DSI แจ้งข้อหา 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงแจ้งข้อหา "อภิสิทธิ์ - สุเทพ" 2 ผู้รับผิดชอบสูงสุดของ ศอฉ. ว่า “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ระบุวันให้เข้าทราบข้อหาและทำการสอบสวนในฐานะ ผู้ต้องหา 12 ธ.ค.นี้

6 ธ.ค. 55 เว็บไซต์ ศูนย์สารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รายงานว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน กรณีการตายของผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม 2553 จำนวน 89 ศพ ได้แถลงผลการประชุมของคณะพนักงานสอบสวนอันประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ ว่าที่ประชุมมีมติร่วมกันให้ดำเนินการแจ้งข้อหากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสูงสุดของ ศอฉ.และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผอ.ศอฉ.ว่า “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล”ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในคดีการไต่สวนเหตุการตายของนายพัน คำกอง ว่า “การตายของ นายพัน เกิดจากถูกกระสุนปืนของทหารที่เข้าปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ.” และศาลยุติธรรมได้ส่งสำนวนการพิจารณาไต่สวนทั้งหมดพร้อมคำสั่งมายังตำรวจนครบาลและถึงดีเอสไอในที่สุดแล้ว ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องยึดถือเอาข้อเท็จจริงอันเป็นยุติโดยการไต่สวนของศาลดังกล่าว

ที่มาภาพ : ศูนย์สารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

นายธาริต กล่าวอีกว่า พยานหลักฐานอันสำคัญที่ทำให้คณะพนักงานสอบสวนทั้ง 3 ฝ่าย ต้องมีมติให้แจ้งข้อหาแก่บุคคลทั้งสองมาจากพยานที่ได้จากการไต่สวนและคำสั่งของศาลดังกล่าว รวมทั้งพยานหลักฐานที่การสอบสวนได้เพิ่มเติม อาทิเช่น การสั่งใช้กำลังทหารที่มีอาวุธปืนเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม (ซึ่ง ศอฉ.เรียกว่าการกระชับพี้นที่และการขอคืนพื้นที่) การสั่งใช้อาวุธปืน การสั่งใช้พลซุ่มยิง และอื่น ๆ โดยมีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจาก ผอ.ศอฉ.(คือนายสุเทพฯ) และได้อ้างไว้ในคำสั่งด้วยว่าเกิดจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ฯ) อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับพยานบุคคลที่ร่วมอยู่ใน ศอฉ.ว่านายอภิสิทธิ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้รับรู้ร่วมสั่งการและพักอาศัยอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการของ ศอฉ.ตลอดเวลา ประการสำคัญคือการสั่งการของบุคคลทั้งสองกระทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้งหลายครา แม้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนแล้วก็หาได้ระงับยับยั้งหรือใช้แนวทางอื่นใดแต่อย่างใดไม่ รวมถึงพยานแวดล้อมกรณีอื่น ๆ อีก จึงเป็นการบ่งชี้ได้ว่าเป็นเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าการร่วมกันสั่งการเช่นนั้นย่อมทำให้เกิดการตายของประชาชนจำนวนมากและต่อเนื่องกันหลาย ๆ วัน

นายธาริต แถลงเพิ่มเติมด้วยว่า คดีเช่นนี้ถือเป็นคดีที่สำคัญของสังคม เพราะการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายจึงบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ที่ต้องมีการไต่สวนเหตุการตายโดยศาลยุติธรรม เพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติโดยเป็นธรรมจากการสืบพยานไต่สวนโดยศาลซึ่งพิจารณาโดยเปิดเผยทุกฝ่ายสามารถนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบได้ แล้วในที่สุดศาลก็จะได้มีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ใครทำให้ตายและมีพฤติการณ์หรือสาเหตุอย่างไร ซึ่งในคดีนี้ศาลก็

ได้มีคำสั่งครบถ้วนเช่นนั้น หน้าที่ของพนักงานสอบสวนจึงต้องดำเนินการต่อตามผลของการไต่สวนและคำสั่งของศาล อาจกล่าวโดยง่าย ๆ ว่าต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่ได้ยุติชั้นศาลแล้วนั้นเอง คดีนี้ศาลได้สั่งว่าเหตุการตายเกิดจากกระสุนปืนของฝ่ายทหารที่เข้าปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ.พนักงานสอบสวนก็ต้องมาต่อยอดว่าผู้มีอำนาจสั่งการของ ศอฉ.ที่เป็นต้นเหตุของการสั่งการจนมีการตายเป็นใคร และมีรายละเอียดพร้อมพยานหลักฐานว่าได้กระทำผิดเช่นใด

ส่วนทหารที่ได้เข้าปฏิบัติการนั้น ศาลก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ใด และโดยผลการสอบสวนก็ไม่อาจระบุตัวตนได้ด้วย แต่ก็ได้รับผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 ว่าเมื่อเป็นการปฏิบัติตามการสั่งการซึ่งเชื่อว่าต้องปฏิบัติก็ย่อมได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องรับโทษ  ดังนั้นในชั้นนี้จึงไม่แจ้งข้อหาแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

และในวันนี้เมื่อสิ้นสุดการประชุมและมีมติดังกล่าว นายธาริตฯ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ก็ได้ลงนามในหนังสือแจ้งให้บุคคลทั้งสองมารับทราบข้อหาและทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาแล้ว โดยนัดหมายให้มาพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2555 เวลา 14.00 นาฬิกา โดยแจ้งไปด้วยว่าหากบุคคลทั้งสองเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อหาและสอบสวนเสร็จก็จะใช้ดุลพินิจปล่อยตัวไปโดยไม่ขอศาลให้ฝากขัง ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษฯ นั้นเอง และเนื่องจากบุคคลทั้งสองเป็นอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองชั้นผู้ใหญ่ จึงใช้การออกหนังสือเชิญแทนการออกหมายเรียก นายธาริตยอมรับว่าการเชิญบุคคลทั้งสองมาแจ้งข้อหาในช่วงเวลานี้ก็เพื่อจะได้ตัวเข้ามาในคดีอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดี เพราะหากพ้นวันที่ 20 ธันวาคมนี้ แล้วบุคคลทั้งสองจะได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายทันที เนื่องจากเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ และเชื่อว่าบุคคลทั้งสองจะมาตามนัดหมายโดยไม่ถ่วงเวลาจนเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2555

ทั้งนี้ นายธาริต กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า การดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรง ในช่วงเดือนเมษายน –เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2555 นั้น ดีเอสไอไม่ได้ทำคดีตามกระแสหรือใบสั่งของฝ่ายการเมือง เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก คดีทุกคดีต้องไปจบที่ศาล พนักงานสอบสวนไม่อาจกลั่นแกล้งใครหรือช่วยเหลือใครได้ การสอบสวนก็ร่วมกันถึง 3 ฝ่าย ทั้งตำรวจ อัยการ และดีเอสไอ คดีทุกคดีจึงเป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง และที่สำคัญเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผู้เข้าข่ายกระทำผิดทั้ง 2 ฝ่าย จนถึงขณะนี้กลุ่มฮาร์ดคอร์ของผู้ชุมนุมได้ถูกดำเนินคดีมีการฟ้องคดีต่อศาลไปแล้วถึง 62 คดี โดยมีผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลถึง 295 คนส่วนกลุ่มผู้สั่งการของ ศอฉ.เพิ่งจะถูกดำเนินคดีนี้เป็นคดีแรก ซึ่งความจริงก็ดำเนินการมาแต่แรกคู่ขนานกันแต่คดีของกลุ่มผู้สั่งการของ ศอฉ.ต้องรอการไต่สวนของศาลก่อนจึงดูล่าช้า จึงอยากสรุปว่าเราดำเนินคดีทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน และก็เป็นธรรมชาติที่ผู้ถูกดำเนินคดีหรือผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาทุกฝ่ายจะต้องไม่ชอบใจดีเอสไอ มีการต่อว่าต่าง ๆ นานา ซึ่งเราเองก็พร้อมรับเพราะถือว่าทำตามหน้าที่ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท