Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เนื่องในวาระวันแรงงานข้ามชาติสากล 18 ธ.ค. 55 ที่จะถึงนี้ ประชาไทขอนำเสนอซีรีย์ "วันแรงงานข้ามชาติ 2012" ตัดมาจากหนังสือ "บันทึกเดินทาง: ข้ามชาติ สร้างเมือง" ที่ทางประชาไทได้รับอนุญาตจากผู้จัดทำให้เผยแพร่เป็นที่แรก โดยตอนที่ 1 บทนำว่าด้วยพัฒนาการการนโยบายจัดการแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในประเทศไทย 

 
การเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติของประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า ลาว และกัมพูชา)เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเบื้องต้นนั้นมีลักษณะที่เป็นการเคลื่อนย้ายในลักษณะข้าม/ลอดรัฐที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายแห่งรัฐไทย อีกทั้งลักษณะทางภูมิศาสตร์ชายแดนระหว่างไทยและพม่าที่เอื้อต่อการเดินทางข้ามแดน รวมถึงปัจจัยที่มีทั้งความรุนแรงทางการเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้การเคลื่อนย้ายของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนอกจากการเข้ามาเป็นแรงงานแล้ว ยังต้องพ่วงสถานะของการเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ติดตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
 
รัฐราชการไทยได้เกิดการตื่นตระหนกและลุกขึ้นมาจัดการกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการใช้มุมมองที่เริ่มต้นจาก“ปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหา” การจัดการกับปัญหาหรือสภาวการณ์ดังกล่าวของรัฐราชการไทยได้วางอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญอยู่สองประการ คือ ความต้องการจัดการกับปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคง และความต้องการแรงงานไร้ฝีมือทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลนในภาคการผลิตบางส่วน ทำให้รัฐไทยได้พยายามเข้ามาจัดการแรงงานข้ามชาติผ่านนโยบายและข้อยกเว้นทางกฎหมาย เพื่อให้คนข้ามชาติเหล่านี้สามารถอยู่อาศัยและทำงานได้ชั่วคราวโดยกำหนดสถานะทางกฎหมายให้เป็น “แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานในราชอาณาจักรไทยได้เป็นการชั่วคราว” ซึ่งมีนัยยะว่าแม้พวกเขาจะได้รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศไทยแต่สถานะพวกเขายังผิดกฎหมาย จะต้องมีการควบคุมให้อยู่ในกรอบของระเบียบแห่งรัฐ เช่น ห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดที่ตนเองขออนุญาตทำงานอยู่ยกเว้นได้รับอนุญาต ห้ามเปลี่ยนย้ายนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการจัดทำบัตรประจำตัวแรงานต่างด้าว ที่จะแยกพวกเขาออกจากประชากรกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมไทย ต้องมีการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพ เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยจะได้แรงงานที่มีสุขภาพดี และมีระบบการควบคุมดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับสังคมไทย
 
โดยในการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศยุคหลังนั้น รัฐบาลไทยได้เริ่มมีนโยบายอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยอาศัยอำนาจตาม พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และ พรบ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 อนุญาตให้จ้างผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอยู่ระหว่างรอการส่งกลับแต่อนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ปี 2535 โดยเริ่มให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากพม่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า จนกระทั่ง ปี 2547 รัฐบาลไทยได้มีแนวนโยบายการจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบโดยให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยทั้งหมดไม่ว่าจะเคยขออนุญาตทำงานหรือไม่ รวมทั้งครอบครัวผู้ติดตาม มาขึ้นทะเบียนรายงานตัวต่อกระทรวงมหาดไทย และขออนุญาตทำงานกับกระทรวงแรงงานโดยมีจุดประสงค์ที่ต้องการทราบจำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อนำไปสู่กระบวนการทำให้ถูกกฎหมาย (Legalization) โดยการให้ประเทศต้นทางพิสูจน์สัญชาติและออกเอกสารแทนหนังสือเดินทาง
 
พัฒนาการนโยบายแรงงานข้ามชาติ
 
เป็นที่กล่าวขานกันว่าปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องหนักอกของรัฐบาลไทยแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมาพอสมควร  เนื่องจากเป็นปัญหาที่เรียกได้ว่า มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสำหรับระบบการจัดการ ขณะเดียวกันในแต่ละช่วงก็มีปัจจัยที่เข้ามาบทบาทในการกำหนดทิศทางการจัดระบบแรงงานข้ามชาติอยู่ไม่น้อย การพิจารณาพัฒนาการของนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติที่ผ่านในแต่ช่วงจะช่วยให้เราเห็นถึงบทบาทของกรอบแนวคิดหลักในการจัดการแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งปฏิบัติการของกลไกนโยบายรัฐที่มีผลต่อการเข้าไปควบคุมดูแลแรงงานข้ามชาติในแต่ละช่วงด้วย
 
อาจจะกล่าวได้ว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่ในยุครุ่งโรจน์ (ประมาณปี 2520 - 2540) ประเทศไทยเปิดตัวเองเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม เราจะพบเห็นการเคลื่อนย้ายประชากรทั้งจากชนบทสู่เมือง และจากประเทศเพื่อนบ้านสู่ประเทศไทยระลอกใหญ่ นอกจากจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่ภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตอื่น ๆ เริ่มสูญเสียแรงงานให้กับภาคอุตสาหกรรมไปแล้ว ปัจจัยที่ทำให้การไหลทะลักเข้าสู่ประเทศไทยของประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงโดยเฉพาะต่อพม่าเองแล้ว สถานการณ์ด้านการเมืองของประเทศก็เป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลย  ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังเข้าปราบปรามชนกลุ่มน้อยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผลักดันให้ประชากรจากพม่าทะลักเข้าสู่ฝั่งไทย และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ การปราบปรามนักศึกษาประชาชนในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 ภาวะการตกต่ำทางเศรษฐกิจของประชาชน ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฝั่งพม่าก็เริ่มดำเนินต่อไป พร้อม ๆ กับการไหลทะลักของประชาชนจากฝั่งพม่าสู่ประเทศไทย
 
ก้าวแรกของนโยบายภายใต้กระแสแห่งทุน
 
ในปี 2535 ได้มีความพยายามมีการจัดการกับแรงงานตรงนี้ การจัดการในช่วงแรก ๆ ของรัฐบาลไทย คือให้มีการรายงานตัวของแรงงานต่างชาติกลุ่มนี้ เพื่อนำมาจดทะเบียนอนุญาตให้ทำงานได้ชั่วคราว และยังคงฐานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองไว้ ซึ่งในช่วงนี้จะเน้นไปตรงจังหวัดชายแดน ไทย-พม่า  เช่น ตาก ระนอง กาญจนบุรี และจังหวัดอื่น ๆ (มติคณะรัฐมนตรี 17 มีนาคม 2535) แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผลมากนักเนื่องจากจำนวนเงินประกันตัวของแรงงานต่างด้าวสูงถึง  5,000 บาท และนายจ้างเองไม่เห็นถึงความจำเป็นต้องมีการนำแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียน ต่อมาก็เริ่มมีการขยายไปสู่ภาคประมงทะเล (มติ  ครม. 22 มิ.ย. 2536) ซึ่งโดยวิธีการแล้วยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้ แต่ก็ยังติดปัญหาในเรื่อง พรบ.สิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482 ทำให้กรมการจัดหางานไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ จึงต้องมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายตรงนี้แต่ก็มีการยุบสภาเสียก่อน  ซึ่งช่วงนี้เป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยการผลักดันของกลุ่มทุน เพื่อสนองการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตที่มุ่งเพื่อผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้นและรองรับการเจริญเติบโตของการค้าแถบชายแดน  ที่มีผลมาจากยุคเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าที่ผ่านมา
 
ก้าวต่อมาคือความลงตัวระหว่างทุนและความมั่นคง
           
จนมาถึงช่วงก้าวใหญ่ในการจัดการกับปัญหาเรื่องนี้ โดยจุดประสงค์ของนโยบายช่วงนี้มีลักษณะที่ไม่ใช่เพียงแต่ตอบสนองเรื่องการขาดแคลนแรงงานเท่านั้น แต่ยังตอบสนองในเรื่องการควบคุมและจัดระบบการทำงานของแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมไปถึงป้องกันการลักลอบเข้ามาใหม่ด้วย จึงเกิดมติคณะรัฐมนตรี 25 มิถุนายน 2539 (และมติ ครม. อื่น ๆ ตามมา) ขึ้น  โดยได้มีการขยายจำนวนชาติของแรงงานต่างด้าวเป็น 3 ชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 43 จังหวัด(มติครม. 25 มิ.ย.39 ได้เสนอไว้ 39 จังหวัดและมีการเพิ่มเติมในมติครม. 16 ก.ค. 39 เสนอเพิ่มเติมเป็น 43 จังหวัด) และมีประเภทของงาน 11 ประเภท  โดยมีวงเงินในการประกันตัว 1,000  บาท นอกจากนี้การดำเนินการได้ถูกยกให้เป็นหน้าที่ของระดับจังหวัดโดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดโดยกำหนดให้มีอัตราส่วนของฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายราชการอย่างเท่า ๆ กัน และมีการตั้ง One Stop Service Center ขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการที่นายจ้างจะนำแรงงานต่างด้าวมารายงานตัว แม้จะมีการจัดการอย่างเป็นระบบ แต่ก็ปรากฏว่ายังมีนายจ้างและแรงงานต่างชาติจำนวนมากไม่ได้ไปรายงานตัวเนื่องจากไม่เห็นความสำคัญ และไม่เชื่อว่าการจดทะเบียนแบบนี้จะช่วยอะไรได้มากนัก
 
จากนโยบายดังกล่าวได้แสดงให้เห็นแนวคิดในการจัดการต่อเรื่องนี้สองแนวคิดที่ชัดเจน คือแนวคิดเรื่องทุนนิยมที่มุ่งกำไรอย่างเดียว และแนวคิดเรื่องความมั่นคง เพราะจากนโยบายตรงนี้มุ่งตอบสนองสองความต้องการหลักคือการหาแรงงานราคาถูกทดแทนแรงงานไทยที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ประกอบกับแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่มีสถานภาพเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจึงทำให้นายจ้างสามารถจ้างงานได้ในราคาถูก ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ในขณะเดียวกันก็ต้องการควบคุมและจัดระบบแรงงานต่างชาติโดยการนำแรงงานต่างชาติมาจดทะเบียนและออกระเบียบมาควบคุม ซึ่งจากแนวคิดตรงนี้ได้สะท้อนให้เห็นได้จากการให้อำนาจนายจ้างในการจัดการกับแรงงานต่างชาติ คือ การห้ามเปลี่ยนนายจ้าง และนายจ้างสามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ได้ถ้าหากแรงงานต่างชาติจะเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งก่อให้เกิดการกดขี่แรงงานต่างชาติโดยยกเอากรณีเช่นนี้มาอ้าง นอกจากนั้นยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองแรงงานต่างชาติ แม้มติ ครม. จะมีการกล่าวถึงแต่ก็ขาดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน และเมื่อแรงงานต้องเข้าสู่เรื่องราวที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ก็จะพบว่าแม้ตัวแรงงานเป็นผู้เสียหาย แต่ด้วยยังอยู่ในฐานะของผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทำให้ต้องมีการดำเนินคดีในเรื่องผู้หลบหนีเข้าเมืองกับแรงงานด้วย และเป็นช่วงที่ขบวนการค้ามนุษย์ก้าวหน้ามากที่สุด โดยที่ทางภาคราชการไม่สามารถจัดการได้อย่างจริงจัง
 
ชาตินิยมสมัยใหม่ ปะทะ ทุนท้องถิ่น
 
หลังจากช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ(ปลายปี 2540) มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายของรัฐบาลว่าจะต้องลดจำนวนแรงงานต่างด้าวลง ประกอบกับเป็นช่วงที่แรงงานไทยตกงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการปิดกิจการของสถาบันการเงิน ที่ส่งผลต่อบริษัทและโรงงานต่าง ๆ ทำให้เป็นเหตุผลที่รัฐบาลใช้อ้างในการจับกุมแรงงานต่างชาติครั้งใหญ่ และส่งกลับประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยเข้าไปทดแทน ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวขึ้น เพื่อดำเนินการในเรื่องการส่งกลับ ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการตอบรับ และวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย แต่หลังจากได้มีการจับกุมและส่งกลับแรงงานต่างด้าวไปส่วนหนึ่งแล้วพบว่า มีแรงงานไทยเข้าไปทดแทนแรงงานต่างด้าวจำนวนน้อยมาก เนื่องจากแรงงานไทยที่ตกงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ และกึ่งฝีมือ ส่วนงานที่แรงงานต่างชาติทำนั้นเป็นงานที่ไม่ต้องการทักษะมากนัก และเป็นที่งานสกปรก เสี่ยงอันตราย เป็นงานหนัก ได้ค่าแรงต่ำจึงมีการทดแทนน้อยมาก จนในที่สุดมีการเรียกร้องจากกลุ่มทุนในจังหวัดชายแดน และกลุ่มประมงทะเลให้มีการอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวเนื่องจากประสบปัญหาเรื่องคนงาน จนถึงกรณีที่โรงสีข้าวประกาศปิดโรงสีไม่รับซื้อข้าวเนื่องจากไม่มีคนงาน ทำให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวต้องมีการพิจารณาให้มีการอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างชาติในช่วงแรกอนุญาตในเขตจังหวัดชายแดน 13 จังหวัด และพื้นที่ประมงทะเลอีก 22 จังหวัด ต่อมาเมื่อมีแรงกดดันจากกลุ่มทุนท้องถิ่นโดยเฉพาะโรงสีข้าว ทำให้มีการขยายกิจการและพื้นที่เพิ่มเติม เช่น โรงสีข้าว กิจการขนส่งทางน้ำ เป็นต้น โดยรูปแบบในการจัดการยังเป็นรูปแบบเดิมที่มีการจัดทำใบอนุญาต มีการประกันตัวในรูปแบบที่เคยเป็นมา เพียงแต่มีความเร่งรีบมากกว่า รวมถึงยังได้ทิ้งแนวปฏิบัติในเรื่องการจับกุมแรงงานต่างด้าวไว้เป็นเครื่องมือในการควบคุม ซึ่งยังคงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนายจ้าง เนื่องจากทำให้แรงงานต่างชาติอยู่ในความควบคุมของนายจ้างไม่สามารถต่อรองในเรื่องสวัสดิการ ค่าแรงได้เลย และยังไม่มีนโยบายในเรื่องการดูแลในด้านสวัสดิการ สิทธิของแรงงานต่างชาติที่ชัดเจนแต่อย่างใด
 
เห็นได้ว่าในช่วงนี้เป็นช่วงของการปะทะระหว่างแนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจของภาคราชการ กับกลุ่มทุนท้องถิ่น (ซึ่งส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนพรรคการเมือง) และเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่านโยบายในเรื่องนี้ถูกกำหนดมาจากกลุ่มทุนด้วยไม่น้อย แต่กลุ่มที่ต้องรับกับปัญหานี้มากที่สุดคือแรงงานต่างชาติ เนื่องจากมีการเข้าจับกุมบ่อย และการจับกุมในบางครั้งจะมีการยึดทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกาย นอกจากนั้นแล้วยังเกิดความหวาดกลัวในเรื่องการถูกส่งกลับ แต่กลุ่มที่ยังได้ประโยชน์และมั่นคงอยู่เช่นเดิมคือกลุ่มนายหน้า หรือขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ เนื่องจากมีแรงงานต่างชาติต้องการเดินทางกลับไปชายแดนจำนวนมาก มีการขบวนการจัดส่งอย่างเป็นระบบ
 
ยุคคิดใหม่ ทำใหม่ นโยบายแรงงานข้ามชาติช่วงเปลี่ยนผ่าน
 
การเกิดขึ้นของรัฐบาลของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ภายใต้สโลแกน “คิดใหม่ ทำใหม่”ได้นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนในการบริหารจัดการจัดการแรงงานข้ามชาติในรูปแบบของการรุกคืบของกลุ่มทุนเข้ามาในพื้นที่ของความมั่นคงแห่งรัฐโดยเฉพาะในการปฏิรูประบบราชการ
 
นโยบายการพัฒนาแรงงานแรงงานที่รัฐบาลทักษิณ  ชินวัตรแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ข้อ 6 (5) คือ “กำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับแรงงานต่างด้าว โดยคำนึงถึงความต้องการแรงงานของภาคเอกชน การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาแรงงานไทยขึ้นทดแทน” นโยบายรัฐบาลดังกล่าว สะท้อนชัดเจนว่า รัฐบาลประชาทุนนิยมที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากที่สุด คำนึงถึงความต้องการแรงงานของภาคเอกชนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน          
 
หลังจากนั้นรัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 สิงหาคม 2544 เห็นชอบตามแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เสนอ และให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมดำเนินการ มีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากมติ ครม.ครั้งก่อนๆ ดังนี้คือ มีวัตถุประสงค์การจดทะเบียน กำหนดชัดเจนเพื่อทราบข้อมูลแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่แท้จริงว่า มีจำนวนเท่าไร อยู่ที่ไหน ทำอะไร เพื่อนำไปวางแผนในระยะยาว, ไม่จำกัดจำนวนกรรมกรแรงงานต่างด้าว, จำนวนพื้นที่จังหวัดและประเภทอาชีพ / กิจการ, อาชีพและประเภทกิจการที่อนุญาตให้มาจดทะเบียนกำหนดไว้ชัดเจน 9 ประเภทกิจการและเป็นครั้งแรกที่มีประเภทกิจการพิเศษซึ่งหมายถึงอาชีพอะไรก็ได้ จะมีนายจ้างหรือไม่ก็ได้, ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน สูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายจดทะเบียน 2 งวด (งวดละหกเดือน)รวมเป็นเงิน 4,450 บาท ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวก่อนปี 2544 และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดระบบให้บริการครบวงจรทุกเรื่องในการจดทะเบียนในสถานที่เดียวกัน เปิดโอกาสให้จองคิวล่วงหน้าพาคนงานมาขึ้นทะเบียนได้ตามวันเวลาที่นัดหมาย ทำให้นายจ้างเกิดความสะดวกรวดเร็ว พอใจในการขึ้นทะเบียนมากกว่าหลายครั้งก่อนหน้านี้
 
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการเป็นเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลของแรงงานต่างด้าว คือ เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการกำหนดให้แรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานต้องถูกบังคับให้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพทุกคน โดยนำหลักการโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามนโยบายของรัฐบาลมาปรับปรุงใช้โดยเก็บอัตรา 1,200 บาท/ปี แรงงานต่างด้าวมีเงื่อนไขต้องร่วมจ่ายในการรับบริการครั้งละ 30 บาท และกำหนดค่าตรวจโรค 300 บาท / 6 เดือน สำหรับการต่อใบอนุญาตงวดหลัง โดยต้องนำใบรับรองแพทย์และใบอนุญาตเดิม เป็นหลักฐานต่อใบอนุญาตทำงานใหม่ ผลการดำเนินการจดทะเบียน มีจำนวนแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 568,249 คน  ซึ่งถือเป็นจำนวนมากที่สุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา (หากเปรียบเทียบกับมติ ครม.วันที่ 6 สิงหาคม 2539 ในยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา ได้มีจำนวนแรงงานต่างชาติที่นายจ้างนำมารายงานตัวในพื้นที่กำหนด 43 จังหวัด 11 ประเภทกิจการ รวมทั้งสิ้น 370,971 คน)
 
นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารแรงงานต่างด้าว หลบหนีเข้าเมือง พ.ศ.2544 เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 2 ตุลาคม 2544 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง(กบร.) ให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายมาตรการและแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งการบริหารจัดการ การประสานการแก้ไขปัญหา การติดตามประเมินผลให้เป็นไปอย่างมีระบบต่อเนื่อง มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
 
ต่อมาในปี 2545  รัฐบาลได้ดำเนินการออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ปี 2545-2546 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 วันที่ 25 กันยายน 2545 และวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งในปี 2545 นี้ได้กำหนดให้มารายงานตัวเพื่อจดทะเบียนประวัติและขอรับใบอนุญาตทำงานตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ถึง 15 ตุลาคม และต่อมาได้ขยายไปถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545  หากเปรียบเทียบกับผลการจดทะเบียนเมื่อเดือนตุลาคม 2544 จำนวน 528,249 คน แต่มีต่อใบอนุญาตเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 จำนวน 353,274 คน ลดเหลือร้อยละ 62.12  ของปี 2544  ซึ่งสาเหตุที่ผลการลดลงของการต่อใบอนุญาตทำงาน ในข้อเท็จจริงพบว่า แรงงานจำนวนมากเหล่านี้คงทำงานอยู่ในสังคมไทย ภายใต้การกักกันของนายงานและผู้ควบคุมอย่างใกล้ชิด ไม่ได้ถูกผลักดันส่งกลับไปได้จริง และหมุนเวียนเปลี่ยนที่หลบซ่อนทำงานไปเรื่อยๆ แต่เนื่องจากเงื่อนไขของการต้องจดทะเบียนกับนายจ้างเดิม หรือไม่สามารถเปลี่ยนย้ายนายจ้างได้ ก็ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำการกับนายหน้าคนอื่น หรือพื้นที่อื่น และกลายเป็นแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายอีกครั้ง ทำให้ไม่สามารถต่ออายุได้ นอกจากนั้นก็ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อปฏิบัติในการดำเนินการ ได้แก่ กำหนดประเภทกิจการเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงานเป็นลูกจ้างได้เป็น 6 ประเภท
 
ขณะเดียวกันก็เห็นปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงอำนาจต่อรอง หรือการรุกคืบของกลุ่มทุนในการเข้ามามีบทบาทในการจัดการแรงงานข้ามชาติ เพราะในปี 2545 เป็นครั้งแรก ที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดแนวทางดำเนินการจดทะเบียนลูกเรือประมงต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ได้สำเร็จตามมติ ครม. (นัดพิเศษ) วันที่ 25 กันยายน 2545 และเป็นครั้งแรกที่มีการผ่อนผันเป็นพิเศษเฉพาะจังหวัดเดียว กล่าวคือ มติ ครม.เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่ทำงานอยู่กับนายจ้างที่ประกอบกิจการในท้องที่จังหวัดตาก ทั้งผู้ที่เคยได้รับผ่อนผันแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. 28 สิงหาคม 2544 รวมกันไม่เกินจำนวนที่เคยได้รับการจดทะเบียนไว้เดิม คือ จำนวน 50,253 คน
 
นอกจากนั้นแล้ว มาตรการรัฐตามมติ ครม. 27 สิงหาคม 2545 ยอมให้ลูกจ้างเปลี่ยนนายจ้างใหม่ได้ถ้าถูกเลิกจ้าง โดยไม่ใช่เป็นความผิดของลูกจ้าง และต้องหานายจ้างให้ได้ภายใน 7 วันนั้น และกรณีนายจ้างกระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน หรือกฎหมายอาญา ซึ่งก็มีข้อวิจารณ์จากองค์กรด้านแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนว่า ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการคุ้มครองในเงื่อนไขนี้อยู่หลายประเด็น คือ ลูกจ้างไม่มีสิทธิลาออกเองหรือหนีไปหานายจ้างใหม่ได้ เงื่อนเวลาที่ให้หานายจ้างใหม่ภายใน 7 วัน ภายหลังถูกเลิกจ้างเป็นสิ่งที่เกิดได้ยากมาก (แม้เป็นแรงงานไทยก็หางานใหม่ไม่ได้)  ยกเว้น นายจ้างเก่าตกลงกับนายจ้างใหม่ล่วงหน้ากันก่อนที่จะเลิกจ้างลูกจ้างรายนั้น
 
การปฏิรูปและจัดระบบแรงงานข้ามชาติ (2547 – 2555)
 
ในปี 2547 ค.ร.ม. มีมติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม และ 27 เมษายน เห็นชอบแนวทางการบริหารแรงงานข้ามชาติ ทั้งระบบที่กระทรวงแรงงานเสนอโดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมุ่งแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทยทั้งที่จดทะเบียนไว้แล้วตามระบบผ่อนผันและที่ยังลักลอบทำงาน โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย จัดทำทะเบียนประวัติคนข้ามชาติเพื่อทราบจำนวนคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปที่หลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย(Supply) ได้มีการเปิดจดทะเบียนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ในลักษณะของการเป็นพลเมือง(citizen) โดยมีการกำหนดเลข 13 หลักประจำตัวแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ โดยเป็นคนละหมวดกับราษฎรไทย และกำหนดให้จดทะเบียนผู้ติดตามกับแรงงานต่างด้าวที่ขออนุญาตทำงาน และให้นายจ้างเป็นผู้กำกับโดยจดทะเบียนนายจ้างและให้แรงงานต่างด้าวเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านของนายจ้างด้วย หลังการจดทะเบียนปรากฏว่ามีผู้มาขึ้น ทะเบียนกับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย จำนวน 1,284,920 คน รวมผู้ได้รับใบอนุญาตทำงานและผู้ติดตาม
 
กรมการจัดหางาน ดำเนินการจดทะเบียนนายจ้าง เพื่อทราบจำนวนความต้องการจ้าง มีนายจ้างมาจดทะเบียน 248,746 ราย ต้องการจ้างคนข้ามชาติ 1,598,752 คน นายจ้างได้รับอนุมัติจำนวนการจ้างคนข้ามชาติ 245,113 ราย อนุมัติโควตาจ้างคนต่างด้าว 1,512,587 คน นายจ้างที่ได้รับโควตาพาคนต่างด้าวมาขอรับใบอนุญาตทำงาน 205,738 ราย คนต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงาน 849,525 คน
 
ประเทศไทยได้มีการเจรจากับประเทศคู่ภาคี(ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา) เพื่อให้การดำเนินการจ้างแรงงานข้ามชาติ มีผลในทางปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน(MOU) ตามที่รัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลงไว้ กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวของได้เจรจาและประสานกับประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา มีการปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็นผู้เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ดำเนินการพิสูจน์และรับรองสถานะคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่อยู่ระหว่างรอการส่งกลับโดยการออกหนังสือเดินทาง(Passport) เว้นแต่ประเทศต้นทางไม่สามารถออกหนังสือเดินทางได้ ให้ใช้เอกสารรับรองบุคคลโดยประเทศต้นทางแทนหนังสือเดินทาง และกระทรวงการต่างประเทศหรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกวีซ่าให้อยู่ในราชอาณาจักรโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำงานเป็นกรรมกรหรือรับจ้างทำงานด้วยกำลังกาย
 
ในปี 2548 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม และ 19 กรกฎาคม 2548 เห็นชอบแนวทางการจัดระบบการจ้างแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2548 โดยให้คนข้ามชาติทั้ง 3 สัญชาติอยู่ในราชอาณาจักรไทย และขออนุญาตทำงานได้อีก 1 ปี ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติได้รับอนุญาตให้ทำงาน 705,293 คน นอกจากนี้แล้ว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้จัดระบบแรงงานข้ามชาติเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานจำนวน 500,000 คน โดยให้มีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานโดยถูกกฎหมายจำนวน 10,000 คน และให้จัดระบบแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบทำงานทั้งที่เคยจดทะเบียนและลักลอบเข้ามาใหม่อีก 300,000 คนโดยใช้มาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มีผลการดำเนินการคือ นายจ้างพาคนต่างด้าวมารายงานตัวเพื่อออกหลักฐาน ทร.38/1 จำนวน 256,899 คน แรงงานข้ามชาติได้รับใบอนุญาตทำงาน 208,562 คน
 
ในปี 2549 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม เห็นชอบการจัดระบบแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2549 โดยอนุญาตให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2549 และยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 629,413 คน และผู้ติดตาม อยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราวระหว่างรอการส่งกลับและทำงานได้ต่อไปอีก 1 ปี สิ้นสุดวันที่30 มิถุนายน 2550 และยกเลิกการประกันตัวคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 20 ธันวาคม 2548 เห็นชอบให้แรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนระหว่าง 1 - 30 มีนาคม 2549 อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 30 มีนาคม 2550 ผลการดำเนินการ มีแรงงานข้ามชาติได้รับอนุญาตให้ทำงาน 460,014 คน(ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ วันที่ 30 มิถุนายน 2550) และกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 1 – 30 มีนาคม 2549 มาขอใบอนุญาตทำงานจำนวน 208,562 คน (ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่28 กุมภาพันธ์ 2550) แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 78,509 คน ได้รับวีซ่าและใบอนุญาตทำงานแล้วจำนวน 49,214 คน แรงงานข้ามชาติที่นำเข้าโดยถูกกฎหมายจำนวน 9,877 คน
 
ในปี 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เห็นชอบแนวทางการจัดระบบการจ้างแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2550 โดยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตทำงาน ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 30 มิถุนายน 2550 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและทำงานได้ต่อไปอีก 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 และวันที่ 30 มิถุนายน 2551 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกประกาศ กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จพร้อมที่จะดำเนินการ
 
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 เห็นชอบการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา การนำแรงงานพม่าเข้ามาทำงานโดยชอบด้วยกฎหมาย และการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ในปี 2551 วันที่ 18 ธันวาคม 2550 คณะรัฐมนตรี มีมติเปิดให้กลุ่มที่เคยมี ทร.38/1 (จดทะเบียนปี 2547) แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือไม่ได้ต่อใบอนุญาตทำงานให้มารายงานตัวและขอใบอนุญาตทำงาน นอกจากนี้ยังอนุญาตให้กลุ่มที่ใบอนุญาตหมดอายุทั้งสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มใบอนุญาตหมดอายุ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 กับ14 มีนาคม 2551 และ 30 มิถุนายน 2551 มาขอต่อใบอนุญาตทำงานได้ ทั้งนี้ทั้ง 3 กลุ่มได้รับการผ่อนผันให้อยู่ต่ออีกไม่เกิน 2 ปี จนถึง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 โดยให้ต่ออายุใบอนุญาตทำงานปีต่อปี และเร่งให้ดำเนินการเปิด การพิสูจน์สัญชาติและนำเข้าแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 ธันวาคม 2551
 
ในปี 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 26 พฤษภาคม และ 3 มิถุนายน 2552 เห็นชอบให้ดำเนินการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างดาวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่อยู่นอกระบบผ่อนผันที่ลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทยไม่มีใบอนุญาต โดยไม่รวมแรงงานและผู้ติดตาม ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับสิ้นสุดไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ในกิจการต่างๆประกอบด้วย 1)กิจการประมง 2)กิจการเกษตรและปศุสัตว์ 3)กิจการก่อสร้าง 4)กิจการต่อเนื่องประมงทะเล 5)ผู้รับใช้ในบ้าน และ 6)กิจการอื่นๆ ที่จังหวัดเสนอตามความจำเป็น และ กบร. เห็นชอบแล้ว เงื่อนไขโดยมีความรับผิดชอบของนายจ้าง ต้องรายงานการคงอยู่ของแรงงานต่างด้าวทุก 3 เดือน กรณีแรงงานต่างด้าวหลบหนีหรือมีการเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว นายจ้างต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 7 วัน นายจ้างต้องจัดหาที่พักหรือจัดการให้แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งสามารถตรวจสอบได้ และจะไม่รับแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีมาจากนายจ้างรายอื่น นายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่ขออนุญาตจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ การผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
 
ในปี 2553 ครม. มีมติวันที่ 19 มกราคม 2553 เห็นชอบให้ขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติ และการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในปี 2552 สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 โดยกำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในปี 2552 พร้อมกับคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 และไปเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 นั้น
 
ในปี 2554 แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 ซึ่งมีจำนวน 2 กลุ่ม คือ แรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 20 มกราคม 2554 และแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ได้ดำเนินการต่อใบอนุญาตให้ทำงานได้ต่ออีกหนึ่งปี ในกรณีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ รวมทั้งมีการขยายเวลาการที่ให้ลูกจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2553 ออกไปเป็นเดือนมีนาคม 2555 และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอผ่านคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ (กบร.) ให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งมีผู้ประสงค์จะจ้างงานรวมทั้งผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 15 ปี โดยอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวในระหว่างรอการส่งกลับ 1 ปี
โดยให้มีการเปิดจดทะเบียนระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม 2554 และให้ใบอนุญาตทำงานมีผล 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 14 มิถุนายน 2555 โดยผลการจดทะเบียนครั้งนี้ มีแรงงานข้ามชาติ (รวมถึงบุตรผู้ติดตามอายุไม่เกิน 15 ปี) มารายงานตัวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติกับกรมการปกครอง จำนวน 1,047,612 คน มีแรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดการจัดหางานจำนวน 851,830 คน
 
ในปี 2555 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2555 โดยมีเนื้อหาโดยสรุปคือ
 
ประการแรก มติคณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในการอนุญาตให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เคยได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 ซึ่งการผ่อนผันจะสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ให้ขยายเวลาในการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานได้ไปจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2555 โดยแรงงานกลุ่มนี้จะต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ด้วยเช่นกัน
 
ประการที่สอง ให้แรงงานกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้นภายใน 14 มิถุนายน 2555 เช่นกัน
 
ประการที่สาม มติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ค่าธรรมเนียมวีซ่าของแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติแล้วทั้งสองกลุ่ม รวมทั้งแรงงานข้ามชาติทั้งสามสัญชาติที่จะนำเข้าตาม MoU เหลือ 500 บาท รวมทั้งเมื่ออยู่ครบสองปีแล้ว และต้องต่อวีซ่าก็ให้คงอัตราค่าธรรมเนียมที่ 500 บาท รวมทั้งให้มีการตรวจสุขภาพหลังจากที่ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว
 
ประการสุดท้าย มติคณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ออกไปอีกหนึ่งปี
 
จากการมีมติคณะรัฐมนตรีต่อทิศทางการดำเนินการจัดระบบแรงงานข้ามชาติดังกล่าวนี้ ทางกรมการจัดหางานในฐานะผู้รับผิดชอบหลักก็ยังได้ออกมาแถลงข่าวอย่างมั่นใจว่าต่อทิศทางการจัดการแรงงานข้ามชาติว่า “ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย”  (คำให้สัมภาษณ์ของ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน จากเอกสารเผยแพร่ของกรมการจัดหางาน “ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย” จากเวบไซต์ http://wp.doe.go.th/sites/default/files/news/228.pdf )
 
โดยเนื้อหาสรุปในเบื้องต้นได้ว่า สิ่งที่ทำให้กรมการจัดหางาน มั่นใจว่าคงใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแรงงานเถื่อนตามความเห็นของกรมการจัดหางานนั้น น่าจะมีปัจจัยในเรื่องการปรับเปลี่ยนท่าทีและวิธีการดำเนินการในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติของประเทศพม่าเป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจากแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงทีผ่านมา คือมีจำนวน 70% ของจำนวนแรงงานทั้งสามสัญชาติ และที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติจะมีความล่าช้า และมีความซับซ้อนส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ และกระบวนการจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติพม่าที่ชายแดนซึ่งสร้างความยากลำบากให้แก่ตัวแรงงาน และเอื้อต่อการเข้ามาแสวงหากำไรของกลุ่มนายหน้าต่างๆ หรือความล่าช้าของการดำเนินการ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของประเทศต้นทางของพม่าครั้งนี้ไม่ได้เพียงแต่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าการพิสูจน์สัญชาติจะมีระบบเอื้อมากขึ้นเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมืองของรัฐบาลพม่า ก็ยิ่งทำให้กระทรวงแรงงาน มั่นใจมากขึ้นไปอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานจากพม่า เริ่มค่อย ๆ ลดลง และอาจจะมีผลต่อการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายที่จะทำได้ง่ายมากขึ้น
 
ดังนั้น ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่า แนวคิดในเรื่องการจัดการของรัฐไทยมีพื้นฐานมาจากสองแนวคิดใหญ่ คือ ทุนนิยมที่มุ่งหวังกำไร โดยมีกลุ่มทุนท้องถิ่น และกลุ่มทุนการเมือง เป็นผู้ผลักดัน และแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติ โดยมีฝ่ายความมั่นคง และราชการเป็นผู้ผลักดัน  ทำให้นโยบายจึงวนเวียนอยู่ที่การควบคุมและจัดการเท่านั้น ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเพียงการพูดถึงเพื่อป้องกันการถูกเพ่งเล็งจากต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เท่านั้น ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้วปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิแรงงานจึงเป็นเรื่องที่ยังมองไม่เห็นถึงความเป็นไปได้ และไม่ได้รับการสนใจในการปฏิบัติแม้แต่น้อย ราชการ สื่อมวลชนและคนไทยบางส่วนยังมีมุมมองต่อแรงงานต่างชาติกลุ่มนี้ว่าเป็นผู้ร้าย เป็นภัยต่อความมั่นคง และยังรวมถึงแนวคิดชาตินิยมทางประวัติศาสตร์ที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการแรงงานราคาถูกเพื่อมาลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในเรื่องราคาในตลาดโลกได้.
 
 
 
ที่มาจาก "บันทึกเดินทาง: ข้ามชาติ สร้างเมือง"
บรรณาธิการ จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ และ วิทยากร บุญเรือง
ร่วมผลิตโดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) และ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)
สนับสนุนโดยองค์การไดอาโกเนียประเทศไทย (diakonia), แอ๊ดดร้า ประเทศไทย (ADRA) และ UK aid

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net