รวันดา: ความเสมอภาคทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของสองชาติพันธุ์ (5)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของสองชาติพันธุ์ที่โหมกระหน่ำรวันดา  ในเริ่มแรกเบลเยียมยังไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็ต้องตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว จากนั้นกองกำลังทหารจากเบลเยียมและเบลเยียมคองโก (หรือแซร์ ตั้งแต่ปี 1917 ถึง 1997 และต่อมาเรียกว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) เข้ามาในรวันดาเพื่อยุติความรุนแรงและได้จับกุมผู้นำที่ยั่วยุให้เกิดการต่อสู้ขึ้น

จากนั้นก็เริ่มเห็นเป็นประจักษ์ว่า เบลเยียมได้สลับขั้วทางการปกครอง โดยให้การสนับสนุนฝ่ายชาติพันธุ์ฮูตู ซึ่งเป็นกลุ่มที่เบลเยี่ยมเคยรังเกียจเดียดฉันท์มาก่อน แม้บางครั้งที่ชาวตุ๊ดซี่พยายามจะต่อสู้ แต่เบลเยียมจะคอยสกัดกั้นเอาไว้ทำให้ชาวตุ๊ดซี่เริ่มลดอำนาจของตนลง ขณะที่ชาวฮูตูเริ่มมีอำนาจมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นเบลเยียมได้สั่งจับกุมชาวตุ๊ดซี่ 919 คน ที่ร่วมสร้างปัญหาความรุนแรง และตัดสินใจขอร้องให้พรรค UNAR สนับสนุนแนวทางในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนข้างของเบลเยียมได้แสดงออกอย่างชัดเจนนับแต่นั้นมา

กระนั้นก็ตามการต่อสู้ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่องระหว่างชาวตุ๊ดซี่กับชาวฮูตู  ตลอดปี 1959 จนถึงปี 1960 นอกเหนือจากการต่อสู้แล้ว เบลเยี่ยมได้มีการไล่ชีฟและรองชีฟชาวตุ๊ดซี่จำนวน 350 คนพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งทางราชการ โดยหันมาสนับสนุนให้ชาวฮูตู ได้ดำรงตำแหน่งแทนทั้งทางการเมืองและราชการ  ครั้งนี้ทำให้อำนาจของชาวฮูตูที่ไร้อำนาจมาก่อนมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีความเหิมเกริมในการใช้อำนาจ เพราะหลังจากนั้นมีเหตุการณ์ทั้งทำร้าย      เข่นฆ่า และขับไล่ชาวตุ๊ดซี่อย่างไม่ลดละ จนกระทั่งฤดูใบไม้ร่วงปี 1960 ชาวตุ๊ดซี่หลายพันคนเสียชีวิตลงและประมาณ 2 หมื่น 2 พันคนหายสาบสูญ อีกหลายๆคนหนีไปศูนย์กลางผู้ลี้ภัยขณะที่บางส่วนหนีออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเบอร์รันดี อูกันดาและคองโก หลังจากนั้นการเผชิญหน้าระหว่างกันของสองชาติพันธุ์ก็เริ่มลดลง

ไปสู่ความเป็นชาติเอกราช
ในขณะที่ความรุนแรงเริ่มลดน้อยลง เบลเยียมได้เดินหน้าต่อไปในแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ โดยเริ่มทำให้บริเวณพื้นที่ที่ปกครองโดยรองชีฟกลายเป็นชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนปกครองโดยผู้นำเพียงคนเดียวและให้สภามาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่สหประชาชาติไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการก่อนนั่นคือจะต้องให้ชาวฮูตุและชาวตุ๊ดซี่ประนีประนอมกันก่อน เบลเยียมได้จัดให้มีการเลือกตั้งในชุมชน ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศที่ได้จัดขึ้นกลางปี 1960 และผู้ดำรงตำแหน่ง 2,390 จาก  3,125 ตำแหน่ง ตกเป็นของชาวฮูตูสังกัดพรรค PARMEHUTU ส่วนชาวตุ๊ดซี่หลายคนคิดว่าการเลือกตั้งนี้ไม่โปร่งใสพรรค UNAR ได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งนี้อย่างเป็นทางการ      มวามิ คิเกอรี (Mwani Kigeri) ผู้นำชาวตุ๊ดซี่ ไม่พอใจกับกระบวนการและผลของการเลือกตั้ง จึงได้เดินทางไปที่คองโกเพื่อร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อสหประชาชาติ หลังจากนั้นเบลเยียมได้สั่งห้ามมิให้ มวามิ คิเกอรี กลับเข้าประเทศรวันดาอีก

เบลเยียมเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างการปกครอง โดยในปลายปี 1960 เบลเยียมได้ตั้งรัฐบาลชั่วคราวประกอบด้วยสมาชิก 48 คน สมาชิกได้เลือก โจเซฟ กิเทร่า (Joseph Gitera)หัวหน้าพรรค APROSOMA ให้เป็นประธานสภารวันดาและเลือกเกรกัวร์ คายิบานดา(Gregoire Kayibanda) เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราว ฝ่ายบริหารของเบลเยียมได้พบกับผู้แทนสมาชิกพรรคการเมืองรวันดาหลายๆพรรคเพื่อปรึกษาหารือเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาวฮูตูกับชาวตุ๊ดซี่ และกำหนดอนาคตของดินแดนแห่งนี้ แต่ต้องพบกับอุปสรรคที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือปัญหาของระบอบการปกครองลำดับชั้น(มวามิ) ที่ไม่อาจตกลงกันได้เพราะผู้นำชาวตุ๊ดซี่ต้องการให้คงระบอบการปกครองลำดับชั้นต่อไป แต่ผู้นำชาวฮูตู ต้องการล้มเลิกระบบนี้ให้หมดสิ้น การประชุมไม่มีความคืบหน้าใดๆ เบลเยียมจึงตัดสินใจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนแม้ว่าจะได้กำหนดไว้แล้วก็ตาม  ดังนั้นเมื่อเดือนมกราคม 1961 ชาวฮูตูจึงได้ก่อความวุ่นวายขึ้นเพราะเนื่องมาจากการยุติการเลือกตั้งลงกลางคัน

ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านระบอบการปกครองลำดับชั้น(มวามิ)ผู้นำชาวฮูตูได้เดินตามแผนของตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการพบปะระหว่างกันของรัฐบาลชั่วคราวมีผู้นำชาวฮูตูที่มารวมตัวกันประกาศว่า มวามิ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองโดยชาวตุ๊ดซี่จะต้องถูกกำจัดเสียให้หมด โจเซฟ กิเทร่า(Joseph Gitera) และเกรกัวร์ คายิบานดา(Gregoire Kayibanda)ได้จัดทำธงชาติรวันดาขึ้นมาใหม่และประกาศว่าดินแดนแห่งนี้เป็นสาธารณรัฐ หลังจากนั้นรัฐบาลใหม่ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ใหม่ทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นผู้บริหารเหมือนกับผู้ว่าการรัฐให้เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยในแต่ละเขตการปกครองและให้ตรวจตราการทำงานทางด้านการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งทำหน้าที่รักษากฎหมาย มีอำนาจออกคำสั่งในเขตพื้นที่ที่ตนมีอำนาจ และที่สำคัญได้ประกาศว่าชาวรวันดาจะต้องนำประเทศเข้าสู่ความเป็นเอกราชไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเบลเยียม

ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกจากพรรค PARMEHUTU และ APROSOMA  สหประชาชาติไม่ได้รับรู้ถึงความชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลชั่วคราวนี้จึงไม่ตระหนักถึงผลของการประชุมดังกล่าว จากนั้นเบลเยียม สหประชาชาติและเจ้าหน้าที่ของรวันดาได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือการเป็นผู้นำชาติรวันดา แต่การประชุมไม่ประสบความสำเร็จ เบลเยียมจึงทึกทักเข้าควบคุมประเทศรวันดาเป็นของตนอีกครั้งหนึ่ง และได้กำหนดวันเลือกตั้งในเดือนกันยายน 1961 โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้เลือกสมาชิกสำหรับเป็นรัฐบาลถาวรเพื่อตัดสินใจต่อโครงสร้างของรัฐบาลรวันดาต่อไป

สหประชาชาติได้ติดตามเฝ้าดูการเลือกตั้งเพื่อให้แน่ใจว่าการเลือกตั้งนี้โปร่งใสอย่างแท้จริง ประชาชนผู้เลือกตั้งเทใจให้นักการเมืองชาวฮูตูอย่างล้นเหลือ ได้เลือกผู้แทน 35 คนจากพรรค PARMEHUTU 7 คนจากพรรค UNAR และ 2 คนจากพรรค APROSOMA เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ารับตำแหน่งในเดือนถัดไป สมาชิกได้ออกเสียงให้ล้มเลิกระบบการปกครองแบบลำดับชั้น(มวามิ) เพื่อที่จะทำให้อำนาจของมวามิหมดไปและสถาปนารวันดาเป็นสาธารณรัฐ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงเป็นจุดสิ้นสุดของระบบการปกครองแบบลำดับชั้นของรวันดานับแต่นั้นมา

เกรกัวร์ คายิบานดา  ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกจากการเลือกตั้งของประชาชนชาวรวันดา พร้อมทั้งได้ปูทางให้รวันดาได้รับอิสระจากการปกครองของเบลเยียม โดยในเดือนมิถุนายน 1962 รัฐบาลได้ออกเสียงให้ตัดสายสัมพันธ์จากเบลเยียม และให้อาณาเขตของรวันดาเป็นชาติเอกราชรวันดาอย่างเป็นทางการ  รัฐบาลใหม่ได้เนรเทศผู้นำชาวตุ๊ดซี่และผู้สนับสนุนพรรค UNARไปเบอรันดี จำนวนมาก

ชาวฮูตูหลายคนเห็นว่าเกรกัวร์ คายิบานดา เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์รวันดา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่นำชาติไปสู่ความเป็นเอกราช  และล้มล้างระบบการปกครองโดยชาวตุ๊ดซี่ ลงอย่างสิ้นเชิง  เกรกัวร์ คายิบานดา  ยืนยันว่าการกดขี่ที่เคยเกิดขึ้นกับชาวฮูตูเป็นเรื่องที่ผิดอย่างไม่อาจให้อภัยได้ ชาวฮูตูต้องออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมกันในฐานะพลเมืองของชาติต่อไป

รวันดา ภายใต้การปกครองของฮูตู
เอกราชและการตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ช่วยยุติความรุนแรงทางการเมืองในรวันดาแต่ประการใด การต่อสู้ระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ยังคงดำเนินต่อไป สมาชิกของพรรค ANAR ที่ถูกเนรเทศและผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่คนอื่นๆได้ก่อตั้งกลุ่มกองโจรชื่อ “อินเยนซี”(Inyenzi)ขึ้นมา และได้เดินทางจากเบอรันดี แทนเซเนีย อูกันดาและคองโก   เข้ารวันดาเพื่อทำลายและเข่นฆ่าชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่บางคนที่สนับสนุนพรรค PARMEHUTU และรัฐบาลใหม่ ระหว่างปี 1961 ถึงปี 1966 อินเยนซี ได้นำกองกำลังเข้าไปในรวันดาเข่นฆ่าชาวฮูตู ทำให้รัฐบาลโดยเกรกัวร์ คายิบานดา  ต้องแก้แค้นตอบโต้เข่นฆ่าชนกลุ่มน้อยชาวตุ๊ดซี่หลายพันคนที่อาศัยอยู่ในรวันดา การทำร้ายครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี 1963 เมื่ออินเยนซี บุกโจมตีบูเกเซอราและบุกยึดหลายเมืองเกือบที่จะไปถึงกรุงคิกาลี หลังจากการโจมตีของอินเยนซี กองทหารรัฐบาลได้สู้รบและฆ่าชาวตุ๊ดซี่ไปประมาณ 1 หมื่นคน โดยรวมแล้วกองทหารรวันดาได้คร่าชีวิตประชาชนประมาณไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคนรวมไปถึง 20 คนที่เป็นนักการเมืองชาวตุ๊ดซี่ด้วย ความรุนแรงอันชั่วร้ายที่รัฐบาลและฝ่ายต่อต้านได้ก่อขึ้นนั้นได้ทำให้ชาวตุ๊ดซี่ต้องหลบหนีออกจากประเทศของตนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1962 มีชาวตุ๊ดซี่ที่หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว 1 แสน 2 หมื่นคน และเมื่อปี 1964 ชาวตุ๊ดซี่ต้องหลบหนีออกจากประเทศเกือบ 70% ของชาวตุ๊ดซี่ที่มีอยู่  การหลบหนีออกนอกประเทศของชาวตุ๊ดซี่ กลายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามของ “บานยารวันดา”(Banyarrwanda)

“บานยารวันดา” เริ่มการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การปฏิวัติ การเคลื่อนไหวทั้งทางการเมืองและทางสังคมได้ขยายตัวเติบโตจนกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางชาติพันธุ์ซึ่งชาวตุ๊ดซี่ทั้งหมดได้กลายเป็นเป้าหมายการข่มเหงทางการเมืองโดยชนชั้นนำใหม่ชาวฮูตู การปกครองโดยชาวฮูตูได้แทนที่การปกครองของชาวตุ๊ดซี่ สถานะทางสังคมในรวันดาได้กลับหัวกลับหางอย่างสิ้นเชิง ในปี 1964 ชาวฮูตู ได้ควบคุมรัฐบาลแต่ชาวตุ๊ดซี่บางส่วนยังคงดำรงตำแหน่งในระบบการศึกษา ในรัฐบาล ในศูนย์กลางทางศาสนาอยู่บ้าง หลังจากนั้นรัฐบาลฮูตูได้เลือกปฏิบัติต่อชาวตุ๊ดซี่แทบจะทุกพื้นที่ของสังคม ชาวตุ๊ดซี่จำนวนมากพบว่าตนเองต้องพยายามหาทางเปลี่ยนชาติพันธุ์ของตนโดยการเปลี่ยนบัตรประชาชนใหม่ให้เป็นชาติพันธุ์ฮูตู เพื่อความปลอดภัยของชีวิต

เมื่อปลายยุค 1960 ทุกอย่างเริ่มแย่ลงเมื่อชาวฮูตูหัวรุนแรงจากกลุ่มกิทารามา (Gitarama)ปรากฏขึ้นและท้ายที่สุดได้เข้าควบคุม PARMEHUTU กลุ่มคนเหล่านี้พยายามผลักดันให้ชาวตุ๊ดซี่ออกจากงานและขัดขวางไม่ให้อาศัยอยู่ในรวันดา กลุ่มกิทารามาได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่ใช่แค่เพียงต่อชาวตุ๊ดซี่เท่านั้นแต่ได้สร้างความขัดแย้งต่อชาวฮูตูกลุ่มอื่นที่หัวไม่รุนแรงด้วย ดังนั้นความขัดแย้งได้ขยายตัวไปโดยไม่ได้คำนึงถึงชาติพันธุ์เท่านั้น

ในช่วงต้นของยุค 1970 ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และการเลือกปฏิบัติทางสังคมย่ำแย่ลงภายใต้รัฐบาลเกรกัวร์  คายิบานดา ที่มีนโยบายต่อต้านทั้งชาวฮูตูบางกลุ่มที่หัวไม่รุนแรงและชาวตุ๊ดซี่ ความเป็นปฏิปักษ์ซึ่งรัฐบาลได้แสดงต่อชนกลุ่มน้อยชาวตุ๊ดซี่ได้สร้างความตึงเครียดทั่วทั้งประเทศ

ประกอบกับรวันดาเป็นประเทศยากจน มีทรัพยากรจำนวนไม่มากและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มั่นคงค่อยแข็งแรงนัก แต่รัฐบาลของเกรกัวร์ คายิบานดา  ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนามากนัก โดยได้พัฒนาเพียงเล็กน้อยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ผลของการพัฒนายังได้นำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวง มีการเก็บยักยอกเงินของรัฐเอาไว้ใช้จ่ายเป็นการส่วนตัวภายในสมาชิก และชาวฮูตูอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจนดังเดิม

การต่อสู้ระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่เริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 1973 ความรุนแรงในครั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ซึ่งได้ปะทุขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านคือเบอรันดี  ประกอบกับชาวฮูตูได้ก่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ขึ้นมาอีกเพื่อค้ำจุนสถานะของตนในฐานะของความเป็นชาติพันธุ์ฮูตู ที่เป็นชนส่วนใหญ่ของรวันดา เกิดการเลือกปฏิบัติต่อชาวตุ๊ดซี่รอบใหม่อีกครั้งซึ่งมุ่งหมายให้ชาวตุ๊ดซี่ออกจากระบบการศึกษา จนนำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง  ดังนั้นเพื่อตอบโต้ความรุนแรงครั้งนี้ ผู้บัญชาการกองกำลังรวันดาจูเวอนัล ฮาเบียริมานา(Juvenal Habyarimana )และ กลุ่มทหารชาวฮูตูทางตอนเหนือ ได้ทำการรัฐประหารล้มล้างการปกครองของเกรกัวร์ คายิบานดา

รวันดา  ภายใต้รัฐบาลจูเวอนัล ฮาเบียริมานา (Juvenal Habyarimana)  
เมื่อจูเวอนัล ฮาเบียริมานา (Juvenal Habyarimana)  ได้เข้าควบคุมอำนาจทางปกครองแล้วได้ประกาศว่าจะยุติการเมืองที่อิงกับชาติพันธุ์และนโยบายแบ่งแยกทั้งหลายที่เคยเกิดขึ้นในสมัยการปกครองเกรกัวร์ คายิบานดา เพื่อนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ชาวรวันดาจำนวนมากเชื่อว่าสถานการณ์ในประเทศน่าจะดีขึ้น  แต่การนำมาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตย เพื่อความสงบสุขของชาตินั้น มันประกอบไปด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มีราคาแพง ในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ จูเวอนัล ฮาเบียริมานา ได้ร่างกฎอัยการศึกและล้มล้างรัฐธรรมนูญของประเทศ ในปี 1975 ได้สั่งยกเลิกพรรคการเมือง ประธานาธิบดียืนยันว่าพรรคการเมืองต้องมีเพียงพรรคเดียว คือ พรรคปฏิวัติชาติเพื่อการพัฒนา (MRND)  หลังจากนั้นได้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆในรัฐบาลประกอบด้วยสมาชิกครอบครัวและผองเพื่อนจากบ้านเกิดทางตอนเหนือของรวันดา

ต่อมาหลังจากที่ชนะการเลือกตั้งในปี 1978 (จูเวอนัล ฮาเบียริมานา เป็นผู้ลงสมัครรับการเลือกตั้งเพียงคนเดียว)จูเวอนัล ฮาเบียริมานาได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ซึ่งเขียนถึงพรรค MRND ว่าเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวของรวันดา นี่หมายถึงเจ้าหน้าที่ในเขตปกครอง ผู้นำชุมชนและสมาชิกสมาพันธุ์ชุมชนอื่นรวมทั้งประชาชนทั้งหลายจะต้องเป็นสมาชิกของพรรค MRND เท่านั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเกิดขึ้นทุกๆ 5 ปี สาธารณชนทั่วไปต้องมีหน้าที่ยอมรับประธานาธิบดีและจะต้องสนับสนุนประธานาธิบดีไม่จำกัดสถานการณ์ ซึ่งระบบใหม่นี้คือระบบเผด็จการที่มี จูเวอนัล ฮาเบียริมานา และพรรค MRND ของเขากุมอำนาจทั้งหมดมีอำนาจเหนือทั้งกองกำลังทหาร การเมือง และกิจกรรมทางสังคมทุกประเภท

อย่างไรก็ตามทั้งๆที่อยู่ภายใต้ระบบเผด็จการ แต่ประชาชนก็ยังมีความคาดหวังว่าทุกๆอย่างอาจจะดีขึ้นได้สำหรับประชาชนชาวตุ๊ดซี่ ในปี 1980 จูเวอนัล ฮาเบียริมานา  ได้สถาปนานโยบายดุลยภาพซึ่งเป็นแผนการที่ทำให้ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่เข้าถึงแหล่งงาน ตำแหน่งทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันทั่วทั้งรวันดา นโยบายนี้ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน จะต้องจ้างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ให้สอดคล้องกับสัดส่วนของประชาชนทั้งหมด เช่นหากบริษัทต้องการคนงาน 100 คน จะต้องมีการจ้างชาวฮูตุ 85 คนและชาวตุ๊ดซี่ 14 คน

นโยบายนี้ทำให้บริษัท ผู้ประกอบการทั้งหลายไม่ค่อยพอใจมากนัก เพราะบางครั้งต้องจ้างชาวฮูตูหรือชาวตุ๊ดซี่ที่ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอแต่ก็มีความจำเป็นเพื่อจะทำตัวเลขสัดส่วนการจ้างให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ขณะเดียวกันนโยบายนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นโอกาสการทำงานของสองชาติพันธุ์ด้วย  กล่าวคือหลายๆบริษัทได้ใช้โอกาสนี้ปฏิบัติตามนโยบายโดยขจัดชาวตุ๊ดซี่ออกจากตำแหน่งผู้บริหารที่สำคัญ แต่สถานการณ์ของชาวตุ๊ดซี่ในช่วงนี้ก็ยังดีกว่าสมัยที่อยู่ภายใต้รัฐบาลเกรกัวร์ คายิบานดา

นอกจากนั้นยังปัญหาอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งได้สร้างความตึงเครียดในรวันดาพอสมควร นั่นคือการที่ จูเวอนัล ฮาเบียริมานา  มักจะเห็นประโยชน์ของพวกพ้องเป็นหลัก โดยเฉพาะชาวฮูตูที่อยู่ทางตอนเหนือซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน มักจะได้รับประโยชน์มากกว่ากลุ่มคนอื่น   ผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือจึงได้รับงานและความได้เปรียบอื่นๆจากรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นชาวฮูตูจากพื้นที่อื่นของรวันดาจึงถูกเลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวตุ๊ดซี่  ซึ่งในครั้งนี้นอกเหนือจากการเลือกปฏิบัติต่อต่างชาติพันธุ์เช่นที่ผ่านมาแล้วยังมีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนที่แตกต่างระหว่างพื้นที่อีกด้วย ความไม่เสมอภาคไม่ได้เกิดเฉพาะชาติพันธุ์ อีกแล้ว

กระนั้นก็ตามจูเวอนัล  ฮาเบียริมานา ยังได้รับความไว้วางใจและได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อปี 1983 โดยไม่มีคู่แข่ง(มีพรรคเดียวตมรัฐธรรมนูญ) ภายใต้การปกครองของจูเวอนัล ฮาเบียริมานา รวันดายังคงมีสถานะค่อนข้างมั่นคง ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ส่วนใหญ่ยังเข้ากันได้ ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ลดลง

แต่ปัญหาใหญ่ที่สั่งสมมานานไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษ คือปัญหาผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่การปฏิวัติของชาวฮูตู ปี 1959 และการทำลายล้างชาวตุ๊ดซี่โดยรัฐบาลเกรกัวร์ คายิบานดาในยุค 1960 และยุค 1970 จนกระทั่งถึงต้นยุค 1980 ส่งผลให้ชาวตุ๊ดซี่มากกว่า 3 แสนคนต้องอาศัยอยู่นอกประเทศ ทั้งเบอรันดี แซร์ อูกันดา และแทนเซเนีย สิ่งที่ผู้ลี้ภัย(บานยารวันดา)ได้ประสบพบเจอนั้นคือความทุกข์เข็ญและยากลำบากยิ่งนัก แม้ว่าแทนเซเนียและเบอรันดีจะให้การต้อนรับและเคารพสิทธิผู้อพยพ แต่อูกันดาและแซร์ไม่ได้ยอมรับผู้ลี้ภัยอย่างเต็มใจเท่าใดนัก บานยารวันดาส่วนใหญ่แม้กระทั่งพวกที่เกิดในต่างแดนทุกคนก็ปรารถนาที่กลับไปประเทศของตนทั้งสิ้น แต่ความต้องการนี้ได้ถูก จูเวอนัล  ฮาเบียริมานา และคณะปฏิเสธโดยสิ้นเชิง

บานยารวันดาผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่เกือบ2 แสนคนอาศัยอยู่ในอูกันดา หลายคนได้นำฝูงสัตว์มาด้วยบานยารวันดาซึ่งอยู่ในอูกันดาจึงสามารถมีวิถีชีวิตที่ดี เงยหน้าอ้าปากทางสังคมและเศรษฐกิจได้บ้าง แต่เมื่อต้นยุค 1980 ชาวอูกันดาเริ่มไม่พอใจที่ชาวตุ๊ดซี่นำฝูงสัตว์เข้ามายังทุ่งหญ้าจำนวนมาก ความไม่พอใจนี้ได้เปลี่ยนแปลงเป็นความรุนแรงเมื่อปี 1983 เมื่อชาวอูกันดาได้รับการสนับสนุนโดยผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดี มิลตัน โอโบเต้(Milton Obote) เข้าทำร้ายชุมชนบานยารวันดา ในช่วงความสับสนอลหม่านนี้ชาวบานยารวันดาจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นคนถูกฆ่าทำให้อีกประมาณ 4 หมื่นคนพยายามที่จะกลับเข้ารวันดา เมื่อรัฐบาลรวันดาทราบว่าผู้ลี้ภัยพยายามที่จะอพยพกลับเข้าประเทศอีก จึงได้ทำการปิดเขตแดน ผู้อพยพประมาณ 4 หมื่นคนจึงต้องติดอยู่ในอูกันดา และบางส่วนได้หลบหนีไปยังแทนเซเนีย

ประสบการณ์ในอูกันดาได้โหมความปรารถนาของ “บานยารวันดา” ที่จะกลับเข้ารวันดามากขึ้น แต่บานยารวันดาไม่มีนโยบายที่จะเจรจากับจูเวอนัล  ฮาเบียริมานา อีกต่อไปหลายคนจึงหาทางแก้ไขโดยอาศัยการช่วยเหลือจากกองทหารอูกันดา จากนั้นในปี 1983 โยเวรี มูเซเวอนี (Yoweri Museveni) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอูกันดา ได้เกณฑ์ชาวตุ๊ดซี่ที่เป็นผู้ลี้ภัยก่อตั้งกองกำลังต่อต้านแห่งชาติ (National Resistance Army - NRA) ซึ่งมีเป้าหมายสองประการ คือ ประการแรกการล้มล้างรัฐบาลของประธานาธิบดีโอ โบเต้ ของอูกันดา และประการที่สองคือช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่ให้ได้กลับประเทศ

ผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่ซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อโอโบเต้  เป็นพิเศษหลังจากเหตุการณ์ข่มเหงชาวตุ๊ดซี่เมื่อปี 1983 ได้เข้าร่วมกับ NRA เป็นจำนวนมาก และช่วยโยเวรี  มูเซเวอนี  โค่นล้ม รัฐบาลของประธานาธิบดีโอโบเต้ ลงเมื่อปี 1986 ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบแทนความช่วยเหลือต่อผู้ลี้ภัยโยเวรี มูเซเวอนี  ได้ให้อาวุธแก่ผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่และให้ใช้ฐานทัพเพื่อฝึกซ้อมกองกำลังตามมา

ชาวอูกันดาหลายคนยังคงรู้สึกเป็นศัตรูกับผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่ โยเวรี มูเซเวอนี  จึงเริ่มที่ทำตัวออกห่างผู้ลี้ภัยเมื่อถึงจุดนี้นายพล เฟร็ด รวิกเยอมาและ พลตรีพอล คากาเม ซึ่งอยุ่ใน NRA เริ่มก่อการเกณฑ์ผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่เพื่อสร้างกองกำลังที่สามารถบุกโจมตีรวันดาและสามารถทำให้บานยารวันดากลับเข้าประเทศได้ คนเหล่านี้ได้ตั้งเป็น “กลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา” (Rwandan Patriotic Front-RPF)   มีนักการเมืองชาวฮูตูจำนวนหนึ่งซึ่งรู้สึกไม่เชื่อถือจูเวอนัล  ฮาเบียริมานา อีกต่อไปก็เข้าร่วมกับองค์กรใหม่นี้ด้วย

RPF ได้ตั้งขึ้นโดยมีหลักสำคัญ 8 ประการ นั่นคือ 1)ความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันของคนในชาติ 2)สร้างประชาธิปไตย 3)การนำแนวคิดเศรษฐกิจพึ่งพาตนเองมาใช้ 4)การล้มเลิกการฉ้อราษฎร์บังหลวง 5)การสร้างบริการสังคม 6)การทำให้กองกำลังป้องกันเป็นประชาธิปไตย 7)นโยบายต่างประเทศที่ก้าวหน้า  8)ยุติการกระทำที่เป็นบ่อเกิดผู้ลี้ภัย  การที่จะจะบรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ RPF จะต้องล้มล้างรัฐบาลจูเวอนัล ฮาเบียริมานา เพราะว่าที่ผ่านมาในยุค 1980 จูเวอนัล  ฮาเบียริมานา ยืนยัน ว่าจะไม่มีวันยินยอมให้ชาวตุ๊ดซี่กลับเข้ามาในประเทศอีก

กลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (Rwandan Patriotic Front-RPF)   จึงเชื่อว่าหนทางเดียวที่ผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่จะสามารถกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนได้นั่นก็คือจะต้องดิ้นรนต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มอำนาจของ จูเวอนัล  ฮาเบียริมานา (Juvenal Habyarimana)   และหลังจากนั้นจึงค่อยแบ่งสรรอำนาจในรวันดาให้มีความเสมอภาคระหว่างสองชาติพันธุ์.......

 

 

หมายเหตุ บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict.  Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict.  Rawanda : country torn apart .Manufactured in the United States of America. By Lerner Publications Company.

         

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท