Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

‘เสียงจากผู้สื่อข่าวต่างชาติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

‘ซึ่งไม่เพียงแต่ชาวไทยจะรู้ซึ้งเท่านั้น พระเกียรติคุณของพระองค์ยังเป็นที่ยอมรับจากชาวต่างชาติอย่างกว้างขวาง’

บทสรุปท้ายสกู๊ปข่าวเรื่อง ‘สนทนาสื่อต่างชาติ ทึ่ง ‘มหาสมาคม 5 ธ.ค.’ หน้า 14 มติชนรายวัน 7 ธันวา 2555

 
สกู๊ปข่าวมติชนที่ ‘สะท้อน’ มุมมองนักข่าวต่างชาติ 5 คนต่องานฉลอง 5 ธันวา ที่ผ่านมา ตอกย้ำให้ผู้เขียนเห็นถึงความบิดเบี้ยวของสื่อไทยในการรายงานเรื่องเจ้า และการคงอยู่ของกรงขังของการเซ็นเซอร์ตนเองที่สื่อเหล่านั้นอาศัยอยู่

ข่าวเนื้อที่เกือบเศษหนึ่งส่วนสี่ของหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งอ้างว่าสัมภาษณ์มุมมองของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 5 คน เต็มไปด้วยข้อมูลด้านบวกด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้า

ผมไม่แปลกใจที่มีแต่ข้อมูลด้านบวก เพราะทั้งมติชนและผู้สื่อข่าวต่างชาติต่างก็คงตระหนัก และพูดเขียนภายใต้ข้อจำกัดของ ม.112

นายเอ็ดเวิร์ด เคอร์นัน ช่างภาพอิสระจากสหราชอาณาจักร หนึ่งใน 5 นักข่าวต่างชาติที่มติชนสัมภาษณ์ พูดเหมารวมถึงขนาดว่า ‘บ้านทุกบ้าน’ มีภาพพระองค์ติด ‘ประดับข้างฝา’ ทั้งๆ ที่หลายคนคงทราบทราบว่าหลายบ้านไม่มีรูปเจ้าประดับข้างฝา รวมถึงบ้านของผู้เขียน

ทางด้านนายทาเคชิ ฟูจิทานิ (Takeshi Fujitani) หัวหน้าสำนักข่าวหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุนประจำประเทศไทยก็ได้ให้สัมภาษณ์มติชนว่า ‘พระองค์ทรงเป็นบุคคลเดียวที่สามารถสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้กับประชาชนชาวไทยได้’ แต่มุมมองเช่นนี้ สะท้อนความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่อาจถกเถียงได้อย่างเปิดเผยเชิงวิพากษ์ โดยสื่อไทยและสังคมไทย ภายใต้มาตรา 112

ส่วนความจริงเป็นเช่นไร ผู้อ่านลองไปถามเสื้อแดงดู ถามนักโทษ ม.112 ดูเอาเองได้ หรือดูเหตุการณ์การเมืองตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ดูการสร้างผังล้มเจ้า ก็คงจะทราบดีว่าความจริงเป็นเช่นไร

ผมไม่แปลกใจว่าทำไมข้อมูลเชิงเท่าทันเจ้า ไม่หลุดออกจากปากนักข่าวต่างชาติ อาจเป็นเพราะนักข่าวต่างชาติมองเห็นแต่ด้านดีด้านเดียวของสถาบันกษัตริย์ไทยก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยผมก็สามารถยืนยันได้ว่า หนึ่งใน 5 ของผู้สื่อข่าวต่างชาติที่มติชนสัมภาษณ์นั้น รู้จักผมและได้พูดคุยกับผม และเขาก็เป็นคนเท่าทันเจ้าไทย ไม่ได้มองสถาบันกษัตริย์แบบดีด้านเดียว มิติเดียวอย่างแน่นอน แต่เวลาสื่อไทยมาสัมภาษณ์เขาในวันที่ 5 ธันวา ภายใต้ ม.112 – เราจะให้นักข่าวคนนี้พูดอะไรนอกจากดีๆ ‘ด้านเดียว’

อย่างไรก็ตาม การเสนอข่าวโดยสื่อไทยแบบด้านเดียวภายใต้กรงขัง ม.112 ได้กลายเป็นเรื่องปกติและถูกนำเสนอผ่านสื่อไทย (ที่มิได้มีเพียงแต่มติชน) จนเหมือนกับว่ามันไม่มีการเซ็นเซอร์ตนเองหรือการควบคุมใดๆ ที่ทำให้บิดเบือนเหลือแต่ด้านเดียวโดยแทบหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะหากสื่อมิต้องการเสี่ยงละเมิด ม.112 หรือต้องการเห็นม็อบหน้าที่ทำงาน อย่างที่มติชนเจอ เพียงเพราะ นสพ.ฉบับวันที่ 5 ธันวา เขียนกลอนอวยเจ้าได้อย่างไม่ถูกใจคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘คนคลั่งเจ้า’ ที่อยู่ในสภาวะวิตกจริต (ซึ่งมติชนและสื่อกระแสหลักไทยทั้งหมด ก็มีบทบาทในการสร้างความคลั่งเจ้าหรือรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงโดยการประจบเจ้าแบบหลุดโลกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด)

แม้กระนั้น ผมยังคาดหวังว่ามติชน หนังสือพิมพ์ที่เรียกตนเองว่า ‘หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ’ จะกล้าเอ่ยว่ามีนักข่าวต่างประเทศที่ได้แสดงความเห็นเท่าทันเจ้าอย่าง Paul Handley ผู้เขียนหนังสือที่แบนในไทยอย่าง The King Never Smiles หรือ Andrew MacGregor Marshall อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ ผู้เขียนบทความ #ThaiStory หรือข่าวสารคดีโทรทัศน์ออสเตรเลีย (ABC) ที่เท่าทันสถาบันกษัตริย์ไทยว่าด้วยอนาคตสถาบันกษัตริย์ไทย ที่ออกอากาศเมื่อปี 2553 และทำให้นายเอกชัย (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ทำสำเนาซีดีสารคดีชิ้นนี้ขาย จนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในปัจจุบัน เช่นกัน

แต่นั่นคงจะเป็นความคาดหวังต่อมติชนและสื่อไทยที่มากเกินไป

หากสื่อไทยไม่กล้าท้าทายกฎหมายที่ทำให้สื่อต้องเซ็นเซอร์ตนเองและยัดเยียดแต่ข้อมูล ‘ดีๆ’ เกี่ยวกับเจ้า อย่างไม่รู้จักพอเพียง แถมทำเนียนเหมือนสื่อไทยนั้นเสรี ต่างจากเกาหลีเหนือประชาชนที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตยก็ควรตระหนักถึงความพิกลพิการของสื่อกระแสหลักไทยทุกสำนักเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

คุกที่น่ากลัวที่สุดคือคุกที่ผู้ถูกจองจำมองไม่เห็นหรือยินดีที่จะติดอยู่ในนั้น การเซ็นเซอร์ที่น่ากลัวที่สุดคือการเซ็นเซอร์ตนเองและเซ็นเซอร์ผู้อื่นแบบที่ดูเหมือนไม่มีการเซ็นเซอร์ใดๆ เลย แถมสื่อที่อ้างตนว่าเป็นสื่อคุณภาพอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยก็พร้อมปฏิบัติตามและเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างการเซ็นเซอร์ที่มองไม่เห็นโดยไม่ขัดขืนใดๆ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

 

 

 

หมายเหตุ: แก้ไขเพิ่มเติมโดยผู้เขียน เมื่อเวลา 11.55 น. 9 ธ.ค.55

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net