่กรรมในโรงพยาบาลของคุกเสียก่อนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2555

การถึงแก่กรรมของอากง เป็นการพ้นคดีออกเป็นอิสระ ไม่ต้องรับกรรมจากความอำมหิตของมาตรา 112 ต่อไป แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ยังมีคนไทยผู้บริสุทธิ์อีกหลายคน ที่ยังตกเป็นเหยื่อของมาตรานี้

ในที่นี้อย่างจะเสนอว่า เรื่อง”รักเอย”เป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่สะเทิอนใจ และมีคุณค่ายิ่งกว่าวรรณกรรมที่ส่งประกวดรางวัลซีไรท์ทั้งหมดในปีนี้ เพราะเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนชีวิตและสังคมที่เป็นจริงของผู้ถูกกระทำโดยไม่มีทางสู้ในสังคมไทย จนทำให้ความตายกลายเป็นทางออกของชีวิตในกรณีนี้

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ : โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 390 วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net