Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เช้าวันที่ 19 สิงหาคม 2534 ชาวรัสเซียตื่นนอนพร้อมจอดำ มีแต่เสียงเพลง Wild Swan ของไชคอฟกี้ บางคนคิดว่ามีใครถึงแก่อสัญกรรม เปล่าหรอก คณะนายทหารชุดหนึ่งได้ร่วมกันทำรัฐประหารยึดอำนาจจากประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail S. Gorbachev) เนื่องจากไม่พอใจนโยบายการเปิดประเทศทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง (Perestroika) ของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (Communist Party of the Soviet Union) ท่านนี้

ในช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้ กอร์บาชอฟในตำแหน่งเลขาธิการพรรคได้วางแนวทางปฏิรูปประเทศซึ่งประกอบด้วยการเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้นำทางตรง และการกระจายอำนาจให้กับบรรดารัฐต่าง ๆ ซึ่งต่อมาแยกเป็นประเทศอิสระ ในยุคของเขาประกอบด้วย 15 รัฐซึ่งรวมกันในนาม “Russian Soviet Federal Socialist Republic”

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 15 รัฐนี้ นายบอริซ เยลต์ซิน (Boris Nikolayevich Yeltsin) ถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

บอริซ เยลต์ซิน ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย
กับมวลมหาประชาชน เผชิญหน้ากับรถถัง หลังรัฐประหาร ส.ค.34

บรรดานายทหารที่อยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (CPSU) ต่างไม่พอใจกับการสูญเสียอำนาจของตนให้กับประชาชน และได้รวมตัวกันเคลื่อนรถถังเข้ามาในนครหลวง ใช้โอกาสที่นายกอร์บาชอฟเดินทางไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัด เข้ายึดที่ทำการต่าง ๆ และประกาศตนเองเป็นคณะปฏิวัติในนาม “คณะกรรมการในสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งรัฐ” (State Committee for the Emergency Situation) (ชื่อคุ้น ๆ ไหม?)

แต่ทหารยึดอำนาจได้แค่สองวัน ประชาชนหลายหมื่นคนนำโดยนายเยลต์ซินได้พากันล้อมที่ทำการ CPSU ซึ่งเป็นเหมือนทำเนียบประธานาธิบดี นายเยลต์ซินปีนขึ้นไปบนรถถังโบกธงพร้อมกับประชาชน ทำให้ทหารไม่กล้ายิงประชาชน และยุติการเคลื่อนไหวไปโดยปริยาย

วันที่ 23 สิงหาคม นายกอร์บาชอฟก็เดินทางกลับมายังนครหลวง ในวันเดียวกันนายเยลต์ซินลงนามในคำสั่งในฐานะประธานาธิบดี สั่งยุบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต เป็นอันสิ้นสุดระบอบสั่งการจากศูนย์กลางอย่างเป็นทางการ ส่วนนายกอร์บาชอฟก็ลงจากตำแหน่งในปลายปีเดียวกัน สิ้นสุดยุคของผู้ที่ถือว่าเป็นบิดาแห่งรัสเซียยุคใหม่ และผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพท่านนี้  

นับแต่ปี 2534 มาจนปัจจุบัน ชาวรัสเซียรวมทั้งประชาชนในรัฐเครือจักรภพอื่น ๆ ซึ่งเคยอยู่ใต้ปีกของสหภาพโซเวียต ก็สามารถเลือกตั้งผู้นำประเทศของตนได้โดยตรง และไม่เคยเกิดเหตุปฏิวัติรัฐประหารขึ้นมาอีก

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ปีเดียวกันก็เกิดเหตุรัฐประหารในประเทศไทย แต่ไม่มีคนไทยคนไหน ไม่มีผู้นำการเมืองคนไหนที่หาญกล้าไปปีนรถถังโบกธง คนไทยยอมรับโดยดุษฎี ผลจากการยอมรับระบอบอำนาจนิยมปูทางให้ผู้กระหายอำนาจอย่างสุจินดา คราประยูรตระบัดสัตย์ แอบอ้างตนเป็นผู้นำประเทศ นำไปสู่การประท้วงที่ลุกลามบานปลายในปีต่อมา

ในช่วงที่ผ่านมาของไทยก็มีกระแสที่ปลุกโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งสูญเสียอำนาจไป พวกเขาไม่ต้องการเห็นรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน พวกเขาไม่ต้องการเห็นรัฐบาลที่ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ พวกเขาปฏิเสธแนวทางปฏิรูปการเมืองให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ที่สำคัญ พวกเขาไม่เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยสถาปนาระบอบปกครองที่มั่นคงได้ พวกเขาเรียกร้องให้มีทหารขี่ม้าขาวเข้ามา หรือเรียกร้องให้มีการทำรัฐประหารนั่นเอง

ความคิดสนับสนุนการทำรัฐประหารเช่นนี้ เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ นานาอารยะประเทศต่างคัดค้านไม่เห็นด้วยกับผู้นำที่มาจากระบอบเผด็จการ เมื่อปี 2552 ก็เกิดการปฏิวัติยึดอำนาจประธานาธิบดีฮอนดูรัส เป็นเหตุให้บรรดาประเทศละตินอเมริกาคว่ำบาตรไม่ร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ไม่ได้รับเกียรติ ไม่ได้รับการยกย่องจากนานาชาติ เป็นรัฐบาลที่สร้างรอยด่างพร้อยให้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยมากสุดชุดหนึ่ง ไม่นับรัฐบาลเผด็จการในช่วงทศวรรษ 2500 และ 2510 ของไทย

จึงมีเหตุผลที่คนจำนวนมากคัดค้านกลุ่มคนที่มุ่งสนับสนุนการทำรัฐประหาร แต่เหตุผลที่คัดค้านไม่น่าจะเป็นการปกป้อง “รัฐบาล” แต่ควรเป็นการปกป้องแนวทางประชาธิปไตยมากกว่า

ดังกรณีชาวรัสเซียที่หาญท้าหอกดาบกระบอกปืน ออกมาชุมนุมใช้เลือดเนื้อของตนขัดขวางรถถังเมื่อปี 2534 พวกเขาไม่ได้ต้องการปกป้องนายกอร์บาชอฟ หรือนายเยลต์ซิน หรือรัฐบาลของนายเยลต์ซิน พวกเขาปกป้องแนวทางการปฏิรูป การเปิดประเทศ พวกเขาปกป้องโอกาสที่จะได้ใช้สิทธิในการเลือกผู้นำประเทศโดยตรง และถือเป็นการเสียสละที่คุ้มค่า

แม้ว่าน่าเสียดายที่ผู้นำที่ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นอย่างนายเยลต์ซิน ซึ่งปกครองประเทศยาวนานเกือบทศวรรษต่อมา สุดท้ายก็ต้องหลุดจากตำแหน่งตามวิถีทางประชาธิปไตย อันเนื่องมาจากการคอรัปชั่น เอื้อต่อพวกพ้องของตนเอง การใช้กำลังทหารปราบปรามการต่อต้านของประชาชน และการใช้กำลังทหารเข้าไปรุกรานในรัฐในเครือจักรภพอย่างที่เชชเนีย

กลุ่มคนที่รักประชาธิปไตยจึงควรแยกแยะระหว่างการปกป้องรัฐบาล กับการปกป้องแนวทางประชาธิปไตย “รัฐบาล” เป็นกลุ่มคนที่ได้รับอำนาจโดยสมมติจากประชาชน แต่นาน ๆ ไปก็เหมือนที่ Lord Acton ว่า “อำนาจมีแนวโน้มฉ้อฉล อำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลโดยเบ็ดเสร็จ” มีความเป็นไปได้ว่าไม่ว่ารัฐบาลใดก็หลงระเริงกับอำนาจของตนเอง ไม่ต้องการให้ฝ่ายใดเข้ามาตรวจสอบ มีความพยายามทำลายกลไกตรวจสอบต่าง ๆ

 “รัฐบาล” จึงไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนจะต้องปกป้อง แต่รัฐบาลเป็นกลุ่มคนที่จะต้องถูกตรวจสอบ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้น เราไม่ควรสับสนระหว่างการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการชุมนุมของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม กับการปกป้องรัฐบาล ผมคิดว่าเป็นสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน

ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านแนวทางของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยามเพราะไม่เห็นด้วยกับการเสนอระบบลากตั้งเพื่อทดแทนกระบวนการทางประชาธิปไตย ผมไม่เห็นด้วยกับการ “แช่แข็ง” ประเทศ กับการให้ใครก็ไม่รู้แต่งตั้งใครก็ไม่รู้กลุ่มหนึ่งขึ้นมาบริหารบ้านเมือง ผมไม่เชื่อว่ากระบวนการที่มิชอบเช่นนี้จะออกดอกผลที่งดงามได้

แต่ในขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลอ้างเหตุต่าง ๆ อ้างข่าวกรองต่าง ๆ ว่าผู้ชุมนุมกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยามจะบุกเข้ายึดที่ทำการต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งบุกจับตัวผู้นำประเทศ ผมเห็นว่าเป็นการอ้างข่าวลอย ๆ แล้วการข่าวที่ผ่านมาของหน่วยงานทหารเหล่านี้ที่กำลังเป็นผู้บังคับใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในประเทศน่าเชื่อถือนักหรือ

เพราะถ้าหน่วยข่าวกรองไทยทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพจริง ป่านนี้เหตุการณ์ภาคใต้ก็ไม่ลุกลามบานปลายแบบนี้แล้ว ระเบิดแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่มารู้ทีหลังทั้งนั้น และเดิมการก่อเหตุมักเกิดที่อำเภอรอบนอก แต่ปัจจุบันเกิดในเขตอ.เมือง เกิดในตลาดสด ฯลฯ ก็หน่วยงานอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ดูแลงานภาคใต้มาตั้งเกือบ 10 ปี คุณอดุลย์ แสงสิงแก้วก็มาจากภาคใต้เหมือนกัน เคยเป็นผบ.ศปก.ตร.สน. ถามว่าผลงาน “ข่าวกรอง” ภาคใต้ที่ผ่านมายอมรับได้ไหม

การที่รัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ จึงถือเป็นความน่าละอายของรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย

ที่ท่านนายกฯ ออกอากาศทางโทรทัศน์ชี้แจงว่าการประกาศกฎหมายเผด็จการฉบับนี้เป็นไปเพื่อ “รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” ผมว่าไม่จริง ผมเชื่อว่าท่านประกาศใช้อำนาจเผด็จการเพียงเพื่อปกป้องรัฐบาลตนเองมากกว่า เป็นการปกป้องอำนาจของกลุ่มบุคคล หาได้เป็นการปกป้องวิถีทางแห่งประชาธิปไตยไม่

กรุณาแยกให้ออกระหว่างการปกป้องแนวทางประชาธิปไตยกับการปกป้องรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net