เมื่อภาษาอังกฤษ 'ดิ้นได้' ในโลกอินเทอร์เน็ต

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสำคัญในการติดต่อสื่อสารกับคนต่างภาษา โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ตยิ่งทำให้มีการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าภาษาแม่ของแต่ละคนจะสูญหายไป อินเทอร์เน็ตกลับยิ่งทำให้ภาษาอังกฤษมีหลาย 'เวอร์ชั่น' พลิกแพลงไปตามแต่วัฒนธรรม ติดตามได้ในรายงานของ BBC โดย Jane O'Brien

ในโลกอินเทอร์เน็ต ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสารของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก แต่ตัวภาษาอังกฤษเองกำลังเปลี่ยนไป

BBC ท้าวความไปถึงยุคสมัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวขึ้นหลังสงครามกับอังกฤษในปี 1814 ซึ่งทำให้สหรัฐฯ อยู่ในสภาวะที่ผู้คนแตกแยกกัน โนอาห์ เว็บสเตอร์ ผู้ที่ต่อมากลายเป็นผู้เรียบเรียงพจนานุกรมเว็บสเตอร์คิดว่า การมีภาษาเดียวกันจะทำให้คนรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันได้ และการสร้างอัตลักษณ์ใหม่จะทำให้ประเทศสหรัฐฯ เป็นอิสระจากอังกฤษอย่างแท้จริง

พจนานุกรมของเว็บสเตอร์ในตอนนี้ ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 11 ได้ใช้ภาษาอังกฤษที่สะกดตัวอักษรแบบอเมริกันซึ่งเป็นที่นิยมโดยทั่วไปเช่นคำว่า 'Theater' ที่สะกดสลับ er กับ re, 'Color' ที่ตัดตัว u ออกจากคำเดิม และ 'Traveler' ที่ตัดตัว l ออกหนึ่งตัว รวมถึงรวมคำใหม่ๆ ที่มาจากอเมริกันเองเช่น skunk , opossum (สัตว์คล้ายหนูมีกระเป๋าหน้าท้อ), hickory (ต้นไม้ชนิดหนึ่ง), squash และ chowder (ซุปข้น)

พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับของอเมริกันใช้เวลาเรียบเรียง 18 ปี เว็บสเตอร์ต้องเรียบรู้ภาษาอื่นกว่า 26 ภาษา เพื่อค้นคว้าแหล่งกำเนิดที่มาของคำกว่า 70,000 คำ

รายงานของ BBC เปิดเผยว่า อินเทอร์เน็ตก็กำลังทำให้เกิดวิวัฒนาการทางภาษาในรูปแบบคล้ายๆ กัน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วฉับพลันมากกว่า เนื่องจากมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นภาษาที่สองมีจำนวนมากกว่าผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองก็ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันมากขึ้นโดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ตซึ่งให้ความสนใจด้านไวยากรณ์และการสะกดคำน้อยกว่า และผู้ใช้ก็ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องสำเนียง

นาโอมิ บารอน ศาตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอเมริกันในรัฐวอชิงตันดีซีกล่าวว่า อินเทอร์เน็ตทำให้คนที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก สามารถใช้ภาษาอังกฤษในทางที่มีความหมายและความสำคัญได้

ผู้ใช้เฟซบุ๊กได้ติดต่อสื่อสารกับสังคมโดยใช้ภาษาอังกฤษหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษแบบอินเดีย หรือที่เรียกว่า 'ฮิงลิช' (Hinglish) ภาษาอังกฤษแบบสเปน 'สแปงลิช' (Spanglish) หรือภาษาอังกฤษแบบเกาหลี 'คงลิช' (Konglish) ซึ่งภาษาอังกษรูปแบบหลากหลายพวกนี้มีอยู่ในวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ มานานแล้ว ในตอนนี้มันได้เผยแพร่เข้ามาในโลกอินเทอร์เน็ต

"ในโลกอินเทอร์เน็ต สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือการที่คนสามารถสื่อสารกันได้ ไม่มีใครมีสิทธิบอกพวกเขาว่าควรใช้ภาษาอะไร" บารอนกล่าว "ถ้าหากคุณใช้เฟซบุ๊กสร้างเพจขึ้นมาได้ คุณก็มีภาษาที่ใช้แสดงจุดยืนทางสังคมและการเมือง แม้ว่ามันจะไม่ได้ถูกต้องตามหลักการเฉพาะทางภาษาศาสตร์"

มีบางคำที่เป็นการปรับใช้จากภาษาอังกฤษดั้งเดิม เช่นในภาษาอังกฤษของชาวสิงคโปร์ คำว่า 'เบลอ' (blur) หมายความว่า 'สับสน' หรือ 'ช้า' ได้ด้วยเช่นประโยค "เธอเข้ามาในวงสนทนาสายกว่าคนอื่น ทำให้เธอ 'เบลอ' "

บางครั้งก็มีการนำภาษาภาษาอังกฤษมาผสมเป็นคำใหม่ เช่นคำว่า 'สกินชิพ' (skinship) ของชาวเกาหลีหมายถึงการถูกเนื้อต้องตัวกันเช่น การจูงมือ การสัมผัส การเล้าโลม

เรื่องนี้ถึงขั้นมีบริษัทบางแห่งวางแผนสร้างโปรแกรมให้ผู้ใช้สามารถเพิ่มคำภาษาอังกฤษที่ถูกดัดแปลงซึ่งไม่มีในพจนานุกรมภาษาอังกฤษเข้าไปได้ นอกจากนี้ธุรกิจใหญ่ๆ ก็มักจะมีเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ และธุรกิจขนาดเล็กกว่าก็รู้ว่าควรใช้ภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษในการเข้าถึงลูกค้าทั่วโลก

"แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก แต่มันก็มีบทบาทพิเศษในทางการค้าและบทบาททางสังคม จากรูปแบบของความบันเทิงสมัยใหม่" โรเบิร์ท มุนโร กล่าว เขาเป็นนักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์และเป็นประธานบริษัทเทคโนโลยีทางภาษาอิดดิบอนในแคลิฟอร์เนีย

"ความแพร่หลายของภาพยนตร์ภาษาอังกฤษในหลายพื้นที่ที่เทคโนโลยีไม่ได้ไปไกลกว่าโทรศัพท์มือถือกับดีวีดี ทำให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาที่คนอยากรู้ ผู้คนคิดว่ามันเป็นภาษาของยุคดิจิตอล" มุนโรกล่าว

ไมเคิล อูลแมน ผู้อำนวยการด้านงานวิจัยของสถาบันภาษา Brain and Language Lab มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน พูดถึงภาษาเมื่อหลายศตวรรษที่แล้วที่เรียกว่าภาษาอังกฤษผสมหรือ 'พิดจิ้น' (pidgin) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการติดต่อกันทางการค้าและวัฒนธรรม โดยพิดจิ้นเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารอย่างกระชับและมีโครงสร้างไวยากรณ์ง่ายๆ

ผู้ใช้ภาษาพิดจิ้นในยุคต่อมาเริ่มใส่คำศัพท์และไวยากรณ์เพิ่มเข้าไปจนกลายเป็นภาษาครีโอล (Creole) ที่มีความแตกต่างจากเดิม ทำให้เป็นภาษาที่มีระบบและมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอูลแมนบอกว่าสิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นบนหน้าเว็บอินเทอร์เน็ต

เช่นภาษา 'ฮิงลิช' ที่นำเอาภาษาฮินดี ปัญจาบ อูร์ดู และอังกฤษ เข้ามาผสมกันและเป็นที่แพร่หลายมากจนถึงขนาดต้องนำมาสอนทูตอังกฤษ บริษัทโทรศัพท์มือถือเองก็สร้างโปรแกรมแอปพลิเคชันการใช้ภาษานี้ที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ในภาษาฮิงลิช คำว่า 'โค-บราเธอร์' (co-brother) หมายถึงพี่เขยหรือน้องเขย คำว่า 'อีฟ-ทีสซิง' (eve-teasing) หมายถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนการทำงานของหน่วยฉุกเฉินที่ทำงานแก้ไขวิกฤติจะเรียกว่า 'แอร์แดชชิ่ง' (airdashing) ส่วนคำว่า 'สเตเดียม' (stadium) ซึ่งปกติแล้วแปลว่าสนามฟุตบอล แต่ในฮิงลิชหมายถึงคนหัวโล้นที่มีผมหรอมแหรม และแม้กระทั่งเรื่องเวลาเช่นคำว่า "พรีโพน" (pre-pone) ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับ postpone ที่แปลว่าเลื่อนออกไป โดย pre-pone หมายความว่าการร่นเวลาเข้ามา

การที่อินเทอร์เน็ตมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้นหมายความว่าภาษาในโลกออนไลน์จะแตกหน่องอกเงยออกมามากขึ้น ไม่ใช่ว่าภาษาหนึ่งจะเกิดหรือภาษาหนึ่งจะดับไป

จากข้อมูลประกอบใน BBC องค์กรยูเนสโกได้ประเมินว่าจะมีภาษา 6,000 ภาษาหายไปภายในปลายศตวรรษนี้ แต่งานวิจัยใหม่กลับแสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความตัวอักษรกลับช่วยส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางภาษามากขึ้น

"ผู้คนส่วนใหญ่พูดหลายภาษา มีอยู่ส่วนน้อยที่พูดภาษาเดียว" มุนโรกล่าว "ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาลิงกัวฟังกา (Lingua franca)* ของโลก แต่ก็ไม่ได้ผลักไสภาษาอื่นออกไป"

แต่เป็นภาษาอื่นที่ดันตัวเองเข้ามาในภาษาอังกฤษ และทำให้เกิดสิ่งใหม่ตามมา

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Learn English online: How the internet is changing language, Jane O'Brien, BBC, 14-12-2012
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท