Skip to main content
sharethis

 

8 ธ.ค.55 ที่อนุสรณ์สถา 14 ตุลา สำนักพิมพ์อ่านจัดสัมมนาวิชาการ เรื่องเล่าและความทรงจำในงานวรรณกรรมบันทึก กรณีศึกษา “รักเอยภายในงานมีการอภิปรายจากวิทยาการหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น เดือนวาด พิมวนา นักเขียนซีไรต์, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มธ., สุธิดา วิมุตติโกศล คณะศิลปศาสตร์ มธ. นอกจากนี้ยังมีเวทีอภิปรายเสียงสะท้อนจากเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจาก มาตรา 112 ด้วย
 

(บางส่วนมีการรายงานแล้ว อ่านได้ที่ เสวนารักเอย: ‘สมศักดิ์’ ชี้กระแสกษัตริย์นิยม (ในคนชั้นกลาง) กู่ไม่กลับ เหตุปัญญาชนไทยพลาด)

ทั้งนี้ อากง หรือนายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี ถูกพิพากษาจำคุก 20 ปีในความผิดตามมาตรา 112 แต่เสียชีวิตภายในเรือนจำด้วยโรคมะเร็งหลังจากถูกคุมขังเกือบสองปี ส่วนหนังสือรักเอย เป็นหนังสือที่เขียนโดยภรรยาอากง เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านสำหรับแจกในงานฌาปนกิจศพอากง

ยุกติ  มุกดาวิจิตร  กล่าวถึงงานชิ้นนี้ในมุมมองมานุษยวิทยาว่า รักเอยอาจเรียกได้ว่าเป็นงาน อัตชาติพันธุ์นิพนธ์ ซึ่งเป็นขนบการเขียนงานทางมานุษยวิทยาแบบหนึ่งที่ใหม่มาก เป็นการเขียนโดยใช้เรื่องราวส่วนตัวของผู้เขียนเองมาวิเคราะห์ในเชิงมนุษยวิทยา การเขียนเรื่องราวตัวเอง ไม่ใช่เพียงการเขียนเล่าธรรมดาแต่ยังผ่านการวิเคราะห์ด้วย เพราะการนำประสบการณ์ที่ตนเองมีอยู่ก่อนมานำเสนอ เป็นการเรียบเรียงซ้ำ ไตร่ตรองซ้ำ เป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ขึ้นมา

ยุกติยังเปรียบเทียบงานชิ้นนี้กับงานเขียนของ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร ที่เขียนหนังสือชื่อ ‘สมุดแม่’  งานลักษณะนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น เนื่องจากแนวคิดในแวดวงนักมานุษยวิทยาเริ่มเปลี่ยนไปจากที่เคยเห็นว่าผู้เขียนต้องเอาตัวออกห่างจากสิ่งที่เขียน ใช้เหตุใช้ผลเพียงอย่างเดียว มาเป็นการนำตัวตนของคนเขียนเข้ามารวมอยู่ในงานด้วย

“การนำเอาความเป็นปัจเจกของนักเขียนเองมาวิเคราะห์เป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะทุกคนที่เขียน เขียนมาจากจุดยืนใดจุดยืนหนึ่งเสมอ การเข้าใจมนุษย์ถึงที่สุดใช้ตรรกะเหตุผลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้อารมณ์ความรู้สึกด้วย หากไม่ใช้ก็มีโอกาสที่จะไม่เข้าใจได้”  

ยุกติกล่าวว่า งานเขียนแนวนี้ฉีกขนบไปเน้นความรู้สึกส่วนตนและจากที่เคยเข้าใจว่าอารมณ์เป็นเรื่องส่วนตัว แต่หากตีแผ่แล้วทำให้คนสะเทือนใจได้ มันก็ยกระดับจากปัจเจกขึ้นมาเป็นความรับรู้ร่วมกัน การพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกในงานส่วนตัวนั้นแท้จริงแล้วคือการพูดถึงคนอื่นด้วย

“มันได้จัดวางตัวเองในตำแหน่งในสังคม ในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นโครงสร้างและความรู้สึกส่วนตนที่ดิ้นอยู่ในนั้น”ยุกติกล่าวและว่า งานเขียนแนวนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการต่อสู้ทางการเมืองในชีวิตประจำวัน ชี้ให้เห็นถึงการต่อต้านของปัจเจกชนในโครงสร้างของสังคม

“แม้ว่ารักเอยและหนังสืออื่นๆ ในขนบแนวนี้ (อัตตชาติพันธุ์นิพนธ์ ) จะแสดงตัวตนของคนเขียน แต่มันบอกเล่าชีวิตและอารมณ์ของสังคมด้วย งานเขียนแนวนี้น่าจะเป็นเวทีการนำเสนอเรื่องราวของสามัญชนได้จากปลายปากกาของพวกเขาเอง เพราะไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ขนบการเขียนแบบนี้ก็จะเปิดให้สามารถเปิดเผยตัวตน ความรู้สึก และช่วยในการทำความเข้าใจสังคมร่วมกันได้เป็นอย่างดี”ยุกติกล่าว

 

สุธิดา วิมุตติโกศล  วิเคราะห์งานชิ้นนี้จากมุมมองสตรีนิยม โดยระบุว่า งานชิ้นเป็นงานที่ท้าทายสตรีนิยมกระแสหลักซึ่งเป็นกระแสของชนชั้นกลาง และมักพูดในกรอบคิดแบบคนชั้นกลาง นักสตรีนิยมของผู้มีการศึกษาในขณะที่พูดเรื่องของผู้หญิงก็กำลังกดทับเสียงของผู้หญิงด้วยกันที่มาจากพื้นฐานสังคม สถานภาพทางเศรษฐกิจแบบอื่น

งานชิ้นนี้ยังทำให้เห็นความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกระหว่างชนชั้นและเพศสถานะในสังคมไทย หากยังไม่สามารถสร้างความเท่าเทียม อย่างน้อยในสำนึกทางชนชั้นได้ ก็เป็นการยากที่จะจุดประเด็นเรื่องเพศ

สุธิดากล่าว ตัวบทนี้เป็นตัวบทที่บริสุทธิ์มาก ไม่มีเป้าหมาย วาทกรรมทางการเมือง เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะในการศึกษาสตรีนิยม แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการจริงๆ ของคนจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าใครได้อ่านจะเห็นว่าบทบาทหน้าที่ในชีวิตประจำวันของป้าอุ๊ก็ไม่ต่างจากผู้หญิงทั่วไป เงื่อนไขในชีวิตป้าอุ๊นั้นดูไม่เอื้อให้มานั่งพิจารณาความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย หากจะนำแว่นแฟมินิสม์ไปวิพากษ์วิจารณ์คงจะไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเห็นได้จากงานเขียนชิ้นนี้เป็นสิ่งที่เปิดโลกทัศน์ของคนอ่านเองด้วย เพราะเป็นปฏิบัติการจริงของคนชั้นล่างซึ่งไม่ได้ต้องการตอบโต้ความคิดแบบชายเป็นใหญ่เหมือนสตรีนิยม

สุธิดาอธิบายว่า ป้าอุ๊เองก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือกรอบคิดชายเป็นใหญ่ เพียงแต่คลี่คลายตัวเองไปในทางความเคยชิน ซึ่งยิ่งเน้นย้ำถึงอำนาจวาทกรรมชายเป็นใหญ่ แต่อีกด้านหนึ่งก็จะเห็นความยืดหยุ่นและความเป็นไปได้ในการต่อรองและความไม่เบ็ดเสร็จของอำนาจในการเอามาปฏิบัติจริง ทั้งยังจะเห็นความเท่ากันในความสัมพันธ์และความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของทั้งป้าอุ๊และอากง ถ้านำสายตาแบบสตรีนิยมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีแบบคนชั้นกลางไปจับ ก็อาจเห็นว่าการยอมของป้าอุ๊โดยเฉพาะการที่อากงแอบไปมีนอกบ้านบ้างนั้นไม่ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริง สิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยฐานคิดแบบสตรีนิยมชนชั้นกลางซึ่งอยู่บนฐานคิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียว การหมกมุ่นจมจ่อมกับแนวคิดนี้นอกจากประกอบด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าและยังต้องมีเวลาว่างด้วย

“สำหรับสังคมนี้เนื้อหาไม่สำคัญเท่าใครเขียน อย่างไรก็ตาม การเขียนของป้าอุ๊ต่อให้ตัดบริบทอื่นๆ แล้ว ก็ยังรู้สึกประทับใจอยู่ดี” สุธิดากล่าวและว่า  ป้าอุ๊เรียกร้องสิทธิไม่ใช่เฉพาะสามีคนเดียว ไม่ใช่เฉพาะนักโทษ 112 แต่กับทุกคนที่ต้องเข้าไปอยู่ในคุก กลายเป็นทั้งนักสู้และศิลปิน อีกทั้งด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เสียงของป้าอุ๊ได้ยินอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง กลายเป็นอาวุธสำหรับต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม

 

สุดา รังกุพันธุ์ ในฐานะนักภาษาศาสตร์ กล่าวว่า ภาษาศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่มองภาษาจากมุมของวิทยาศาสตร์ ใช้วิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์เกิดมาร้อยกว่าปี มีอายุไม่มากนักเมื่อเทียบกับศาสตร์อื่น

สุดากล่าวว่า แนวทางจารีตนิยมเชื่อว่า การบังคับใช้สิ่งที่ถูกต้องมีเพียงหนึ่งเดียว ภาษาที่ถูกต้องมีแบบเดียว ส่วนผู้ที่มีอำนาจบังคับใช้ก็คือรัฐ  แนวคิดที่ว่าต้องมีการบังคับใช้ให้เหมือนกันเป็นเศษหลงเหลือทางสังคมที่เกิดมาพร้อมแนวคิดชาตินิยม องค์กรที่พยายามบังคับให้มนุษย์พูดอย่างใดอย่างหนึ่ง เหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยเพราะมีองค์กรอย่างราชบัณฑิตยสถาน รัฐไทยก็มีแนวคิดนี้กระทำผ่านบทเรียนตำราต่างๆ แต่นักภาษาศาสตร์มุ่งเน้นการทำงานแบบการพรรณนาแบบที่เป็นจริง ซึ่งทำให้นึกถึงหลายๆ คำที่เป็นคำสำคัญในช่วงนี้คือ Speech Act หรือ วัจนกรรม คำสำคัญอีกคำหนึ่งคือ Freedom of Speech

สุดากล่าวถึง Freedom of Speech Act theory ว่าหัวข้อนี้ได้แรงบันดาลใจจากคำพิพากษาในคดีอากงที่ระบุว่าแม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความก็ตาม แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน ผู้พิพากษาจึงใช้พยานแวดล้อมในการพิพากษา โดยสรุป ผู้พิพากษาเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้มีเจตนา แม้ฝ่ายโจทก์จะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้กระทำจริง ดังนั้น คำว่า “เจตนา” คือคำสำคัญของสังคม และเราอาจต้องเผชิญการตีความคำนี้ของผู้พิพากษาไปอีกหลายปีท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง

สุดายังกล่าวถึง คำว่าสามัญชนด้วยว่ามีความสำคัญมากและมาจากสาขาปรัชญาที่พูดเรื่องภาษาของคนธรรมดา เมื่อก่อนนั้นภาษาของคนธรรมดาไม่ถูกพูดถึง ไม่มีการศึกษาแจกแจง แต่เมื่อนักปรัชญาหันมาสนใจภาษาของคนธรรมดา จนกระทั่งเกิดสาขาภาษาศาสตร์ขึ้นซึ่งเริ่มมาประมาณ 60 กว่าปี ตรงกับประมาณปี 2490 ของไทยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นวงจรอุบาทว์ของรัฐประหารในไทย

ทฤษฎี Speech Act พยายามวิเคราะห์เจตนาของการสื่อสาร โดยมีการสร้างเงื่อนไขต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ผลลัพธ์ถูกโต้แย้งน้อยที่สุด เงื่อนไขตัวหนึ่งคือ เงื่อนไขความจริงใจ อ่านงานวรรณกรรมรักเอย ก็รู้สึกว่า คำ“รักเอย” เป็นเงื่อนไขความจริงใจ สื่อออกมาอย่างจริงใจและมีค่าไม่ต่างจากงานอื่นๆ สิ่งที่เราจะได้เรียนรู้อย่างมากคือ ความตรงไปตรงมา ความจริงที่ปรากฏในการเล่าเรื่องของป้าอุ๊

 

                                           

สุชาติ นาคบางไทร อดีตผู้ต้องขังในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กล่าวถึงประสบการณ์ร่วมกันของผู้ต้องขังในคดีนี้ในเรือนจำ โดยกล่าวถึง แดน 8 ซึ่งช่วงแรกมักจะมีการส่งนักโทษ 112 ไปคุมขังที่นั่นว่า เป็นแดนสนธยา เต็มไปด้วยนักโทษอุกฉกรรจ์ ความรุนแรง และเป็นแหล่งกักโรค

“เรียกว่าเป็นแดนที่น่ากลัวสำหรับนักโทษทุกคน ไม่เฉพาะ 112 แต่สำหรับนักโทษ 112 ก็ยิ่งน่ากลัว คุณหนุ่มและหมี ถูกทำร้ายในนั้น สังคมตอนนั้นแตกแยก เมื่อก่อน ผอ.แดน 8 เหลืองอ๋อยจนเป็นที่โจษจัน นักโทษ 112 ที่ถูกส่งไปแดน 8 เหมือนถูกส่งไปนรก” สุชาติกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า เมื่อครั้งอากงถูกส่งเข้าไปในเรือนจำ ในช่วงนั้นยังไม่มีใครสนใจใยดีในประเด็นนี้   อย่างไรก็ตาม ต้องให้เครดิตหนุ่ม เรดนนท์ หรือ ธันย์ฐวุฒิ ผู้ต้องขังคดี 112 คนหนึ่งที่พยายามติดต่อกันนักโทษกันเองเพื่อรวบรวมรายชื่อนักโทษการเมืองทั้งหมดและส่งให้คนข้างนอกตีเยี่ยม ทำให้นักโทษได้มีโอกาสเจอกันเองด้วยเวลาถูกนำตัวออกมาเยี่ยมญาติ  

สุชาติ กล่าวว่า ภาพของอากงในความคิดของเขา ไม่มีภาพของนักโทษ ไม่มีภาพของคนที่มีศักยภาพทำผิด แต่ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง เขาก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะจับคนแก่เช่นนี้มาเข้าคุก เช่นเดียวกันกับสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ต้องขังอีกคนหนึ่งที่ยังอยู่ในเรือนจำ ปัจจุบัน อายุ 70 ปี มีหลายโรครุมเร้า ยิ่งต้องได้รับการปล่อยตัวโดยเร็วที่สุด

“เราไม่อยากมีหนังสือรักเอยจากป้าน้อยอีกแล้ว เราไม่อยากได้เล่มที่สอง ผมซีเรียสไม่แพ้อาจารย์สมศักดิ์ ขอบอกว่าต้องรีบปล่อยพี่สุรชัยเดี๋ยวนี้” สุชาติกล่าว

สุชาติยังเล่าถึงความยากลำบากในการเข้าถึงกรรักษาพยาบาลในเรือนจำด้วยว่าเป็นเรื่องยากลำบากมาก เนื่องจากบุคลาการที่อยู่ในเรือนจำรังเกียจและปฏิบัติไม่ดีกับนักโทษ นอกจากนี้การเข้าถึงบริการยังเป็นไปอย่างล่าช้ามาก และยาที่ได้มักเป็นยาพาราเซตามอล

นอกจากนี้เขายังเสนอแนวคิดการรณรงค์ว่า ให้ประชาชนหันมากราบรูปนักโทษมาตรา 112 ด้วยสโลแกน “มึงจับ กูกราบ” เพื่อให้ทุกฝ่ายรู้ว่าการจับแบบนี้เป็นความผิดพลาด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net