เปิดบันทึกDSIแจ้งข้อหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ

มติชนได้ เผยแพร่ รายละเอียดบันทึกแจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหากับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ในคดีพิเศษที่ 130/2553 กรณีมีคำสั่งกระชับพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน-15 พฤษภาคม 2553 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)ดังนี้

กรณีการเสียชีวิตของ นายพัน คำกอง, เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ และ นายสมร ไหมทอง ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการเข้าปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่ง ศอฉ. บริเวณถนนราชปรารภ ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการไต่สวนสาเหตุการตาย และมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 

ผลการไต่สวนรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่ทำให้ตาย สรุปสาระสำคัญว่าขณะเกิดเหตุที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณถนนราชปรารภ ตามคำสั่ง ศอฉ. การเข้าออกต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานทหารก่อน แม้แต่ตำรวจก็ไม่สามารถเข้าออกได้เว้นแต่ได้รับอนุญาต ไม่มีผู้ใดเห็นชายชุดดำที่มีอาวุธปืน ขณะเกิดเหตุมีรถตู้คันหนึ่งขับเข้ามาจอดอยู่บริเวณซอยราชปรารภ 8 (ซอยวัฒนวงศ์)

มีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับขี่ เจ้าพนักงานได้แจ้งผ่านเครื่องขยายเสียงให้หยุดรถและกลับไปในทิศทางเดิม 

แต่นายสมรกลับขับรถเลี้ยวขวาผ่านเข้ามาบริเวณถนนราชปรารภ มุ่งหน้าไปยังสถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุม ทำให้มีการระดมยิงรถตู้ทั้งทางด้านหน้า ด้านซ้าย และด้านขวา เป็นเหตุให้นายสมรได้รับบาดเจ็บ ส่วนนายพัน คำกอง อยู่ภายในบริเวณสำนักงานขายไอดีโอคอนโด ได้ยินเสียงอาวุธปืนวิ่งออกมาดูจึงถูกกระสุนปืนเข้าที่บริเวณหน้าอกซ้ายใต้ราวนมแฉลบทะลุไปถูกต้นแขนซ้ายและเส้นเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด เสียเลือดมาก 

แพทย์ผู้ผ่าชันสูตรพลิกศพยืนยันพบลูกกระสุนปืนรูปร่างปลายแหลมหุ้มทองเหลืองที่ต้นแขนซ้ายเป็นเหตุแห่งการตาย เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจกระสุนที่ได้จากศพยืนยันว่า เป็นกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มม.) และผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนยืนยันว่า ลูกกระสุนปืนที่พบเป็นส่วนประกอบของกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 ซึ่งเป็นกระสุนปืนที่ใช้กับปืนความเร็วสูง ชนิดเอ็ม 16 รุ่น เอ 2 แต่อาจนำไปใช้กับ เอ็ม 16 รุ่น เอ 1 ได้ เป็นอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม 

ขณะเกิดเหตุมีการถ่ายภาพเคลื่อนไหวไว้ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการยิงต่อสู้ ขนาดหัวกระสุนที่พบในศพผู้ตายกับในตับของนายสมร เป็นชนิดเดียวกัน วิถีกระสุนของผู้ตายเปรียบเทียบกับวิถีกระสุนรถตู้อยู่ในระนาบเดียวกัน 

ศาลจึงมีคำสั่งว่า "ผู้ตายชื่อ นายพัน คำกอง ตายที่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียมชื่อ ไอดีโอ คอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 พฤติการณ์ที่ตายเกิดจากถูกกระสุนปืนขนาด .223 จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถตู้คันหมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนไปถูกผู้ตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของ ศอฉ." 

ส่วนเด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ อยู่ระหว่างรอคำสั่งการไต่สวนสาเหตุการตายจากศาล

จากพยานหลักฐานเพียงพอให้เชื่อได้ว่า นายอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งทราบถึงวัตถุประสงค์ของการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ว่าต้องการเรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

ย่อมทราบถึงสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีเป็นจำนวนมาก มีอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างรุนแรง ผู้ชุมนุมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมภายหลังจากการรัฐประหาร ทำให้มีการต่อต้านเจ้าหน้าที่ที่จะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม หากสั่งให้มีการใช้กำลังเข้าปฏิบัติการ ถึงแม้จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้ถ้อยคำว่า สลายการชุมนุม โดยเรียกว่าเป็นการ ขอคืนพื้นที่ หรือ กระชับวงล้อม ก็ตาม แต่ก็มีวิธีปฏิบัติที่จะต้องเข้าปะทะกันในระยะประชิด ย่อมจะต้องเกิดความสูญเสียต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สิน 

แต่นายอภิสิทธิ์กลับสั่งการให้ ศอฉ.โดยนายสุเทพ ให้ทหารนำกำลังพร้อมอาวุธปืนและกระสุนจริงเข้าขอยึดคืนพื้นที่ ในวันที่ 10 เมษายน 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนในวันนั้น

ตั้งแต่ในช่วงบ่ายเป็นศพแรก ที่บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการต่อเนื่องไปจนถึงเวลาค่ำ มีการปะทะกันที่บริเวณถนนตะนาว ต่อเนื่องสี่แยกคอกวัว และถนนดินสอ ต่อเนื่องอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 

สรุปมีผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน 2553 จำนวน 26 รายเป็นผู้ชุมนุมจำนวน 21 ราย เจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 5 ราย สื่อมวลชนทุกแขนงได้รายงานติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง 

ทั้ง ศอฉ.ก็ได้มีการประชุมสรุปรายงานเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา

นายอภิสิทธิ์ ซึ่งพักอาศัยและร่วมประชุมอยู่ที่กรมทหารราบ 11 รอ. ที่ตั้งที่อำนวยการของ ศอฉ. ย่อมรู้อยู่แล้วหรือเล็งเห็นได้ถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้นายสุเทพยังได้อนุมัติให้มีการใช้พลซุ่มยิงเข้าปฏิบัติการในแต่ละพื้นที่ ซึ่งอยู่นอกเหนือการปฏิบัติตามหลักสากล

แม้ต่อมาผู้ชุมนุมได้เคลื่อนย้ายไปรวมกันที่บริเวณแยกราชประสงค์ นายอภิสิทธิ์ยังได้มีคำสั่งในวันที่ 18 และ 26 เมษายน 2553 ให้ ศอฉ. โดยนายสุเทพ ตั้งด่านสกัดกั้น กำหนดพื้นที่ห้ามเข้าเด็ดขาด ซึ่งมีการติดป้ายในพื้นที่ว่าเขตใช้กระสุนจริง และให้ทหารใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงเข้าปฏิบัติการยิงสกัดกั้นได้ จนเป็นเหตุให้ผู้มีชื่อที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังกล่าวถึงแก่ความตาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนกว่า 1,700 คน อันเนื่องมาจากคำสั่งของตน 

ต่อมา ยังมีคำสั่งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ให้ ศอฉ. ปิดล้อมและสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และพื้นผิวการจราจรบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2553 เวลา11.00 น. โดยใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงเข้าปฏิบัติเป็นเหตุให้

มีผู้ชุมนุมและประชาชนเสียชีวิตในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 จำนวน 20 ราย วันที่ 15 พฤษภาคม 2553 จำนวน 15 ราย วันที่16 พฤษภาคม 2553 จำนวน 6 ราย วันที่ 17 พฤษภาคม 2553 จำนวน 2 ราย วันที่ 18 พฤษภาคม 2553 จำนวน 1 ราย 

เมื่อประชาชนผู้ชุมนุมยังเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง นายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชาหรือกำกับดูแล ศอฉ.และเจ้าหน้าที่ทหาร อันมีอำนาจสั่งการให้ทบทวนวิธีปฏิบัติหรือระงับยับยั้ง ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติได้ แต่กลับละเว้นเพิกเฉยมิได้ดำเนินการแก้ไขใดๆ จนกระทั่งในวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 สมาชิกวุฒิสภาจึงอาสาเป็นตัวแทนเจรจาเพื่อหาข้อตกลงไม่ให้เกิดความสูญเสียชีวิตเพิ่มอีก ในขณะนั้น

ฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมแสดงความจำนงที่จะเจรจาและยอมรับข้อเสนอของวุฒิสภา โดยนายอภิสิทธิ์ได้รับรู้การเจรจาผ่าน นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา มาโดยตลอด 

ผู้แทนสมาชิกวุฒิสภาพร้อมด้วยแกนนำผู้ชุมนุม ได้แถลงร่วมกันผ่านสื่อมวลชนถึงข้อตกลงและเงื่อนไขที่จะยุติการชุมนุมแล้ว แต่หลังจากนั้นวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 03.00 น. นายอภิสิทธิ์สั่งการให้ ศอฉ. ดำเนินการตามมาตรการปิดล้อมและสกัดกั้นกลุ่ม

ผู้ชุมนุมเพื่อขอยึดคืน กระชับพื้นที่ กระชับวงล้อมบริเวณสวนลุมพินี ราชประสงค์ และพื้นที่ต่อเนื่องใกล้เคียง เพื่อยุติการชุมนุม ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยอมยุติการชุมนุมแล้วตามข้อตกลง โดยยินยอมให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงเข้าปฏิบัติการตามแผนที่เตรียมไว้ และมีการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้มีชื่อ ผู้ร่วมชุมนุม ผู้สื่อข่าว และประชาชนผู้อื่นที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ถูกยิงจนถึงแก่ความตายทันทีในที่เกิดเหตุหรือถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพิ่มเติมอีก จำนวน 11 ราย 

พฤติการณ์ของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ซึ่งร่วมกันกระทำผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ โดยนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหรือกำกับดูแล ศอฉ. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ตามกฎหมาย สั่งการมอบนโยบายทั้งทางตรงและทางอ้อมให้

นายสุเทพนำไปออกคำสั่งในนาม ผอ.ศอฉ. เพื่อปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ กระชับพื้นที่ กระชับวงล้อม เพื่อสลายหรือยุติการยุติการชุมนุม 

แม้นายอภิสิทธิ์จะไม่ประสงค์ต่อผลให้เจ้าหน้าที่ทหารไปยิงกลุ่มผู้ชุมนุมจนถึงแก่ความตาย แต่ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนพร้อมกระสุนจริงปฏิบัติการตามคำสั่งดังกล่าว จะทำให้เจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติต้องเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม ซึ่งมีจำนวนนับหมื่นคน และมีอารมณ์ความรู้สึกที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จะต้องเกิดเหตุการปะทะกันและใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพยิงใส่ผู้ชุมนุม และกระสุนปืนอาจถูกผู้ชุมนุมจนถึงแก่ความตาย บาดเจ็บได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสหรืออันตรายแก่กายได้ ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ทั้งที่มีโอกาสที่จะระงับยับยั้งหรือประเมินทบทวนวิธีการปฏิบัติว่าเป็นไปตามกฎหมาย หรือตามหลักสากลหรือไม่ ปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติได้หรือไม่ 

อีกทั้งยังไม่ยอมรับผลการเจรจา ระหว่างแกนนำ นปช.ผู้ชุมนุม กับตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งแกนนำ นปช. ยอมรับจะยุติการชุมนุม ประกอบกับการตายของนายพัน คำกอง ศาลอาญามีคำสั่งว่าพฤติการณ์ที่ทำให้ตาย เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารจากการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของ ศอฉ. ความตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการสั่งการของนายอภิสิทธิ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมร่วมกับนายสุเทพ 

พยานหลักฐานที่รวบรวมมามีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์ เป็นการกระทำละเว้น หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือตามกฎหมาย พฤติการณ์แห่งการกระทำบ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเล็งเห็นผล พยานหลักฐานเท่าที่รวบรวมมา ฟังได้ตามสมควรว่า

นายอภิสิทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 1 และนายสุเทพ ผู้ต้องหาที่ 2 ได้กระทำความผิดข้อหา "ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84, 288

เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ต่อเนื่องกัน ที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร และพื้นที่อื่นหลายพื้นที่เกี่ยวพันกัน
 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท