Skip to main content
sharethis

เปิดใจครูท่ากำชำ ในวันที่ไม่มี ผอ.และข้าราชการครูย้ายออกไปหมด กับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและโรงเรียนปอเนาะที่ส่งครูมาช่วยสอน

 
 
 
ดีใจ - นักเรียนโรงเรียนบ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่หลังได้รับแจกขนม แม้ว่าพวกเขาเพิ่งจะสูญเสียผู้อำนวยการโรงเรียนไปและมีครูย้ายออกไปถึง 3 คน
 
 
 
ขาดครู - ครูโรงเรียนบ้านท่ากำชำที่เหลืออยู่ 4 คน หลังจากผู้อำนวยการถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตและข้าราชการครูขอย้ายออกไป 3 คน
 
“เมื่อผู้อำนวยการถูกยิงเสียชีวิต โรงเรียนท่ากำชำก็ไม่ได้มีผลกระทบแค่ขาดผู้อำนวยการไปคนเดียวเท่านั้น เพราะหลังเกิดเหตุข้าราชการครูที่มีอยู่ 3 คนของโรงเรียนขอย้ายออกภายใน 24 ชั่วโมง”
 
นายมะลาเซ็น อาสัน รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พูดถึงปัญหาเกิดขึ้นหลังจากครูนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนถูกคนร้ายถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555
 
เมื่อขาดครู ภาระการเรียนการสอนจึงตกอยู่กับครู 4 คนที่เหลือ และเป็นเพียงพนักงานราชการ ส่วนตัวของนายมะลาเซ็น แม้เป็นข้าราชการแต่ก็ได้ทำเรื่องขอย้ายออกไปก่อนที่เกิดเหตุยิงครูนันทนาเสียอีกและได้รับการอนุมัติแล้ว
 
“ผมจำเป็นที่จะต้องอยู่ที่นี่ไปอีกซักระยะหนึ่ง เพื่อรอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ส่งครูมาแทนครูที่ย้ายออกไป และเพื่อช่วยประคับประคองโรงเรียนให้ผ่านวิกฤตช่วงนี้ไปก่อน”
 
สำหรับครูที่เหลืออยู่ ได้แก่ ครูมะลาเซ็น ครูจิตราวดี มุขยวัฒน์ ครูกอยา หะยีบาซอ และครูอิสมาแอ แวยูโซะครู ในจำนวนนี้ เป็นคนในหมู่บ้านท่ากำชำ 2 คน
 
ตอนนี้ครูทั้ง 4 คนนี้ ต้องแบ่งไปดูแลชั้นอนุบาล 1 คน ส่วนที่เหลืออีก 3 คน ต้องรับผิดชอบดูแลชั้นประถมศึกษาตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 คือครู 1 คน ดูแล 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียนทั้งหมด 110 คน
 
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา เป็นวันแรกของการเปิดเรียน หลังจากหยุดมา 1 สัปดาห์อันเนื่องจากจากครูนันทนาถูกยิง วันนั้นพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาร่วมรับประทานอาหารเที่ยงกับนักเรียน มีข้าราชการสังกัดต่างๆมาด้วยมากมาย
 
ทว่า เด็กๆ กลับเห็นว่าครูของพวกเขาหายไป 3 คน
 
ครูจิตราวดี บอกว่า นักเรียนถามถึงครู 3 คนว่าไปไหน ทำไมมาครูเหล่านั้นไม่มาโรงเรียน ครูที่เหลืออยู่ตอบว่า ครูมีธุระไม่สามารถมาโรงเรียนได้ ไม่กล้าที่บอกนักเรียนตรงๆ ว่าครูเหล่านั้นได้ย้ายไปสอนที่อื่นแล้ว เพราะกลัวว่าจะทำให้นักเรียนเสียขวัญและกำลังใจ
 
มะลาเซ็น บอกว่า ตอนนี้ทางโรงเรียนไม่อาจคาดหวังว่าจะสามารถให้ความรู้ได้อย่างเต็มที่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนมาโรงเรียนให้มากที่สุด โรงเรียนมีทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือให้นักเรียนทำกิจกรรมต่างๆที่ให้ความรู้ให้และให้ใบงานแก่นักเรียนนำกลับไปทำที่บ้าน โดยขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ช่วยดูแลการทำใบงานของนักเรียน
 
ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญ คือ จะต้องหาผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่มาประจำการที่โรงเรียนให้เร็วที่สุด เพราะการขาดผู้อำนวยการโรงเรียน เสมือน“เรือที่ขาดหางเสือ” เนื่องจากไม่มีบุคลากรที่จะกำหนดทิศทางของโรงเรียนได้ และขาดบุคคลที่จะต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
 
มะลาเซ็น บอกว่า จริงๆ แล้วปัญหาการขาดแคลนครูของโรงเรียนบ้านท่ากำชำมีมานานก่อนหน้านี้เสียอีก เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของสพฐ.กำหนดให้ครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน ก่อเกิดเหตุยิงครูนันทนา ที่นี่มีครู 7 คน นักเรียนมี 110 คน มีจำนวนชั้นเรียน 8 ห้อง จึงจำเป็นต้องรวมชั้นอนุบาล1 กับอนุบาล 2 เป็นห้องเดียวกัน เพื่อให้จำนวนครูพอต่อจำนวนชั้นเรียน
 
แต่อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนไม่อยากใช้ระบบครูประจำชั้นในการสอนนักเรียน โดยครูคนเดียวสอนทุกวิชา ระบบนี้จะส่งผลให้เด็กได้รับความรู้ไม่เต็มที่
 
ส่วนวิชาที่ครูคนใดไม่ถนัด ทางโรงเรียนก็จำเป็นที่ต้องรวมชั้น ป.4 กับชั้น ป.5 เป็นห้องเดียวกัน เพื่อให้เหลือชั้นเรียน 6 ห้อง แล้วให้ครูหมุนเวียนกันสอนตามรายวิชาที่ครูถนัดหรือตามสาขาวิชาที่ครูเรียนจบมา เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้อย่างเต็มที่ในรายวิชานั้นๆ
 
นอกจากนี้ครูทุกคนยังต้องสอนมากกว่า 1 วิชา เช่น ครูอิสมาแอ ที่ต้องสอนวิชาภาษาอังกฤษกับวิชาวิทยาศาสตร์ชั้น ป.1- ป.6 ครูจิตราวดีสอนวิชาคอมพิวเตอร์ วิชาภาษาไทย ชั้นป.4– ป.6 วิชาศิลปะ ป.3-ป.6 ครูกอยา สอนวิชาประวัติศาสตร์กับวิชาศาสนาชั้นป.1-ป.6
 
ยังไม่รวมงานเอกสารของโรงเรียนที่ครูต้องทำและงานบริหารทั่วไปที่ครูแต่ละคนต้องรักผิดชอบ อีกทั้งยังต้องรับภาระในเรื่องการซื้อกับข้าวมาทำอาหารกลางวันให้นักเรียนด้วย จากเดิมที่ครูสลับกันไปซื้อคนละวัน แต่ปัญหานี้คณะกรรมการโรงเรียนจะเข้ามาช่วย โดยไม่ต้องรวบกวนเวลาสอนและไม่ต้องให้ครูออกนอกพื้นที
 
มะลาเซ็น บอกอีกว่า การที่ครูมีจำกัด ทำให้แต่ละคนต้องสอนอย่างน้อย 21 คาบต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ครูไม่มีเวลาตรวจใบงานของนักเรียน บางทีครูต้องพาใบงานกลับไปตรวจที่บ้าน ครูไม่สามารถอธิบายใบงานที่นักเรียนทำผิดได้ทันที แตกต่างจากโรงเรียนประจำอำเภอหรือจังหวัด ที่ครูมีคาบสอนสัปดาห์ละ 15 คาบ ทำให้ครูมีเวลาที่ดูใบงานของนักเรียนอย่างเต็มที่ และสามารถอธิบายนักเรียนได้ทันที
 
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นที่รู้ดีของ พ.ต.อ.ทวี จึงสั่งการให้นายอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศอ.บต.ร่วมกับหาทางออกกับครูที่เหลืออยู่
 
แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการขาดครู คือขอความร่วมมือจากโรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษา ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านท่ากำชำประมาณ 1 กิโลเมตร เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนบ้านท่ากำชำ จะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งนี้
 
นายอดินันท์ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษา ช่วยส่งครูมาสอนแทนครูที่ขาดไปชั่วคราว ก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งหาครูมาประจำได้ โดยศอ.บต.จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยที่โรงเรียนไม่ต้องรับภาระค่าตอบแทน
 
ซึ่งนายอัดนัน สุหลง ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษา ระบุว่า ทางโรงเรียนยินดีให้ความร่วมมือ
 
สำหรับครูที่โรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษาจะส่งมาช่วยสอน ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนหรือหนึ่งเทอม
 
ทั้งนี้ให้จัดตารางสอนในช่วงเช้าเท่านั้น เนื่องจากช่วงบ่ายเป็นเวลาที่ครูเหล่านี้ต้องกลับมาสอนที่โรงเรียนเดิม เนื่องจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งนี้ได้แบ่งเวลาในการสอนศาสนาในช่วงเช้า ส่วนบ่ายสอนวิชาสามัญ เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหลายแห่งในพื้นที่
 
นายอดินันท์ บอกว่า อย่างน้อยก็ช่วยมาปูพื้นฐานให้นักเรียนที่จะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษาด้วย เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างโรงเรียน ชุมชน และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net