ธีรยุทธ บุญมี กับการผลิตซ้ำ “วัฒนธรรมความไม่เป็นประชาธิปไตย”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากมองจากทัศนะของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล การที่นักวิชาการพูดถึงประชาธิปไตยแต่มี “เพดาน” ของประเด็นสถาบันกษัตริย์ย่อมเป็นการพูดที่ “ไร้ความหมาย” (ไม่ make sense) และยังเป็นการ “ผลิตซ้ำ” ความไม่เป็นประชาธิปไตยให้คงอยู่ต่อไป

กล่าวคือ เมื่อคุณวิจารณ์ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยเฉพาะที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลที่มีบทบาทสาธารณะระดับรัฐบาลลงมา แต่มีเพดานว่าไม่วิจารณ์สถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ หรือการที่คุณเรียกร้องประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพ ความเสมอภาค แต่มีเพดานว่าสถาบันกษัตริย์ต้องมีอภิสิทธิ์เหนือหลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาคนั้น การพูดถึงประชาธิปไตยที่มีเพดานเช่นนี้มันไม่มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นมันยังเท่ากับเป็นการ “ผลิตซ้ำ” ความไม่เป็นประชาธิปไตยให้คงอยู่ต่อไป

ถามว่า นี่มันเป็นเพียง “ทัศนะ” ของสมศักดิ์เท่านั้นหรือ? เปล่าเลยมันเป็นปัญหาระดับพื้นฐานที่สุดคือปัญหา “หลักการประชาธิปไตย” เพราะเมื่อนักวิชาการหรือใครก็ตามวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลที่มีบทบาทสาธารณะระดับรัฐบาลลงมา เขาย่อมวิจารณ์ตรวจสอบด้วยการอ้างอิงหลักเสรีภาพ และความเสมอภาคอันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย และหลักการดังกล่าวย่อมเป็น “หลักการสากล” ที่ใช้กับ “ทุกคน”

ฉะนั้น เมื่อกำหนด หรือยอมรับ “เพดาน” ว่าจะไม่ใช้หลักการดังกล่าวในการวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ในมาตรฐานเดียวกับตรวจสอบบุคคลที่มีบทบาทสาธารณะระดับรัฐบาลลงมา จึงเท่ากับทำให้หลักการสากลไม่เป็นสากล หรือทำให้หลักการประชาธิปไตยไม่เป็นหลักการประชาธิปไตย การพูดถึงหรือการอ้างประชาธิปไตยแบบมีเพดานจึงเท่ากับเป็นการผลิตซ้ำความไม่เป็นประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไป

ทางที่ถูกตามหลักการประชาธิปไตย นักวิชาการต้องต่อสู้เพื่อถอดรื้อ หรือปลดล็อก “เพดาน” นั้นเสีย ด้วยการแก้กฎหมาย ปรับเปลี่ยนความคิด อุดมการณ์ ให้สถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย หรือให้สถาบันกษัตริย์ถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้เหมือนทุกคนที่มีบทบาทสาธารณะ เมื่อนั้น “ความเป็นประชาธิปไตยเชิงหลักการ” จึงเกิดขึ้น และความเป็นประชาธิปไตยเชิงหลักการนี่เองจะเป็นรากฐานรองรับให้เกิด “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ในสังคมได้จริง

น่าประหลาดใจที่ธีรยุทธ บุญมี นอกจากจะไม่ต่อสู้เพื่อถอดรื้อ หรือปลดล็อก “เพดาน” ดังกล่าวแล้ว เขายังเคยเสนอให้ใช้อำนาจสถาบันกษัตริย์ องคมนตรี กองทัพมาคานอำนาจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย และเขายังเคยสนับสนุนให้เกิด “ตุลาการภิวัฒน์” อีกด้วย และเราก็ได้เห็นแล้วว่า หลัง 19 กันยา 49 เป็นต้นมาจนปัจจุบันนี้ ทหารกับตุลาการภิวัฒน์ทำหน้าที่อย่างสอดประสานกันอย่างไร

ล่าสุด ธีรยุทธออกมาวิจารณ์การเมืองอีกครั้ง (ดูมติชนออนไลน์ 8 ธ.ค.55) ว่า

“ความขัดแย้งระหว่างสองสีเสื้อจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองของประเทศ เพราะเหลือง-แดง เป็นเพียงแค่กลุ่มตื่นตัวทางการเมือง ไม่ใช่ขบวนการทางการเมือง ซึ่งต้องมีเป้าหมายทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน ขณะที่อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์ยังเป็นเพียงภาพลวงตา ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ ส่วนอุดมการณ์ชาติ กษัตริย์นิยม ของคนเสื้อเหลืองนั้นตีกรอบตัวเองจำกัด แข็งทื่อ ไม่สามารถมีผลเปลี่ยนทิศทางใดๆ ของประเทศ...”

และว่า

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเกมทางอำนาจของผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัย คำตอบอย่างหนึ่งที่การเมืองไทยขาดคือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการฝึกฝน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 นั้น วัฒนธรรมทางการเมืองยังไม่เกิดขึ้นทั้งในหมู่ผู้มีอำนาจและหมู่ประชาชน แต่ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นกลาง”

ผมมีข้อสังเกตต่อข้อวิจารณ์ของธีรยุทธ ดังนี้

1) ที่ว่า “อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์ยังเป็นเพียงภาพลวงตา ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ...” นั้น ผมไม่แน่ใจว่าธีรยุทธกำลังหมายถึง “อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์ไม่มีอยู่จริง” หรือ “อำมาตย์ไม่มีจริง เป็นเพียงสร้างภาพอำมาตย์หลอกๆ ขึ้นมา แล้วก็สร้างอุดมการณ์หลอกๆ ขึ้นมา” หรือ “อำมาตย์มีจริง แต่อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์เป็นเพียงอุดมการณ์หลอกๆ ที่สร้างขึ้นเป็นวาทกรรมทางการเมืองเท่านั้น”

แต่ไม่ว่าธีรยุทธจะหมายความอย่างไร สิ่งที่ธีรยุทธชี้ก็คือ “คนเสื้อแดงไม่ใช่ขบวนการทางการเมืองที่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์ก็เป็นแค่ภาพลวงตาไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ”

คำถามคือ “การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ” หมายความว่าอะไร? ถ้าหมายถึงการเปลี่ยนโครงสร้างสถานะอำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย หรือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อำนาจเป็นของประชาชน และประชาชนมีอำนาจตรวจสอบ “ทุกคน” ที่มีบทบาทสาธารณะตามหลักการประชาธิปไตยได้ นี่คือเป้าหมายทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงไม่ใช่หรือ ยกเว้นแต่ว่าธีรยุทธจะแกล้งเข้าใจเอาเองว่าคนเสื้อแดงทั้งหมดต่อสู้เพื่อทักษิณคนเดียวเท่านั้น

2) ที่ว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเกมทางอำนาจของผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัย...” นี่ก็เป็นการพูด “ความจริงครึ่งเดียว” เพราะการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่พยายามทำกันอยู่นั้น (1) เป็นวาระการต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงที่ปฏิเสธรัฐธรรมอำมาตย์ ฉบับ 2550 (2) เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง เขาก็มีความชอบธรรมที่จะทำตามนโยบายหาเสียง และคนเสื้อแดงก็มีความชอบธรรมที่จะผลักดันวาระทางการเมืองของตนผ่านรัฐบาลที่พวกเขาสนับสนุน

การพูดความจริงครึ่งเดียวของธีรยุทธต่างหากที่เป็นการ “บิดเบือน” ความชอบธรรมดังกล่าวที่มีนัยยะสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม

3) ที่ว่า “คำตอบอย่างหนึ่งที่การเมืองไทยขาดคือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการฝึกฝน...” คำถามคือ ที่ธีรยุทธเสนอให้ใช้อำนาจบารมีของสถาบันกษัตริย์ องคมนตรี กองทัพ ตุลาการภิวัตน์มาถ่วงดุลอำนาจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่นักการเมืองที่มาจากการเหลือกตั้งต้องเกรงกลัว หรือยอมจำนนต่ออำนาจดังกล่าวอยู่แล้วตลอดระยะเวลาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา (เช่นปัจจุบันสภาไม่กล้ารับพิจารณาแก้ ม.112 ตามที่ประชาชนลงชื่อสนับสนุนให้แก้กว่า 30,000 รายชื่อเป็นต้น) นั้น ธีรยุทธกำลังส่งเสริม “วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย”อย่างไรไม่ทราบ

สิ่งที่ธีรยุทธทำมาและกำลังทำ มันยิ่งเป็นการ “ผลิตซ้ำ” วัฒนธรรมความไม่เป็นประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไปไม่ใช่หรือ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท