Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“รู้มั้ยเมื่อกี้เราไปไหนมา” ข้าพเจ้าลองเอ่ยถามคนขับรถตู้ที่เช่ามาสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ “รัฐอิสระ เป็นแนวกันชนพม่า พวกกัน(เพื่อน)ที่ขับรถทัวร์เขาว่างั้น”  ชายหนุ่มนักขับ กล่าวตอบเสียงดังชัดเจนขณะรถเลี้ยวออกมาจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ  เมื่อมานึกย้อนอีกครั้งภาพของผู้คนที่นั่นจริงๆแล้วก็อาจจะเป็นเหมือนที่เขาตอบ  เพราะที่นั่นคือดินแดนที่คนภายนอกไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปหรือรับรู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้นหากไม่ได้บัตรผ่านเข้า-ออก (Camp pass) จากกระทรวงมหาดไทย  เจ้าภาพหลักที่ดูแลอยู่[1]

ข้าพเจ้าหวนนึกถึงบางถ้อยคำเมื่อครั้งไปเยือน “ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ” หรือ พื้นที่พักพิงชั่วคราวแม่หละเมื่อปี 2549 ตลอดแนวถนนในระยะทางหลายกิโลเมตร กระท่อมหลังเล็กหลังน้อยที่เรียงรายอยู่ค่อนข้างหนาแน่น แม้เพียงระยะสายตามอง เรื่องราวภายในชุมชนแห่งนี้ก็ยังคงไม่แจ่มชัดนักสำหรับคนภายนอกทั่วไป

สายของวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางมาเยือนพื้นที่พักพิงฯแม่หละอีกครั้ง หลังจากที่เมื่อวาน ได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลบางส่วนจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ในประเด็น “สถานการณ์การจดทะเบียนการเกิดกรณีเกิดนอกสถานพยาบาล”         

การสำรวจสถานการณ์ข้อเท็จจริงของการจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่พักพิงฯ ครั้งที่ 2
นับตั้งแต่สิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิดตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ได้คุ้มครองเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย การสำรวจสถานการณ์ข้อเท็จจริงของการจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ของเรา เริ่มต้นขึ้นที่ “พื้นที่พักพิงฯ นุโพ” หรือ “ค่ายผู้ลี้ภัยนุโพ” อ.อุ้มผาง จ.ตาก ในเดือนกันยายน 2553 ซึ่งพบว่าก่อนหน้านั้นยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการจดทะเบียนการเกิดเลย และได้รับการยืนยันว่า “จันทร์ที่ 6 กันยายนที่จะถึงนี้ จะได้เห็นสูติบัตรใบแรกของค่ายผู้ลี้ภัยนุโพ” สูติบัตรใบแรก ก็ออกในวันนั้นจริงๆ  และได้เพิ่มเป็น 215 ราย ในอีก 5 เดือนต่อมา (ข้อมูลเดือน มีนาคม 2554) [2]

ในครั้งนี้จึงเป็นการสำรวจสถานการณ์ข้อเท็จจริงของการจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่พักพิงฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่ง บนตะเข็บชายแดนไทย-พม่า

ข้อมูลจากนายสันติ ศิริธีราเจษฏ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานองค์การข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้ภาพรวมว่า ปัญหาที่พบโดยรวมในหลายพื้นที่ ได้แก่ ข้อจำกัดในด้านทรัพยากรบุคลากร งบประมาณ เนื่องจากในพื้นที่พักพิงฯมีจำนวนประชากรจำนวนมาก ซึ่งทาง UNHCR ได้เข้ามาสนับสนุนในด้านงบประมาณประจำปี จำนวน 6-7 คน/พื้นที่พักพิง ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งแนวทางปฏิบัติที่มีความแตกต่างกันในแต่พื้นที่พักพิงฯ  

สถานการณ์การจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่พักพิงฯ ในพื้นที่อ.แม่สอด อ.ท่าสองยางนั้น การจดทะเบียนการเกิดนับตั้งแต่ปลายปี 2554 ที่ผ่านมามีความคืบหน้าและมีความชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังให้เกิดกับพื้นที่พักพิงอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มของผู้หนีภัยที่เป็นผู้ลักลอบอาศัย[3] ในหลายพื้นที่พักพิงเจ้าหน้าที่ยังมีความไม่มั่นใจในการดำเนินการจดทะเบียนการเกิดให้กับบุตรของคนกลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีการเชิญเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยส่วนกลางมาชี้แจงทำความเข้าใจต่อแนวทางปฏิบัติแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ในส่วนของ พื้นที่พักพิงฯแม่หละ ปลัดปรีดา ตระกูลชัย ในฐานะหัวหน้าพื้นที่พักพิงฯ ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่ ม.ค.2553-ปัจจุบัน มีเด็กที่ได้รับการแจ้งเกิดแล้ว 1,272 คน

การดำเนินการในปีนี้ ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 มีจำนวนเด็กที่รอการแจ้งเกิดย้อนหลังอยู่ 138 ราย และดำเนินการไปแล้ว ยังเหลืออยู่ 65 ราย

ในส่วนขั้นตอนการจดทะเบียนการเกิดนั้น  เราพบว่าก่อนหน้านี้แม้จะมีแนวปฏิบัติที่ออกมาโดยหนังสือสั่งการหลายฉบับ แต่ในทางปฏิบัติในแต่ละพื้นที่พักพิงฯจะมีแนวทางที่แตกต่างกันและไม่ชัดเจนนัก  จากคำอธิบายของปลัดปรีชา กรณีของพื้นที่พักพิงฯแม่หละมีขั้นตอนการดำเนินการจดทะเบียนการเกิดกรณีเกิดนอกสถานพยาบาล[4]  มีลักษณะคล้ายกันกับพื้นที่พักพิงฯนุโพ[5]

คือ เมื่อมีการคลอดที่สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลในพื้นที่พักพิงฯ จะมีการออกหนังสือรับรองการเกิด(แบบฟอร์มคล้ายคลึง ท.ร.1/1) ให้กับคนที่มาคลอด

จากนั้นจึงนำหนังสือรับรองการเกิดมาการแจ้งการเกิดกับปลัด แต่ในบางกรณีทางปลัดมีการยืดหยุ่นให้ใช้เอกสารใบฉีดวัคซีนของหน่วยวิจัยมาลาเรียโซโกร -Shoklo Malaria Research Unit (SMRU) เป็นหลักฐานแทนหนังสือรับรองการเกิด เนื่องจากพบว่ามีผู้หนีภัยส่วนใหญ่มาทำคลอดที่นี่เพราะมีบริการฉีดวัคซีนให้เด็กฟรีด้วย

แต่เนื่องจากแม่ที่คลอดส่วนใหญ่จะมาแจ้งการเกิดกับทางปลัดค่อนข้างช้า(เกิน 15 วัน) ซึ่งปลัดให้ความเห็นว่าปัญหาเกิดจากทางผู้หนีภัยยังไม่เห็นความสำคัญในการมาจดทะเบียนการเกิด ดังนั้นปลัดจึงออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร.100)[6] และมีการสอบ ป.ค. 14 เพื่อป้องกันการสวมตัว โดยทางปลัดจะรวบรวมเอกสารไว้บันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะส่งเอกสารให้แก่ปลัดฝ่ายทะเบียนแต่ละครั้งเพื่อดำเนินการออกสูติบัตร (ท.ร.031) และเพิ่มชื่อใน ท.ร.38 ก

ในกรณีแจ้งเกิดย้อนหลังเกิน 1 ปี จะต้องมีคณะกรรมการหมู่บ้านในพื้นที่พักพิงฯมารับรองด้วย ทั้งนี้แนวปฏิบัติในเรื่องของป.ค.14 นั้น มีการตั้งข้อสังเกตในการสร้างภาระเกินความจำเป็นหรือไม่ แต่ก็ดูเหมือนว่ากลายเป็นแนวปฏิบัติมาโดยตลอดเช่นกัน ซึ่งทางนายวิโรจน์ ศรีสุวรรณ ผอ.สำนักบริการการทะเบียน และปลัดปรีดา ชี้แจงว่าขั้นตอนดังกล่าวนั้นเป็นการสร้างความมั่นใจ ป้องกันการสวมตัว และไม่ได้สร้างภาระมากเกินไป สำหรับมุมมองของเจ้าหน้าที่

ในขณะที่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. เสนอว่าปลัดอำเภอในฐานะหัวหน้าพื้นที่พักพิง ควรจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ออกใบรับรองการเกิด ท.ร. 1 ตอนหน้าแทน (เช่นเดียวกับกรณีเด็กเกิดนอกสถานพยาบาล แล้วออกโดยผู้ใหญ่บ้าน) ซึ่งเป็นการรับแจ้งการคลอดไม่ใช่ไปรับรองการคลอดในลักษณะที่ดำเนินการอยู่ เนื่องจากปลัดไม่ใช่แพทย์ผู้ทำคลอด

นอกจากนี้รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ ยังเสนอว่าการพัฒนาแบบฟอร์มหนังสือรับรองการเกิดเป็นภาษาอื่นสำหรับกรณีพื้นที่พักพิงก็ควรมีการพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งที่ตนเคยเสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว

ในระยะเวลาอันจำกัดในการลงพื้นที่จากการรับฟังเรื่องราวผ่านผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ในระยะเวลาช่วง 2 วัน และเข้าไปในพื้นที่พักพิงฯบางส่วนเท่าที่เราได้รับอนุญาติ  ทำให้เห็นว่าแม้ว่าภาพรวมการจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่พักพิงฯ แม่หละ ในปัจจุบันจะมีมีความชัดเจนในทางปฏิบัติและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับกรณีการแจ้งเกิดย้อนหลังให้กับอดีตเด็กที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด  รวมทั้งกลุ่มเด็กที่เป็นลูกของกรณีผู้หนีภัยที่ลักลอบอาศัยก็ยังเป็นโจทย์ที่ต้องมีการดำเนินการต่อไป เพื่อให้สิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิดตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ได้คุ้มครองเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยอย่างแท้จริง

รวมทั้งการสร้างความเข้าใจเรื่องการจดทะเบียนการเกิด และการสร้างแนวปฏิบัติที่ชัดเจนร่วมกันก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและดูเหมือนยังไม่มีคำตอบในอีกหลายพื้นที่พักพิงฯ

ข่าวคราวจากอีกฟากฝั่งที่ดูเหมือนสถานการณ์จะคลี่คลายไปเช่นกัน วันนี้เราได้รับคำตอบชัดถ้อยชัดคำจากปลัดปรีชาว่ายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนมาถึงที่นี่ว่าจะมีการปิดพื้นที่พักพิงฯใน 3 ปีนี้ ตามที่มีข่าว

ขณะที่การจดทะเบียนการเกิด ณ ชายแดนตะวันตก-สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่างไรก็ตามโจทย์ที่ยังค้างคาทำให้เรายังต้องติดตามตอนต่อไป รวมทั้งพื้นที่พักพิงอื่นๆที่ยังรอการไปเยือน

 


[1] ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ,“ที่ทางความยุติธรรมของ "คนพลัดถิ่นข้ามแดน"....ตอน 2” ส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่อง "กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในพื้นที่พักพิงฯ" สนับสนุนโดย UNHCR, ธันวาคม 2549 , http://www.gotoknow.org/blogs/posts/102962

[2]ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, “(เฉพาะ) เด็กเกิดใหม่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยนุโพ ได้รับการแจ้งเกิดแล้ว 215 คน” , 20 มีนาคม 2555 http://www.statelesswatch.org/autopagev4/show_page.php?topic_id=554&auto_id=2&TopicPk=

[3] ทั้งนี้มีการแบ่งผู้หนีภัยเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้หนีภัยการสู้รบที่คณะกรรมการของอำเภอและจังหวัดมีมติรับสถานะเป็น ผู้หนีภัยจากการสู้รบ และได้จัดทำทะเบียนร่วมกับ UNHCR  2. กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนคัดกรอง pre screening (กึ่งขึ้นทะเบียน) 3.กลุ่มที่ลักลอบอาศัย

[4]โรงพยาบาลในพื้นที่พักพิงไม่ถือเป็นสถานพยาบาล ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541

[5]ดูแผนภาพประกอบ ,อ้างแล้ว ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล 20 มีนาคม 2555, “(เฉพาะ) เด็กเกิดใหม่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยนุโพ ได้รับการแจ้งเกิดแล้ว 215 คน”

[6]ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 ข้อ 57 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 ข้อ 58 กรณีแจ้งการเกิดเกินกำหนด( เกิน 15 วัน) กำหนดให้ออกใบรับแจ้งการเกิด( ท.ร.100) ให้กับผู้แจ้งการเกิด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net