'นอม ชอมสกี้' และปัญญาชนนานาชาติร่วมลงชื่อร้องคว่ำบาตรทางทหารอิสราเอล

ในวันสากลแห่งความสมานฉันท์กับประชาชนปาเลสไตน์ ปัญญาชนนานาชาติกว่า 50 คน รวมถึง 'สโลวอย ชิเชก' ลงชื่อเรียกร้องคว่ำบาตรทางทหารอิสราเอล ในขณะที่สมัชชาใหญ่ยูเอ็นเตรียมโหวตลงมติในประเด็นการรับรองสถานะของปาเลสไตน์วันนี้  

29 พ.ย. 55 - เนื่องในวันสากลเพื่อความสมานฉันท์กับประชาชนในปาเลสไตน์ นักวิชาการ นักเขียน และศิลปินจากนานาประเทศ 52 ราย อาทิ นอม ชอมสกี้ นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์และนักวิพากษ์สังคมชาวสหรัฐ, สลาวอย ซิเซ็ก นักวิชาการด้านปรัชญามาร์กซิสต์ และวอลเดน เบลโล วุฒิสมาชิกจากฟิลิปปินส์ ร่วมลงนามในแถลงการณ์เรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติคว่ำบาตรทางทหารต่ออิสราเอล เนื่องจากความรุนแรงครั้งล่าสุดบริเวณฉนวนกาซาเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตในฝั่งปาเลสไตน์แล้ว 160 ราย ในจำนวนนี้รวมเด็กด้วย 34 ราย ในขณะที่อิสราเอลมีผู้เสียชีวิต 6 ราย 

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเพราะการงดเว้นการรับโทษที่อิสราเอลได้รับ และการได้รับการร่วมมือจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย บราซิล และเกาหลีใต้ ในฐานะพันธมิตรด้านทหารของอิสราเอล 
 
แถลงการณ์ที่ลงนามโดยไมรีด มาไกวร์ นักเคลื่อนไหวสันติภาพชาวไอร์แลนด์เหนือผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ, โรเจอร์ วอเตอรส์ อดีตนักร้องนำวงพิงค์ ฟลอยด์ ชี้ว่า "ความพยายามของอิสราเอลในการให้ความชอบธรรมการใช้กำลังที่รุนแรงอย่างผิดกฎหมายและเกินกว่าเหตุว่าเป็นการ 'ป้องกันตนเอง' มิได้สมเหตุผลทางด้านกฎหมายหรือศีลธรรมแต่อย่างใด เพราะรัฐย่อมไม่สามารถอ้างสิทธิป้องกันตนเองตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของตนเอง" 
 
"ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลที่ใหญ่ที่สุด ด้วยการส่งยุทโธปกรณ์ทางทหารมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้ทุกๆ ปี แต่บทบาทของสหภาพยุโรปก็เป็นที่ลืมไม่ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุนฐานทัพอิสราเอลจำนวนมากผ่านทางโครงการวิจัย เช่นเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างอิสราเอลและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหญ่อย่างบราซิล อินเดีย และเกาหลีใต้ ย่อมสัมพันธ์อย่างแน่นอนกับความไม่สนับสนุนเสรีภาพของปาเลสไตน์"
 
ยูเอ็นเตรียมโหวตลงมติรับรองสถานะปาเลสไตน์
 
โดยในวันนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ จะมีกำหนดการณ์ร่วมลงมติในประเด็นเกี่ยวกับการรับรองสถานะของปาเลสไตน์ โดยปาเลสไตน์ได้ขอเลื่อนสถานะจาก "ผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่รัฐ" เป็น "รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก" ซึ่งในทางปฏิบัติคือการให้สหประชาชาติรับรองปาเลสไตน์ให้เป็นรัฐอย่างเป็นทางการนั่นเอง โดยคาดว่าประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ อาทิ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เดนมาร์คออสเตรีย รวมถึงรัสเซีย จะสนับสนุนการรับรองเป็นรัฐของปาเลสไตน์ ส่วนสหรัฐกล่าวว่า ตนและพันธมิตรหลักๆ จะคัดค้านการรับรองดังกล่าว โดยระบุว่า วิธีเดียวที่จะสามารถทำให้ปาเลสไตน์มีสถานะเป็นรัฐได้ ต้องผ่านการเจรจาโดยตรงกับอิสราเอลเท่านั้น 
 
โดยหากปาเลสไตน์ได้รับการรับรองสถานะดังกล่าว ก็จะเป็นการรับรองสิทธิอธิปไตยที่ประเทศอ้างเหนือพื้นที่เวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา และเยรูซาเลมตะวันออก รวมถึงทำให้ปาเลสไตน์สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าอาจทำให้รัฐบาลปาเลสไตน์ยื่นฟ้องร้องการเข้าครอบครองเวสต์แบงก์โดยไม่ชอบธรรมของอิสราเอลได้
 
สำหรับการลงมติรับรองครั้งนี้ ปาเลสไตน์ต้องการเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งจากสมาชิกสมัชชาใหญ่สหประชาชาติซึ่งมีทั้งหมด 193 ประเทศเท่านั้น โดยที่สหรัฐฯ รวมถึงชาติมหาอำนาจอื่นๆในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่สามารถใช้สิทธิยับยั้ง หรือวีโตได้
 
ทั้งนี้ การลงมติดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์อ่อนไหวเป็นพิเศษ โดยทั้งสองฝ่ายกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติตามสนธิสัญญาหยุดยิงชั่วคราว หลังมีการปะทะกันทางทหารอย่างรุนแรงเป็นเวลานานถึง 8 วัน
 
เนื้อหาบางส่วนจาก วอยซ์ทีวี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท