Skip to main content
sharethis

ผู้นำอาเซียนร่วมลงนามปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแล้ว ท่ามกลางเสียงวิจารณ์เนื้อหา ขณะที่โอบามา เตรียมเยือนกัมพูชาเย็นวันนี้ หลังเยือนไทยและพม่า ด้านชาวบ้านกัมพูชาถูกจับหลังพ่นสเปรย์ “SOS” หวังขอความช่วยเหลือ “โอบามา” หลังถูกสนามบินเตรียมไล่ที่

ผู้ชุมนุมในนาม “สมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน” (AGPA) ชุมนุมหน้ารัฐสภาในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมาเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาและอาเซียนปรับปรุงเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ขณะที่เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) บรรดาผู้นำชาติอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งถูกวิจารณ์ในตัวเนื้อหาว่าไม่มีมาตรการที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างเพียงพอ (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

 

ผู้นำอาเซียนลงนามปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนแล้ว
ขณะที่ฮิวแมนไรท์ ว็อทซ์วิจารณ์ว่ามีช่องโหว่

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชานั้น สถานีวิทยุเสียงแห่งอเมริกา (VOA) รายงานว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ย. นี้ ผู้นำของชาติในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ได้ลงนามในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ยกย่องการลงนามดังกล่าวว่าเป็นหลักไมล์สำคัญของภูมิภาค และเชื่อว่าการลงนามดังกล่าวเป็นพัฒนาการขั้นใหญ่ และปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนดังกล่าวจะถูกใช้เฝ้าสังเกต มาตรการปฏิบัติ มาตรการป้องกัน มาตรการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มประเทศอาเซียน

อย่างไรก็ตามปฏิญญาดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่ายังไม่มีมาตรการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เพียงพอ และจะทำให้แต่ละประเทศมีข้ออ้างในการละเลยมากกว่าที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยฟิล โรเบิร์ตสัน จากองค์กรฮิวแมนไรท์ ว็อทซ์ ซึ่งมีสำนักงานที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกากล่าวว่า “คุณไม่สามารถที่จะมีข้อยกเว้นระดับชาติและระดับภูมิภาค” และว่า “คุณไม่สามารถเริ่มต้นยกตัวอย่างที่กินความกว้างขวางอย่างคำว่าศีลธรรมสาธารณะ จนสิทธิเหล่านี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ พวกเขาได้สร้างช่องโหว่เอาไว้แต่แรก จากนั้นพวกเขาก็พยายามประดับตกแต่งรอบๆ ช่องโหว่นั้น”

ทั้งนี้ในมาตรา 8 ของปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ระบุตอนหนึ่งว่า การใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะถูกจำกัดก็ด้วยกฎหมายเท่านั้น ในวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้อื่น และด้วยความจำเป็นต่อความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ สาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ ศีลธรรมสาธารณะ อย่างเช่นสวัสดิการทั่วไปของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย

นอกจากนี้ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนยังถูกวิจารณ์ด้วยว่าไม่มีเนื้อหาคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBT โดยไม่มีการรับรองถ้อยคำดังกล่าวในตัวปฏิญญา

 

ชาวกัมพูชาถูกจับหลังพ่นรหัส “SOS” บนหลังคาบ้าน ขอความช่วยเหลือ “โอบามา”

ขณะเดียวกัน ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา จะออกจากประเทศไทยไปเยือนพม่า และต่อด้วยการเยือนกัมพูชาในวันที่ 19 พ.ย. นั้น ก่อนหน้านี้ พนมเปญโพสต์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของกัมพูชาได้จับชาวบ้านกัมพูชา 8 รายที่พ่นสเปรย์เป็นรหัสมอร์สขอความช่วยเหลือว่า "SOS" ที่หลังคาบ้าน (ดูภาพที่รายงานของ Human Rights Watch) และติดภาพของประธานาธิบดีโอบามาขนาดใหญ่ โดยหวังให้โอบามาซึ่งจะมาเยือนพนมเปญในวันจันทร์นี้ (19 พ.ย.) สนใจต่อกรณีที่บ้านเรือนของพวกเขากว่า 160 หลังจะถูกไล่รื้อ หลังจากที่เจ้าหน้าที่กัมพูชาแจ้งแก่พวกเขาเมื่อเดือนกรกฎาคมว่าให้พวกเขาย้ายออกไปเนื่องจากจะมีโครงการขยายรั้วป้องกันสนามบิน

โดยเจ้าหน้าที่กัมพูชาได้ควบคุมตัวพวกเขาเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนที่จะปล่อยตัวไปโดยไม่มีการตั้งข้อหา

 

ฮิวแมนไรท์ ว็อทซ์แนะโอบามาให้เตือนฮุน เซ็น เรื่องสิทธิมนุษยชน

ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) ฮิวแมนไรท์ ว็อทซ์ ก็ได้เสนอแนะต่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่าในระหว่างการเยือนพนมเปญ ช่วงการประชุมสหรัฐ-อาเซียน และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาควรที่จะแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์อันเลวร้ายของประเด็นสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา

“โอบามาควรบอกกับฮุน เซ็น ด้วยถ้อยคำที่ไม่คลุมเครือว่าการสนับสนุนเงินบริจาคอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่บนเงื่อนไขของการปรับปรุงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของกัมพูชาที่มีประวัติอันน่าสะพรึงกลัวอย่างรีบด่วน” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์ ว็อทซ์กล่าว “โอบามาควรกล่าวกับประชาชนกัมพูชาอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะและตรงไปตรงมาว่า สหรัฐอเมริกายืนเคียงข้างพวกเขาเพื่อต่อต้านความรุนแรงทางการเมืองและต่อต้านการกลับไปเป็นรัฐระบบพรรคการเมืองเดียว เขาควรทำให้ชัดเจนว่า หากไม่มีการปฏิรูปที่เป็นระบบ สหรัฐอเมริกาจะไม่พิจารณาว่าการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาในปีหน้ามีความน่าเชื่อถือ”

ในการแถลงข่าวของแบรด อดัมส์ยังกล่าวด้วยว่า โอบามาควรที่จะกดดันฮุน เซ็น ในทางสาธารณะให้ยอมรับในการอภัยโทษผู้นำฝ่ายค้านสม รังสี และปล่อยตัวเจ้าของสถานีวิทยุอิสระ มัม โสนันโท เช่นเดียวกับยุติการดำเนินคดีอาญาที่มีแรงจูงใจทางการเมืองกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักกิจกรรมทางสังคม ผู้สื่อข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยสม รังสี ขณะนี้ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ หลังถูกตัดสินคดีลับหลังให้ต้องโทษจำคุก 12 ปี ส่วนมัม โสนันโทต้องโทษจำคุก 20 ปี

ทั้งนี้กระบวนการยุติธรรมที่ยึดพวกพ้อง และผู้พิพากษาที่ถูกควบคุมโดยทางการเมือง ถูกนำมาใช้มากขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายที่วิจารณ์รัฐบาล ผู้นำฝ่ายค้านที่ปากกล้าจะถูกเล่นงานด้วยการฟ้องคดีอาญาหรือขับออกจากรัฐสภา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมสตรี 13 คน ถูกตัดสินว่ามีความผิด หลังมีการไต่สวนอย่างรวบรัดโดยศาลด้วยข้อกล่าวหาที่พวกเธอชุมนุมกันอย่างสงบเพื่อต่อต้านการยึดที่ดินอย่างฉ้อฉลในพนมเปญ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้แทรกแซงคดีดังกล่าว ด้วยการช่วยเหลือเพื่อให้มีการปล่อยตัวผู้หญิงเหล่านั้น

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถือเป็นผู้นำรัฐบาลที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในเอเชีย โดยปกครองกัมพูชาภายใต้การนำของพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) มายาวนานกว่า 27 ปี และประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 30 ปี

แม้จะสำเร็จการศึกษาในระดับประถมปลาย แต่ฮุน เซ็น ก็เป็นผู้ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์นับ 10 สถาบันการศึกษา โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านรัฐศาสตร์เมื่อปี 2544 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านการศึกษาเมื่อปี 2549 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net