Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมไทยเผย หวังเห็นนายกฯ เป็นต้นแบบนักการเมืองรุ่นใหม่ ไม่โกหกประชาชน พลิกลิ้นนำ TPP เข้าหารือกับโอบาม่า เย็นนี้ พร้อมทำจดหมายเปิดผนึกถึงโอบาม่า ร้องอย่าใช้ชีวิตคนไทยสังเวยบรรษัทข้ามชาติ ตอบแทนเงินช่วยเลือกตั้ง

 
 
 
วันนี้ (18 พ.ย.55) ตัวแทนภาคประชาสังคมประกอบไปด้วย กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch), เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ และมูลนิธิสุขภาพไทย เปิดการแถลงข่าวคัดค้านการประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) และจัดกิจกรรมต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอบามาในการมาเยือนประเทศไทย ที่ด้านหน้าสนามบินดอนเมือง เมื่อเที่ยงที่ผ่านมา
 
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์ เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับทราบถึงความห่วงใยของภาคส่วนต่างๆ ต่อความตกลง TPP จึงได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ยืนยันว่า ในเย็นนี้จะไม่หยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจะจัดให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
 
 
“เราเชื่อมั่นว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ไม่พลิกลิ้น ไม่พูดอย่างทำอย่าง เพราะที่ผ่านมาคนไทยมีประสบการณ์กับการที่นักการเมืองไม่ว่าพรรคใดต่างก็มีพฤติกรรมที่เชื่อไม่ได้ การรับปากของนายกฯครั้งนี้ที่จะจัดให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อการเจรจาความตกลง TPP อย่างรอบด้าน ซึ่งนี้จะเป็นมติใหม่ของกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
 
เราหวังว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะมีวิจารณญาณในการชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของ TPP และการเจรจาการค้าเสรีในกรอบอื่นๆให้อยู่บนฐานประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่แค่การส่งออกหรือการยื่นหมูยื่นแมวเพื่อคงสิทธิพิเศษ GSP ให้แก่ธุรกิจเท่านั้น”
 
อย่างไรก็ตาม สมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าวว่า ภาคประชาชนจะเดินหน้าตรวจสอบติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
 
“เราเป็นห่วงและเข้าใจว่า นายกฯเผชิญแรงกดดันจากกลุ่มธุรกิจส่งออกเยอะมากซึ่งพยายามทำให้การเจรจาไม่โปร่งใส ไม่มีส่วนร่วม จึงต้องติดตามให้ภาควิชาการ หน่วยงานที่กำกับดูแลต่างๆ สื่อมวลชน เข้ามาร่วมตรวจสอบและศึกษาอย่างเต็มที่ให้เป็นจุดยืนของประเทศเพื่อใช้ในความตกลงต่างๆที่มีลักษณะเดียวกัน”
 
 
ทั้งนี้ ภาคประชาสังคม 14 องค์กร ยังได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีใจความว่า
 
“พวกเราภาคประชาสังคมไทยยินดีต้อนรับการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของท่านครั้งนี้ เราทราบดีว่า ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง ซึ่งท่านให้สัญญาประชาคมว่า จะเข้ามาจัดการเอาผิดกับพวกวอลล์สตรีทและให้ความสนใจกับเมนสตรีทที่ไม่ใช่พวกคนรวย 1% ขณะเดียวกัน คนอเมริกันมากกว่า 50 ล้านคนเข้าไม่ถึงการรักษา สหรัฐฯเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวที่ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งท่านก็รับปากว่าจะใช้ Obama Care ทำให้พวกเขาเข้าถึงการรักษา
 
อย่างไรก็ตาม การที่ท่านพยายามผลักดันความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) โดยชักชวนประเทศไทยให้เข้าร่วมด้วยนั้น สวนทางกับสิ่งที่ท่านรับปากไว้กับประชาชนอเมริกันโดยสิ้นเชิง มิหนำซ้ำยังทำให้ประชาชนในประเทศต่างๆที่อยู่ในความตกลงนี้ต้องรับชะตากรรมเช่นเดียวกับอเมริกันชน
 
จากเนื้อหาการเจรจาที่หลุดรอดออกมาสู่สาธารณะ ชี้ให้เห็นว่า ความตกลง TPP จะก่อให้เกิดผลกระทบดังนี้
 
- จะช่วยอุตสาหกรรมยาข้ามชาติถีบราคายาทั้งในและต่างประเทศให้สูงขึ้น และผูกขาดทำกำไรแต่เพียงเจ้าเดียวอย่างยาวนานยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีบทว่าด้วยยาที่จำกัดการต่อรองราคายาและทำลายความพยายามในการควบคุมการใช้ยาอย่างเหมาะสมในระบบสุขภาพ
 
- เพิ่มอำนาจบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ให้ไปจัดการทำลายกฎหมายภายในประเทศต่างๆและนโยบายสาธารณะต่างๆที่ทำหน้าที่คุ้มครองสุขภาพประชาชนจากสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น บุหรี่ และแอลกอฮอล์ และการรักษาสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากรด้วยการฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการ
 
-  บ่อนทำลายความมั่นคงทางการเงินของประเทศ ด้วยการจำกัดสิทธิของประเทศในการใช้มาตรการและนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค
 
- ทำลายเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตด้วยการสอดไส้เนื้อหาจำกัดสิทธิประชาชนในนามของการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านความตกลงนี้
 
- ทำลายหลักการว่าด้วยความโปร่งใสด้วยการปิดหูปิดตาสาธารณชน ไม่ให้ล่วงรู้เนื้อหาและผลกระทบที่จะเกิดจากความตกลงฯ แต่กลับอนุญาตให้ตัวแทนธุรกิจเข้าไปร่วมการเจรจา
 
เราตระหนักดีว่า PhRMA และอุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ รวมทั้งบรรดาผู้ร้ายทางการเงินในวอลล์สตรีทเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ในการเลือกตั้งของท่าน พวกเขาให้เงินสนับสนุนท่านในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้มากเสียยิ่งกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2008 ท่านจึงต้องตระบัดสัตย์ต่อคนอเมริกันด้วยการเอาภาษีของประชาชนอุ้มธุรกิจของพวกเขา และสร้าง ObamaCare ที่อุตสาหกรรมยายังคงทำกำไรได้ต่อไปโดยที่อเมริกันชนได้ประโยชน์น้อยมาก
 
แต่จงอย่าใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศของเราเป็นเสมือนเสื้อชูชีพให้กับเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของอเมริกัน หรือเป็นบรรณาการตอบแทนอำนาจเงินของทุนเหล่านี้ที่ทำให้ท่านกลับมาทำเนียบขาวอีกครั้ง ทั้งๆที่ไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้แม้แต่เรื่องเดียว
 
จงกลับไปทำตามคำมั่นสัญญาที่ท่านให้ไว้กับประชาชน สร้างงานให้คนอเมริกัน ไม่ใช่ด้วยเลือดเนื้อของคนในชาติอื่น กำกับและควบคุมสถาบันการเงินและวาณิชธนกิจทั้งหลาย ไม่ใช่ปล่อยให้พวกมันมีอำนาจล้นฟ้า ควบคุมพฤติกรรมบริษัทยาให้มีจริยธรรมและแสวงหากำไรแต่พอควร และสร้างความโปร่งใส เลิกปิดหูปิดตาประชาชน และที่สำคัญที่สุด จงเลิกคุกเข่ารับคำสั่งทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเรียกของพวกบรรษัทขนาดใหญ่ (Stop hitting your knees on the floor when corporations knock on your door)”
 
 
นอกจากนี้กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้จัดกิจกรรมการแสดงให้บุคคลสวมหน้ากากนายกรับมนตรีไทย และประธานาธิบดีสหรัฐฯ เซ็น TPP ร่วมกันจากนั้นคนที่อยู่รอบข้างผู้นำทั้งสองก็ทยอยล้มตาย โดยมีป้ายข้อความว่า TPP ชำเราประชาชนด้วยข้ออ้างเศรษฐกิจ และ US Hand off our medicines และแจกจ่ายเอกสาร “เหตุผล 9 ข้อว่าทำไมถึงไม่เอาข้อตกลง “TPP” ของสหรัฐฯ” มีเนื้อหา ดังนี้
 
 
 
เหตุผล 9 ข้อว่าทำไมถึงไม่เอาข้อตกลง “ทีพีพี” ของสหรัฐฯ
 
1.     ทีพีพี เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีรูปแบบใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดยาเพียงไม่กี่บริษัท และขยายการผูกขาดตลาดให้ยาวนานเกินกว่า 20 ปี ซึ่งจะมีผลทำให้ยามีราคาแพงขึ้นอย่างมหาศาล
 
2.     ทีพีพี จะผูกมัดไม่ประเทศคู่ค้าสามารถต่อรองราคายาได้ และไม่ยอมให้มีกลไกควบคุมราคายาและการใช้ยาอย่างเหมาะสมที่จะกระทบผลกำไรของบรรษัทยาข้ามชาติ
 
3.     ทีพีพี จะทำให้ประเทศคู่เจรจาไม่สามารถนำมาตรการยืดหยุ่นด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ซีแอล มาใช้เพื่อปกป้องหรือแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยาจำเป็นในราคาที่เหมาะสมของประเทศได้
 
4.     ทีพีพี จะทำให้บรรษัทข้ามชาติสามารถแทรกแซงหรือยับยั้งนโยบายหรือการออกกฎหมายภายในประเทศที่คุ้มครองสุขภาพประชาชนจากสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น บุหรี่ และแอลกอฮอล์ และการรักษาสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร
 
5.     ทีพีพี เป็นการริบรอนอธิปไตยทางศาลของประเทศคู่ค้า เพราะบรรษัทข้ามชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือให้มีการยกเลิกนโยบายหรือกฎหมายที่ทำให้ผลกำไรของบรรษัทฯ เสียหาย ถึงแม้ว่านโยบายหรือกฎหมายเหล่านั้นจะมีเพื่อคุ้มครองสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็ตาม ซึ่งจะตัดสินโดย “คณะอนุญาโตตุลาการ” ภายนอกประเทศ
 
6.     ทีพีพี เป็นข้อตกลงการค้าที่บ่อนทำลายความมั่นคงทางการเงิน เพราะจะจำกัดสิทธิของประเทศในการใช้มาตรการและนโยบายควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการคลังและทางเศรษฐกิจของประเทศ
 
7.     ทีพีพี จะทำให้ต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสูงขึ้น เพราะมีการผูกขาดเมล็ดพันธุ์และอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ได้ ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์สัตว์ของบรรษัทยักษ์ใหญ่และไม่สามารถใช้ขยายพันธุ์ต่อได้
 
8.     ทีพีพี จะจำกัดสิทธิ์ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตได้อย่างเสรีอีกต่อไป
 
9.     ทีพีพี เป็นการเจรจาที่ไม่โปร่งใส เพราะกำหนดให้การเจรจาจะต้องกระทำอย่างเป็นความลับ ไม่ให้เผยแพร่เนื้อหาการเจรจาให้ภายนอกได้รับรู้ก่อนการเจรจาจะเสร็จสิ้นหรือมีการตกลงกัน
 
ทีพีพี คือ ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement) ที่มีประเทศสหรัฐฯ เป็นแกนนำริเริ่มและผลักดันให้เกิดการเจรจา  หรืออีกนัยหนึ่ง ทีพีพี คือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement, FTA) หรือ เอฟทีเอ ที่สหรัฐฯ เคยพยายามกดดันให้ไทยเจรจาและเซ็นข้อตกลงด้วยแต่ไม่สำเร็จ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net