ประชาไทรับรางวัลดีเด่น "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ปี 2555

ผลงานจาก "ข่าวสด - ไทยพีบีเอส - เนชั่นแชนแนล - ประชาไท" ได้รับรางวัลดีเด่น "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" จัดโดยแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ด้านผู้บริหารประชาไทชี้การได้รับรางวัลไม่ใช่การชื่นชมผู้รายงานข่าว หากแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าในสังคมยังมีคนที่ถูกละเมิดสิทธิอยู่มาก และหวังว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนควรเป็นเรื่องพื้นฐานในการนำเสนอของสื่อมวลชน

สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวเปิดงานมอบรางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2555 ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อ 11 ธ.ค. ที่่ผ่านมา

เทพชัย หย่อง อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ปาฐกถาหัวข้อ  “สื่อมวลชนในฐานะผู้ร่วมปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในสังคม”

รอซิดะห์ ปูซู จากหนังสิอพิมพ์ข่าวสด รับรางวัลดีเด่น "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ ผลงานข่าว “ทหารยิงชาวบ้าน 4 ศพ ที่อ.หนองจิก จ.ปัตตานี”

อาทิตย์ โชติสัจจานนท์  ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รับรางวัลดีเด่น "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประเภทสื่อโทรทัศน์ระดับชาติ (ฟรีทีวี)  จากผลงาน "รายการเปิดปม ตอน รุกรานชาติพันธุ์ชาวเล"

ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รับรางวัลชมเชย "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประเภทสื่อโทรทัศน์ระดับชาติ (ฟรีทีวี) จากผลงาน "รายการคุยกับแพะ ตอนคุกหลุมดิน"

ธนานุช สงวนศักดิ์  บรรณาธิการสารคดีเชิงข่าว สถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล รับรางวัลดีเด่น "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประเภทสื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น (เคเบิลทีวีหรือดาวเทียมทีวีในประเทศไทย) จากผลงาน "My Rohingya/โรฮิงยาที่ฉันรู้จัก"

วีรพร วังสะอาด ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี รับรางวัลชมเชย "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประเภทสื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น (เคเบิลทีวีหรือดาวเทียมทีวีในประเทศไทย) จากผลงาน "คุกไทยทำลายคน"

สุรชา บุญเปี่ยม ผู้สื่อข่าวอาวุโส รับรางวัลชมเชย "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประเภทสื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น (เคเบิลทีวีหรือดาวเทียมทีวีในประเทศไทย) จากผลงาน “เผาบ้าน-เผายุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ปฏิบัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่อชาติพันธุ์” เผยแพร่ในเดลินิวส์ทีวี

ชูวัส ฤกษ์สิริสุข บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท เป็นตัวแทนรับรางวัลดีเด่น "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 2555 ประเภทสื่อออนไลน์

ผู้รับรางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประเภทต่างๆ ถ่ายภาพร่วมกับประธานกรรมการ และกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และประธานมอบรางวัล

 

เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2555 ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนให้สื่อ 4 ประเภท อันได้แก่ หนึ่ง สื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ สอง สื่อโทรทัศน์ระดับชาติ (ฟรีทีวี) สาม สื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น (เคเบิลทีวีและผ่านดาวเทียมในประเทศไทย) และสี่สื่อออนไลน์ ส่วนประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่นในปีนี้ไม่มีสื่อใดได้รับรางวัล โดยการมอบรางวัลปีนี้มีพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการมอบรางวัล

สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าในวันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ. 2491 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งบังเอิญเหลือเกินที่ตรงกับวันรัฐธรรมนูญของไทยพอดี วันดังกล่าวจึงมีความหมายทั้งในแง่สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งกลไกด้านสิทธิมนุษยชน มีการเฉลิมฉลองภายใต้แนวคิดหลักของสหประชาชาติว่าเราทุกคนเกิดมามีอิสระเสรี มีศักดิ์ศรี และสิทธิที่เสมอภาคกัน

ในปัจจุบันคำว่าสิทธิมนุษยชนมีการกล่าวถึงมีการนำมาใช้มากขึ้นในสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ แม้แต่ในบทละครหลังข่าวที่มีผู้ชมจำนวนมาก อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยต้องยอมรับว่าคนจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของสิทธิมนุษยชนนัก หลายครั้งคำนี้ถูกไปใช้ในความหมายผิดๆ นำไปสู่เรื่องการมองสิทธิมนุษยชนในแง่ลบ บ้างก็ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดตะวันตกที่แปลกแยกไปจากสังคมไทย บ้างก็ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นการเสรีภาพอันไร้ขอบเขตจำกัด ขาดความรับผิดชอบ บ้างก็อ้างสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิของตนเท่านั้นโดยไม่คำนึงสิทธิของคนอื่น กระทั่งนำเรื่องสิทธิมนุษยชนไปใช้แสวงหาประโยชน์ในทางการเมืองและประโยชน์ส่วนตน

ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้มีสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยที่ทำหน้าที่เสนอข่าวสาร ข้อเท็จจริงสู่สังคม ทำหน้าที่ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคนทุกคนควบคู่กันไป ภายใต้ความเชื่อที่ว่าความยุติธรรมเพื่อสิทธิทั้งปวงของคนทุกคน อันมีความหมายว่ามนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา สัญชาติ เพศ หรือกลุ่มสังกัดใดๆ ก็ล้วนมีสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิขั้นพื้นฐานทุกประการเช่นเดียวกัน โดยกิจกรรมมอบรางวัลนี้จัดขึ้นในหลายประเทศ เพราะเล็งเห็นว่า สื่อมวลชนเป็นบุคคลที่ควรรับผิดชอบ และได้รับการยกย่องให้ทำหน้าที่เป็นครูที่ดีในการบ่มเพาะคนในสังคมให้ได้ตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน และเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญในการให้กำลังใจสื่อมวลชนที่เสนอข่าวสารในแง่มุมที่เคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงจัดงานมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น สร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม ให้สื่อมวลชนจะได้มีพลังในการยืนหยัดที่จะทำงานเพื่อปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อไป

สำหรับการประกาศผลรางวัล ประเภทรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ  รางวัลดีเด่น ได้แก่ผลงานข่าว “ทหารยิงชาวบ้าน 4 ศพ ที่อ.หนองจิก จ.ปัตตานี” จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ประเภทรางวัลข่าวหรือสารคดีและภาพยนตร์สารคดีสั้นประเภทสื่อโทรทัศน์ระดับชาติ (ฟรีทีวี) ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 1 รางวัลได้แก่ รายการเปิดปม ตอนรุกรานชาติพันธุ์ชาวเล จาก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และรางวัลชมเชย 1 รางวัลได้แก่ รายการคุยกับแพะ ตอนคุกหลุมดิน จาก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ประเภทรางวัลข่าวหรือสารคดีและภาพยนตร์สารคดีสั้นประเภทสื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น(เคเบิลทีวีหรือดาวเทียมทีวีในประเทศไทย) ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 1 รางวัล ได้แก่ ผลงาน เรื่อง “My Rohingya/โรฮิงญาที่ฉันรู้จัก” จาก สถานีโทรทัศน์ เนชั่นแชนแนล และรางวัลชมเชย 2  รางวัลได้แก่ ผลงาน เรื่อง “คุกไทยทำลายคน” จาก สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี และผลงาน เรื่อง “เผาบ้าน-เผายุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ปฏิบัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่อชาติพันธุ์” จากเดลินิวส์ทีวี

ส่วนรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ รางวัลดีเด่น 1 รางวัล ได้แก่ผลงานข่าว “คุกซ้อนคุก ชีวิต Transgender ในเรือนจำ สิ่งแปลกปลอมที่ถูกกันออกและล่วงละเมิด” จาก "ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม" หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

ด้านชูวัส ฤกษ์สิริสุข บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ซึ่งเป็นผู้แทนรับรางวัลกล่าวว่า การได้รับรางวัลดังกล่าวไม่ได้เป็นการชื่นชมนักข่าว แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าในสังคมยังมีคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่มาก รางวัลที่ได้รับเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าข่าวสิทธิมนุษยชนเป็นข่าวที่ทรงคุณค่าควรจะเป็นจุดยืนหนึ่งของสื่อมวลชนทุกโต๊ะ ทุกสำนัก โดยสิทธิมนุษยชนควรเป็นเรื่องพื้นฐานในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอยู่แล้ว

สำหรับผลงานข่าว "‘คุกซ้อนคุก’ ชีวิต transgender ในเรือนจำ สิ่งแปลกปลอมที่ถูกกันออกและล่วงละเมิด" เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวของผู้ต้องขังสาวข้ามเพศ แต่ถูกขังอยู่ในเรือนจำชายแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร โดยทีมงานประชาไทมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมและรายงานเรื่องราวที่พวกเธอเผชิญ หลังได้รับจดหมายจากผู้ต้องขังชายในเรือนจำที่เขียนบอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอ นอกจากนี้ในการประกวดผลงานประเภทสื่อออนไลน์ ผลงานข่าว "คุยกับณัฐ : 112, คุก กับความหมายของการนอนตื่นสาย" โดยนพพล อาชามาส เผยแพร่ในประชาไท เมื่อ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้ารอบชิงรางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ด้วยเช่นกัน โดยผลงานดังกล่าวซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ "ณัฐ" ผู้ต้องขังชายในเรือนจำที่ถูกตัดสินให้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

นอกจากพิธีมอบรางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังมีการเปิดตัว AI Thailand Ambassador "ศุ บุญเลี้ยง" กับสื่อมวลชนภายในงานด้วย และมีการปาฐกถาในหัวข้อ “สื่อมวลชนในฐานะผู้ร่วมปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในสังคม” โดยมีเทพชัย หย่อง อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอสเป็นองค์ปาฐก ตอนหนึ่งนายเทพชัยกล่าวว่าสื่อมวลชนกระแสหลักแต่ละองค์กรควรกำหนดให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญอีกอย่างหนึ่ง โดยต้องทำความเข้าใจกันเองในบุคลากรฝ่ายบริหาร มีการจัดอบรมนักข่าวว่าเรื่องราวด้านสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะหลายครั้งสื่อมวลชนเองก็ถูกกล่าวหาจากสังคมว่าการทำหน้าที่สื่อมวลชนได้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท