Skip to main content
sharethis

บทสัมภาษณ์ประชาชนชาวเชียงใหม่ ผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอนิติราษฎร์กับ ครก.112 ลองฟังเสียงชาวนา แม่ค้า ผู้รับเหมา คนรับจ้าง ดูว่าเขาคิดอย่างไรหลังร่างกฎหมายนี้ถูกปัดตกไปเงียบๆ

 


“มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

เราอาจย้อนทบทวนถึงแรงดันสะสมของเรื่อง 112 นี้ไปได้ไกลถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 19 ที่ส่งผลให้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเรียกกันว่า "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" นี้ถูกแก้ไขเพิ่มโทษโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา 

ในยุคสมัยปัจจุบัน มีความพยายามของสังคมในการเรียกร้องต่อรัฐให้จัดการแก้ไขยกเลิกบ่อเกิดแห่งความอยุติธรรมนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะให้ยกเลิก ให้แก้ไข ให้ความรู้ความเข้าใจในปัญหา ให้ถกเถียงอภิปราย หรือแม้กระทั่งให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  แต่การจับกุมคุมขังดำเนินคดีก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

จนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (http://www.ccaa112.org/web/) ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ ปัญญาชน สื่อมวลชน นักเขียน ศิลปิน ผู้มีชื่อเสียงทางสังคม และนักเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนหนึ่ง ได้นำร่างแก้ไขกฎหมายนี้ของคณะนิติราษฎร์มาทำเป็นข้อเสนอเพื่อยื่นให้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายนี้ตามกระบวนการนิติบัญญัติเท่าที่มีอยู่  มีประชาชนจากทั่วประเทศร่วมส่งเอกสารลงลายมือชื่อสนับสนุนเป็นจำนวนถึง 39,185 คน โดยนำเข้าสู่สภาด้วยกิจกรรม “ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์” เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555  

ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก แรงดันที่สั่นสะเทือนในเรื่องนี้ครั้งใหญ่คือเหตุการณ์วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 นายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง SMS ผู้ต้องขังคดี 112 ที่เสียชีวิตในเรือนจำระหว่างถูกคุมขังด้วยโรคมะเร็ง โดยเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวมาตั้งแต่ชั้นจับกุม

แต่แล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ปรากฏว่ามีการเผยแพร่ข่าว (อย่างเงียบๆ) ว่าประธานรัฐสภาได้เขี่ยข้อเสนอร่างแก้ไขกฎหมายตกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2555  (http://prachatai.com/journal/2012/11/43435) โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่าร่างดังกล่าวไม่เข้าหมวดสิทธิเสรีภาพ  อย่างที่ไม่มีการแจ้งกลับถึงครก.112 ผู้นำในการเสนอหรือเรียกให้ไปชี้แจงแต่อย่างใด 

ข่าวคราวเรื่องนี้มีอยู่ประปราย การถกเถียงมีอยู่เล็กน้อยในโลกออนไลน์ โดยเรายังไม่เคยได้ยินเสียงของผู้เสนอชื่อกฎหมายตัวจริง เราจึงตัดสินใจออกเดินทางไปหาคำตอบจากคนตัวเล็กตัวน้อย

ในระหว่างทางของการล่ารายชื่อ  ครก.112 ได้ลงพื้นที่ในหลายจังหวัด  ในเชียงใหม่มีทีมงานเข้าไปให้ข้อมูลและกระจายเอกสารหลายจุด  ที่ชุมชนใจแก้ว ตำบลหนองหอย อยู่ชานเมืองเชียงใหม่ไปทางตะวันออกเฉียงใต้  มี วิษณุ เงาศรี (ธุรกิจส่วนตัว) เป็นหนึ่งในผู้ประสานงาน  ส่วน สวัสดิ์ ถาน้อย (รับเหมาก่อสร้าง) เป็นผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน  มีการจัดประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันตามโอกาส  ที่ประชุมมักมอบให้ สายสวาท  พรดวงคำ (รับจ้าง) เป็นปากเป็นเสียงแทน  ในวันเดียวกับที่เรานัดพูดคุยกัน  สมเพชร วงศ์บุญชา (ค้าขาย) ชาวหมู่บ้านการเคหะหนองหอยซึ่งอยู่ใกล้เคียงก็แวะเข้ามาร่วมสนทนาด้วย

ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปราว 40 กิโลเมตร ที่บ้านยางคราม อำเภอดอยหล่อ  มีกลุ่มชาวบ้านเสื้อแดงที่รวมตัวอย่างเหนียวแน่นร่วมสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์มาหลายปี  มี ฐิดาธันย์ จิตตาดู (ชาวนา) เป็นโฆษกและผู้ประสานงาน ร่วมกับ ทวี จิตตาดู (ชาวนา, รับจ้างทั่วไป) และ ศีลา เขียวคำสุข (ชาวนา) ที่เรียกตัวเองว่าเป็นแดงอิสระ  ไม่สังกัดค่ายหรือแกนนำใดๆ  และลึกขึ้นไปอีกจากบ้านยางครามไปทางแนวเขาราว 30 กิโลเมตรที่บ้านแม่มูด ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง  เรานัดคุยกับแกนนำท้องถิ่นอย่าง ประเสริฐ  เป็งดี (ชาวไร่, ค้าขาย) หนึ่งในผู้อาสารวบรวมรายชื่อจากชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลส่งมาให้กับครก.112

เราอาจจะคุ้นชินกับข้อมูลที่ล้นทะลักหรือการถกเถียงอย่างดุเดือดหน้าดำคร่ำเครียดบนโลกโซเชียลเนตเวิร์ค  แต่เกือบทั้งหมดของรายชื่อผู้สนับสนุน ครก.112 กลับเป็นชาวบ้านที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต  ในพื้นที่ห่างไกลออกไป  เขาเหล่านี้จะเข้าใจข้อเสนอกฎหมายได้จริงหรือ  ขนาดคนเมืองหลวงจบดอกเตอร์หลายๆ คนยังพูดยังฟังกระท่อนกระท่อน  เขาถูกหลอกให้ลงชื่อหรือเปล่า เขาคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเขามองว่าควรทำอย่างไรต่อไป ฯลฯ หลายคำถามที่เรายังไม่เคยฟังคำตอบ

 


ฐิดาธันย์ จิตตาดู

ทวี จิตตาดู

ประเสริฐ เป็งดี

วิษณุ เงาศรี

ศีลา เขียวคำสุข

สมเพชร วงษ์บุญชา

สวัสดิ์ ถาน้อย

สายสวาท พรดวงคำ

 

ทราบข่าวที่ประธานรัฐสภาไม่รับพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ที่คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เสนอเข้าไปหรือยัง

ศีลา :  ไม่รู้เลย

ฐิดาธันย์ :  เพิ่งทราบ  รู้จากสื่อ  เอเชียอัพเดท

ทวี :  รู้ไม่กี่วัน  จากสื่อหนังสือพิมพ์มติชน  ตกใจว่าเพราะอะไรประธานรัฐสภาถึงไม่รับ

ประเสริฐ :  ทราบจากสื่อโทรทัศน์ว๊อยส์ทีวี

สายสวาท :  ไม่รู้ชัด  แต่ก็พอรู้ว่าไม่รับ

สวัสดิ์ :  รู้จากสื่อหนังสือพิมพ์ ทีวี และอินเตอร์เน็ต อาศัยของเพื่อนฝูงเล่น

วิษณุ :  ทราบข่าวจากทางทีวีและก็ที่พูดปากต่อปาก

สมเพชร :  ทราบแล้ว

 

ทำไมจึงได้ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายกับ ครก.112

ศีลา :  อยากให้มีความยุติธรรม เวลาพูดอะไรผิดก็ให้คดี (โทษ) น้อยลง

ฐิดาธันย์ :  นักโทษการเมืองบางคนไม่มีความผิดอะไรเลย  แค่ไปร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยก็ติดคุก  แล้วก็โดนข้อหาร้ายแรงด้วย  ทั้งที่มันไม่มีความจริงเลย  ถ้าแก้มาตรา 112 ได้นักโทษการเมืองเราก็คงจะไม่มี  แล้วชาวบ้านเราก็จะกล้าพูดกล้ารับกล้าฟังอะไรได้  เพราะมาตรา 112 นี่ชาวบ้านเรารับไม่ได้

ทวี :  ในฐานะชาวบ้าน  เหมือนว่ามีบางอย่างที่อยุติธรรม  คือเราไม่สามารถจะแสดงอะไรออกไปตรงๆ ได้  ถ้าแสดงออกตรงๆ ก็จะโดน 112 เหมือนกับที่นักโทษการเมืองโดน  ทุกคนอย่าไปอยู่ในกรอบกันหมด  ความคิดจะต้องกว้างออกไป  คุณจะอยู่ระดับไหน  ต้องวิจารณ์ได้  แต่ต้องวิจารณ์ในสิ่งที่ถูกที่ต้องไม่ใช่ด้วยการใส่ร้าย  เหมือนกับว่าเสื้อเหลืองเอา 112 มาเล่น  ทั้งที่กระบวนตรวจสอบมี  แต่ไม่ยอมตรวจสอบ  เวลาฝ่ายหนึ่งแค่เอ่ยคำว่าพระมหากษัตริย์ในเวทีชุมนุมก็กลัวแล้ว

ประเสริฐ :  ไม่มีความเป็นธรรมกับประชาชน  ผู้มีอำนาจได้เปรียบ  ถ้ารังเกียจใครก็โยนความผิดว่าไม่จงรักภักดี  ก็โดนคดีไป

สายสวาท :  คิดว่ามาตรา 112 มันแรงเกินไป

สวัสดิ์ :  แรงเกินไป ครอบจักรวาล ชนิดที่ว่าสองมาตรฐานเลย ก็เลยไม่เห็นด้วย

วิษณุ :  เพราะต้องการแก้กฎหมายที่มันเป็นสองมาตรฐาน การแอบอ้างใช้กฎหมายนี้ทำกับคนอื่น ..ไม่มีใครกล้าแตะ ผิดถูกยังไม่รู้เลย มันทำให้เกิดความไม่มีมาตรฐาน

สมเพชร :  ถ้ามันมีความเป็นธรรม ก็ไม่อยากจะลงชื่อ แต่ในระหว่างที่มันไม่มีความเป็นธรรม และเอามาเล่นในเชิงการเมือง เราไม่ชอบในจุดนี้ อีกเรื่องหนึ่งคือไม่น่าจะอยู่ใน (หมวด) ความมั่นคง เพราะความมั่นคงนี้มันกว้างจนเกินไป แล้วก็มันจะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนน้อยเกินไป คือบังคับกันเกินไป ถ้าหากนักการเมืองไม่เอามาเล่น ก็ไม่มีปัญหา แต่ส่วนมากก็นักการเมืองเอามาเล่นฝ่ายตรงข้าม พอถึงจุดฝ่ายตัวเอง ก็ไม่มีอะไร เหมือนกับสนธิกับดา ตอร์ปิโดใช่ไหม คำๆ เดียวกัน ถ้าพูดถึง ดา ตอร์ปิโด เขาพูดแค่ในสนามหลวง แต่สนธิ ลิ้มทองกุล ออกสื่อทั่วโลกนะครับ แต่ผลสุดท้ายเป็นไง เนี่ย ความเป็นธรรมมันไม่มี พอความเป็นธรรมไม่มีประชาชนทั่วไปก็อึดอัด ก็พอดีมีกลุ่มนิติราษฎร์มาขอในจุดที่ว่าใครจะร่วมลงรายชื่อแก้ไขมาตรา 112 นี่ไหม ผมกับในครอบครัวก็พร้อมกันทุกคน ก็ช่วยเหลือกัน

 

ตอนที่ร่วมลงชื่อ กลัวไหม

ศีลา :  ไม่กลัว

ฐิดาธันย์ :  ไม่กลัว  เราเป็นชาวบ้าน  เราเป็นประชาชน  เราเป็นคนไทย  เราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกให้หลานเรา  เราไม่กลัว

ทวี :  ด้วยใจไม่กลัว  เต็มใจ  และพร้อมที่จะให้ยกเลิกไปเลย  ไม่ต้องแก้

ประเสริฐ :  ไม่กลัว  เพราะมันไม่มีความเป็นธรรมกับประชาชน

สายสวาท :  ไม่กลัว เพราะว่าถ้ากลัวแล้วก็จะไม่ทำ ทำแล้วก็จะไม่กลัว

สวัสดิ์ :  ไม่กลัว

วิษณุ :  ไม่กลัว คือเราต้องการทำให้มันเป็นมาตรฐาน ถ้าเรามัวแต่กลัวก็แย่แล้ว ประเทศเราจะทำยังไง ประเทศเดินทางไปยังไง  ไม่สามารถที่จะเดินตัวตรงได้ ต้องเอียงข้างด้านใดด้านหนึ่งอย่างนั้นเหรอ มันต้องไปด้วยท่าทีสง่าผ่าเผยสิ ทำไมต้องทำอย่างนั้น เสียความรู้สึกสำหรับประชาชน ไม่ต้องแบ่งพรรคพวกแล้ว พวกมึงพวกกู เราไม่อยากแบ่งเป็นสีนั้นสีนี้ แต่พวกคุณทำให้เราต้องเลือกข้างเลือกฝ่ายอย่างนี้ มันเสียความรู้สึกนะ

สมเพชร : ไม่กลัว เดี๋ยวนี้ถ้าเราไม่สู้นะ เราก็ไม่มีโอกาสแล้ว เราจะเหลืออีกสักกี่ปี เพราะว่านี่ก็ 59 จะ 60 แล้ว ถ้าเราไม่ได้สู้ตอนนี้ สู้ไม่ได้ในยุคนี้ ลูกหลานเราไม่มีโอกาสละ สมัยก่อนกลุ่มลูกหลานเราเข้ามหาวิทยาลัยเป็นคนชั้นปัญญาชน เขาจะรู้ผิดถูก แต่เดี๋ยวนี้ออกมาไหม

 

คิดอย่างไรกับมาตรา 112

ศีลา :  ที่เขาพูดมาเราก็เข้าใจ 50-60 เปอร์เซ็นต์  เพราะเราไม่ได้เรียนมามากนัก  อยากให้คนที่โดนข้อหา 112 ลดคดีลง ให้มันไม่ต้องรับโทษหลายปีอย่างนี้  กฎหมายมันแรงเกินไป

ฐิดาธันย์ :  ที่นิติราษฎร์ทำนี่ก็ถือว่าดี  ให้ความสนับสนุนเพราะมันเกี่ยวกับสถาบันมากเกินไป  ใครแตะต้องอะไรไม่ได้เหมือนกับอากง SMS แกเป็นคนแก่แล้วไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็โดนข้อหานี้  เหมือนอาจารย์สุรชัยก็โดนข้อหานี้  อาจารย์สมยศก็โดนข้อหานี้  เราอยู่บ้านนอกมีโอกาสน้อยที่จะไปเยี่ยมได้  ถ้าเราแก้มาตรา 112 นี้ได้นักโทษการเมืองเราก็จะหลุดพ้นออกมา

ทวี :  เป็นดาบสองคม  จะให้โทษกับทางสถาบันมากกว่าประโยชน์  เป็นคุณให้คนเอามาใช้แต่เป็นโทษกับสถาบัน

ประเสริฐ :  มันเป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เอามาใช้เพื่อเป็นทางที่จะได้ผลประโยชน์

สายสวาท :  ของเรานี่ (โทษสูงสุด) ถึง 15 ปี ที่แก้มาตั้งแต่ปี 19 มันรุนแรงเกินไป

สวัสดิ์ :  มันครอบจักรวาลเกินไป สามารถตัดสินเป็นสองอย่างได้ จากคนผิดเป็นคนถูกได้ จากคนถูกเป็นคนผิดได้ อย่างที่เห็นๆ ระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองตอนนี้ ก็เหมือนสองมาตรฐาน มันก็ขัดความรู้สึก

วิษณุ :  มีขึ้นมาไว้ปกป้องพวกอำมาตย์ ทำให้ความไร้มาตรฐานเกิดขึ้น มันถูกใช้โดยกลุ่มอำมาตย์ เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ส่วนตัว อีกฝ่ายก็ไม่รู้จะทำยังไง เอาตัวนี้มาแอบอ้าง อยู่ๆ ก็กลายเป็นว่าผู้ใช้อำนาจตรงนี้อยู่ฝ่ายหนึ่งแล้ว อีกฝ่ายก็ไม่รู้จะทำยังไง เอาตัวไหนมาอ้างอิง เราจะขอให้ล้มมาตราตัวนี้ไปก็ไม่ได้อีก เขาไม่ยอม ผู้มีอำนาจไม่ยอม เพราะกลัวจะสูญเสียอำนาจ

สมเพชร :  112 ถ้ามันมีความเป็นธรรม คือทั้งสองฝ่ายได้รับโทษเท่ากัน อันนี้เราจะไม่แก้ไขก็ได้ แต่ที่เราอยากจะแก้ไขคือมันเอามาควบคุมในฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามแค่จะอ้าปาก หรือจะขยับก็จะโดนแล้ว แต่เขาพูด หรือแอบอ้างอะไร ตามที่จริง กลุ่มเสื้อแดงไม่เคยแอบอ้างสถาบันนะครับ แต่อีกฝ่ายหนึ่งพูดขึ้นคำแรกก็สถาบันก่อนแล้ว เขาดึงลงมาแล้ว พวกเรานี่พยายามระมัดระวัง แต่เขาก็พยายามดึงลงมาแล้วก็ยัดเยียดให้พวกเรา

 

คิดว่าครก.112 ผู้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายควรจะทำอย่างไรต่อไป

ศีลา :  ไม่รู้เหมือนกัน  ก็ยื่นใหม่  ช่วยกันแก้ไข  ช่วยกันพูด

ฐิดาธันย์ :  ควรจะสู้ต่อไป  ควรจะผลักดันต่อไป  ถ้าต้องการเอกสารอะไรยื่นเข้าไปใหม่อีก  โดยที่ยื่นคราวที่แล้วเราโดนไปดองที่ประธานสภาไม่รับ  เราก็สู้ต่อไป  คราวนี้จะเอาเป็นหมื่นเป็นแสน  ประธานสภานี่เราก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรเขาถึงไม่รับ  เราอยากจะถามประธานสภาด้วยว่า  เพราะอะไรถึงไม่รับร่างกฎหมายแก้มาตรา 112 ของชาวบ้าน  ท่านก็มาจากประชาชนเหมือนกันทำไมท่านถึงไม่รับ  เอกสารของประชาชนถึง (ตัว) หนังสือจะไม่ดีไม่งามแต่ประชาชนทำด้วยใจ  อยากจะฝากถึงท่านประธานสภาด้วย

ทวี :  ต้องดำเนินการต่อไป  ถ้าเราหยุด  ประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของทั้งประเทศพร้อมใจที่จะยกเลิก 112  แค่เรามาโดนปัญหาประธานสภาไม่รับ  มันต้องมีวิธีการทางอื่นอีก  ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ  ไม่ต้องเอาแล้ว  ถ้าเขาไม่รับ  เราก็ต้องไปเสนอวิธีอื่น  หรือเราอาจจะมีสภาของพวกเราเข้าไปอีกสภาหนึ่งก็ได้

ประเสริฐ :  คงจะเดินหน้าต่อ  จนกว่าที่จะแก้ไขได้  ผมเห็นด้วย  พวกอาจารย์ก็มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายมาก  นานาประเทศเขาไม่เอากฎหมายแบบนี้มาเกี่ยวข้องกับประชาชน

สายสวาท :  ถ้าหากว่ายังต้องผ่านรัฐสภา รัฐบาลต้องรับผิดชอบ มันไม่มีทาง ดูเดี๋ยวนี้มันเป็นทางตัน นอกจากเราลุกขึ้นมาเองอีกต่างหาก แต่ก็ยากที่จะหาผู้นำ เพราะว่าเรื่องจำคุกใครๆ ก็กลัวใช่ไหม มันมาก

สวัสดิ์ :  อยากจะให้กลุ่มนี้ ครก. 112 ช่วยเป็นผู้นำในการเสนอชื่อใหม่ คือล่ารายชื่อใหม่ เสนอไปที่ทางรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง เสนอข้อเดิมอีกทีหนึ่ง เพื่ออย่างน้อยเป็นแรงผลักดันว่าประชาชนยังต้องการแบบนี้อยู่ ไม่เปลี่ยนใจ ไม่เปลี่ยนแปลง

วิษณุ :  เสียใจที่ชื่อไม่ผ่านสภา เราก็ประชาชนคนหนึ่ง อุตส่าห์รวบรวมรายชื่อขึ้นไป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเสนอขึ้นไปอีก เพียงแต่เปลี่ยนหัวข้อใหม่ไหม หรือเปลี่ยนเสนอเอากฎหมายที่มันใกล้เคียงขึ้นไปแทนได้ไหม แล้วก็ลบบางส่วน ยังคงไว้บางส่วน มันก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ในเมื่อประชาชนเรียกร้องไป

สมเพชร :  ควรจะเดินหน้าต่อไป ประชาชนที่สนับสนุนก็คือยังสนับสนุนอยู่ แต่ช่วงนี้อาจจะแผ่วหน่อย อาจจะมีเรื่องอะไรมากลบ แต่ถ้าเกิดว่าถ้ามาในเชียงใหม่ หรือในพื้นที่ของเรา เราก็จะไปให้การสนับสนุน แล้วก็ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

 

โดยส่วนตัวคิดจะผลักดันประเด็นมาตรา 112 ต่อไปหรือไม่  อย่างไร

ศีลา :  จะผลักดันต่อ  คณะนิติราษฎร์ทำต่อก็จะสนับสนุน  อยากฝากให้นิติราษฎร์ทำจริงๆ ช่วยกันจริงๆ  เราเป็นชาวบ้านก็จะช่วยสนับสนุนด้วย  เต็มที่เลย

ฐิดาธันย์ :  แน่นอนที่สุด  จะผลักดัน 112 ต่อไป  รวบรวมรายชื่อยื่นต่อประธานสภารอบสอง  หรือว่าขึ้นเวทีปราศรัยหรือทำมวลชน  จะทำทุกวิถีทาง  เราต้องแก้ให้ได้  ถ้าเราแก้ไม่ได้นี่บ้านเมืองไม่เจริญ  ยกเลิกไปได้ยิ่งดี  อยากฝากถึงประธานสภา  ว่าทำไมท่านถึงไม่รับแก้ไขมาตรา 112

ทวี :  ตอนนี้อายุ 40 กว่าก็คงจะผลักดันจนได้  แม้ตัวเองจะไม่เห็นแต่ก็ให้ลูกหลานได้เห็น .. อย่างน้อยก็ต้องมีองค์กรของเรา  คือนิติราษฎร์ที่เรานับถือ  มีอาจารย์หลายๆ ฝ่าย หลายๆ กลุ่ม  ที่มีแนวทางความคิดกับชาวบ้านอยู่ทางนี้ถ้ามีกิจกรรมก็รวบรวมกันไปอีกครั้งหนึ่ง  ต้องไม่หยุด  ต้องมีการเคลื่อนไหวตลอด  ตอนนี้ภาคชาวบ้าน ภาคประชาชน  พร้อมที่จะสู้แล้ว  ถ้าฝ่ายรัฐบาล  ฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายสภาไม่เล่นด้วย  เราก็มีองค์กรอีกองค์กรที่มารองรับเราอยู่  อย่างน้อยๆ ก็มีนิติราษฎร์ที่ยืนสู้กันอยู่ ขอฝากถึงรัฐบาลได้ไหมว่า  สิ่งที่รัฐบาลแถลงนโยบายออกมาก็คือแก้รัฐธรรมนูญ  อยากให้วาระสามดำเนินการไปเลย  คราวที่แล้วผมก็ไม่พอใจเหมือนกัน  อยากให้ดำเนินการเรื่องแก้รัฐธรรมนูญควบคู่กับการแก้ 112 บางบทที่ไม่เข้าท่าก็ยกเลิกไปเลยก็ได้  กฎหมายที่เอาเปรียบชนชั้นล่างเกินไปก็ไม่ต้องมีแล้ว

ประเสริฐ :  จำเป็นต้องแก้ไข  ไม่แก้ไขประเทศไทยก็เดินหน้าไม่ได้  น่าจะรวบรวมแล้วก็เริ่มต้นอีกที  จากอาจารย์ที่มีความรู้เกี่ยวกับมาตรา 112 น่าจะรวบรวมประชาชนลงชื่ออีก  ขอให้ทีมงานอาจารย์สู้จริงๆ   ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

สายสวาท :  จะเรียกร้องต่อไป ถ้ามีหนทางค่ะ เราเป็นชาวบ้านคนหนึ่ง  ไม่มีบทบาท ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้กับภูเขามหึมา ยังคิดว่าคงมีสักวัน คงมีจังหวะ ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด แต่ช่วงนี้นี่มองทางไหนยังหาหนทางไม่เจอ  อยากให้เลิกไปเลยก็ดี ถ้าหากเลิกไม่ได้ก็ขอให้แก้ เรื่องลงโทษเนี่ยมันมากเกินไป ก็อยากจะให้มีที่พึ่งสุดท้ายอยู่ที่นิติราษฎร์ ยังไงนิติราษฎร์ก็ยังเดินอยู่ อย่างรัฐบาลก็เห็นแก่ตัว เรื่องยศอำนาจบารมี ดูแล้วเห็นแก่ตัว ถึงจะเคยศรัทธา ความศรัทธาเดิมก็มี แต่ที่ทำให้เสื่อมก็แบบเคยสร้างบุญเคยมีบุญบารมี แต่พอมันจบไปแล้ว เขาออกมาอีกฉากหนึ่ง อย่างทักษิณ  มันก็จบ ความดีก็ยังประทับใจ แต่ตอนนี้นี่ไม่เหลืออะไร

สวัสดิ์ :  จะผลักดันประเด็น 112 ต่อไป อยากจะให้ครก.ช่วยเป็นสื่อ หรือเป็นผู้นำให้กับเสื้อแดง หรือประชาชนทั่วไป ล่ารายชื่อใหม่ แล้วก็เอายื่นต่อสภา  อยากจะพูดไปถึงท่านประธานสภาว่าคนส่วนใหญ่ ตาสีตาสาตามีตามาชาวบ้านน่ะ ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ก็น่าจะผลักดันส่วนนี้ให้เข้าสภาให้ได้ ให้เป็นไปตามมติส่วนใหญ่ของประชาชน ไม่ใช่ว่ามีอำนาจแล้วก็กลัว กลัวสิ่งที่เรียกว่ามือที่มองไม่เห็น โดยไม่ต้องทำอะไร บอกปัดทิ้งไป อย่างนั้นประชาชนเลือกไปมันก็ไม่มีประโยชน์ สภาผู้แทนราษฎร ไม่มีประโยชน์แล้วสำหรับประชาชน ประชาชนเลือกไปก็เพื่อจะให้เป็นตัวแทน อยากจะให้นำความรู้สึกของประชาชนไปทำหน้าที่ในสภา ไปเสนอสภา เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ว่าพอไปถึงสภาแล้ว เห็นอะไรมันขัดกับประโยชน์ของตัวเอง ก็เลิกซะดื้อๆ มันก็เสียความรู้สึกของประชาชน  ควรจะลงประชามติ ลองดูอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทางสภาได้มีความรู้สึกนึกคิดว่าประชาชนยังต้องการทำอย่างนี้อยู่ ไม่เลิกล้ม ยังยึดมั่นในจุดนี้อยู่ เพื่อเป็นสิ่งสะท้อนให้ทางสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานรัฐสภา ได้รับทราบรับรู้ในสิ่งเหล่านี้

วิษณุ :  จะผลักดันเรื่องมาตรา 112 ต่อ คงจะต้องยืนหยัดตรงนี้อยู่ ถ้ามีกลุ่มก้อนหรือเหตุการณ์ หรือผู้นำที่ยังเรียกร้องตรงนี้อยู่ เราก็จะเข้ากลุ่มเขา เหมือน อ.ตุ้ม อ.หวาน ที่รวมกลุ่มทุกวันอาทิตย์ ปฏิญญาหน้าศาล ถ้าเป็นไปได้เราก็ส่งกำลังใจไป หรือให้กำลังใจเขา หรือส่งเงินส่งอะไรไปช่วยเหลือ

สมเพชร :  จะผลักดันต่อไป จนกว่าชีวิตจะหาไม่ คือตั้งแต่แรกจนถึงเดี๋ยวนี้ คนที่โดนมาตรานี้คือมันลำบาก ความยุติธรรมมันไม่มี มันหดหู่ตรงนี้ แล้วมันก็เลยต้องสู้ การผลักดันของมวลชนอย่างพวกผม ก็คงจะให้การสนับสนุน ไม่ได้สนับสนุนกันแต่ในครอบครัวนะครับ ผมก็ต้องเอาใบ (เอกสาร) ที่นิติราษฎร์พยายามไปแนะนำชี้แจง หรือว่ายกตัวอย่างให้เขาฟัง ให้เขาได้รู้ว่ามาตราที่เราต้องแก้เป็นเพราะอะไร เหตุผลเพราะอะไรเป็นยังไง เราก็ให้เหตุผลเขา ส่วนมากเขาก็ให้ความร่วมมือ คือเขาฟังแล้วมันไม่มีความเป็นธรรม  คือที่มันไม่ผ่านสภา เราจะหวังกับนักการเมืองมากก็ไม่ได้ นักการเมืองเขาก็พยายามเอาตัวรอด เหมือนกับทุกวันนี้ แค่แก้รัฐธรรมนูญ เขาก็ไม่กล้าที่จะขยับเลย ก็เห็นใจในกลุ่มพวกพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยส่วนมากไปตามกระแส มันมากกว่าที่มีความจริงใจที่จะอยู่ข้างประชาชน ถ้าพูดถึงว่าพรรคเพื่อไทยมี 265 เสียงใช่ไหมครับ ผมว่ามีไม่ถึง 25 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป ที่อยู่ในฝ่ายประชาชน หรือพร้อมที่จะทำอะไร นอกนั้นก็อยู่เพื่อแบบว่าเหนี่ยวรั้งเก้าอี้ตัวเองไว้ ไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร ก็เหมือนทุกวันนี้คุณก็จะต้องรอๆๆ ถ้าเกิดว่ามีปัญหาทางการเมือง มีอะไรเป็นไปแบบนี้ คุณได้ทำอะไรสักอย่างไหม ไม่เลย ประชาชนเลือกพวกคุณเข้าไป แล้วพวกคุณก็ไม่กล้าที่จะทำ  อยากจะให้กำลังใจกลุ่มนิติราษฎร์ คือมีความภูมิใจ ผมได้มีส่วนร่วมเล็กน้อย แค่เป็นประชาชนก็มีความภูมิใจกับกลุ่มนิติราษฎร์ครับ

 

______________________________________________________

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net