Skip to main content
sharethis

นศ.เผยผลจากลงพื้นที่ ยันเหมืองทองคำกระทบชุมชน กรณีบ่อเก็บกากแร่รั่วทำไซยาไนด์ไหลลงสู่พื้นที่เกษตรกรรม-แหล่งน้ำสาธารณะ ทั้งบริษัท-หน่วยงานรัฐไม่เหลียวแลแก้ปัญหาให้ชุมชน

 
 
วันที่ 22 พ.ย.55 เวลาประมาณ 8.00 น ชาวบ้าน “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” จาก 6 หมู่บ้าน ใน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ประมาณ 500 คน ร่วมกับนักศึกษาในนามพรรคสามัญชน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินขบวนรณรงค์ในตัวจังหวัดเลย เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของเหมืองแร่งทองคำที่เกิดขึ้นให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ
 
อนึ่ง เดิมในวันดังกล่าวบริษัทฯ มีกำหนดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) หรือพับลิคสโคปปิ้ง (Public scoping) ประกอบการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในการขอประทานบัตรเลขที่ 104/2538 เพื่อขยายการทำเหมืองทองไปยังบริเวณภูเหล็ก แต่ก่อนถึงกำหนดการจัดเวที บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือถึงนายก อบต.เขาหลวงขอเลื่อนการจัดเวทีไปเป็นวันที่ 21 ธ.ค.55 ซึ่งการเลื่อนเวทีพับลิคสโคปปิ้งในครั้งนี้ เป็นการเลื่อนครั้งที่ 5 นับจากเดือน มิ.ย.55
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลาประมาณ 11.00 น ขบวนรณรงค์ได้มาหยุดที่หน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเลย โดยมีข้อเรียกร้องให้เร่งดำเนินการปิดเหมืองทันทีตามคำสั่งของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยเมื่อวันที่ 5 พ.ย.55 เพื่อแก้ปัญหาเหตุบ่อเก็บหางแร่ซึ่งปนเปื้อนไซยาไนด์และโลหะหนักอื่นๆ ที่รั่วไหลอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งให้หยุดการดำเนินการอันไม่ชอบธรรมเพื่อขยายเหมืองทองดังกล่าว
 
ระหว่างรอการเจรจากับผู้ว่าฯ กลุ่มชาวบ้านมีการปราศรัยให้ข้อมูลปัญหาของการทำเหมืองในพื้นที่เป็นระยะ กระทั่งมีการแจ้งว่าผู้ว่าฯ ติดภารกิจที่กรุงเทพฯ โดยปลัดจังหวัด และตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลงมาทำหน้าที่พูดคุยกับชาวบ้านแทน
 
 
ประเด็นที่ชาวบ้านเรียกร้อง ประกอบด้วย 1.กรณีรายงานไต่สวนประกอบการขอประทานบัตรเป็นเท็จ เรียกร้องให้จังหวัดเข้ามาตรวจสอบและจัดทำรายงานใหม่ให้ถูกต้องก่อนจัดเวที public scoping ยังไม่ได้รับคำตอบจากปลัดอย่างชัดเจนในการดำเนินการ
 
2.เมื่อบริษัทยังไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีแม้แต่ข้อเดียว การประกอบกิจการเหมืองแร่รวมทั้งการต่อประทานบัตรจะต้องหยุดดำเนินการก่อน ซึ่งหากบริษัทยังจะจัดเวทีในวันที่ 21 ธ.ค.อีก ย่อมถือเป็นการจัดทำ EHIA ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ทางจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดทำหนังสือคัดค้านการจัดเวทีอย่างเป็นทางการไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะส่งหนังสือตามไปอีกครั้งหนึ่ง
 
ต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ตัวแทนจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด แสดงความเห็นว่า บริษัทมีสิทธิดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ในการจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ โดยมีหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำได้เพียงเข้าไปสังเกตการณ์ แต่หน่วยงานรัฐจะมีความเห็นในการพิจารณาไม่แตกต่างจาก มติ ครม.
 
ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 กำหนดอย่างชัดเจนให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่หรือการขอประทานบัตรของบริษัทดังกล่าว จนกว่าจะได้ข้อสรุปสาเหตุการปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพหรือ HIA แต่จนถึงขณะนี้บริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด
3. กรณีสันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ในพื้นที่โครงการพังทลาย ทางอุตสาหกรรมจังหวัดรับว่าจะเข้าไปในพื้นที่เพื่อกันเขตพื้นที่ปนเปื้อนก่อน ส่วนปริมาณสารพิษในไร่นาและแหล่งน้ำต้องรอผลการตรวจจากกรมควบคุมมลพิษ
 
4. เรื่องใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมซึ่งสิ้นอายุ เมื่อวันที่ 12 ส.ค.55 ชาวบ้านแสดงเจตนาคัดค้านการต่ออายุการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และไม่ให้ต่ออายุประทานบัตรแปลงใหม่ โดยจะทำหนังสืออย่างเป็นทางการต่อไป
 
ต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชี้แจงกับชาวบ้านว่า โรงงานประกอบโลหะกรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดไม่มีอำนาจ ซึ่งตาม พ.ร.บ.แร่ กำหนดให้ขณะยื่นต่ออายุ ยังดำเนินการได้อยู่
 
ทางด้านปลัดจังหวัดตอบเพียงว่าได้มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแจ้งคำคัดค้านของชาวบ้านไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และจะดำเนินตอบข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้เร็วที่สุด
 
ภายหลังการเสร็จสิ้นการเจรจา ตัวแทนชาวบ้านได้มอบหนังสือร้องเรียนต่อปลัดจังหวัดเพื่อให้ภาครัฐดำเนินตามข้อเสนอของชาวบ้าน ส่วนกลุ่มคาราวานนักศึกษาภายใต้ชื่อพรรคสามัญชนก็ได้มอบต้นสักทองและขนมทองม้วนให้แก่ปลัดจังหวัด
 
 
นายสมานฉันท์  พุทธจักร หนึ่งในคาราวานนักศึกษาอธิบายความหมายของการมอบต้นสักทองและขนมของม้วน  ว่า มันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าในเมื่อเหมืองอยากได้ทองมากเราจึงให้ต้นสักทองเพราะมันก็เป็นทองเหมือนกันแถมยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย แต่มันกำลังสื่อถึงสิ่งแวดล้อมที่จะโดนทำลาย ส่วนทองม้วนนั้นมันก็เป็นทองและยังเป็นทองที่กินได้ ไม่เป็นมลพิษเหมือนสารเคมีจากเหมือง
 
นศ.เผยผลจากลงพื้นที่ ยันเหมืองทองคำกระทบชุมชน  
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา คาราวานโบกรถรณรงค์คัดค้านเหมืองแร่ทองคำของนักศึกษาพรรคสามัญชน ได้เดินทางถึงพื้นที่การทำเหมืองแร่ทองคำในบ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย และได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน
 
 
จากกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่มีการร้องเรียนว่า เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ในพื้นที่โครงการพังทลาย ทำให้สารไซยาไนด์รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและที่นาของชาวบ้าน และต่อมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยได้มีคำสั่งด่วนเมื่อวันที่ 5 พ.ย.55 ให้บริษัทฯ หยุดการทำเหมืองทันทีและแก้ไขปัญหาจนกว่าจะยุติ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างที่บริษัทฯ อุทธรณ์ต่อคำสั่งดังกล่าว
 
 
กลุ่มนักศึกษาระบุว่า ได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากกระบวนการทำเหมืองที่ไม่มีมาตรการป้องกันอย่างเพียงพอ  ซึ่งทำให้สภาพสิ่งแวดล้อม พื้นที่ทำกินของชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรที่เสียหายอย่างหนัก ปัญหาดังกล่าวเกิดจากบ่อกักเก็บไซยาไนด์แตก เนื่องจากวิธีการทำบ่อเก็บไม่ได้มาตรฐานโดยใช้เพียงคันดินกั้นบ่อไว้ ทำให้สารไซยาไนด์รั่วไหลลงสู่พื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำสาธารณะของชาวบ้านจนไม่สามารถนำไปอุปโภคบริโภคได้ดั้งเดิม และมีผลต่อเนื่องทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่เปลี่ยนไป
 
ขณะที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของเหมืองยังไม่ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใดให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าผู้ได้รับความเดือดร้อนจะต่อสู้เพื่อคัดค้านเหมืองหลายครั้งแล้วก็ตาม
 
 
นางมล คุณนา ตัวแทนชาวบ้านซึ่งพานักศึกษาลงพื้นที่สำรวจรอบเหมือง กล่าวว่า พื้นที่รอบเหมืองนั้นเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน บริเวณดังกล่าวจะมีน้ำซับน้ำซึมตามฤดูกาล แต่เมื่อมีเหมืองทำให้บริเวณดังกล่าวแห้งแล้งไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นเดิม และต่อมาปรากฏว่ามีน้ำซึมขึ้นมา ชาวบ้านจึงลงสำรวจและพบว่าน้ำที่ไหลออกมานั้นมีสารไซยาไนด์ปนเปื้อน ซึ่งเป็นสารที่รั่วไหลออกมาจากเหมือง  แต่ทางเหมืองก็ไม่ได้มีการออกมาชี้แจงว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
 
ด้านนางสาววศินี บุญทีตัวแทนกลุ่มนักศึกษา กล่าวว่า จากการได้ลงพื้นที่ และพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว และชาวบ้านก็พยายามขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นจากทางบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของเหมืองเพื่อให้แก้ปัญหาดังกล่าว หรือจากทางหน่วยงานของรัฐก็ไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจ หรือเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ทำให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงโดยไม่มีที่สิ้นสุด
 
 
 
  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net