‘ชาวนา’ และ 'อัมมาร'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การแก้ไขปัญหาราคาข้าวโดยโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และเปิดประเด็นวิวาทะสำคัญสำหรับผู้ปรารถนาดีต่อ ‘ชาวนา’ ทั้งหลายมากมาย ล่าสุดอัมมาร สยามวาลา แห่งสถาบันวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้อ้างงานวิจัย วิพากษ์ถึงบทความของ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ จากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้าน ก็ฉวยไปใช้ในการอภิปรายไม่ไว้ใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ผู้เขียนเองมีข้อสังเกตและความคิดเห็นบางประเด็น สั้นๆ ดังนี้

1. ต่อกรณีที่มีการมองว่า ชาวนาระดับกลางได้ประโยชน์ แต่ชาวนายากจนไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นความจริง เพียงแต่ควรมองวิธีการแก้ไขปัญหาของชาวนาแต่ละกลุ่มอย่างแยกแยะ (ควรรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในนิยามของชาวนาด้านการผลิตด้วยเช่นกัน) และให้ตรงประเด็นของปัญหาชาวนาแต่ละกลุ่มด้วย 

เนื่องจากชาวนาจน บางคนไม่มีที่ดิน ต้องเช่าที่ดินของผู้อื่น จึงต้องมีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินที่ปัจจุบันกระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่ตระกูลให้ชาวนากลุ่มนี้ บางส่วนของชาวนา ที่ดินของพวกเขาที่อาศัยมาก่อนนโยบายอนุรักษ์กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทับที่ทำกินและป่าชุมชน ก็ควรมีนโยบายกันเขตพื้นที่และสนับสนุนพวกเขาอนุรักษ์ป่าด้วย

 สำหรับกลุ่มชาวนาที่มีที่ดินน้อย ไม่พอที่จะปลูกข้าวเพื่อขาย ส่วนใหญ่พวกเขาทำได้ก็แต่เพียงปลูกข้าวไว้กินในครัวเรือนเท่านั้น และมีอาชีพอื่น เช่น รับจ้างในภาคเกษตรกรหรือภาคการผลิตอื่นๆ ชาวนากลุ่มนี้ก็ควรสร้างนโยบายหลักประกันพื้นฐานของชีวิตอื่นๆ เช่น ค่าจ้างที่เป็นธรรม  หลักประกันสุขภาพ หลักประกันทางสังคม  ฯลฯ  หรือสนับสนุนพวกเขาให้มีเงินกองทุนเพียงพอที่จะเช่าที่ดินจำนวนไม่น้อยปลูกข้าวเพื่อขาย

2 อย่างไรก็ตาม ชาวนากลางซึ่งล้วนทำการผลิตเพื่อการพาณิชย์หรือเพื่อขายนั้น ล้วนแต่เป็นหนี้สินทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธกส.) หรือหนี้นอกระบบ นับล้านครัวเรือน ที่รอว่าเมื่อไรวันไหน หมายศาลจะมาถึงประตูบ้านด้วยใจระทึก บางส่วนก็ดิ้นรนหาทางออกเข้ากองทุนฟื้นฟูเกษตรกรที่มีเป้าหมายแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนา แต่ทำงานอย่างอืดอาดล่าช้านัก

ส่วนสำคัญ ปัญหาหนี้สินของชาวนา เนื่องจากการลงทุนทำการผลิตซึ่งไม่เพียงการปลูกข้าวเพื่อขาย ยังรวมทั้งการผลิตพืชอื่นๆ นั้น มักไม่คุ้มทุนหรือขาดทุนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ภายใต้กลไกตลาดเสรีให้ตลาดทำงาน ขณะที่ความเป็นจริง กลไกตลาดไม่เป็นธรรมต่อชาวนา หรือกลไกตลาดถูกบิดเบือนไม่เป็นไปตามทฤษฎีนีโอคลาสสิคเสียเลยท่านนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย 

รัฐไทย (มิเพียงรัฐบาล) หลายยุคหลายสมัย จึงมิเพียงปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องแทรกแซงกลไกตลาดด้วย จะตั้งใจหรือเพื่อหาเสียงกับชาวนาก็ตามแต่  ซึ่งเป็นแนวทางช่วยเหลือชาวนานอกกลไกตลาด เช่น นโยบายประกันราคาข้าวสมัยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ หรือนโยบายจำนำราคาข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพียงแต่ตัวเลขการช่วยเหลือต่างกัน และทั้งสองนโยบาย มีกระบวนการช่วยเหลือ มีเทคนิคการจัดการ ก่อให้เกิดการทุจริตหรือไม่? ก็เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบหาทางแก้ไขปัญหากัน ดึงการมีส่วนร่วมของชาวนาผู้มีส่วนได้เสียมาร่วมกำหนด มิใช่กลับไปใช้กลไกตลาดที่บิดเบือน ซึ่งย่อมทำให้ชาวนาขาดทุนอย่างราบคาบเหมือนเช่นที่ผ่านมาเป็นแน่

3 ชาวนาส่วนใหญ่ทั้งกลางและชาวนาจน ล้วนมีชีวิตอยู่รอดได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากลูกหลานของพวกเขาในวัยหนุ่มสาวมีรายได้ประจำและไม่ประจำ ทำงานประจำหรือชั่วคราวตามสัญญาจ้าง จากการทำงานในโรงงาน  บริษัท และอื่นๆ นอกภาคเกษตรกรรม ส่งเงินมาจุนเจือช่วยเหลือครอบครัวชาวนา โดยที่พวกเขาต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง มิพักต้องพูดถึงสถานที่ทำงานบางแห่งไม่มีหลักประกันความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน

4.หากนิยามว่า การเมืองหมายถึงอำนาจในการเข้าถึงการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในด้านต่างๆ  ซึ่งย่อมสะท้อนความสัมพันธ์ทางอำนาจของคนแต่ละกลุ่มแต่ละอาชีพด้วยเช่นกัน แล้วรัฐจะให้ความสำคัญแก่ใคร? มีจุดยืนอย่างไร? และเพื่อใคร ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐไทยแทบทุกยุคสมัยมักจัดสรรงบประมาณในแต่ละกระทรวงไม่เท่ากัน บางกระทรวงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากเกินไป เนื่องจากไม่จำเป็น  เช่น งบประมาณซื้ออาวุธของกองทัพ (โดยเฉพาะยุคอำนาจนอกระบบประชาธิปไตยครอบงำ) หรือโครงการต่างๆ ที่ฟุ่มเฟือยไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ขณะที่งบประมาณด้านการศึกษาบางยุคสมัยกลับน้อยมากทั้งๆ ที่จำเป็นมากๆสำหรับอนาคตของเยาวชน 

หรือการใช้งบประมาณบางส่วนโดยให้ความสำคัญกับคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มากกว่าคนท้องถิ่น   เช่นการสร้างสาธารณูปโภคกรุงเทพฯ แต่ในต่างจังหวัดกลับละเลย สมัยช่วงวิฤตเศรษฐกิจ 40 ก็มีการใช้งบประมาณมหาศาลช่วยบริษัทเงินทุนไม่กี่แห่งไม่กี่ครอบครัวให้ล้มบนฟูก  ยังไม่ต้องกล่าวถึงมาตรการภาษีที่ก้าวหน้า เป็นธรรม เพื่อสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เป็นอยู่ 

5 นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นนโยบายช่วยเหลือชาวนากลางอย่างที่ไม่มีรัฐบาลใดๆกระทำมาก่อน และหากมีกระบวนการบางอย่างที่เป็นจุดบกพร่อง มีการทุจริต เงินถึงชาวนาช้า หรือเงินไม่ครบ ส่วนปัญหาแผนการระบายข้าวตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ก็ควรดำเนินการแก้ไขโดยการให้ชาวนามีส่วนร่วม ตลอดทั้งควรสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องชาวนามากขึ้น มิใช่เพียง ‘ทีดีอาร์ไอ ‘ ที่จุดยืนวิชาการมักผันแปรตามกระแสอำมาตย์นิยม

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท