Skip to main content
sharethis

 

ในโลกยุคใหม่ เรื่องราวท้าทายทางความคิดมักเป็นประเด็นขึ้นมาได้โดยไม่ยากนัก อย่างเช่นกรณีจดหมายจากแผนกรับจัดจำหน่ายของ ‘ซีเอ็ด’ หรือ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ถึงคู่ค้า ที่แพร่หลายอยู่ในเฟซบุ๊ก และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงมาตรฐานใหม่ หรือ ข้อห้ามใหม่ 6 ข้อในการรับหนังสือเข้าพิจารณาจัดจำหน่ายของซีเอ็ด ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับประเด็นทางเพศ

“ทั้งนี้ ในส่วนของเนื้อหาขอให้เป็นความรับผิดชอบของผู้ฝากจัดจำหน่วยในการตรวจสอบ คัดครอง ปรับแก้เพื่อไม่ให้มีเนื้อหาสื่อไปในลักษณะ 6 ข้อดังนี้

1.วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะรักร่วมเพศ

2.สื่อไปในทางขายบริการทางเพศ เช่น นักเรียน, นักศึกษา, Sideline ฯลฯ

3.ภาษาและเนื้อหาที่ใช้ หยาบโลนไม่สุภาพ ลามก, สัปดน, ป่าเถื่อน, วิปริต, ซาดิสต์, หยาบคาย ฯลฯ

4.เนื้อหามีการบรรยายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้งและในที่สาธารณะ วิปริต ผิดธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น เช่น ลิฟต์, น้ำตก, ลานจอดรถ ฯลฯ

5.เนื้อหาที่มีการทารุณกรรมทางเพศทั้งที่เป็นภรรยาและมิใช่ภรรยา หรือทารุณต่อเด็ก, เยาวชน, สตรีและเครือญาติ อันบ่งบอกถึงการขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี

6.เนื้อหาที่บรรยายขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นภาพ และบรรยายให้เห็นภาพทางกายภาพของอวัยวะเพศอย่างชัดเจน จนทำให้สามารถเป็นเครื่องยั่วยุทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกคน ไม่ถูกที่และไม่ถูกเวลา”  ส่วนหนึ่งของจดหมายจากซีเอ็ด

 

ไม่ทันข้ามคืนก็มีผู้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้มากมาย (อ่านตัวอย่างข้อถกเถียงที่น่าสนใจได้ในล้อมกรอบด้านล่าง)  

ขณะเดียวกัน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT (Lesbian Gay Bisexual and Transgender) ได้เริ่มต้นทำการรณรงค์คัดค้านมาตรฐานใหม่ดังกล่าวของซีเอ็ด โดยเปิดเพจ “ร่วมลงชื่อคัดค้านข้อกำหนดไม่จัดจำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิง และวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก ในร้านซีเอ็ด” (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง)

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ คือผู้ทำงานรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิความหลากหลายทางเพศ เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์สะพาน ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์เรื่องเกี่ยวกับ LGBT โดยเฉพาะ รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มรณรงค์ ให้เหตุผลเบื้องหลังในกิจกรรมครั้งนี้ว่า เป็นเพราะอยากแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดทั้ง 6 ข้อ ก่อนหน้านี้เมื่อแรกทำเคมเปญก็มีการท้วงติงว่า ทำไมจึงเน้นแต่ประเด็นแรกคือเรื่องชายรักชาย หญิงรักหญิง ซึ่งเราก็ยินดีปรับแถลงการณ์ให้ครอบคลุมเรื่องอื่นๆ ด้วย เพียงแต่ข้อแรกเป็นส่วนที่ค่อนข้างชัดเจนและเราเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

“ในข้ออื่นๆ นั้น เรื่องการกระทำรุนแรงต่อเด็ก สตรี ก็มีกฎหมายกำหนดอยู่แล้วว่าไม่สามารถพิมพ์ได้ แต่เราก็กังวลกันหลายอย่าง เช่น ภาษาในเรื่องเพศ การเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศจะถูกจำกัดมากเกินไป เซ็กส์นอกสถานที่ หรือการมีเซ็กส์ไม่ถูกที่ถูกเวลา มันไม่ควรจะเป็นเรื่องห้ามเขียน ไม่อย่างนั้นจะเป็นการจำกัดกรอบคนเขียนมากเกินไป ซึ่งกระทบถึงการเรียนรู้ในสังคมด้วย” ฉันทลักษณ์

การเปิดเพจล่ารายชื่อดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม จนถึงขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อเกือบ 800 คน โดยฉันทลักษณ์ระบุว่า มาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งนักวิชาการ แม่บ้าน นักศึกษา นักเขียน นอกจากนี้ยังไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม LGBT เท่านั้น เกือบครึ่งเป็นบุคคลทั่วไปที่ตระหนักถึงสิทธิเหล่านี้ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะนี่นับเป็นครั้งแรกๆ ที่กลุ่ม LGBT ทดลองรณรงค์ด้วยการใช้สื่อใหม่เพื่อสื่อสารสาธารณะ ที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาก็มักรณรงค์กันอยู่ภายในกลุ่ม

หลังจากทำแคมเปญ ยังไม่มีการติดต่อพูดคุยกับทางซีเอ็ดและยังไม่มีการติดต่อมาเช่นกัน ทางกลุ่มจึงเริ่มเดินหน้ากิจกรรมโดยตั้งใจจะประสานงานกับผู้บริหารเครือซีเอ็ดเพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว และอยู่ระหว่างการประสานงานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อกำหนดจัดเวทีอภิปรายเรื่องนี้ร่วมกันในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ด้วย

“แน่นอน มันเป็นสิทธิของเอกชนที่จะทำได้ แต่หากทำแล้วเราเห็นว่าจะเกิดผลกระทบกับสังคม เราก็น่าจะทำอะไรได้บ้าง เราเกรงว่านี่จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่คนอื่นๆ จะทำด้วย”

สำหรับเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยนั้น ฉันทลักษณ์เล่าพัฒนาการให้ฟังว่า ที่ผ่านมาเคยมีประเด็นละเมิดสิทธิอยู่เป็นระยะ เช่น ราวปี 2540 ภาครัฐห้าม LGBT เรียนครู หรือการที่กรมประชาสัมพันธ์ห้าม LGBT ออกทีวี หรือกรณีกระทรวงวัฒนธรรมไม่รับคนเหล่านี้ไม่รับเข้าทำงานก็ล้วนเคยเกิดขึ้นแล้ว แต่ท้ายที่สุดก็มีการท้วงติงจนมีการแก้ไขระเบียบไปหมด หรือแม้แต่ภาคเอกชนอย่างกรณีโรงแรม Novotel เคยห้ามกระเทยเข้าใช้บริการเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันก็ได้ขอโทษและยกเลิกมาตรการดังกล่าวแล้ว เพราะได้รับการคัดค้านทั่วโลก

“จริงๆ งานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือน่าจะก้าวหน้าที่สุด แต่หากลองมองมุมเขาก็เข้าใจได้ว่า เขาคงงานเยอะมาก มีคนส่งให้พิจารณาเยอะ เลยคิดว่าอันไหนเกี่ยวกับเรื่องทางเพศที่สังคมไม่ยอมรับ ก็อย่าเอามาขายเลย เพียงแต่เขาอาจไม่ละเอียดอ่อนกับประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ”

อย่างไรก็ดี ‘ประชาไท’ ติดต่อไปทางผู้บริหารซีเอ็ดเพื่อสอบถามเรื่องนี้ ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า เป็นความผิดพลาดในการเขียนจดหมายถึงคู่ค้าที่สรุปย่นย่อเกินไปจนสังคมเข้าใจผิดและไม่สบายใจ จุดมุ่งหมายมีเพียงการจัดหมวดหมู่หนังสือให้ถูกต้องและไม่มี ‘หนังสือสอดไส้’ ในหมวดวรรณกรรมเยาวชน

“ผมในนามของซีเอ็ด ต้องขอโทษที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดและเกิดความไม่สบายใจกับจดหมายฉบับนั้น ซีเอ็ดไม่ได้กีดกันเรื่องเพศที่ 3 หรือเหยียดเพศ พื้นที่ทำงานของบริษัทเองก็ยังให้เสรีภาพทางเพศอย่างสูง เพศที่ 3 ก็ยังเป็นผู้บริหารในบริษัทเราด้วยซ้ำ ดังนั้น เจตนารมณ์ในเบื้องแรกนั้นไม่มีประเด็นของการเหยียดเพศเลย” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัทซีเอ็ดฯ กล่าว

วิโรจน์กล่าวว่า มติฝ่ายบริหารในเรื่องนี้เพียงแต่ต้องการให้มีการจัดหมวดหนังสือให้ถูกต้อง โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับเยาวชน ซึ่งมักพบว่ามีหนังสือที่หน้าปกดูเหมือนหนังสือเยาวชนแต่เนื้อหาด้านในมีฉากเข้าพระเข้านางอย่างโจ่งแจ้ง เรื่องเช่นนี้ไม่ควรอยู่ในหมวดเยาชนแต่ควรอยู่ในหมวดหนังสือโรแมนติก อีโรติก อีกทั้งไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่ต้องการดูแลส่วนนี้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นชายชาย หญิงหญิง หรือชายหญิง 

เขาระบุด้วยว่า ที่ผ่านมามีการสอดไส้อย่างนี้อยู่เป็นระยะ และทางซีเอ็ดได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองเยาวชนด้วย เพราะในการจัดจำหน่วยซีเอ็ดประทับตราบริษัทลงในหนังสือด้วยจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีหนังสือให้พิจารณาจัดจำหน่วยวันละ 40-50 เล่ม โดยระบบปกติผู้จัดจำหน่ายไม่สามารถอ่านเนื้อหาได้ทั้งหมด ทำได้เพียงดูหน้าปก ปกใน ปกหลังแล้วพิจารณาเข้าหมวดหมู่ ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในหมวดเยาวชนดังที่ได้อธิบายไป

ตัวแทนจากซีเอ็ดย้ำว่า จดหมายที่เผยแพร่ออกไปไม่ใช่แถลงการณ์หรือประกาศจากทางบริษัทแต่เป็นการส่งจดหมายระหว่างฝ่ายจัดจำหน่ายกับคู่ค้า หลังจากพบว่ามีการพูดคุยกันแล้วแต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการให้ถูกต้องเท่านั้น แต่สื่อสารรวบรัดเกินไปและทำให้เกิดความเข้าใจผิด นอกจากนี้ในส่วนของร้านหนังสือของซีเอ็ดก็ยังรับวางหนังสือประเภทชายรักชาย หญิงรักหญิง เหมือนปกติ ตามหมวดหมู่ที่ชัดเจน

แม้ผู้บริหารจะออกมาชี้แจงและขอโทษต่อความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น และเรื่องราวดูเหมือนจะจบลงด้วยดี แต่ประเด็นเกี่ยวกับอคติทางเพศ ไม่ว่าเพศใด, เพดานของสิทธิในการแสดงออก, เส้นแบ่งด้านศิลปะกับอนาจาร, การเซ็นเซอร์เนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องการเยาวชน ฯลฯ ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องการ 'การเปิด' และการถกเถียงอีกมากในสังคมไทย

 

000000

 

ตัวอย่างความคิดเห็นในเว็บบอร์ดและโซเชียลมีเดีย

 

เว็บพันทิป โดย Varalbastr

เห็นด้วยกับข้อ 2-6 ระยะหลังชักจะเกลื่อนแผงหนังสือ
เขียนฉากอีโรติกแบบกลวงๆ ขาดความเป็นศิลปะ ไร้สาระไร้ความหมาย

ส่วนข้อ 1 อาจจะกว้างเกินไปหน่อย
งานเขียนบางชิ้นก็เขียนแบบสะท้อนสังคม ให้แง่คิด ให้อะไรใหม่ๆ นะ

 

เว็บพันทิป โดย a murder suicide

เกือบทุกข้อเห็นด้วยนะ บางทีเคยเจอชื่อหนังสือแบบไซด์ไลน์ร้อนรัก แบบ... หืม o_o? จะดีเหรอ หนังสือนิยายบนชั้นเดี๋ยวนี้ส่วนมากเป็นแนวผู้ชาย มหาเศรษฐี หล่อ รวย หาทางอาเซดาเฮย์ผู้หญิง พอได้แล้วก็ดันหลงรัก อยากแต่งทำเมีย อ่านแล้วเพลียไตเป็นที่ยิ่ง -_-ll

ส่วนข้อ 1 นี่ ... เอ่อ นี่เราอยู่กันในยุคสมัยไหนแล้ว ทำไมยังมีการกีดกันทางเพศกันอยู่อีก แล้วนิยายรักร่วมเพศมันต่างกันนิยายชายหญิงยังไง? ถ้าจะจำกัดนิยายรักร่วมเพศที่มีฉากรักโจ่งแจ้งก็เข้าใจ แต่ถ้าเป็นนิยายที่มีตัวเอกเป็นเพศเดียวจะห้ามจำหน่ายด้วยหรือไม่? ทางบริษัทควรให้เหตุผลที่ชัดเจนหน่อย ใน twitter ก็เห็นมีคนพูดถึงประเด็นนี้อยู่ว่ามันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากไปรึเปล่า

 

เว็บพันทิป โดย สิงโตทะเล

เขาจะขายหรือไม่ขายหนังสืออะไรมันก็เป็นสิทธิของเขา
คุณจะเอาปืนไปจ่อหัวให้เขาขายหรอ
ถ้าไม่พอใจก็ไปเปิดร้านขายเอาเองเถอะ

 

เฟซบุ๊ก ของ Pipob Udomittipong

ในฐานะบรรษัทเอกชน Se-ed มีสิทธิเลือกวางหรือไม่วางหนังสือประเภทไหน แต่การประกาศว่า “ไม่” สำหรับหนังสือสีม่วงอย่างเปิดเผย ถือว่า “สะเหร่อ” และต้องการแสดงความคิดที่ล้าหลัง รวมทั้งการสนับสนุน censorship อย่างเต็มที่ คุณเคยเห็นร้านหนังสือแนวศาสนา อย่างมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ สภาคริสตจักรฯ ธรรมสภา ฯลฯ ประกาศแบนหนังสือสีม่วงมั้ยล่ะ

ถือว่า Se-ed กล้าหาญและ “ห่าม” มากที่ประกาศไม่รับวางจำหน่าย “วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง” ความจริงถ้าเป็นกรณีปฏิเสธการวางจำหน่ายสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร กฎหมายทั่วไปน่าจะรองรับอยู่แล้ว แต่จู่ ๆ Se-ed มาประกาศแบนหนังสือแนวสีม่วงทั้งหมด ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในโลก และสวนทางกับกระแสโลกที่พยายามส่งเสริมให้มนุษย์ โดยเฉพาะตั้งแต่อายุน้อยได้เรียนรู้การมีอยู่ของคนที่แตกต่างกันด้านอัตลักษณ์ทางเพศ

พูดตามตรงผมไม่เคยกลัวลูกเป็นเกย์ เพราะอ่านหนังสือเกย์เลย ผมคิดว่าเป็นเรื่องดี ถ้าเขาอยากอ่าน เพื่อจะได้เข้าใจการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความอดกลั้น (tolerance)

ในโลกตะวันตก มีความพยายามอยู่บ้างระดับโรงเรียนที่จะแบนหนังสือสีม่วงสำหรับเยาวชน แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ ระดับรัฐก็มี เช่น ที่อลาบามาเมื่อปี 2548 มี สส.เสนอกฎหมายห้ามโรงเรียนรัฐซื้อหนังสือสีม่วง แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ ในอังกฤษ กลุ่มคริสเตียนบางกลุ่มรณรงค์ให้แบนหนังสือสีม่วง แต่ไม่ค่อยมีเสียงตอบรับ แต่ที่แคนาดา ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วระบุว่าโรงเรียนประถมศึกษาไม่สามารถห้ามการใช้หนังสือสีม่วงประกอบ การเรียนของเด็กนักเรียนได้ ผู้พิพากษาท่านบอกว่า “เด็กจะไม่ได้เรียนรู้ความอดกลั้น [tolerance] หากพวกเขาไม่ได้สัมผัสถึงทัศนคติที่แตกต่างจากสภาพแวดล้อมในครอบครัวตนเอง” คดีนี้เกิดจากครูโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งภูมิภาคบริติชโคลัมเบีย แคนาดา เสนอให้ใช้หนังสือสีม่วงเพื่อประกอบการเรียนการสอนในชั้นอนุบาลและป.1 ของเขา แต่คณะกรรมการการศึกษาระดับภูมิภาคปฏิเสธบอกว่าการสอนเรื่องเกย์ไม่มี ประโยชน์ต่อเด็ก เขาใช้เวลาต่อสู้คดี 5 ปีเสียเงินทองมากมาย สุดท้ายศาลฎีกาแคนาดามีคำสั่งไม่ให้โรงเรียนห้ามการใช้หนังสือสีม่วงสำหรับ สอนเด็กอนุบาล   http://www.fact.on.ca/news/news0212/gm021221.htm

 

เฟซบุ๊ก ของ Thanapol Eawsakul

พูดกันอย่างแฟร์ ๆ นะครับผมคิดว่าซี-เอ็ด มีสิทธิที่จะไม่วางขายวรรณกรรม "ชายรักชาย/หญิงรักหญิง และวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก" นี่เป็นธุรกิจเอกชนที่เขามีสิทธิเต็มที่ การอ้างว่าร้านหนังสือเป็นธุรกิจทางปัญญา นั้นน่าจะเป็นข้อเรียกร้องส่วนบุคคลที่ใครจะเชื่อก็แล้วแต่

สิ่งที่เราต้องตระหนักคือไม่ใช่เป็นการเรียกร้องให้ซี-เอ็ด ขายหนังสือที่เราอยากให้ขาย หรือเราคิดว่าดี แต่ควรทำให้สังคมนี้มีพื้นที่ให้การขายหนังสืออย่างเสรีได้เท่า ๆ กัน ทุก ๆ ความเชื่อ ทุก ๆ อุดมการณ์

เช่นกัน ถ้าผมเกิดเป็นเจ้าของร้านหนังสือขึ้นมาผมคงไม่เอาหนังสือ อาเศียรวาทสดุดี มาเข้าในร้านแน่ ๆ และผมคงการพื้นที่ที่เสรีพอที่จะประกาศเช่นนั้น โดยไม่ต้องมีคนลงชื่อคัดค้านการไม่ขายหนังสือ อาเศียรวาทสดุดี

 

เฟซบุ๊คของ Fne Post-Marxism

มันคือเรื่องปริมาณ Content น่ะครับ

ISP นี่ส่วนหนึ่งผมว่า Content ที่วิ่งผ่านมันปริมาณมหาศาลมาก คือมันอ้างได้ว่าข้อมูลมันเยอะเกินกว่าจะ Screen ได้หมด มันเลยอ้างการไม่ Screen ข้อมูลที่วิ่งผ่านได้ (อันนี้นึกถึงกรณี Content ละเมิดลิขสิทธิ์)

ร้าน หนังสือเนี่ย ผมไม่แน่ใจว่ามันอ้างแบบเดียวกันได้หรือไม่ แต่ที่ประกาศออกมาเนี่ย มันมีส่วนหนึ่งที่พูดถึงประมาณว่าถ้ายังส่งมาแล้วพบที่หลังต้องส่งคืนและ จ่ายค่าปรับด้วย นี่เป็นการผลัก Burden ในการ Screen หนังสือที่เข้าข่ายชัดเจน ซึ่งมันจะทำให้เกิด Self Censorship หนักขึ้น ซึ่งปัญหามันก็ผูกกับสิ่งที่หลายๆ ท่านเห็นว่าไอ้สิ่งที่ห้ามนี่มันคลุมเครือมาก เพราะถ้าเอาซีเรียสจริงๆ วรรณกรรมคลาสสิคหลายๆ เรื่องก็วางไม่ได้ (ถ้าจะร่วมสมัยหน่อย ผมว่าอย่าง "แรงเงา" ก็ไม่น่าจะได้ถ้าตีความกันโหดจริงๆ)

ที่นี้เนี่ยผมว่าไอ้แนวทางการผัก Burden แบบนี้มันเป็นปัญหานะดังที่กล่าวมา

คือตอนนี้ยังไม่เท่าไร แต่ถ้าอะไรอย่าง พรบ. ยั่วยุฯ ออกมาเนี่ยผมว่าน่าจะเป็นประเด็นพอสมควร

ก็ ประเด็นภาระตัวกลางแหละครับ อันนี้อยากลองมองไปอีก Step ว่า ร้านหนังสือนี่ควรต้องมี "ภาระตัวกลาง" ในการ Screen Content หนังสือในร้านมั้ย?

 

เฟซบุ๊กของ Daranee  Thongsiri

ปัญหา คือ ซีเอ็ดสวมหมวกสองใบค่ะ คือเป็นทั้งผู้จัดจำหน่ายและเป็นร้านหนังสือ อันที่จริง มีหมวกอีกใบด้วยคือเป็นสำนักพิมพ์ พิมพ์หนังสือขาย

ทีนี้ถ้าในกรณีร้านหนังสือเลือกหนังสือมาขายเอง เราว่าไม่แปลกที่จะมีการคัดสรรประเภทของหนังสือ แต่ทีนี้ กรณีจดหมายนี้ ซีเอ็ดสวมหมวกผู้จัดจำหน่าย ซึ่งชัดเจนว่า ไม่รับจัดจำหน่ายวรรณกรรมLGBT
แบบนี้เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือเปล่าคะ

ประเด็นไม่ใช่ว่า ร้านซีเอ็ดไม่จำหน่ายหนังสือหญิงรักหญิง ชายรักชาย แต่เป็นเรื่องการไม่รับจัดจำหน่าย หนังสือที่มีเนื้อหาทั้งหกข้อที่ออกจดหมายมา ซึ่งน่าจะเหมือนการเซ็นเซอร์ไปโดยปริยายมากกว่า การจัดเรทก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยในกรณีนี้

นั่นหมายความว่า สำนักพิมพ์ใดก็ตามที่จัดพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาเข้าข่ายในหกข้อที่ซีเอ็ด ประกาศมา จะไม่สามารถส่งให้ซีเอ็ดจัดจำหน่ายได้ต้องไปใช้สายส่งอื่น แล้วร้านหนังสือซีเอ็ดก็จะไม่มีหนังสือเหล่านี้ขายด้วย เพราะนอกจากจะไม่รับจัดส่งเข้าร้านตัวเองแล้ว แน่นอนว่าคงไม่รับวางจากสายส่งอื่นๆ ด้วย

อันที่จริงทุกวันนี้วรรณกรรมหญิงรักหญิง ชายรักชาย ในร้านหนังสือมันก็มีวางขายน้อยอยู่แล้วนะคะ เพราะบางสายส่งเค้าคัดหน้าปกและตรวจเนื้อหาของหนังสือที่จะจัดจำหน่ายให้ อยู่แล้ว ทีนี้ถ้าระบุมาแบบนี้เลยเนี่ย

แปลว่า สนพ.ที่พิมพ์งานโดยมีเนื้อหาลักษณะตรงตามข้อห้ามทั้งหกก็ต้องไปหาสายส่งเจ้าอื่น แล้วก็หมดโอกาสที่จะวางขายตามร้านซีเอ็ด ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศครองตลาดร่วมกับร้านนายอินทร์

พื้นที่ที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็คงน้อยลงไปอีก ทางออกสุดท้ายคือ พิมพ์เอง ขายเอง ซึ่งแน่นอนว่าต้องแบกรับภาระต้นทุนในการจัดส่งเพิ่มขึ้นและต้องทำงานหนักขึ้น

แต่ทีนี้ประเด็นคือ มันไม่ได้มีแค่ข้อห้ามเฉพาะLGBTด้วยนะคะ ข้ออื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการแสดงออกทางเพศก็เยอะมาก ทั้งการมีเซ็กส์ในที่สาธารณะ การแสดงความหยาบ ดิบ เถื่อน คือถ้าจะแบนกันจริงๆ คงมีหนังสือจำนวนมากที่ไม่ผ่านการพิจารณา

 

เฟซบุ๊ค ของ Art Bact’

หลักการอีกอันหนึ่ง ที่อาจจะเอามาคิดเทียบเคียงกับกรณีนี้ คือหลักการเรื่อง common carrier vs contract carrier

หลัก การสำคัญของ common carrier อันหนึ่งคือ จะต้องไม่เลือกปฏิบัติ ต้องรับส่งคนหรือสินค้าทุกชิ้นในเครือข่าย ที่เห็นชัดที่สุดน่าจะคือไปรษณีย์หรือขนส่งมวลชน ซึ่งต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ (จริงๆ ในประเทศอื่น แท็กซี่นี่ก็เป็น common carrier ... แต่กรุงเทพนี่อาจจะไม่ใช่อ่ะนะ)

ส่วน contract carrier นั้น เป็นการขนส่งตามสัญญา ผู้ประกอบกิจการสามารถเลือกรับได้

ซึ่ง ถ้าคิดด้วยการเทียบเคียงแบบนี้ สายส่งซึ่งไม่ได้ต้องมีใบอนุญาตในการประกอบกิจการ (ผมคิดว่าไม่ต้องมีนะ) ซึ่งก็แปลว่าไม่ได้รับการป้องกันทางกฎหมายในการประกอบกิจการไปด้วย น่าจะเป็น contract carrier นะครับ

แต่ ถ้าเราคิดว่า สายส่งหนังสือ ควรจะเป็น common carrier ก็อีกเรื่องหนึ่ง (นั่นแปลว่าเรากำลังเรียกร้องให้มีการ regulate อะไรบางอย่างในกิจการประเภทนี้ ... ซึ่งไม่รู้จะแปลต่อได้ไหม ว่ารัฐก็จำเป็นต้องให้อะไรเป็นการแลกเปลี่ยนด้วย เช่นการคุ้มครองทางกฎหมายกับผู้ประกอบกิจการในประเภทนี้ เช่น สมมติว่าเกิดรับจัดจำหน่ายหนังสือที่มีความผิดตามพรบ.ยั่วยุ รัฐต้องรับประกันว่า ผู้ส่งจะไม่ถูกเอาผิด อะไรแบบนี้เป็นต้น)

ถาม ครับ มีสายส่งอยู่กี่เจ้าในประเทศนี้ครับ และโดยลักษณะของธุรกิจ การแข่งขัน ประโยชน์สาธารณะ ฯลฯ สมควรมีการ'แทรกแซง'จากรัฐไหม (เป็นคำถามถ้าจะคิดในกรอบ regulation)

ผมลองโยนหลายๆ โมเดลลงมาดูน่ะครับ ว่าเราจะคิดกะเรื่องนี้ยังไงได้บ้าง

คิด เล่นๆ ว่า ถ้าเกิดในเมกานี่ คงฟ้องกันบนหลักเสรีภาพในการแสดงออก เพราะถือเป็นการจำกัดการหมุนเวียนของหนังสือซึ่งเป็นการแสดงออก / ในเมกาหลักนี้มันแข็งแรง เอาเป็นหลังพิงได้ ขนาดกฎหมายจำกัดจำนวนเงินที่ใช้ในการเลือกตั้ง ยังถูกฟ้องล้มไป เพราะโจทก์บอกว่า money is expression เลย

 

 

 


ร่วมลงชื่อคัดค้านข้อกำหนดไม่จัดจำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิง และวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก ในร้านซีเอ็ด

วันที่ 5 ธันวาคม 2555

 

เรื่อง คัดค้านการไม่จัดจำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิงและวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก ในร้านหนังสือซีเอ็ด เรียน กรรมการบริหาร บ.ซีเอ็ดยูเคชั่น จก. (มหาชน)

 

สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสารแนบหมายเลข 1 เอกสารแนบหมายเลข 2

 

สืบเนื่องจากจดหมายของ บ.ซีเอ็ดยูเคชั่น จก. (มหาชน) ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 ถึงผู้ฝากจัดจำหน่าย เพื่อกำหนดมาตรฐานการรับหนังสือวรรณกรรมโรแมนติก อีโรติก เข้ามาจัดจำหน่าย โดยขอให้ผู้จัดจำหน่ายดำเนินการตามเงื่อนไขทางซีเอ็ดร่างขึ้น (ดูในเอกสารแนบหมายเลข1 จดหมายของบ.ซีเอ็ดยูเคชั่น จก. (มหาชน)

ขณะเดียวกันก็ได้แจ้งให้ผู้ฝากจัดจำหน่าย ตรวจสอบ คัดกรอง ปรับแก้เพื่อไม่ให้มีเนื้อหาสื่อไปในลักษณะ 6 ข้อดังนี้

1. วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะของการรักร่วมเพศ

2. สื่อไปในทางขายบริการทางเพศ เช่น นักเรียน, นักศึกษา, Sideline

3. ภาษาและเนื้อหาที่ใช้ หยาบโลนไม่สุภาพ ลามก, สัปดน, ป่าเถื่อน, วิปริต, ซาดิสต์, หยาบคาย ฯลฯ

4. เนื้อหามีการบรรยายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง และในที่สาธารณะ วิปริต ผิดธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น เช่น ลิฟต์, น้ำตก, ลานจอดรถ ฯลฯ

5. เนื้อหาที่มีการทารุณกรรมทางเพศทั้งที่เป็น ภรรยาและมิใช่ภรรยา หรือ ทารุณต่อเด็ก, เยาวชน, สตรีและเครือญาติ อันบ่งบอกถึงการขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี

6. เนื้อหาที่บรรยายขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นภาพ และบรรยายให้เห็นภาพทางกายภาพของอวัยวะเพศอย่างชัดเจน จนทำให้สามารถเป็นเครื่องมือยั่วยุทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกคน ไม่ถูกที่ และไม่ถูกเวลา

 

ซึ่งหากตรวจพบภายหลังว่ามีเนื้อหาเช่นทั้ง 6 ทางซีเอ็ดจะไม่ดำเนินการกระจายสินค้า จนถึงเก็บหนังสือคืน ยกเลิกการจัดจำหน่าย ลงชื่อนางสาวรัตนา ศรีอยู่ยงค์ ผู้จัดการแผนกรับจัดจำหน่าย

ข้าพเจ้า..................และบุคคล/องค์กรดังรายชื่อแนบมานี้ มีความรู้สึกกังวลและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในข้อกำหนดดังกล่าว เนื่องจากหนังสือเป็นสินค้าพิเศษ เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมซึ่งมีผลต่อความรู้ ความเชื่อ ทัศนคติ และรสนิยมของคนในสังคม ถือเป็นธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับสติปัญญา เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก เป็นธุรกิจที่ส่งผลต่อสาธารณชนวงกว้าง จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังและละเอียดอ่อนอย่างสูงต่อการสร้างข้อกำหนด ต่างๆเพื่อคัดกรองเนื้อหาของหนังสือเพื่อจัดจำหน่ายหรือไม่จัดจำหน่าย ข้าพเจ้าและบุคคล/องค์กรดังรายชื่อแนบมานี้จึงขอคัดค้านและท้วงติงว่า

(ประการที่ 1) ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติและก่อให้เกิดอคติทางเพศ ข้อกำหนดดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ 1 ซึ่งระบุว่าไม่จัดจำหน่าย “วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะของการรักร่วมเพศ” นั้นเป็นการสร้างเสริมอคติทางเพศ ทำให้เพศวิถีบางลักษณะถูกรังเกียจ เป็นการผลิตซ้ำทัศนคติเชิงลบและตีตราคนกลุ่มดังกล่าวโดยอาจเข้าข่ายการดู หมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) อันเนื่องมาจากเหตุแห่งเพศซึ่งผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 30 ซึ่งห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตก ต่างในเรื่องเพศ อันหมายรวมถึงบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual Identity) หรือเพศสภาพ (Gender) หรือความหลากหลายทางเพศ (Sexual Diversity) แตกต่างจากเพศที่ผู้นั้นถือกำเนิด (ดูเอกสารแนบหมายเลข 2)

(ประการที่ 2) ข้อกำหนดดังกล่าวมีความคลุมเครือของเกณฑ์ในการตัดสินคัดเลือกวรรณกรรม ทางซีเอ็ดมิได้เสนอเกณฑ์การตัดสิน/คัดเลือกที่ชัดเจนในการตรวจสอบคัดกรอง วรรณกรรมตามข้อกำหนดที่ 2 – 6 ไม่ระบุว่าใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาเนื้อหาของวรรณกรรมหรือกรณีที่ตัวละคร หรือเรื่องราวได้เกี่ยวพันถึง ทั้งยังมีข้อกำหนดที่คลุมเครือ อาทิ ข้อกำหนดที่ 4 “เนื้อหามีการบรรยายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้งในที่สาธารณะ วิปริต ผิดธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น” นั้น ได้ใช้เกณฑ์ใดในการตัดสินธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น? ข้อกำหนดที่ 5 “เนื้อหาที่มีการทารุณกรรมทางเพศทั้งที่เป็นภรรยาและมิใช่ภรรยา หรือ ทารุณต่อเด็ก, เยาวชน, สตรีและเครือญาติ อันบ่งบอกถึงการขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี” น่าสงสัยว่าการทารุณกรรมในที่นี้รวมถึงการตบตี การใช้กำลัง และการข่มขืนที่มักปรากฏในนวนิยายไทยที่จำหน่ายอย่างเป็นล่ำเป็นสันใน ปัจจุบันหรือไม่ ลักษณะการใช้ความรุนแรงดังกล่าวถือเป็นการทารุณกรรมทางเพศได้หรือไม่? ข้อกำหนดที่ 6 “เนื้อหาที่บรรยายขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นภาพ และบรรยายให้เห็นภาพทางกายภาพของอวัยวะเพศอย่างชัดเจน จนทำให้สามารถเป็นเครื่องมือยั่วยุทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกคน ไม่ถูกที่ และไม่ถูกเวลา” มีข้อน่าสงสัยว่าทางซีเอ็ดตีความการมีเพศสัมพันธ์ ถูกคน ถูกที่ และถูกเวลาไว้เช่นไร และการมีเพศสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าวเท่านั้นจึงจะปรากฏในวรรณกรรมที่จำหน่าย ในร้านซีเอ็ดใช่หรือไม่?

(ประการที่ 3) ข้อกำหนดดังกล่าว กีดกันการเรียนรู้และความรู้ด้านเพศวิถีและความรักในมิติที่หลากหลาย เพศวิถี ความหลากหลายทางเพศ ความรักความสัมพันธ์และครอบครัวในมิติต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและกว้างขวาง อนึ่งความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศที่มีชีวิตชีวาและสะท้อนความเป็นจริงของ สังคมนั้นมิได้มีอยู่แต่เพียงตำราการแพทย์หรือตำราวิชาการ หากวรรณกรรมที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเพศก็สามารถให้ความเข้าใจเรื่องเพศได้ไม่ น้อยกว่ากัน ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกีดกันการเรียนรู้และความรู้ด้านเพศวิถีที่หลากหลาย อันจะได้จากงานวรรณกรรม

(ประการที่ 4) ข้อกำหนดดังกล่าวทำลายความหลากหลายของภาษาและวรรณกรรม ภาษามีพัฒนาการทางสังคมของตัวเอง มีลักษณะเฉพาะถิ่น และมีการเปลี่ยนแปลงความหมายไปตามบริบท การกำหนดควบคุมภาษาดังที่ปรากฏในข้อกำหนดที่ 3 ที่จะไม่จำหน่ายหนังสือที่ “ภาษาและเนื้อหาที่ใช้ หยาบโลนไม่สุภาพ ลามก, สัปดน, ป่าเถื่อน, วิปริต, ซาดิสต์, หยาบคาย ฯลฯ” โดยไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนในการตัดสิน อีกทั้งน่าสงสัยว่าสามารถระบุลงไปได้แท้จริงหรือไม่ว่าคำใดมีลักษณะหยาบ ป่าเถื่อนฯลฯ ซึ่งการกำหนดเช่นนี้จะถือว่าเป็นการกีดกันภาษาของคนบางชนชั้นบางท้องถิ่น หรือชาติพันธุ์หรือไม่?

(ประการที่ 5) ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการดูถูกวิจารณญาณของผู้อ่าน เป็นการควบคุมจินตนาการของผู้เขียน หนังสือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาวุฒิภาวะของคนในสังคม การสร้างข้อกำหนดเช่นนี้มิได้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้วิจารณญาณ การแยกแยะหรือพิจารณาตัดสินด้วยความคิดของตัวเอง เป็นการตัดสินแทนผู้อ่านและควบคุมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของผู้เขียน ซึ่งด้วยความที่ซีเอ็ดเป็นร้านหนังสือรายใหญ่ที่มีสาขาเป็นจำนวนมากอาจส่งผล ให้คนในสังคมขาดโอกาสในการเข้าถึงวรรณกรรมที่หลากหลาย และมีมุมมองเชิงศีลธรรมทางเพศที่คับแคบ แบนราบ

 

ข้าพเจ้า..................และบุคคล/องค์กรดังรายชื่อแนบมานี้ จึงขอเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

 

(ข้อเรียกร้องข้อที่ 1) ขอให้ซีเอ็ดยกเลิกข้อกำหนดที่จะไม่จัดจำหน่ายวรรณกรรมตามข้อ 1 โดยยุติการเลือกปฏิบัติและการกีดกันวรรณกรรมกลุ่มดังกล่าว

(ข้อเรียกร้องข้อที่ 2) ขอให้ชี้แจงถึงเกณฑ์ในการตัดสิน การคัดเลือก วรรณกรรมตามข้อกำหนดข้อที่ 2 ถึง 6 โดยละเอียดว่ามีมาตรฐานในการคัดเลือกและพิจารณาอย่างไร มีการระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ อย่างไร วรรณคดีไทยจำนวนมาก อาทิ “กากี” “พระอภัยมณี” หรือวรรณกรรม “สนิมสร้อย” ของคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ หรือ “จันดารา” ของอุษณา เพลิงธรรม อยู่ในข่ายยกเว้นหรือไม่ หากมีการยกเว้น ขอให้ชี้แจงเหตุแห่งการยกเว้นนั้น

(ข้อเรียกร้องข้อที่ 3) ขอให้ใช้ระบบการจัดเรทติ้งของหนังสือ จำกัดอายุของผู้ซื้อ แทนการเซ็นเซอร์หรือแบนหนังสือหรืองานวรรณกรรมตามข้อกำหนดทั้ง 6 ข้อ จึงเรียนมาเพื่อโปรดชี้แจง และดำเนินการตามข้อเรียกร้องในข้างต้น ขอแสดงความนับถือ ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ สำนักพิมพ์สะพาน ขอเชิญทุกท่านที่เห็นด้วยกับการคัดค้านและข้อเรียกร้องดังกล่าว

 

ร่วมลงชื่อได้ที่

https://docs.google.com/a/prachatai.com/spreadsheet/viewform?formkey=dHJuMWUxWEF0NTF0ZVNGNnNTZUFfV0E6MQ&ifq

 

 

หมายเหตุ :  วันที่ 7 ธ.ค. ประชาไทเพิ่มเติมเนื้อหาจดหมายขออภัยอย่างเป็นทางการของซีเอ็ด ขณะเดียวกันผู้นำการรณรงค์รวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านนโยบายซีเอ็ดก็ได้ประกาศยุติกิจกรรมในเพจการรณรงค์ หลังจากได้เห็นจดหมายทางการของซีเอ็ด พร้อมระบุว่าจะออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อจดหมายดังกล่าวของซีเอ็ดอีกครั้ง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net