Skip to main content
sharethis

นักวิชาการเผยปริมาณนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสูงเทียบเท่ากับตึกใบหยก 2 เกษตรกรและประชาชนประมาณ 1 ใน 3 มีเลือดอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย มูลค่าการนำเข้าสูงถึงปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท ชี้การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศกลับทำให้มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากขึ้น แนะกรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลและกวดขันร้านค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ขายสารตามคำแนะนำของราชการอย่างจริงจัง

15 พ.ย. การประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประจำปี 2555 ในหัวข้อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อสังคมไทยที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จัดโดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาเรื่องสถานการณ์ความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารว่า ขณะนี้ผู้บริโภคคนไทยไม่มีความมั่นใจ 100 เปอร์เซนต์ในการบริโภคพืชผักผลไม้เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย ในขณะที่ประเทศไทยมีการรณณงค์ส่งเสริมการบริโภคพืชผักผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม และไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารลำดับต้นๆ ของโลก อาหารและสินค้าเกษตรหลายชนิดส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกสูงถึงเกือบหนึ่งล้านล้านบาท ความปลอดภัยทางอาหารจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ

ความปลอดภัยทางอาหารคือการจัดการอาหารให้มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ทั้งนี้ความมั่นคงทางอาหารปของประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ถือว่าดีมาก หากแต่ปัจจุบันกลับตั้งอยู่ในความประมาท โดยเฉพาะการจัดการฐานทรัพยากรอาหารที่มีปัญหามาก ทั้งที่ดิน น้ำ ป่าไม้ ป่าชายเลน ที่กำลังเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ไม่เหมาะสมด้วย

นอกจากนั้นก็มีปัญหาด้านหนี้สินและอายุของเกษตรกรที่สูงขึ้นมาก การชลประทานที่ไม่ครอบคลุม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการลดลงของพันธุ์พื้นบ้าน โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวที่มีการลดลงของพันธุ์พื้นบ้านอย่างรวดเร็ว และผักที่วางขายในตลาดก็มีอยู่ไม่กี่ชนิดที่เป็นที่นิยมของตลาด

“ความปลอดภัยทางอาหารสัมพันธ์กับโรคร้ายแรงต่างๆ มะเร็งบางประเภทสัมพันธ์กับอาหารไม่ปลอดภัย สถิติการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงขึ้นๆ ทุกปี มีการนำสารเคมีไปใช้ไม่อย่างถูกต้อง เช่น มีการนำเข้าสารเคมีมาเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมแต่กลับนำไปใช้ในภาคการเกษตร มีการนำเข้ามาเพื่อใช้ในทางการแพทย์และสาธารณสุขแต่กลับนำมาใช้ในภาคการเกษตร และอีกจำนวนมากที่นำเข้ามาใช้ในภาคการเกษตรโดยตรง ประเทศไทยจึงมีการใช้สารเคมีในระดับสูง ขณะที่ต่างประเทศ เช่น เนเธอแลนด์ที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรจำนวนสูงมากก็พยายามลดและมุ่งสู่เกษตรอินทรีย์มากขึ้น ดังนั้นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดใดที่มีอันตรายร้ายแรงไทยก็ต้องห้ามนำเข้า ต้องทำให้กลไกการบริหารจัดการเข้มแข็ง”

นพ.ไกรสิทธิ์กล่าวต่อว่าปัจจุบันผู้บริโภคไทยมีความกังวลเรื่องอาหารปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีกลไกการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง ขณะที่การส่งออกอาหารของประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับดีมาก ทั้งนี้ความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารต้องเกิดในทุกระดับ ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงถ้าไม่เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ และเร่งแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ รวมถึงส่งเสริมการรวมกลุ่มโดยเชื่อมโยงกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาด

ด้าน นพ.พิบูล อิสสระพันธุ์ รอง ผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลการศึกษาเรื่องความเสี่ยงของเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชว่าประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชระหว่างปี 2548-2552 สูงถึง 520,312 ตัน หรือมีขนาดเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเทียบเท่ากับตึกใบหยก 2 หรือมีความสูงถึง304 เมตร และมูลค่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปี 2554 มีมูลค่ามหาศาลถึง 20,875.37 ล้านบาท

“ในปี 2550 สำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ ได้ทำการสำรวจการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชโดยใช้แถบกระดาษสำหรับตรวจเลือดในเกษตรกร 89,376 ราย พบว่ามีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยถึง 34,428 ราย หรือร้อยละ 38.52 และจากการตรวจเลือดในปี 2554 พบว่ามีเกษตรกรที่มีผลการตรวจเลือดอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยสูงถึง 173,243 รายจากจำนวนทั้งสิ้น 533,524 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 32ขณะที่ผลการตรวจเลือดของประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 99,283 ราย พบว่ามีเลือดอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยถึง 35,949 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันกับผลการตรวจเลือดในปี 2555 ที่พบว่าเกษตรกรมีผลเลือดในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยสูงถึง41,457 รายจากจำนวนทั้งสิ้นที่ทำการสำรวจ 117,131 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 30”

ส่วนนางสุกัญญา อรัญมิตร นักกีฎวิทยาปฏิบัติการ กรมการข้าว เผยผลการศึกษาเรื่องผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในนาข้าวว่าสาเหตุสำคัญในการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลนั้นนอกเหนือจากการปลูกพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอต่อเนื่องกันยาวนานแล้ว การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษสูงต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศของนาข้าวยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญด้วย เมื่อเกิดการระบาดของแมลงเกษตรกรจะใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรง เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ และสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ เป็นหลัก เช่น abamectin และสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ดังกรณีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่เกษตรกรมักจะใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าวทั้งๆ ที่สารเคมีเหล่านี้ทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากขึ้น

“การใช้สารฆ่าแมลงคาร์โบฟูรานส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวห้ำ มวนเขียวดูดไข่ ที่เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ขณะที่การใช้สารฆ่าแมลงไพรีทรอยด์สังเคราะห์จะมีพิษสูงต่อธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยผลจากการใช้ที่ไม่ถูกวิธีทำให้แมลงสร้างความต้านทาน มีการระบาดรุนแรงมากขึ้น และเกิดแมลงศัตรูข้าวชนิดใหม่ จากการศึกษาพบว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลใน จ.สุพรรณบุรีและพระนครศรีอยุธยาสร้างความต้านทานต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากชนิดที่สุด และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่ระบาดส่วนใหญ่สร้างความต้านทานต่อ ethiprole และ fenobucarb”

นางสุกัญญากล่าวต่อว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาสารเคมีในนาข้าวคือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องไม่อนุญาตให้มีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงหลายชนิดในนาข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีข้อมูลชัดเจนว่าก่อให้เกิดปัญหาในระบบนิเวศของการปลูกข้าว มีคุณสมบัติที่ทำให้เกิดการระบาดเพิ่ม และมีรายงานว่าแมลงศัตรูข้าวสร้างความต้านทานต่อสารนั้นๆ แล้ว รวมถึงทำให้เกิดการระบาดของศัตรูข้าวชนิดใหม่หรือศัตรูพืชชนิดรอง นอกจากนั้นก็ขอให้กรมการข้าวได้มีเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาข้อมูลวิชาการในกรณีที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดนั้นๆ ขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรเพื่อใช้ในนาข้าว และขอให้กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลและกวดขันร้านค้าสารเคมีให้ขายสารตามคำแนะนำของราชการอย่างจริงจัง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net