รายงานพิเศษ : สำรวจโลกออนไลน์ เก็บตกทัศนะจากเพจดังในวัน 'รัฐธรรมนูญ'

เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชนเก็บตกกระแสวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา กับรายงานพิเศษ สำรวจโลกออนไลน์ เก็บตกทัศนะจากเพจดังในวัน 'รัฐธรรมนูญ'

<--break->

 

รายงานพิเศษ : สำรวจโลกออนไลน์ เก็บตกทัศนะจากเพจดังในวัน 'รัฐธรรมนูญ'

 

11 ธ.ค. 55 - ถึงปีที่ 80 นี้ บนโลกเสมือนที่คนรุ่นปู่ รุ่นทวดของเราคงไม่รู้จัก มาติดตามกันดูว่าเรื่องราวของ 'วันรัฐธรรมนูญ' ถูกถ่ายทอดอย่างไร 

 
การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นำไปสู่สิ่งใหม่หลายประการ หนึ่งในนั้นคือการเกิดสถาบันใหม่ที่เรียกว่า 'สภาผู้แทนราษฎร' ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่างๆ โดย 'รัฐสภา' ของเราได้ถือกำเนิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงนี้ใน วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีการเปิดประชุมสภาขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครองยังนำไปสู่การให้มี 'รัฐธรรมนูญ' เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ (เดิมเรียกธรรมนูญการปกครอง) อันเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม ทั้งนี้ ในเรื่องของรัฐธรรมนูญเองก็มีเรื่องราวให้พูดถึงกันได้มากมาย รวมทั้งเรื่องของการกำหนดให้ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นวัน 'รัฐธรรมนูญ' เพื่อระลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ฉบับแรก ก่อนจะมีการกระทำที่เรียกว่า 'ฉีกรัฐธรรมนูญ' อีกหลายครั้งในเวลาต่อมา
 
ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนถึงปีนี้ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555 จึงถือเป็นการครบรอบ 80 ปี เหตุการณ์สำคัญดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่เป็นคุณูปการที่บ่มขึ้นมาจากช่วงเวลานั้น คือ ความรู้ ความจริง ความคิด ความเห็น..ผ่านเวลามาถึงตอนนี้จึงสามารถปรากฏตัวได้กว้างขวางและหลากหลายขึ้นภายใต้เทคโนโลยีใหม่ๆ การรับรู้และถ่ายทอดยิ่งสามารถกระจายออกไปแบบเกือบไม่จำกัด รวมทั้งรูปแบบที่แตกต่าง ความทรงจำถูกนำมาเล่าใหม่รวมทั้งเรื่องราวของ 'วันรัฐธรรมนูญ' ก็ไม่ใช่วันที่จะถูกอธิบายด้วยคำอธิบายเดียวได้อีกต่อไป เราลองมาดูกันหน่อยว่า ถึงปีที่ 80 นี้ บนโลกเสมือนที่คนรุ่นปู่รุ่นทวดของเราคงไม่รู้จัก เรื่องราวของ 'วันรัฐธรรมนูญ' ถูกถ่ายทอดอย่างไร โดยเฉพาะบนหน้าเพจเฟซบุ้ค โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คที่เชื่อมคนรุ่นใหม่ให้เข้าถึงกันได้มากที่สุดในขณะนี้ บางเพจมีผู้ติดตามกันนับแสนคนเลยทีเดียว   
 
มาเริ่มกันที่เพจของพระยามีชื่อ นาม 'ออกพญาหงส์ทอง' หนึ่งในตัวเต็งที่จะได้เป็น 1 ใน 10 เพจยอดนิยมบนเฟซบุ้คที่จัดโดย เพจ ประชาไท ออกญามีชื่อท่านนี้รู้จักกันดีในลีลาสำนวนภาษาอันดุดันเคล้ากลิ่นอายแบบขุนน้ำขุนนางครั้งกรุงเก่า ถึงวันรัฐธรรมนูญครานี้ ท่านออกญานอกจากจะเล่าความเมื่อครั้งหลังแล้ว ยังทิ้งท้ายด้วยแง่คิดเตือนใจอีกด้วย
 
 
"กูจักมาเล่าข้อราชการเปิดกะโหลกแลกะลาให้อ้ายอีไพร่เยี่ยงพวกมึงถือว่าเอาบุญอีกสักครา
 
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบในการปกครองประเทศ ดังนั้นกฎหมายใดจักขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ ทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ อาจจะเป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
 
รัฐธรรมนูญ ฉบับแรก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร โดยยึดอำนาจการปกครองสยามจากรัชกาลที่ ๗ แลได้ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะราษฎรจัดตั้งขึ้น ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยถือว่าผู้ที่ทำให้สยามมี ปฐมรัฐธรรมนูญ มาจากคณะราษฎร นั่นเอง 
 
หากแต่วันรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ของทุกปีเนื่องด้วยเป็นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของสยาม แลให้เปลี่ยนชื่อสยาม เป็นประเทศไทย
 
รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขมาเป็นฉบับที่ ๑๘ ตามแต่สถานการณ์ว่าผู้ใดถืออำนาจพวกมากกว่าในขณะนั้น ฤๅ บางครั้งก็มาจากปลายสีหนาทปืนไฟ ในขณะที่บางคนยับยั้งการแก้ไขในฉบับหนึ่ง แต่ก็เคยได้แก้ไขมาอีกฉบับหนึ่งที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเฉกเช่นกัน 
 
ทำอะไรตามใจคือไทแท้ หากกฎมันยาก มันขัดขวาง จักไปยากกระไรก็เพียงแค่เปลี่ยนกฎ ซึ่งผู้ที่เปลี่ยนกฎจากอดีตจนถึง ปัจจุบัน ก็คือผู้ที่มีอำนาจที่มิใช่เพียงแค่นักการเมืองเท่านั้น หากแต่รวมถึง ทหาร ข้าราชการ แลชนชั้นปกครองเหนือรัฐธรรมนูญ หากการแก้รัฐธรรมนูญ ยังคงเป็นการแก้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นปกครอง อ้ายอีไพร่ฟ้าหน้าใส ก็ยังมิเคยได้ประโยชน์สูงสุดจากการแก้รัฐธรรมนูญสักครา
 
“คนไทยทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จักมีผู้ใดผู้หนึ่งอยู่เหนือกฎหมายมิได้” เพียงข้อนี้ก็ทำให้ได้เสียก่อนเถิด" 
ท่านออกญาพญาหงส์ทอง กล่าว
   
เพจต่อไปเป็นเพจที่ว่าด้วยสถิติและข้อมูลที่น่าสนใจของประเทศไทยและทั่วโลก เพจนี้มีชื่อว่า 'ประเทศไทยอยู่ตรงไหน'  ทั้งนี้ เพจนี้ไม่ได้กล่าวถึงวันรัฐธรรมนูญปีนี้เป็นปีแรก คราวนี้จึงเปลี่ยนทางไปพูดถึงเรื่อง 'วันหยุดไทยอยู่ตรงไหน?' แทน 
 
 
"เชื่อว่าสำหรับใครอีกหลายคน นัยยะที่สำคัญที่สุดของวันรัฐธรรมนูญก็อาจเหมือนกับวันสำคัญอื่นๆนั่นคือเป็น “วันหยุด” ที่ทำให้ทุกคนได้มีเวลาพักผ่อนจากหน้าที่การงาน 
 
เกือบทุกประเทศทั่วโลกต่างก็มีวันหยุด ซึ่งวันหยุดในแต่ละประเทศก็มีจำนวนและสาเหตุในการหยุดที่แตกต่างกันออกไป การนับและจัดกลุ่มวันหยุดนั้นอาจทำได้ยากเนื่องจากแต่ละประเทศมีธรรมเนียมและประเพณีที่แตกต่างกัน แต่หากใช้ข้อมูลอ้างอิงจาก wikipedia โดยนับวันหยุดของหน่วยงานภาครัฐ และนับเฉพาะวันหยุดที่บังคับใช้ทุกพื้นที่ทั้งประเทศอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น (เช่น ถึงแม้วันตรุษอีดิ้ลฟิตรี (วันรายอปอซอ) และวันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา (วันรายอฮัจยี) จะเป็นวันหยุดราชการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในไทย แต่จะไม่นับรวมไว้ในกรณีนี้) เราจะสามารถแบ่งประเภทวันหยุดคร่าวๆได้เป็น 3 หมวดย่อยๆดังนี้
 
- วันหยุดอันเนื่องมาจากวันสำคัญของสถาบันภาครัฐ เช่น วันก่อตั้งประเทศ วันรัฐธรรมนูญ วันคล้ายวันเกิดสมเด็จพระจักรพรรดิ์
- วันหยุดอันเนื่องมาจากวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา วันคริสมาส
- วันหยุดเพื่อพลเรือน เพื่อการสืบทอดทางวัฒธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี หรือวันหยุดด้วยเหตุอื่นใดนอกจากสองข้อเบื้องต้น เช่น วันสิ้นปี วันสงกรานต์ วันแรงงาน วันคนชรา
 
*หมายเหตุ เป็นเพียงการแบ่งคร่าวๆ
 
สำหรับประเทศไทยนั้น มีวันหยุดทั้งหมด 16 วัน ดังนี้
วันขึ้นปีใหม่(1 มกราคม) วันมาฆบูชา วันจักรี(6 เมษายน) วันสงกรานต์(13-15 เมษายน) วันฉัตรมงคล(5 พฤษภาคม) วันพืชมงคล วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา วันแม่(12 สิงหาคม) วันปิยมหาราช(23 ตุลาคม) วันพ่อ(5 ธันวาคม) วันรัฐธรรมนูญ(10 ธันวาคม) วันสิ้นปี(31 ธันวาคม)
 
โดยในกรณีของประเทศไทย สัดส่วนวันหยุดสามารถแบ่งออกเป็น 6/4/6 (รัฐ/ศาสนา/พลเรือน) 
สำหรับประเทศอื่นๆ สัดส่วนมีดังนี้:
 
ญี่ปุ่นวันหยุด 15 วัน 5/0/10
สหรัฐอเมริกา วันหยุด 10 วัน 4/1/5
จีน วันหยุด 19 วัน 3/0/16
เยอรมนี 9 วัน 1/6/2
ซาอุดิอาระเบีย 21 วัน 1/20/0
มาเลเซีย 11 วัน 3/5/3
 
 
จะเห็นได้ว่า ในแต่ละประเทศก็มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไปในเรื่องของการหยุดพักผ่อน แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือนักเรียนทั่วๆไปแล้ว จะเหตุผลอะไรก็คงไม่สำคัญเท่ากับการได้นอนพักผ่อนอยู่บ้านเฉยๆสักวัน
 
เพจ 'ประเทศไทยอยู่ตรงไหน' เคยทำข้อมูลเกี่ยววันรัฐธรรมนูญมาแล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปีก่อน โดยตั้งประเด็นว่า 'รัฐธรรมนูญไทยอยู่ตรงไหนในโลก' เนื้อความที่น่าสนใจเราจึงไม่พลาดที่จะนำมาเสนอในปีนี้ เช่นกัน
 
"ทุกรัฐย่อมมีกฎหมายสูงสุดอันเป็นกรอบบังคับให้กฎหมายทั้งหลายในรัฐนั้นตราขึ้นตาม ไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการ รัฐประชาธิปไตย หรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐธรรมนูญอาจจะเป็นลายลักษณ์อักษรเขียนและรวบรวมไว้หรือไม่ก็ได้
 
นับแต่การประกาศใช้พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 และการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมด 17 ฉบับ เป็นฉบับชั่วคราว 3 ฉบับ และฉบับถาวร 14 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นฉบับที่ 18 คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และมีการลงประชามติของประชาชน เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 57.81 มีมาตรา 309 มาตรา พิมพ์ลงบนกระดาษขนาด A4 ได้ 127 หน้า
 
การเขียนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับจริงเป็นลายลักษณ์อักษร จะใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์ชุบหมึก กองปกาษิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จารหมึกลงในสมุดไทยเล่มขาว ปกลงรักปิดทองล่องชาด เขียนทั้งหมดสามเล่ม ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ฉบับหนึ่งเก็บรักษาไว้ ณ รัฐสภา ฉบับหนึ่งเก็บรักษาไว้ใต้มหาเศวตฉัตร ณ พระบรมมหาราชวัง อีกฉบับหนึ่งเก็บรักษาไว้ ณ ทำเนียบรัฐบาล
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงนับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวและมีรายละเอียดมาก แต่หากจะเทียบกับประเทศต่างๆ ในโลกแล้ว ยังมีรัฐธรรมนูญที่ยาวกว่าไทยอีก นับเรียงตามลำดับความยาวของรัฐธรรมนูญ(เฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษร) คือ รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินเดีย (1950) ประกอบด้วย 448 มาตราใน 22 หมวด บทแก้ไขเพิ่มเติมอีก 96 มาตรา ความยาว 117,369 คำ หรือ 441 หน้า A4 (ในภาษาอังกฤษ) นับเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลก
 
ในขณะที่ตำแหน่งรัฐธรรมนูญที่สั้นที่สุดในโลก ตกเป็นของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา (1788) ซึ่งมีเพียงเจ็ดมาตรา และบทแก้ไขเพิ่มเติม (Amendments) อีกเพียง 27 มาตรา รัฐธรรมนูญที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงว่ารัฐธรรมนูญของรัฐใดที่ควรได้รับตำแหน่ง แต่ถ้าหากกำหนดเฉพาะรัฐที่ยังคงสภาพรัฐเอกราช และบังคับใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชรัฐซานมาริโน (1600) นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังใช้งานอยู่ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชรัฐซานมาริโน เขียนขึ้นในภาษาละติน ถูกแก้ไขเพียง 2 ครั้งในปี 1974 เพื่อเพิ่มเติมสิทธิของประชาชนในการเลือกตั้ง และในปี 2002 เพื่อเพิ่มเติมอำนาจรัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้งรัฐธรรมนูญที่ใหม่ที่สุดของโลก คือรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐซูดานใต้ (2011) ซึ่งได้เอกราชจากประเทศซูดาน คณะบริหารงานเปลี่ยนผ่านการปกครองแห่งซูดานใต้ ได้ลงสัตยาบันยอมรับรัฐธรรมนูญนี้ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2011
 
ประเทศที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกบ่อยที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐโบลิวาร์แห่งเวเนซูเอลา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (1999) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 26 นับแต่การประกาศเอกราชออกจากรัฐแกรนโคลัมเบียในปี 1945 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญดังกล่าวประกอบด้วย 350 มาตรา และบทเฉพาะกาลอีก 18 มาตรา ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีอย่างสูงยิ่ง
 
ในส่วนของสหราชอาณาจักร (United Kingdom) นั้น เป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียวที่ไม่มีรัฐธรรมนูญหลักซึ่งถูกรวบรวมเป็นหนึ่งเดียวในรูปแบบฉบับลายลักษณ์อักษร 
 
รัฐธรรมนูญสหราชอาณาจักรประกอบด้วยพระราชบัญญัติต่างๆ คำพิพากษาฎีกา ข้อสนธิสัญญา พระราชกฤษฎีกา และพระราชอำนาจสำรอง (Royal Prerogative) มาประกอบรวมกัน นับตั้งแต่กฎบัตรแม็กนาคาร์ตาเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของพรรคอนุรักษ์นิยม นำโดยนายเดวิด คาเมรอน มีนโยบายผ่านร่างพระราชบัญญัติการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังโต้เถียงกันอยู่ในรัฐสภา
 
รัฐธรรมนูญจึงมิใช่สิ่งใดมากกว่าองค์รวมของการตกลงกันระหว่างคนในสังคม หากประชาชนไม่สามารถตกลงกันได้และปฏิเสธการรับรองอำนาจของรัฐธรรมนูญนั้นเสียแล้ว รัฐธรรมนูญจะยาวหรือสั้น จะเก่าหรือใหม่ เขียนลงเป็นตัวหนังสือแบบไหน ก็ไร้อำนาจที่จะใช้บังคับเหนือรัฐและประชาชน
 
L'homme est n? libre, et partout il est dans les fers.
Jean-Jacques Rousseau, Du contrat social ou Principes du droit politique, 1762
 
มนุษย์เกิดมาเสรี หากแต่ทุกที่มีโซ่พันธนาการ
ฌอง ฌาคส์ รุสโซ, ว่าด้วยสัญญาประชาคมและทฤษฎีการเมือง, 1762.
 
ไปดูเพจต่อไปที่เราเก็บความมา เพจนี้ชื่อ  'Hua Boran' ซึ่งมักนำเกร็ดประวัติศาสตร์ทั้งระยะไกลและประวัติศาสตร์ร่วมสมัยมาเล่าสู่กันฟังอย่างน่าสนใจ เพจนี้เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อไมานานมานี้ แม้จะยังมีผู้ติดตามเพียงหลักพัน แต่เรื่องราวที่นำมาเล่าสู่กันฟังก็แหลมคมไม่ใช่น้อย 
 
 
"รัฐธรรมนูญฉบับแรกสุดของรัฐสยาม-ไทยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 แต่เนื่องจากการตระหนักถึงความสำคัญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯที่ทรงยอมเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เป็นไปอย่างราบรื่น คณะราษฎรจึงได้ยอมรับข้อเสนอของพระองค์ที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับชั่วคราว” เพื่อจะได้สร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระองค์ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงอาจถือได้ว่า “ผู้สร้าง” รัฐธรรมนูญ “ที่แท้จริง” ก็คือ “คณะราษฎร” นั่นเอง
 
แต่ในพระราชปรารภ ที่ปะอยู่ที่ส่วนหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับที่ “2” (ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475) นั้น ได้มีการลดทอนการเป็น “ผู้สร้าง” ของคณะราษฎรลง เหลือเพียงแค่การเป็น “ผู้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น 
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในขณะนั้น ก็ได้ประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคม เป็น “วันฉลองรัฐธรรมนูญ” โดยได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 10 – 12 ต่อมาในปี 2480 สมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ ก็ได้มีการประกาศให้ “วันฉลองรัฐธรรมนูญ” ที่ 10 ธันวา นั้น เป็น “วันรัฐธรรมนูญ” โดยได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการติดต่อกัน 3 วัน ระหว่างวันที่ 9 – 11 แต่ในปี 2491 รัฐบาลของจอมพล ป. กลับได้ประกาศให้ลดวันหยุดเหลือเพียงวันเดียว คือวันที่ 10 
 
แต่แล้ว ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 (ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2489) ในพระราชปรารภ ไม่ได้มีการกล่าวถึงคณะราษฎรในฐานะ “ผู้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ” อีกต่อไป แต่ปรากฏใจความว่าพระองค์เป็นผู้ “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” โดยพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้ บทบาท “ผู้สร้าง” รัฐธรรมนูญ จึงได้เคลื่อนไปยังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
 
อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่ว่าพระองค์เป็นผู้ “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” นั้น ก็ไม่ได้เพิ่งมีปรากฏในปี 2489 แต่อย่างใด แต่กลับมีปรากฏให้เห็นมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เลยทีเดียว โดยทางฝ่ายราชสำนัก ได้นำเสนอข่าวในพระราชสำนัก (ที่มีประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาด้วย) เกี่ยวกับ “หมายกำหนดการ” ในวันดังกล่าวว่าเป็น “พระราชพิธี ‘พระราชทาน’ รัฐธรรมนูญ...” ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลกลับเรียกงานเดียวกันนี้ว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” 
 
การเป็น “ผู้สร้าง” รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 ได้ถูกเน้นย้ำอย่างสำคัญอีกครั้งในปี 2523 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิด“พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2523 ส่งผลให้ตามหน้าล็อตเตอรี่ และปฏิทินต่างๆ ได้เริ่มระบุว่า วันที่ 10 ธันวา นั้นเป็นวัน “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” ในขณะที่ก่อนหน้านั้น จะระบุว่าวันดังกล่าวเป็น “วันรัฐธรรมนูญ” เฉยๆ
 
แต่ที่น่าสนใจคือ ในประกาศเรื่องต่างๆ ของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับวันที่ 10 ธันวา ตามที่มีปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ” หรือ “ระเบียบการชักธงชาติ” นั้น ต่างก็ใช้คำเรียกวันดังกล่าวว่าเป็น “วันรัฐธรรมนูญ” อยู่โดยตลอด และอาจเป็นเพราะเหตุผลตามที่ได้กล่าวมานี้กระมัง ที่ทำให้ประชาคมธรรมศาสตร์ เลือกที่จะเรียกวันที่ 10 ธันวา ว่า “วันธรรมศาสตร์” เพื่อแย่งชิงความสำคัญของการเป็น “ผู้สร้าง” รัฐธรรมนูญให้กลับมาสู่คณะราษฎร โดยเฉพาะปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สถาปนามหาวิทยาลัยของเขา ก็เป็นได้" 
 
สุดท้าย เราขอปิดที่เพจ 'โหดสัสV2' อีกตัวเต็งเพจที่อาจจะได้เป็น 1 ใน 10 จากการโหวตของปีนี้ เพจนี้โด่งดังในมุมของการเสียดแทง ล้อเลียน ตลกร้าย จนเป็นยอดนิยมและมีขุมกำลังมวลชนในโลกเสมือนไม่น้อย แม้ปีนี้จะไม่กล่าวอะไรยาวมาก แต่ภาพประกอบอันลี้ลับนี้ก้ชวนให้รู้สึกเข้ากับบรรยากาศอึมครึมของการเมืองเรื่องรัฐ ธรรมนูญในเวลานี้เสียจริง 
 
 
"สุขสันต์วันหยุดครับ ผมพาแมวไปเที่ยวมา เลยถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระทึก แมวผมซนมากมันปีนขึ้นไปอย่างรวดเร็ว โถ เจ้าแมวน้อย รักประชาธิปไำตยมากๆเลยนะ" /003
 
 
 
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท