Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมรับว่ายุทธศาสตร์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษที่ผ่านไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ทศวรรษที่สูญหาย” หรือ The Lost Decade หรือบ้างเรียกต่อเนื่อง 20 ปีเป็น The Lost Two Decades ซึ่งรวมทศวรรษ 1990s และ 2000s

ปัจจัยสำคัญที่ทางญี่ปุ่นเองได้วิเคราะห์กันว่าเป็นสาเหตุ คือ การขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน การขาดภาวะความเป็นผู้นำทางการเมือง และแนวทางการพึ่งพาภาครัฐร่วมกับการใช้พื้นฐานทางกลไกตลาดไม่ประสบความสำเร็จ  

ในปี ค.ศ. 2010 กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (Ministry of International Trade and Industry, MITI) ได้เสนอยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตใหม่ (New Growth Strategy) โดยเน้นแนวทางการเติบโตโดยใช้อุปสงค์นำ (Demand-Led Growth) หรืออธิบายง่ายๆ ได้ว่า ที่ใดมีอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าและบริการ  ญี่ปุ่นจะมุ่งสร้างสรรค์สินค้าและบริการเพื่อไปตอบสนองอุปสงค์หรือความต้องการที่นั่น

จากการประมาณของ MITI คาดว่ามีอุปสงค์มากกว่า 100 ล้านล้านเยน (38 ล้านล้านบาท) ในอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม สุขภาพและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คน ที่ญี่ปุ่นต้องการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมและบริการนี้

 

การเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตของญี่ปุ่น

ที่มา http://www.kantei.go.jp/

เป้าหมายหลักของประเทศตามยุทศาสตร์การเจริญเติบโตใหม่ซึ่งกระทรวง MITI มีบทบาทหลักในการผลักดันและบังคับใช้ในทศวรรษหน้ามี 3 ประการคือ

·         เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเข้มแข็ง (Strong Economy)

·         การคลังมีความมั่นคง (Robust Public Finances) และ

·         ระบบประกันสังคมมีความเข้มแข็ง (Strong Social Security System)

โดยเน้นยุทธศาสตร์ใน 7 ในกลุ่มสาขาที่สำคัญ คือ

1.     ยุทธศาสตร์ว่าด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Innovation)

2.     ยุทธศาสตร์ว่าด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตและสุขภาพ (Life Innovation)

3.     ยุทธศาสตร์เอเชีย (Asia)

4.     ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว (Tourism-oriented nation and local revitalization)

5.     ยุทธศาสตร์ว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology IT oriented nation)

6.     ยุทธศาสตร์การจ้างงานและทรัพยากรมนุษย์ (Employment and Human Resources)

7.     ยุทธศาสตร์ภาคการเงิน (Financial Sector)

 

ยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตใหม่ของญี่ปุ่นปีค.ศ. 2020

ที่มา: MITI, Japan


ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญกับประเทศไทยทั้งในด้านการเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญ ตลาดส่งออกและนำเข้าอันดับต้นๆ และเป็นนักท่องเที่ยวที่รายใหญ่ที่สุดของไทย การเข้าใจสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในทศวรรษหน้าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ของประเทศไทย

ยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตใหม่ของญี่ปุ่น 7 เสาหลัก ได้แก่

1. ยุทธศาสตร์ว่าด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Innovation) ประกอบด้วย 3 โครงการยุทธศาสตร์แห่งชาติ คือ

·         ยุทธศาสตร์การใช้ระบบ Feed-In Tariff System โดยขยายขอบเขตการซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนผ่านระบบ Feed-In Tariff System เพื่อขยายตลาดพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่น  

·         ยุทธศาสตร์การริเริ่มโครงการเมืองอนาคต (FutureCity Initiative) ผ่านการมุ่งเน้นลงทุนเมืองอนาคตชั้นนำของโลกโดยใช้เทคโนโลยีอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวง MITI ได้เสนอร่างกฎหมายการส่งเสริมเมืองอนาคต (FutureCity Promotion Act) จัดตั้งความร่วมมือภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนโครงการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสร้างระบบสำหรับคัดเลือกภูมิภาคที่มีแนวคิดนวัตกรรมสำหรับอนาคต เป็นต้น 

·         ยุทธศาสตร์แผนการใช้ประโยชน์จากป่าไม้และการฟื้นคืนป่า (Forest and Forestry Revitalization Plan) เพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของท้องถิ่นและการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

2. ยุทธศาสตร์ว่าด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตและสุขภาพ (Life Innovation) ประกอบด้วย 2 โครงการยุทธศาสตร์แห่งชาติ

·         โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคัดเลือกสถาบันการแพทย์เพื่อสนับสนุนการประยุกต์ใช้การรักษาสุขภาพแนวใหม่โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคที่รักษาได้ยากและแก้ไขปัญหาความล่าช้าของการนำยาและเครื่องมือทางการแพทย์ออกสู่ตลาด

·         โครงการยุทธศาตร์การสร้างการยอมรับของผู้ใช้บริการสุขภาพจากต่างชาติ โดยสร้างชื่อเสียงให้ญี่ปุ่นเป็นแหล่งบริการสุขภาพระดับสูงและการวินิจฉัยทางการแพทย์ในเอเชีย

3. ยุทธศาสตร์เอเชีย (Asia) ประกอบด้วย 5 โครงการยุทธศาสตร์แห่งชาติ คือ

·         ยุทธศาสตร์ส่งออกระบบและโครงสร้างพื้นฐาน โดยวางตำแหน่งของญี่ปุ่นให้เป็นผู้เล่นรายสำคัญในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของโลกผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์โครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นมากในเอเชียและในภูมิภาคอื่นโดยผนวกรวมเทคโนโลยีชั้นนำและประสบการณ์ของญี่ปุ่นทั้งในด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และความปลอดภัยและความมั่นคง 

·         ยุทธศาสตร์การลดอัตราภาษีนิติบุคคลและการส่งเสริมให้ญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของเอเชียเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและรักษาตลาดการจ้างงานภายในประเทศ โดยเชิญชวนให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในญี่ปุ่น 

·         ยุทธศาสตร์การดึงดูดผู้มีทักษะสูงพิเศษและเพิ่มการยอมรับแรงงานทักษะสูง ตลอดจนการส่งหนุ่มสาวญี่ปุ่นออกไปเรียนต่างประเทศและยอมรับนักศึกษาต่างชาติจำนวนมากเพื่อเข้ามาศึกษาและฝึกอบรมในญี่ปุ่น 

·         ยุทธศาสตร์สำหรับการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา โดยเน้นการเป็นผู้ตั้งมาตรฐานสินค้าใน 7 กลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ การรักษาทางการแพทย์ น้ำ ยานยนต์รุ่นใหม่ รถไฟ การบริหารจัดการพลังงาน สื่อและเนื้อหา และหุ่นยนต์ นอกจากนั้นยังเน้นการส่งออกสินค้าและบริการที่เรียกว่า “Cool Japan” ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพของญี่ปุ่น เช่น เนื้อหา แฟชั่น อาหาร วัฒนธรรม ประเพณี และเพลง

·         ยุทธศาสตร์การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจผ่านการทำเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการปรับโครงสร้างสถาบันภายในอย่างบูรณาการ

4. ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว (Tourism-Oriented Nation and Local Revitalization) ประกอบด้วย

·         ยุทธศาสตร์การตั้งระบบเขตพิเศษครบวงจร (Comprehensive Special Zone System) โดยคัดเลือกและมุ่งเน้นในพื้นที่ที่มีศักยภาพในสาขาที่มีความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศและส่งเสริมนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรีอย่างเต็มที่ (Full Open Skies)

·         ยุทธศาสตร์โครงการเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 30 ล้านคนโดยทำให้กระบวนการขอวีซ่าที่ให้กับชาวจีนง่ายลง และการสนับสนุนการท่องเที่ยวในวันหยุดยาว

·         ยุทธศาสตร์การเพิ่มที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงบ้านให้อยู่อาศัยสะดวกสบายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ

·         ยุทธศาสตร์การเปิดสิ่งอำนวยความสะดวกของภาครัฐให้กับภาคเอกชนและส่งเสริมโครงการที่ใช้ทุนของภาคเอกชน

5. ยุทธศาสตร์ว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology IT Oriented Nation) ประกอบด้วย

·         ยุทธศาสตร์การศึกษาชั้นนำระดับสูงและระบบอื่นๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศและส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ โดยพัฒนาสิ่งแวดล้อมแรงจูงใจที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมโดยสร้างศูนย์วิจัยและการศึกษามากกว่า 100 แห่งให้อยู่ในรายชื่อ 50 อันดับแรกในสาขาเฉพาะต่างๆ 

·         ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และยุทธศาสตร์การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาให้ถึงระดับร้อยละ 4 ของ GDP

6. ยุทธศาสตร์การจ้างงานและทรัพยากรมนุษย์ (Employment and Human Resources) ประกอบด้วย

·        ยุทธศาสตร์การบูรณาการโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็กบนหลักการที่ว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของครอบครัว ชุมชนและสังคม และการจัดตั้งกระทรวงเด็กและครอบครัว (Ministry of Children and Families)

·       ยุทธศาสตร์การริเริ่มระบบการให้คะแนนอาชีพโดยเฉพาะสำหรับอาชีวศึกษา (Career Grading System) และระบบสนับสนุนส่วนบุคคล (Personal Support System) 

·      ยุทธศาสตร์กรอบแนวคิดใหม่สำหรับบริการสาธารณะ (New Concept of Public Service) โดยเพิ่มบทบาทให้กับทุกคนในสังคมในการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่น

7. ยุทธศาสตร์ภาคการเงิน (Financial Sector) โดยยุทธศาสตร์หลักคือการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์บูรณาการกับการเงินและการค้าโภคภัณฑ์ (Integrated Exchange Handling Securities, Financing and Commodities)

บทสรุป

ในปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มวางยุทธศาสตร์บูรณาการในระยะ 10-15 ปี โดยมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ใน 3 เสาหลัก คือ ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) การเติบโตแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) และการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ทิศทางยุทธศาสตร์ใหญ่ของไทยได้บูรณาการทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับทิศทางใหญ่ของโลกและยุทธศาสตร์ของประเทศที่สำคัญ ประเด็นท้าทายที่สำคัญคือการผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบและจริงจัง เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง  เข้าสู่ The Lost Decade หรือ The Lost Two Decades ทั้งที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นการย้ำอยู่กับที่หรืออาจถอยหลังเข้าคลองหากมีแต่วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ดีเลิศแต่ขาดการปฏิบัติที่แท้จริง

ความสามารถในการปรับตัว ความเป็นมืออาชีพและความสามารถในการทำให้งานสำเร็จเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องยอมที่จะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน หลีกเลี่ยง Short-term gain, Long-term Loss ถ้าโชคดีและทำงานหนักพอ เราอาจจะสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้ แต่บทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากญี่ปุ่น เป็นบทเรียนที่เตือนใจเราว่าแม้เราจะสามารถก้าวเข้าสู่ประเทศรายได้สูงหรือประเทศชั้นนำได้ เราก็ยังมีความท้าทายใหม่ๆ สำหรับประเทศให้เผชิญอีก และญี่ปุ่นได้สอนเราผ่านแนวคิดประจำชาติอย่างเช่นแนวคิดไคเซ็น (Kaizen) ว่าหัวใจสำคัญคือ การมีหลักคิดในการดำเนินชีวิตหรือจิตสำนึกว่าจะต้องทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นตลอดเวลา (แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม) เพื่อมุ่งสู่คุณภาพที่สูงขึ้น ดังที่ญี่ปุ่นกำลังพยายามผลักดัน New Growth Strategy ในทุกวันนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net