Skip to main content
sharethis

'สุริยะใส' ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ยื่นหนังสือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง ตีความอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจฯ กรณีปมประมูลคลื่น 3G ขณะ 'ดีเอสไอ' เผยผลสอบ ยัน 'กสทช.' ประมูล 3G โปร่งใส

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า วันที่ 4 ธ.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน เดินทางยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด โดยนายสุริยะใสกล่าวว่า จากคำสั่งศาลปกครอง เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา เห็นว่ายังมีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งการตีความกฎหมายมีอยู่หลายประการ สมควรที่ผู้ตรวจการฯ จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด

อีกทั้งทางกลุ่มกรีนมีเหตุผลที่ผู้ตรวจการฯ จะยื่นอุทธรณ์ เพื่อเป็นการประกอบการพิจารณาของผู้ตรวจการฯ 3 ข้อ ดังนี้ 1.คำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวกระทบต่ออำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการฯ ซึ่งมีผลเป็นการจำกัดอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการฯ ทั้งนี้ เป็นการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอันมิใช่อำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง 2.สำนักงาน กสทช. มิได้มีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในหมวด 11 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แต่มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองที่เป็นอิสระ และ 3.เมื่อพิจารณาคำสั่งศาลปกครองแล้ว เห็นว่ามีนัยสำคัญควรที่จะต้องตรวจสอบ

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า การดำเนินการหลังจากนี้ควรที่จะรอมติของผู้ตรวจการฯ ก่อนว่า จะมีการอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ ตนเชื่อว่าน่าจะมีอุทธรณ์คดี เพื่อเป็นข้อยุติที่เป็นบรรทัดฐานกับทุกฝ่าย เพราะคำสั่งศาลปกครองทำให้เกิดข้อพิพาทใหม่ ไม่ใช่เรื่อง 3G แต่เป็นเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญไปแล้วก็ควรหาข้อยุติ และข้อพิพาทเรื่อง 3G ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีการไต่สวนการประมูลว่ามีการฮั้วประมูล มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ใครเป็นผู้เสียหาย ใครจะมีสิทธิ์ฟ้อง กสทช.ต้องหาข้อยุติประเด็นนี้

ดังนั้น กทค. จะมาลักไก่ออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เพราะพอออกไปแล้ว ศาลปกครองสูงสุดเห็นไปอีกทาง แล้วไต่สวนพบความผิดปกติการประมูลก็จะมีปัญหา ความเสียหายจะเกิดมาก เราเตรียมแนวทางต่อสู้ 3 แนวทาง 1.อุทธรณ์ไปแล้วศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลปกครองกลาง ผู้ตรวจฯ ก็คงไปทางศาลรัฐธรรมนูญต่อว่า อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจฯ มีขนาดไหน และหากประตูปิดอีก ตนจะมีการอุทธรณ์ใหม่ ไปยังศาลปกครองสูงสุด เพราะครั้งที่แล้วไม่ได้อุทธรณ์ เนื่องจากศาลบอกให้มาร้องผู้ตรวจฯ แต่หากชี้ว่า ผู้ตรวจฯ ไม่มีอำนาจ ตนจะอุทธรณ์ต่อ 2.หามูลนิธิที่ทำงานการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมายื่นฟ้อง 3.ต้องเร่ง ปปช.ไต่สวนพิจารณาคดี



'ดีเอสไอ' การันตี 'กสทช.' ประมูล 3G โปร่งใส

วันเดียวกัน เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยผลการตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ (3G) ตามที่ กสทช. ทำหนังสือขอให้ดีเอสไอตรวจสอบและดีเอสไอได้ขอให้ กสทช. ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล ตลอดจนผลการประมูลประกอบการตรวจสอบแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ โดยวิธีประมูลตามประกาศ กสทช. ดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการคมนาคม 2553 ซึ่งกำหนดให้ กสทช.มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตและจะต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด

นายธาริต กล่าวต่อว่า ในขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ กสทช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด มีผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะเข้ามาประมูลได้ 20 ราย โดยมีผู้มารับแบบคำขอรับใบอนุญาตและลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการประชุมชี้แจงการกรอกแบบคำขอรับใบอนุญาต 17 ราย และมายื่นคำขอรับใบอนุญาต 4 ราย ผ่านคุณสมบัติที่มีสิทธิเข้าเสนอราคาได้ 3 ราย และจากการเสนอราคาปรากฏว่าได้มีการแข่งขันในการเสนอราคาทั้งหมด 7 รอบ และราคาที่ได้ไม่ต่ำกว่าราคาตั้งต้นที่มูลค่า 4,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของมูลค่าคลื่นความถี่จำนวน 6,440 ล้านบาท

นายธาริต กล่าวอีกว่า กสทช.ยังมีการแบ่งวิธีการประมูลคลื่นความถี่ออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการประมูลชุดคลื่นความถี่ และขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ โดยการประมูลชุดคลื่นความถี่ เป็นการเปิดประมูลชุดคลื่นความถี่ที่จะให้อนุญาตพร้อมกันและดำเนินการประมูลหลายรอบ โดยราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนั้น ย่อมเห็นได้ว่าการประมูลได้มีการแข่งขันราคากันจริง ไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ซึ่งหลังจากนี้ดีเอสไอจะทำหนังสือแจ้งผลตรวจสอบไปยัง กสทช.ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net