แนะนำหนังสือ: การกลับมาของหนังสือ ‘ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หนังสือที่ทำให้คนอเมริกันจำนวนมากเพิ่งตระหนักถึงภูมิหลังพฤติกรรมของชนชาติตน และฉากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่วูนเด็ดนี กลายเป็นตำนานที่ถูกบอกเล่า อ้างอิง แทรกซึมอยู่ในเรื่องเล่าของชาวอเมริกันจวบจนถึงปัจจุบัน

ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี หรือ Bury My Heart at Wounded Knee เป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ของนักเขียนอเมริกันชื่อ ดี บราวน์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1970 ทันทีที่เผยแพร่ก็ติดอันดับ National Bestseller List อย่างยาวนาน

เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงประวัติศาสตร์การสร้างชาติอเมริกันในช่วง ปี 1860-1890 อันเป็นช่วงเวลาที่เรียกกันว่า ‘การพิชิตตะวันตก’ ซึ่งแต่ไหนแต่ไร มักถูกบอกเล่าผ่านวีรกรรมความกล้าหาญของนักบุกเบิก นักร่อนทอง คนนำร่องเรือกลไฟ คาวบอย มือปืน พ่อค้าขนสัตว์ หมอสอนศาสนา ฯลฯ โดยมีชนพื้นเมืองอินเดียนเป็นนักปล้น หัวขโมย เจ้าเล่ห์เพทุบาย หรือมีพฤติกรรมไม่ต่างอะไรจากฝูงไฮยีนา แต่ดี บราวน์ เลือกที่จะเล่าและใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์อธิบายในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เรื่องราวทั้งหมดคือการรุกราน ไล่ต้อน คดโกงชนพื้นเมืองชาวอินเดียนแห่งอเมริกาเหนือ เพื่อครอบครองผืนแผ่นดิน แร่ธาตุ ป่าไม้ ฝูงสัตว์ ก่อนจะนำมาสู่โศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ชาวอินเดียนครั้งใหญ่ที่ตำบลวูนเด็ดนี ไม่ต่างอะไรกับการทิ้งระเบิดปรมาณูเพื่อทำลายล้างอารยธรรมอันเก่าแก่ของชาว อินเดียน

ดังนั้นแล้ว ทันทีที่หนังสือเล่มนี้เผยแพร่ในสังคมอเมริกัน ดี บราวน์ จึงตกอยู่ในฐานะผู้แฉเรื่องราวอันเป็นอัปยศของชาติ (national disgrace) คนแรกๆ ในประวัติศาสตร์ คนอเมริกันจำนวนมากเพิ่งตระหนักถึงภูมิหลังพฤติกรรมชนชาติตน มันเป็นหนังสือที่ทำให้โลกทัศน์หลายคนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกัน ฉากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่วูนเด็ดนี ก็กลายเป็นตำนานที่ถูกบอกเล่า อ้างอิง แทรกซึมอยู่ในเรื่องเล่าของชาวอเมริกันจวบจนถึงปัจจุบัน

ฐานะทางประวัติศาสตร์ของฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี (Bury My Heart at Wounded Knee) จึงถือเป็น ‘ต้นแบบ’ (Original) ของหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวชนเผ่าอินเดียน ซึ่งมีผู้ผลิตเรื่องราวทำนองนี้ตามออกมาในภายหลังจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าเป็นหนังสือที่ว่าด้วยปรัชญาอินเดียน แนวคิดและวิถีชีวิตที่แนบแน่นกับธรรมชาติ รวมถึงถ้อยคำภาษาของชาวอินเดียนที่เรียบง่าย แต่งดงามและทรงพลังราวบทกวี

ทั้งหมดนี้ ล้วนมีอยู่แล้วใน ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี ทั้งสิ้น

ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี ฉบับภาษาไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 รูปเล่ม 16 หน้ายกปกติ (ประมาณ 4.35×7.25 นิ้ว) ความหนา 46 ยก (736 หน้า) ปกอ่อน เนื้อในกระดาษปรู๊ฟ

สำหรับฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง โดยสำนักพิมพ์ WAY of BOOK จัดพิมพ์ขนาด 16 หน้ายกพิเศษ (ประมาณ 5.75×8.5 นิ้ว) ปกแข็ง หน้าปกพิมพ์ 5 สีปั๊มฟอยล์ดำจม เข้าเล่มด้วยวิธีเย็บกี่สันโค้ง เนื้อในกระดาษปอนด์ถนอมสายตาเกรดดี จำนวนหน้าเพิ่มขึ้นจากฉบับพิมพ์ครั้งแรก 46 ยก (736 หน้า) เป็น 61 ยก (976 หน้า)

ความหนาที่เพิ่มขึ้นมาราว 240 หน้า ทั้งที่ขนาดหนังสือใหญ่กว่าเดิม เนื่องจากได้นำเชิงอรรถที่ถูกตัดทิ้งในการพิมพ์ครั้งแรกบรรจุเข้าไปใหม่ เพื่อความสมบูรณ์ตามต้นฉบับ พร้อมทั้งเพิ่มเชิงอรรถผู้แปลบรรจุไว้ในส่วนท้ายบท รวมถึงเพิ่มภาพบุคคล ท้องถิ่น และเนื้อหาบทเพลงอินเดียน เพื่อแสดงบรรยากาศวัฒนธรรมชนเผ่า

ขณะเดียวกัน เนื้อหาภาคผนวกจำนวน 6 บท ที่เพิ่มความหนาขึ้นมาอีกราว 200 หน้านั้น เป็นผลงานค้นคว้าเรียบเรียงโดยผู้แปล เพื่ออธิบายที่มาของชื่อเรื่อง ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี อธิบายสภาพภูมิประเทศ ลักษณะพื้นฐานของอินเดียนแต่ละเผ่า การเรียกตำแหน่งยศทางการทหารของชนผิวขาว และคำเรียกขานตำแหน่งทางสังคมของชนพื้นเมือง รวมถึงแรงเหวี่ยงและอิทธิพลของเหตุการณ์ที่วูนเด็ดนี อันส่งผลมาถึงบางหน้าประวัติศาสตร์ในสังคมอเมริกันยุคหลัง ไล่ไปจนกระทั่งถึงอิทธิพลของเหตุการณ์วูนเด็ดนี และวัฒนธรรมอินเดียนที่ส่งผลต่อศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแขนงต่างๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นงานค้นคว้าเรียบเรียงที่สมบูรณ์เพียงพอต่อการศึกษา อ้างอิง

จึงกล่าวได้ว่า นี่คือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี ฉบับสมบูรณ์

แต่การกลับมาของหนังสืออันเป็นตำนานเล่มนี้ พิมพ์จำกัดจำนวน ในรูปเล่มสวยงามและคงทน ส่วนเหตุผลว่าทำไม อธิคม คุณาวุฒิ แห่งสำนักพิมพ์ WAY of BOOK ตอบคำถามเรื่องนี้ว่า หากพิจารณาตามประวัติการพิมพ์ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนีในเมืองไทย จะพบข้อเท็จจริงว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือขายดีในประเทศเรา อีกทั้งระยะเวลา 30 กว่าปีที่หนังสือเล่มนี้วายไปจากแผงหนังสือ ย่อมแสดงชัดว่าไม่มีสำนักพิมพ์เจ้าใดในประเทศเราประสงค์จะนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่ และหากติดตามข่าวสารบรรยากาศร้านหนังสือจะยิ่งพบว่า ระบบนิเวศโดยรวมของร้านหนังสือประเทศนี้ไม่เหมาะกับหนังสือเล่มนี้อย่างสิ้นเชิง

“แม้นว่า WAY of BOOK จะแสดงเจตจำนงในการจัดพิมพ์ แต่เราก็ไม่ใช่สำนักพิมพ์ที่ร่ำรวยพอที่จะพิมพ์หนังสือออกมาแล้วเหลือทิ้งในโกดัง”

นอกจากนี้อดีตบรรณาธิการนิตยสาร way ยังบอกด้วยว่า หากใครมี ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี ฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่งอยู่ในครอบครอง น่าจะพบสภาพเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ หนังสือเริ่มหลุดเนื่องจากกาวหมดอายุ ปกเริ่มฉีกขาดเปื่อยยุ่ย นี่คือสภาพปกติของหนังสือที่มีความหนาเกินกว่าจะใช้วิธีเข้าเล่มแบบไสกาว ธรรมดา และเมื่อจำเป็นต้องเย็บกี่ ต่อให้พยายามลดต้นทุนด้วยการทำปกอ่อน สิ่งที่จะตามมาก็คือปกหนังสือฉีกขาดชำรุดเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ

“สำหรับหนังสือบางเล่มที่ควรมีเก็บไว้ในบ้าน เผื่อไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ศึกษาค้นคว้า การทำปกแข็ง เย็บกี่ สันโค้ง รวมถึงเพิ่มความประณีตในการผลิตบางอย่างลงไป นอกเหนือจากประเด็นทางศิลปะและสุนทรียะแล้ว ยังหมายถึงความคงทนคุ้มค่าในการลงทุน ทั้งในแง่มุมผู้ผลิตและผู้ซื้อ ยิ่งหากกลับไปพิจารณารายละเอียดการผลิต ก็จะพบว่าราคาหนังสือเล่มนี้ตั้งขึ้นอย่างสมเหตุสมผล ไม่ได้แพงเกินจริง” อธิคมบอก

สำหรับหนังสือ ขณะนี้ยังไม่ยอมวางแผงในร้านหนังสือ ผู้สนใจสามารถสั่งจอง และสั่งซื้อได้ ราคาปก 800 บาท (เป็นราคารวมค่าจัดส่ง EMS บรรจุกล่อง พร้อมซองกันกระแทก หนังสือทุกเล่มประทับเลขอนุกรม (serial number) พร้อมลายเซ็นผู้แปล) แจ้งชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล และจำนวนหนังสือที่ต้องการ มาที่สำนักพิมพ์ WAY of BOOK และ นิตยสาร WAY ได้ 4 ช่องทาง 1. โทรศัพท์ 0-2736-9918 2. โทรสาร 0-2736-8891 3. อีเมล waymagazine@yahoo.com และ 4. www.facebook.com/waymagazine

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท