Skip to main content
sharethis

ประณามการรับรองร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนต่ำกว่ามาตรฐานสากลมาก

                19 พฤศจิกายน 2555 ภาคประชาสังคมอาเซียน ออกแถลงการณ์ประณามการรับรองร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนต่ำกว่ามาตรฐานสากลมาก 

                โดยแถลงการณืระบุว่า ปฏิญญาฉบับนี้ไม่คำนึงถึงข้อกังวลอย่างลึกซึ้งของบรรดาเจ้าหน้าที่อาวุโสองค์การสหประชาชาติ ผู้ชำนาญการด้านสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานระดับรากหญ้าและหน่วยงานภาคประชาสังคมอีกหลายร้อยแห่งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ บรรดาผู้นำประเทศอาเซียนเดินหน้ารับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Declaration) เมื่อวานนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นกฎบัตรซึ่งทำลายกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หาได้เป็นการส่งเสริมไม่ กฎบัตรสิทธิมนุษยชนฉบับนี้เป็นเพียงเครื่องกำบังการประกาศอำนาจรัฐต่าง ๆ มากกว่า

                เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่รัฐบาลประเทศอาเซียนยืนยันจัดทำปฏิญญาซึ่งเหมือนเป็นการระบุว่า ประชาชนของตนเองคู่ควรกับสิทธิมนุษยชนน้อยกว่าประชาชนในยุโรป แอฟริกา หรืออเมริกา ประชาชนในอาเซียนไม่ควรยอมรับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ต่ำกว่ามาตรฐานในที่อื่น ๆ ทั่วโลก 

                ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนควรแสดงเจตจำนงสากลในการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายถึงการจำกัดอำนาจของรัฐบาล แต่ในทางตรงข้าม เนื้อหาของปฏิญญาฉบับที่ผ่านการรับรองนี้ จะยิ่งสร้างความชอบธรรมมากขึ้นให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่อยู่ใต้เขตอำนาจของรัฐบาลอาเซียน ทั้งนี้จะเห็นได้จาก “หลักการทั่วไป” ที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง นอกจากนั้น ยังมีการลดหย่อนการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานโดยอ้างการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องกระทำกับบุคคล  มีการอ้างบริบทระดับภูมิภาคและระดับชาติเพื่อเป็นเงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และยังอ้างข้อจำกัดต่อสิทธิอย่างอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิทธิอันไม่พึงถูกจำกัดเลย ในหลายข้อบัญญัติ มีการกำหนดเงื่อนไขการคุ้มครองสิทธิให้ขึ้นอยู่กับกฎหมายระดับประเทศ แทนที่จะกำหนดให้กฎหมายควรได้รับการปรับให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับสิทธิเหล่านั้น  

                ปฏิญญาฉบับนี้ยังละเลยสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานหลายประการ รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสมาคมและสิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้กลายเป็นบุคคลผู้สูญหาย 

                เนื้อหาที่เพิ่มเติมเข้ามาในนาทีสุดท้ายสำหรับถ้อยแถลงของผู้นำที่รับรองปฏิญญาฉบับนี้ แทบไม่ได้แก้ปัญหาขั้นพื้นฐานของปฏิญญาเลย แม้จะเป็นการยืนยันเจตจำนงของรัฐบาลอาเซียนที่มีต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR) และกฎบัตรสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ตราบที่ “หลักการทั่วไป” ของปฏิญญาฉบับนี้และช่องโหว่ต่าง ๆ ยังปรากฏอยู่ จะเป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ ต่อรัฐบาลว่า สามารถอ้างเหตุผลเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้

                เป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่งที่รัฐบาลในอาเซียนซึ่งเป็นประชาธิปไตยมากกว่าและเปิดรับกับสิทธิมนุษยชนมากกว่า กลับยอมตกอยู่ใต้แรงกดดันของรัฐบาลที่รังเกียจสิทธิมนุษยชน และยอมรับกฎบัตรที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องเหล่านี้

                เรายังขอแสดงความไม่เห็นด้วยต่อระบบการตัดสินใจแบบ “ปรึกษาหารือและฉันทามติ” (consultation and consensus) ของอาเซียน ซึ่งก็ทำให้ประชาชนผิดหวังอีกครั้ง เป็นการเผยให้เห็นว่าวาระสิทธิมนุษยชนของอาเซียนถูกกำหนดแต่ฝ่ายเดียวโดยบรรดารัฐภาคี โดยแทบไม่มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับหน่วยงานระดับรากหญ้าและหน่วยงานภาคประชาสังคมซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับประชาชนในภูมิภาคอาเซียนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

                ปฏิญญาฉบับนี้ไม่คู่ควรกับชื่อของมันเลย เราจึงขอปฏิเสธ และจะไม่นำปฏิญญาฉบับนี้มาใช้ในการทำงานกับกลุ่มต่าง ๆ ที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค เราจะไม่อ้างปฏิญญาฉบับนี้ในการติดต่อกับอาเซียนหรือรัฐภาคีของอาเซียน ทั้งยังจะประณามว่าเป็นกฎบัตรที่ต่อต้านสิทธิมนุษยชน เราจะยังอ้างอิงกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่อไป เพราะประกันเสรีภาพและให้ความคุ้มครองที่คู่ควรกับประชาชนและกลุ่มต่าง ๆ ในอาเซียน แตกต่างจากปฏิญญาฉบับนี้มาก เราขอเตือนบรรดารัฐภาคีอาเซียนถึงพันธกรณีของพวกเขาที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และย่อมมีผลบังคับใช้เหนือกว่ากรณีที่เนื้อหามีความขัดแย้งกับปฏิญญาฉบับนี้ และไม่ควรมีการอ้างปฏิญญาฉบับนี้เป็นข้อแก้ตัวกรณีที่รัฐไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้

 

รับรองโดย:

  1. Aliansi Masyarakat Adat Nusantara
  2. ALTSEAN Burma
  3. Amnesty International 
  4. Arus Pelangi 
  5. ASEAN Watch Thailand
  6. Asian Center for the Progress of the Peoples (ACPP)
  7. Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)
  8. ASEAN LGBTIQ Caucus
  9. ARTICLE 19
  10. Boat People SOS
  11. Burma Partnership
  12. Cambodian Food and Service Workers' Federation (CFSWF)
  13. Cambodian Human Rights and Development Association (ADHOC)
  14. Cambodian Independent of Civil-Servant Association (CICA)
  15. Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights (LICADHO)
  16. Cambodian Workers Center for Development (CWCD)
  17. Cambodian Youth Network (CYN)
  18. Coalition of Cambodian Farmer Community (CCFC)
  19. Forum for Democracy in Burma
  20. Forum LGBTIQ Indonesia
  21. Human Rights Defenders-Pilipinas (HRDP)
  22. Human Rights Education Institute of Burma (HREIB)
  23. Human Rights Watch
  24. IMPARSIAL (The Indonesian Human Rights Monitor)
  25. Independent Democratic of Informal Economy Association (IDEA)
  26. Indonesia for Human’s
  27. Informal Service Center (INSEC) 
  28. International Commission of Jurists (ICJ)
  29. International Federation for Human Rights (FIDH)
  30. International Gay and Lesbian Human Rights Commission (IGLHRC)
  31. Justice for Sisters, Malaysia
  32. Knowledge and Rights with Young People Through Safer Spaces (KRYSS)
  33. Lao Movement for Human Rights
  34. Lawyers For Liberty (Malaysia)
  35. Lawyers’ Rights Watch Canada
  36. Migrant Forum in Asia (MFA)
  37. Myanmar Youth Empowerment Program
  38. Myanmar Youth Forum
  39. NGO Coordinating Committee on Development (NGO-COD), Thailand
  40. People's Action for Change, Cambodia
  41. People’s Solidarity for Participatory Democracy (PSPD)
  42. People's Watch (India)
  43. Philippine Alliance of Human Rights Advocates (PAHRA)
  44. Philippine Human Rights Information Center (PHILRIGHTS)
  45. Philippine NGO Coalition on the UN Convention on the Rights of the Child
  46. Quê Me: Action for Democracy in Vietnam
  47. Sayoni, Singapore
  48. Seksualiti Merdeka, Malaysia
  49. South East Asian Committee for Advocacy (SEACA)
  50. Suara Rakyat Malaysia (SUARAM)
  51. Task Force Detainees of the Philippines (TFDP)
  52. Thai Volunteer Service (TVS)
  53. The Commission for Missing Persons and Victims of Violence (Kontras)
  54. Towards Ecological Recovery and Regional Alliance (TERRA)
  55. Vietnam Committee on Human Rights

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net