Skip to main content
sharethis

สมัชชาใหญ่สหประชาชาติลงนามรับรองปาเลสไตน์เป็นสถานะ "รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก" แล้วด้วยเสียง 138-9 ในขณะที่สหรัฐฯ และพันธมิตรไม่สนับสนุนการรับรองครั้งนี้และชี้ว่าต้องเจรจาทวิภาคีกับอิสราเอลเท่านั้น  

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ลงมติรับรองเลื่อนสถานะของปาเลสไตน์จากผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่รัฐ เป็นรัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก ซึ่งเป็นสถานะเดียวกับนครรัฐวาติกัน ด้วยคะแนนเสียง 138 ต่อ 9 เสียง และมีประเทศที่ไม่ลงคะแนนมากถึง 41 เสียง ส่งผลให้ปาเลสไตน์ได้รับการรับรองสถานะเป็นรัฐชาติอย่างเป็นทางการ หลังจากการดำเนินการทางการทูตยาวนานหลายสิบปี

สำหรับประเทศที่ไม่ยินยอมลงคะแนนเสียงรับรองปาเลสไตน์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล แคนาดา สาธารณรัฐเช็ค ปานามา และประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก ได้แก่ เกาะมาร์แชล ไมโครนีเซีย นาวรู และพาเลา  ขณะที่อังกฤษและเยอรมนี พันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯในยุโรป ไม่ได้ออกเสียงในการลงมติครั้งนี้ 
 
แผนภาพแสดงประเทศที่ลงมติสนับสนุนการเป็นรัฐของปาเลสไตน์ (สีเขียว)
ประเทศที่งดออกเสียง (สีดำ) และไม่สนับสนุน (สีแดง) (ที่มา: เว็บไซต์ Avaaz.com)
 
การรับรองปาเลสไตน์เป็นรัฐอย่างเป็นทางการ สร้างความดีใจให้กับชาวปาเลสไตน์ทั่วประเทศ โดยประชาชนที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนในกรุงรามัลลาห์ เมืองหลวงของปาเลสไตน์ เพื่อเฝ้ารอผลการลงมติตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ต่างโห่ร้องแสดงความยินดีและร่วมเฉลิมฉลองการเป็นรัฐของประเทศกันอย่างคึกคัก
  
ขณะที่นายมาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ได้กล่าวหลังจากการลงมติครั้งประวัติศาสตร์นี้ว่า การรับรองปาเลสไตน์โดยสหประชาชาติ เป็นหนทางสุดท้ายในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์แบบ Two-State Solution หรือหลักการยอมรับในความเป็นรัฐของทั้งสองฝ่าย หลังจากตลอดการเจรจาแบบทวิภาคีกับอิสราเอลที่ผ่านมา รัฐบาลอิสราเอลและสหรัฐฯ ไม่เคยยอมรับปาเลสไตน์ในฐานะรัฐชาติ
 
ส่วนทางด้านของอิสราเอล ก็ออกมาตอบโต้การเลื่อนสถานะของปาเลสไตน์อย่างรุนแรง โดยนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ยืนยันว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ จะต้องแก้ไขผ่านการเจรจาแบบทวิภาคเท่านั้น ไม่ใช่ผ่านเวทีของสหประชาชาติ การที่ปาเลสไตน์เรียกร้องความเป็นรัฐผ่านสหประชาชาติ จึงถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาที่ให้ไว้กับอิสราเอล และอิสราเอลจะต้องตอบโต้การกระทำครั้งนี้อย่างแน่นอน
 
เช่นเดียวกับนางซูซาน ไรซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ ที่ออกมาเรียกร้องให้ปาเลสไตน์และอิสราเอลหารือกันเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และกล่าวหาว่าการเคลื่อนไหวผ่านสหประชาชาติของปาเลสไตน์ เป็นการกระทำโดยพลการแต่เพียงฝ่ายเดียว
 
ขณะที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่าการได้สถานะรัฐชาติของปาเลสไตน์ จะไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง
 
ก้าวใหญ่ที่สำคัญ
 
ทั้งนี้ ชาวปาเลสไตน์ได้พยายามให้สหประชาชาติรับรองปาเลสไตน์ให้เป็นรัฐในพื้นที่เวสต์แบงค์ ฉนวนกาซา และเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อิสราเอลยึดครองตั้งแต่ปี 1976 
 
บาร์บาร่า เพลตต์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีกล่าวว่า ในขณะที่การรับรองนี้ ถูกมองว่าเป็นก้าวที่สำคัญของปาเลสไตน์ในการได้เป็นรัฐ แต่การโหวต "รับรอง" ยังมีผลทางการทูตด้วย เนื่องจากมันจะอนุญาตให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์มีส่วนร่วมในการพูดคุยเรื่องต่างๆ ในสหประชาชาติ และพัฒนาโอกาสในการเข้าร่วมองค์การต่างๆ ของสหประชาชาติ เช่น ศาลอาญาระหว่างประเทศ
 
ในปีที่แล้ว นายอับบาสได้ขอให้สภาความมั่นคงสหประชาชาติรับรองปาเลสไตน์ให้เป็นรัฐ แต่ถูกคัดค้านโดยสหรัฐอเมริกา ส่วนช่วงต้นดือนที่ผ่านมา เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการไม่มีบทบาทมากเท่าที่ควรในการยุติความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในรอบที่ผ่านมา และการหยุดยิงกับอิสราเอล 
 
ขบวนการฟาตาห์ของเขา ที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตเวสต์แบงค์ ขัดแย้งและแตกกันกับขบวนการฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซา 
 
ในขณะที่นายกรัฐมนตรีของกาซา อิสมาเอล ฮานิเยห์ กล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งให้บีบีซีว่า การสนับสนุนของกลุ่มฮามาส อยู่บนพื้นฐานของกฎที่ไม่ยอมรับผู้ยึดครอง และสิทธิของชาวปาเลสไตน์ในการกลับสู่มาตุภูมิของตนเอง
 
 
ที่มา:  แปลและเรียบเรียงจากเว็บไซต์บีบีซี และวอยซ์ทีวี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net