Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แนวคิดการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติ และการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย จะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนได้มองเห็นความสำคัญ และตระหนักในปรากฏการณ์ปัญหาอย่างจริงจัง อาทิ แรงงานข้ามชาติ เด็ก ครอบครัว และผู้ติดตามมาอาศัย และทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจำนวนมากกว่า 200,000  คน

 

จังหวัดสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก จากข้อมูลสถานการณ์ด้านจำนวนแรงงาน ที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานสมุทรสาคร ประจำเดือนตุลาคม 2555 มีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานสัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา จำนวน 192,873 คน  มีแรงงานที่ต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติรวมทั้งสิ้น 89,112 คน ได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวน 38,178 คน คงเหลือแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2555 จำนวน 50,934 คน และยังมีแรงงานข้ามชาติทั้งสามสัญชาติคือ พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งนำเข้าเมืองถูกกฎหมาย (MOU)  จำนวน 8,675 คน
 
นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรสาคร มีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานและมีเอกสารจากทางราชการจำนวนไม่น้อยกว่า 200,000 คน หากแต่มีผู้ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดพยายามประเมินตัวเลขคร่าวๆ ว่า ความจริงยังมีแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีใบอนุญาตให้ทำงาน หลบหนีเข้าเมืองมาพักอาศัย และทำงานกับนายจ้างในกิจการต่างๆ อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่น้อยกว่า 100,000-200,000  คน
 
ในจำนวนนี้ยังมีเด็กข้ามชาติที่ติดตามเข้ามากับครอบครัวผู้ปกครอง และเกิดในประเทศไทยอีกจำนวนมาก ทางมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ได้คาดประมาณการจำนวนเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี  น่าจะมีไม่น้อยกว่า 6-8,000 คน และจากข้อมูลด้านสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า แรงงานข้ามชาติมีอุบัติการณ์การตั้งครรภ์ทั้งที่พึงประสงค์ และไม่ได้รับการวางแผนครอบครัว นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา   มีอัตราการเกิดของบุตรแรงงานข้ามชาติสูงมากถึงปีละ 3,000-3,600 คน  ต่อปี นอกจากนั้น ยังมีเด็กข้ามชาติติดตามมากับแรงงานข้ามชาติที่ย้ายถิ่นจากจังหวัดอื่นๆและจากประเทศต้นทางโดยเฉพาะประเทศพม่าอีกจำนวนมาก
 
ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือ สถานะทางกฎหมายของเด็ก การไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองเด็กที่ดี และการเข้าสู่การเป็นแรงงานเด็กก่อนวัยอันควร ซึ่งประเด็นแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารสัตว์เบื้องต้น และอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อการส่งออกตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา  ปัญหาแรงงานเด็กข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ยังคงเป็นที่กล่าวถึงและมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันแม้ว่าวันนี้ ภาครัฐจะเฝ้าดูสถานการณ์ปัญหาแรงงานเด็ก แต่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และการเข้าถึงการแก้ไขปัญหาเชิงรุกยังไม่เกิดขึ้นมากในระดับโครงสร้างนโยบาย และระดับพื้นที่ สถานการณ์ที่ปรากฏยังคงมีเด็กข้ามชาติไปทำงานกับครอบครัวในกิจการแปรรูปอาหารทะเล การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำ แม้ว่าวันนี้ รัฐบาลไทยอาจจะรับรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานประกอบการขนาดเล็ก ที่มีการแปรรูปขั้นต้น   แต่ระบบโครงสร้างและกลไกการติดตามตรวจสอบของภาครัฐตามกฎหมาย ตามระเบียบต่างๆ ยังมีปัญหา สืบเนื่องจากการไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล
 
นอกจากประเด็นปัญหาแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอาหารทะเลส่งออก ยังพบปัญหาอื่นๆของเด็กข้ามชาติ ซึ่งตกอยู่ในสภาวการณ์ที่เสี่ยง ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากการรู้ไม่เท่าทันสังคมอาจถูกแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานในรูปแบบต่างๆ เด็กมีโอกาสถูกละเมิดทางเพศจากคนไทย และกลุ่มชาติพันธุ์ตนเอง ไม่สามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิ กรณีเด็กโตที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นอายุระหว่าง 13-18 ปี กลุ่มนี้ขาดความเข้าใจเรื่องสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์(Reproductive Health)  และส่วนหนึ่งอาจถูกละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสภาพการจ้างงาน เป็นต้น
 
และเนื่องจากแรงงานข้ามชาติเด็ก และผู้ติดตามที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ เชิงบวกคือ แรงงานข้ามชาติถือว่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนสร้างพลังทางเศรษฐกิจในประเทศไทย และส่งผลต่อการผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่มีรายได้จากการส่งออกไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มแรงงานข้ามชาติจำนวนมากถือว่าเป็นผู้ซื้อสินค้า หรือผู้บริโภคเช่นเดียวกัน    ส่วนเชิงลบ คือ หากแรงงานข้ามชาติขาดการให้ความรู้ด้านต่างๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิทธิที่พึงมีพึงได้ในรัฐไทย ความผิดต่างๆ กรณีไปละเมิดสิทธิผู้อื่นและความเข้าใจที่ดีต่อแนวปฏิบัติการอยู่ร่วมกันในสังคม อาจก่อปัญหาสังคมที่ส่งผล กระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดี เช่น การขาดจิตสำนึกในการรู้รับผิดชอบต่อสังคม ชุมชนขาดสุขลักษณะที่ดี มีปัญหาขยะ น้ำเสีย ขาดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน
 
ดังนั้น แนวคิดการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติ และการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย จึงเป็นประเด็นที่จะทำอย่างไรให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม ได้มองเห็นความสำคัญ และตระหนักในปรากฏการณ์ปัญหาอย่างจริงจัง อาทิ แรงงานข้ามชาติ เด็ก ครอบครัว และผู้ติดตามมาอาศัย และทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจำนวนมากกว่า 200,000  คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 99 มาจากประเทศพม่า ขาดการศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่ปลายทาง เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิแรงงาน และการบริการจากรัฐที่ดีเพียงพอ สุขภาพ และการศึกษา เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะที่แรงงานเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ และต้องไม่ลืมการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แรงงานต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการดำรงอยู่ มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า และมีประสิทธิภาพ
 
การเผชิญปัญหาหลักๆ ที่สำคัญของแรงงานข้ามชาติคือ การถูกสร้างให้มีความหวาดกลัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ที่คอยกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบบังคับต่างๆ มาบังคับและควบคุมแรงงานมิให้มีการกระทำผิดเมื่อเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย แต่มีน้อยมากที่แรงงานข้ามชาติจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะถูกการกำกับโดยกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงนโยบาย เช่น กลุ่มนายหน้ารับทำเอกสารจดทะเบียนแรงงาน  กลุ่มนายหน้าจัดหางาน กลุ่มนายหน้าจัดทำพาสปอร์ต ดังนั้น การมีองค์กรที่เป็นกลไกกลางเชื่อมระหว่างผู้ประสบปัญหา และผู้แสวงหาประโยชน์ รวมถึงบางส่วนได้ละเมิดสิทธิแรงงาน  จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก เนื่องจากแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้มากขึ้น ปัญหาการอยู่ร่วมในสังคมของแรงงานข้ามชาติ และคนไทย จะเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงในอนาคต หากไม่ได้จัดกิจกรรมพิเศษอย่างต่อเนื่องในการปลูกจิตสำนึกการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในฐานะการพึ่งพาอาศัยกันและกัน.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net