Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้มีการจัดสัมมนาวิชาการเรื่องประชาธิปไตยในระบบดิจิตัลครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุม 310 ตึกมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Noviscape Consulting Group, เครือข่ายพลเมืองเนต และ Siam Intelligence Unit โดยได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วัตถุประสงค์ของการจัดงานนั้นเพื่อระดมความคิดเพื่อการริเริ่มหัวข้อวิจัยใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยในระบบดิจิตัล โดยเฉพาะงานวิจัยแบบสหวิทยาการเพื่อสร้างฐานความรู้ในด้านเทคโนโลยีดิจิตัลและประชาธิปไตยต่อไป  และมีเป้าหมายในการจัดเป็นกิจกรรมวิชาการต่อเนื่องรวมถึงขยายตัวไปสู่เวทีระดับภูมิภาค สร้างกลุ่มความร่วมมือของนักวิจัยใหม่ๆและนักปฏิบัติจากสาขาวิชาต่างๆเพื่อสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่ประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมบนไซเบอร์สเปซ การเมืองดิจิตัล สิทธิและจริยธรรม การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสังคมรวมทั้งประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยในระบบดิจิตัลของประเทศไทย และประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามผ่าน Twitter :@DiDeBKK #DiDeBKK01

ปัญหาช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของการปรับตัวสู่ยุคดิจิตัล

กษมา กองสมัคร ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศในสถานการณ์ประเทศไทย[1] ซึ่งมีแนวโน้มการใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้น (ร้อยละ 66) แต่อัตราการใช้คอมพิวเตอร์กับอินเตอร์เนตมีแนวโน้มคงที่ (ร้อยละ 32 และ ร้อยละ 27 ตามลำดับ) การกระจายตัวในการใช้อินเตอร์เนตและคอมพิวเตอร์มีความเหลื่อมล้ำโดยจะกระจุกในกรุงเทพฯ หรือเขตเมืองมากกว่า เขตชนบท รวมถึงเทคโนโลยีอินเตอร์เนตที่ทันสมัยกว่า เช่น  ระบบไร้สาย ก็กระจุกตัวในกรุงเทพฯมากกว่าชนบท ในด้านประชากรผู้ใช้ อินเตอร์เนต พบว่าประชากรอายุระหว่าง 15-24 ปีเป็นกลุ่มประชากรที่มีการใช้มากที่สุด และกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปีเป็นกลุ่มประชากรที่ใช้น้อยที่สุด ในด้านการศึกษา ผู้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป้นกลุ่มประชากรที่มีอินเตอร์เนตใช้มากทีสุด

นอกจากปัญหาการขาดแคลนในการเข้าถึง (lack of access) แล้วสิ่งที่ควรให้ความสำคัญด้วยคือ การขาดแคลนความหลากหลาย (lack of diversity) ของสื่อที่ให้ผู้บริโภค, พฤติกรรมของผู้บริโภค (consumption behaviour) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนการคิดวิเคราะห์ (lack of critical thinking) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการรู้เข้าใจสื่อ (Medoa Literacy) โดยผู้ใช้จะสามารถหาข้อมูลเองได้, รู้ว่าใครเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร, เข้าใจความหมายของสื่อ, รู้ว่าผู้ให้ข้อมูลใช้เทคนิคจูงใจอย่างไร, แยกแยะอคติ หรือเรื่องไม่จริงได้, เข้าใจว่าผู้ให้ข้อมูลอาจไม่ให้ความจริงทั้งหมด และ ประเมินค่าข้อมูลข่าวสารตามประสบการณ์และเหตุผล สามารถสร้าข้อมูลสื่อสารของตนและสื่อสารได้

ในตอนท้ายท่านวิทยากร ได้เสนอประเด็นสำคัญที่ควรสนใจในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศกับประชิปไตยว่า จะช่วยดึงคนกลุ่มน้อย เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายู ฯลฯ ในสังคมเข้าร่วมหรือสสับสนุนอย่างไร (Minority included), การเปิดกว้างของตัวเนื้อหาของสื่อ (Open dialogue), การเข้าร่วมประชาธิปไตย แบบสนใจประเด็นหรือ เทิดทูนตัวบุคคล (Personality vs issue oriented) เช่น ผู้ที่มีความเห็นแตกต่างเรื่องการเหมืองเหลืองแดง ควรจะมองและถกเถียงกันเป็นประเด็นปลีกย่อยมากกว่าการบูชาตัวบุคคล และความจำเป็นของการเซนเซอร์ (Censorship necessary)

ความเป็นกลางทางเนต และอินเตอร์เนตในอนาคต

ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ได้บรรยายถึงความเป็นกลางของผู้ปฏิบัติการ (operator) ในการส่งผ่านสื่อ โดยชี้ให้เห็นว่าแนวคิดหลักดังกล่าวเป็นหลักคิดการสื่อสารตั้งแต่ยุคก่อนสมัยที่มีอินเตอร์เนต ผู้ปฏิบัติการเช่น กรมไปรษณีย์มีหน้าที่ในการส่งจดหมายจากผู้ส่งถึงผู้รับโดยไม่สามารถละเมิดเปิดซองอ่านข้อความที่อยู่ในนั้นได้ รัฐไม่มีอำนาจละเมิดสิทธิของเอกชนเพื่อล่วงรู้ข้อความการสื่อสารดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบันด้านการใช้อินเตอร์เนตมีผู้เสนอความคิดว่า ผู้ปฏิบัติการควรมีอำนาจบางประการในการเผ้าระวัง (monitor) ข้อความในสารที่ผู้บริโภคส่งไป โดยกลุ่มที่ให้การสสรับสนุนดังกล่าวยกเหตุผลว่า เพื่อคัดกรองสื่อที่ดีออกจากสื่อที่เลว และเพิ่มประสิทธิภาพของช่องทางการเคลื่อนที่อินเตอร์เนตเพื่อสื่อที่ดีสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การจัดการกับเมลขยะ การจัดการเวปไซต์สื่อลามก เพื่อให้สื่อที่ดีที่สำคัญ เช่น รายงานสภาพน้ำท่วม ไปหาผู้บริโภคได้เร็วกว่าเดิม ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีเหตุผลว่า ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันและมีสิทธิที่จะเลือกมีวิจารณญาณตนเองในการเสพสื่อ นอกจากนี้การตัดสินใจว่าสื่อไหนดีสื่อไหนเลวเป็นเรื่องที่ยากและจะให้ใครเป็นผู้ตัดสิน การให้อำนาจกับผู้ปฏิบัติการในการเฝ้าระวังข้อมูลนั้นจะมีใครเป็นผู้ตรวจสอบผู้ปฏิบัติการ และเราสามารถใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการจัดการกับเมลขยะ สแปม

วิทยากรให้ความเห็นว่าถ้าล้มหลักการความเป็นกลางทางเนตลงแล้ว ในอนาคตผู้ปฏิบัติการจะกุมอำนาจในการควบคุมข่าวสารทุกอย่าง ส่วนในด้านอนาคตของอินเตอร์เนตนั้นอินเตอร์เนตจะเข้ามาแทนที่การสื่อสารยุคก่อนเช่นโทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ โดยปัจจุบัน เราสามารถใช้อินเตอร์เนตในการเปิดดูรายการในโทรทัศน์ หรือวิทยุ และอินเตอร์เนต และตั้งคำถามว่าในอนาคตอินเตอร์เนตจะขึ้นอยู่กับปัจจัยใด

ความมั่นคงกับโลกดิจิตัล[2]

พ.อ. ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง ชี้ให้เห็นว่าปัญหาความมั่นคงทางโลกดิจิตัลเกิดจากความแตกต่างระหว่างรุ่น โดยคนในรุ่นเบบีบูมเมอร์เป็นกลุ่มคนที่ครอบครองอำนาจในการทำนโยบายสาธารณะในปัจจุบัน ความมั่นคงด้านดิจิตัลสามารถแบ่งได้เป็นสามระดับ คือระดับกายภาพ (Physical) เช่น ความปลอดภัยในด้านการดูแลโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสาร ระดับระบบข้อมูลข่าวสาร (Information system) และระดับการนึกคิด (Cognitive) โดยในระดับนึกคิดมีความสำคัญที่สุดและอิงกับการเมือง ไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองที่ใช้การสื่อสาร เลือกตั้งครั้งล่าสุดมีการใช้ การตลาดมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนความคิดคน เครื่องมือที่สำคัญคือการสื่อสาร  ในปัจจุบันนิยามความมั่นคงอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยความมั่นคงมิใช่ความมั่นคงของชาติที่เป็น traditional security เท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมี non-traditional security เช่นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ อย่างไรก็ตามกลไกที่ใช้ควบคุมความมั่นคงในระยะเปลี่ยนผ่านก็ยังเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการ (authorities) เช่น ทหาร ข้าราชการ โดยหวังว่ารูปแบบในอนาคตที่ฝันไว้จะมีภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นกลไกร่วมด้วยเช่นกันและจะเกิดประเด็นความมั่นคงในโลกไซเบอร์ตามมา ส่วนในด้านช่องทางของสื่อซึ่งบทบาทของสื่อแบบใหม่มีอิทธิพลมากขึ้นและจะครอบคลุมประชากรทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว ในด้านเทคนิคในการควบคุมความมั่นคง ในระยะเปลี่ยนผ่านคือการใช้การเซนเซอร์ ซึ่งหวังว่าในอนาคตรูปแบบที่ฝันไว้คือ ภาคประชาชนจะเข้ามาแทนที่การเซนเซอร์โดยการมีการควบคุมกันเอง เช่น การเฝ้าระวังความปลอดภัย (Security awarness) หรือ การตอบโต้ข่าวลือ (Counter narrative)

ความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ : ความตระหนักรู้ของประชาชน

อาจารย์โสภาค พาณิชพาพิบูล ได้ชี้ให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิบุคคลผ่านสื่อในสถานการณ์ประเทศไทยเกิดขึ้นทุกวันโดยที่เราไม่ตระหนักถึง เช่น การแอบถ่ายคลิปเป็นต้น ความเป็นส่วนตัว (privacy) คือ สิทธิที่อยู่โดยลำพัง     มิติของระเบียบสังคมในการที่ทุกคนรวบรวมการเข้าถึงข้อมูลจัดการข้อมูลของตัวเขาเอง  สิทธิของบุคคลในการตัดสินใจว่านำข้อมูลของบุคลลนั้นไปสื่อสารได้    ความสามารถบุคคลในการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสาร อัตลักษณ์   สภาวะที่จำกัดการเข้าถึงของตัวบุคคล   จากนิยามข้างต้นสามารถแบ่งระดับความเป็นส่วนตัวได้เป็น 3 ระดับคือ ระดับกายภาพ ระดับการสื่อสาร และ ระดับข้อมูลข่าวสาร โดยระดับข้อมูลข่าวสารเป็นระดับที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้ว

แนวคิดรากฐานเรื่องความเป็นส่วนตัวมาจากแนวคิดเรื่อง ปัจเจกชนนิยม เสรีนิยม การแยกแยะระหว่างขอบเขตของรัฐกับภาคประชาสังคม สิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของประชาชน  

การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลมีความสำคัญเพราะสิทธิทางข้อมูลเป็นต้นกำเนิดของสิทธิอื่นๆตามมาและเป็นการถ่วงดุลอำนาจการเฝ้าระวังจากรัฐ สำหรับประเทสไทยสิทธิความเป็นส่วนตัวเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ การเกิดขึ้นของสังคมสารสนเทศและเครือข่ายอินเตอร์เนตทำให้เกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ง่ายขึ้น แต่การคุ้มครองกลับเป็นได้ยากในประเทศไทย นอกจากนี้สถานการณ์ขัดแย้งการเมืองปัจจุบันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและนำมาเผยแพร่ในที่สาธารณะเป็นอาวุธสำคัญในการทำลายฝ่ายตรงข้าม เช่น กรณีการถูกล่าแม่มดของผู้ใช้นามแผง ก้านธูป ข้อมูลการวิจัยพบว่า คนไทยมีระดับการตระหนักรู้ต่อการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวอยู่ในระดับปานกลาง

ตอบโต้ Hate Speech โดยใช้ Wikipedia ?

อาจารย์ ชาญชัย ชัยสุโกศล เกริ่นนำว่าความเกลียดชังเหมือนกับความรัก เราไม่สามารถขจัดมันไปจากโลกนี้ได้ แต่ควรจะจัดการอย่างไรกับการแสดงออกถึงความเกลียดชัง วิทยากรชี้ให้เห็นว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันและการใช้เสรีภาพทางการเมืองในการแสดงความเห็นในประเทศไทยมีความเข้มข้นขึ้น จนนำไปสู่ความเกลียดชังทางการเมืองและแสดงออกมาในรูป Hate Speech โดยในต่างประเทศได้มีกลุ่มเชิดชูภาวะคนผิวขาวสร้างเวปไซต์ชื่อ Stormfort เพื่อเป็นเวปฐานทรัพยากรชาตินยมผิวขาว ปัจจุบันมีเวปไซต์ที่มีเนื้อหาแสดงความเกลียดชังมากกว่า 5000 เวปไซต์ และสร้างวัฒนธรรมการเกลียดชังเหยียดเชื้อชาติ เวปชุมชนเสมือนจริงเชื่อมโยงกับองค์กรเหยียดผิวระหว่าประเทศ

สำหรับสถานการณ์ประเทศไทย มีการใช้ Hate Speech ในประเด็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่นกรณีผู้ใช้นามแฝง ก้านธูป โดยผู้แสดงความเกลียดชังผ่านการใช้ Hate Speech ผ่านทางสื่ออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะเฟซบุค ระดับการใช้คำพูดมีความรุนแรงมาก เช่น”อีเด็กเวร” “รุมโทรม” “ยิงทิ้ง” “กระทืบ” “ฆ่ามัน”

สำหรับท่าทีต่อความเกลียดชัง วิทยากรเสนอว่า การแสดงความคิดเห็นแบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ Free speech, Hate speech และ Do Harm Speech ผลที่ตามมาของ Free Speech ที่หวังไว้คือการเกิดความจริงและสติปัญญา ส่วน Hate Speech คืออการเกิความโกรธ เกลียดและกลัว Do Harm Speech ผลคือการเรียกร้องให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพตามมา สำหรับวิทยากรแล้วมาตรฐานต่ำสุดคือ เราอาจไม่จำเป็นต้องปิดกั้นการแสดงความเกลียดชังแต่การแสดงความเห็นแบบที่จำเป็นต้องเซนเซอร์คือ Do Harm Speech ส่วนวิธีการตอบโต้ Hate Speech สามารถทำได้ 4 วิธีคือ การใช้การแสดงความคิดเห็นสวนโต้ (Counter Speech) การทำแรยะขัดขืรทางอิเลคโทรนิคส์ การป่วนทางวัฒนธรรม และการเปลี่ยนความเกลียดชัง

วิทยากรเห็นว่า  Wikipedia เป็นเครื่องมือที่ดีอย่างหนึ่งในการตอบโต้ความเกลียดชัง โดยตัวโครงการแรกเริ่มมีเพื่อให้สมาชิกทุกคนที่มีทิศทางเป้าหมายร่วมกัน คือการสร้างสรรค์ เก็บความรู้สำหรับมนุษยชาติ ถึงแม้การสร้างเนื้อหาในวิกิพีเดียจะมีความขัดแย้งกันประจำเนื่องจากมีการเปิดเสรีให้ใครก็ได้ที่ไม่เป็นสมาชิกสามารถแก้ไขลบทิ้ง เนื้อหา ข้อความ รูปภาพ ของคนอื่นๆที่แปะลงไปในบทความ และเกิดการแก้กันไปกันมาระหว่างคนสองคนนี้อาจเกิดการเขม่นกันขึ้นมาได้ แต่ด้วยเงื่อนไขที่เท่าเทียมกันของโครงสร้างอำนาจในการแก้ไข ทำให้เกิดเงื่อนไข ถ้าอยากจะเขียนข้อความโดยที่คนอื่นไม่เห็นด้วยจะต้องอธิบายให้คนอื่นเข้าใจและยอมรับได้ว่าทำไมจึงสมควรเขียนเนื้อหาข้อความเช่นนี้

แท็ก หรือต้องการอ้างอิง ในบทความวิกีพีเดียก็เป็นตัวเตือนให้ผู้อ่านระมัดระวังก่อนที่จะเชื่อข้อกล่าวหาที่ไม่มีแหล่งอ้างอิง รวมถึงคำอธิบายกฎกติกามารยาทในการใช้วิกิพีเดีย เพื่อให้ผู้ใช้มีวัฒนธรรมเชื่อว่า ผู้อื่นมีเจตนาดี และให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้แต่ภายใต้สภาวะการขัดแย้ง

การก่อตัวของสถาบันของการเมืองในโลกดิจิตัล : บทบาทของสื่อใหม่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

คุณ สมบัติ บุญงามอนงค์ ชี้ให้เห็นว่าสภาพการณ์ปัจจุบันมีการการก่อตัวของ ไวรัลมาร์เกตติ้ง    ในยุคดิจิตัล โดยใช้สื่อนอกกระแสหลักเช่น ยูทูบ เฟซบุค ทวิตเตอร์ ขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมากกว้างขวางและถึงกลุ่มเป้าหมาย  อย่างไรก็ตามก็สามารถเกิดความวุ่นวายได้เช่ยกัน 

สำหรับทางการเมือง  ความคิดการเมืองคือชุดคิด หรือไวรัสทางความคิด กับแอนติไวรัสความคิด ระบบการเมืองก็คือคอมพิวเตอร์ เราจะแยกอย่างไรว่าสิ่งใดเป็นไวรัส สิ่งใดเป็นแอนตี้ไวรัสคอมพิวเตอร์  โดยต้องดูว่าชุดความคิดนั้นลดประสิทธิภาพของระบอบการเมืองหรือไม่   เราถูกไวรัสการเมืองครอบงำความคิดประชาชนมานาน และจำเป็นต้องหาแอนตี้ไวรัสเพื่อนำไปต่อต้านไวรัสการเมืองที่บ่อนทำลายประชาชน 

สรุป

ระบบดิจิตัลไม่สามารถคงอยู่สถานะเป็นเครื่องมือเพื่อรับใช้ความต้องการของมนุษย์ได้เพียงอย่างเดียวต่อไป แต่ได้ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ต่างๆโดยเฉพาะในเวทีการแสดงความคิดเห็นปฏิสัมพันธ์กันในสังคมและในระบบการเมือง และแน่นอนว่าในระบบสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรมย่อมเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมดิจิตัลและสร้างความไม่มั่นคงในระบบสังคมดังกล่าวทั้งในตัวระบบสังคมเนตและลามไปสู่ระบบสังคมจริง อย่างไรก็ตามกลไกรัฐอาจมิใช่คำตอบที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหาและจำเป็นต้องใช้ภาคประชาชนเป็นผู้ดูแลตัวเอง

การเติบโตของเทคนโลยีสารสนเทศ และอินเตอร์เนตก่อให้เกิดกลุ่มทางสังคม และพื้นที่ทางสังคมใหม่ ร่วมถึงกลุ่มประชากรชนิดใหม่ หรือ Net Citizen ขึ้นมา และประชาชนกลุ่มนี้จะมีปฏิสัมพันธ์ลักษณะใดบ้างรูปแบบใดบ้าง ประเด็นใดบ้างในอนาคต และจะส่งผลต่อประเด็นการปกครองในรูปแบบใดภายในโลกเสมือนจริงนี้ ดิจิตัลจะกลายเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมประชาธิปไตยหรือ จะมีการสร้างประชาธิปไตยในโลกดิจิตัล หรือประชาธิปไตยในโลกจริงกับโลกเสมือนจริงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากนักวิชากร ผู้เชี่ยวชาญในสหวิทยาการต่างๆเพื่อสร้างองค์ความรู้และตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นประชาธิปไตยในระบบดิจิตัลในอนาคต




[1] http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/files/ictHSum54.pdf

[2] http://trendsoutheast.org/2011/all-issues/issue-24/enabling-security-in-cyber-society/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net