เมื่อจิตรวิจารณ์ศาสนา ศาสนาในทรรศนะวิจารณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ (ทศวรรษ 2490-2500) *

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่ามกลางกระแสความสนใจในการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ในปี พ.ศ.2555 นี้ คลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะท่าทีต่อสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์เชิงจารีตอย่างสถาบันศาสนา ก็กำลังถูกท้าทายอย่างมีนัยสำคัญด้วย นับแต่ข้อวิจารณ์ที่ทั้งแหลมคมและเสียดแทงจาก คำ ผกา เว็บเพจที่เย้ยหยันชวนหัวอย่าง ศาสดา ไปจนกระทั่งกระแส เบื่อ ว. วชิรเมธี ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่ากำแพงสถาบันเชิงจารีตนี้ (รวมถึงสถาบันอื่น)กำลังถูกตั้งคำถามท้าทายและลดทอนความศักดิ์สิทธิ์อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และแน่นอนว่าปรากฏการณ์เช่นนี้มิได้เป็นเพียงความคิดของปัจเจก แต่เป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงทางความคิดแห่งยุคสมัยที่พึงตระหนักและรับฟัง การเฉลิมฉลองวาระอันเป็นมงคลด้วยการรับฟังคำวิจารณ์ย่อมจะสามารถจรรโลงให้สถาบันศาสนามั่นคงขึ้นอย่างสอดคล้องกับบริบทแห่งยุคสมัย มากกว่าที่จะกดปราบด้วยกฎหมายอันไม่ชอบธรรม

บทความนี้มุ่งหมายที่จะหวนย้อนกลับไปในราวทศวรรษ 2490-ต้นทศวรรษ 2500 เพื่อค้นหาความคิดของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันศาสนาผ่านกรอบความคิดมาร์กซิสต์ที่กำลังรุ่งเรืองในขณะนั้น และเป็นความคิดในช่วงแรกๆของการเผชิญหน้ากันระหว่างพระพุทธศาสนากับคอมมิวนิสต์ภายใต้บริบทสงครามเย็น อันแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาครั้งสำคัญในสังคมไทย บทความนี้จึงเป็นความพยามยามในเบื้องต้นที่จะอธิบายเกี่ยวกับอีกหนึ่งเสี้ยวความคิดของปัญญาชนผู้นี้ อันเป็นอีกหนึ่งเสี้ยวที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่าที่ควรมาก่อน

๑.ความนำ

การสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่สองที่ดำเนินมาในช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐ นั้น ได้นำโลกเข้าสู่การต่อสู้และการโฆษณาชวนเชื่อทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนที่ยุโรปของสหรัฐฯไม่ได้แต่เพียงหนุนเสริมให้แนวคิดเสรีประชาธิปไตยเฟื่องฟูเท่านั้น หากแต่แนวคิดสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์อันมีโซเวียตเป็นผู้นำก็ได้รับการขานรับเช่นเดียวกัน[๓] ลมแห่งกระแสแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่มุ่งทำการปฏิวัติชนชั้น กำจัดการขูดรีดโดยระบอบศักดินา สถาปนาระบอบสังคมแห่งความเสมอภาคโดยมีชนชั้นผู้ถูกกดขี่เป็นผู้นำก็ได้พัดพาเข้าสู่ประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ นี้เองที่วารสาร “อักษรสาส์น”อันเป็นวารสารแนวสังคมนิยมฉบับแรกได้ปรากฏขึ้นในแวดวงภูมิปัญญาไทย ขณะที่ปัญญาชนนักคิดไทยจำนวนไม่น้อยต่างได้รับอิทธิพลแนวคิดดังกล่าวมาวิพากษ์วิจารณ์เคลื่อนไหวทางปัญญาอย่างคึกคัก

ดังที่เครก เรย์โนลด์ส(Craig J.Reynolds)ได้กล่าวไว้ว่าช่วงเวลาระหว่างหลังสงครามโลกถึงระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๐๑ นั้นเป็นยุครุ่งเรืองอย่างแท้จริงของกระแสสังคมนิยมไทย[๔]และในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่มีผู้พยายามศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดคอมมิวนิสต์และพระพุทธศาสนากันเป็นอย่างมากถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างของทั้งสองแนวคิดดังกล่าว[๕]

ขณะที่การเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาเป็นไปอย่างคึกคัก รัฐบาลไทยในช่วงหลังสงครามโลก ภายใต้การชี้นำของสหรัฐอเมริกาได้โหมสร้างกระแสทำลายภาพลักษณ์ของฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง หนึ่งในประเด็นการโจมตี คือ การขยายวลีสะท้านโลกของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ที่ว่า “ศาสนาคือยาเสพติดของปวงชน”[๖] (Religion is the opium of the people) ด้วยการสร้างกระแสว่าไม่เพียงชาติและพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะล่มสลายถ้าคอมมิวนิสต์สามารถเข้ายึดครองประเทศได้ หากแต่ยังรวมถึงสถาบันศาสนาด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการสงครามจิตวิทยาของยูซิส(USIS) อันเป็นหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาดำเนินการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในไทยช่วง ๒๔๙๖-๒๔๙๗ นั้น ยูซิสได้จัดพิมพ์หนังสือต่อต้านคอมมิวนิสต์ฉบับกระเป๋า แจกจ่ายให้วัดทั่วประเทศ จำนวน ๑๙,๐๐๐ แห่ง ภายในมีบทความที่เขียนกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูที่อยู่ภายในและภายนอกที่จะมาคุกคามไทย[๗] รวมถึงโปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ข้าราชการไทยวาดขึ้นตามคำแนะนำของยูซิสจำนวน ๔๓,๐๐๐ มีสามแบบ โดยแบบแรกเป็นโปสเตอร์ที่แสดงภาพทุ่งนาที่ชาวนากำลังขนกระสอบข้าว มุ่งตรงไปบนเส้นทางที่ร้อนระอุด้วยไฟ ที่มีปลายทางเป็นพระราชวังเครมลินและเจดีย์แบบจีน ซึ่งมีสัญลักษณ์ค้อนเคียวลอยอยู่ด้านบน ระหว่างทางมีทหารดาวแดงยืนถือปืนควบคุมการขนข้าว มีข้อความใต้ภาพว่า “ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง  คงจะต้องบังคับขับไส” แบบที่สองเป็นโปสเตอร์แสดงภาพมืออสุรกายขนาดใหญ่ที่มีค้อนเคียวอยู่เบื้องบน กำลังมุ่งตรงมาจะตะครุบดินแดน โดยมีไทย เวียดนาม พม่า และแขกถืออาวุธเตรียมต่อสู่กับอสุรกายนั้น มีข้อความว่า “รักจะอยู่ ต้องสู้คอมมิวนิสต์” แบบที่สามเป็นโปสเตอร์ภาพนักรบโบราณไว้หนวดเคราหน้าตาดุดันคล้ายสตาลิน ถือคบไฟและค้อนเข้าเหยียบย่ำทำลายศาสนสถานของพุทธ คริสต์และอิสลาม มีภาพของนักบวชของศาสนาต่างๆวิ่งหนีกันอลหม่าน รวมถึงมีการทำตรายางต่อต้านคอมมิวนิสต์ ๔ แบบ คือ “เอกราชอยู่ได้ด้วยความสามัคคี” “ประเทศไทยเป็นของคนไทย” “ผืนแผ่นดินไทยหาไม่ได้อีกแล้ว” และ “คอมมิวนิสต์มาศาสนาหมด” เพื่อให้รัฐบาลไทยใช้สำหรับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย[๘] บรรยากาศเช่นที่ว่านี้จึงมีทั้งการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาว่าด้วยศาสนาอันคึกคักและการกดปราบที่รุนแรงไปพร้อมๆกัน

๒.พุทธศาสนา จิตนิยมหรือวัตถุนิยม?

ภายใต้บรรยากาศดังกล่าวนี้เอง จิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ.๒๔๗๓-๒๕๐๙) ปัญญาชน-นักปฏิวัติผู้เป็นแรงบันดาลใจและตำนานเล่าขานไม่รู้จบของสังคมไทย[๙] ได้แสดงทรรศนะในการวิพากษ์ศาสนาด้วยกรอบความคิดของมาร์กซิส์ม (Marxism) ตั้งแต่ครั้งเมื่อเป็นนักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ ชั้นปีที่ ๒ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖  จิตรซึ่งใช้นามปากกานามปากกาว่า “นาครทาส”ได้เขียนบทความชื่อ ‘พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติค แก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเองและแก้ไขด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแบบของสิทธิธารถ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติคกับปรัชญาของสิทธิราถผิดกันอย่างฉกรรจ์ที่ตรงนี้’ หรือรู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งว่า “ผีตองเหลือง” ในบทความดังกล่าวนี้จิตรวิพากษ์วิจารณ์สภาวการณ์พระพุทธศาสนาในเมืองไทยอย่างรุนแรงว่า

รากฐานความงมงายของชาวบ้านพวกเรามิได้ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ในการยังชีพของคนเจ้าเล่ห์พวกที่ว่านั้นเพียงพวกเดียว ความงมงายหลงใหลในศาสนา อย่างโงงัวหัวไม่ขึ้นของเรายังเป็นประโยชน์แก่คนพวกอื่นอีกพวกใหญ่ และใหญ่จริงๆคนจำพวกที่ว่าอย่างหลังนี้มีจำนวนมากมายในสังคมไทย และมีอยู่ทั่วๆไปทั้งในกรุงเทพและชนบท เขาเหล่านี้เดิมทีก็ใช้ชีวิตสามัญอย่างเราๆแต่ความเกียจคร้านพอกพูนมากขึ้นทุกที ในที่สุดก็หาทางออกให้แก่ตัวเองง่ายๆ คือหนีโลกเข้าหาวัด  เขาอ้างว่าผจญโลกมามากแล้ว เกิดความเบื่อหน่าย สู้มาบวชหาความสงบร่มเย็นจากร่มกาสาวพัตร์ไม่ได้ พวกเราไม่ฟังอีร้าค่าอีรม พากันโมทนาสาธุไปกับเขา เราเรียกเขาว่า “พระ”ตามลักษณะเครื่องแต่งกายของเขา แต่ความจริงแล้วเขาน่าจะได้รับฉายาว่า “ผีตองเหลือง” หรือ “โจรผ้าเหลือง” มากกว่า เพราะเขามิได้มีสมบัติแห่งภิกขุในพุทธศาสนาอย่างแท้จริงเลย[๑๐]

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ในทรรศนะของจิตรพระพุทธศาสนาในเมืองไทยจึง “คงเหลืออยู่แต่เฉพาะร่างของพุทธศาสนาที่กลายเป็นยาพิษยาฝิ่นมอมเมาประชาชน”[๑๑] ทรรศนะเช่นนี้ยังปรากฏในบทกวีที่ไม่เคยเผยแพร่ในชั่วชีวิตของจิตร แต่สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (ราวพ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๘) คือ

แม่จ๋าแม่ แม่จ๋า แม่จ๋าแม่
อะไรแน่ ศาสนา ข้าสงสัย 
เขาหลอนหลอก บอกเล่า ไม่เข้าใจ 
เรื่องเมืองไท เมืองผี นี้น่ากลัว 
ต้องใส่พก ดกบาตร ประหลาดนะ 
เลี้ยงพวกพระ ไว้ใย ข้าใคร่หัว 
ล้วนเสื้อเหลือง เครื่องแฝง ออมแรงตัว
ใช้กรรมชั่ว ตลบลิ้น ได้กินฟรี

มันแอบแฝง แรงงาน ชาวบ้านหม่ำ
ขู่ว่าทำ บุญไว้ ให้กูถี
คนก็งั่ง ชั่งเซ่อ บำเรอพี
ล้วนของดี ถวายสิ้น ตัวกินเกลือ

พวกหนุ่ม รุ่นจุ้นจ้าน มักพาลบวช
มีโอ้อวด แหนแห่ จนแซ่เฝือ
เดี๋ยวเทศน์ เทศน์ และเทศน์ทำกันพร่ำเพรื่อ
มันแสนเบื่อ ฟังเทศน์ เรื่องเปรตผี[๑๒]

และบทกวีจำนวนหนึ่งที่จิตรยังแต่งค้างไว้ ดังนี้

                                                                พวกหนุ่มรุ่นจุ้นจ้านมักพาลบวช

                 มีโอ้อวดแหนแห่จนแซ่เฟือ

พระนับแสนแน่นอัด...

เสียแรงงานภารกิจคิดดูเหอะ

วันหนึ่งเยอะแยะเป็นกองตรองดูหวา

มิหนำแย่งแฝงกินปลิ้นประชา

เป็นผีห่าสองต่อเจียวหนอเรา

และ

 

สอนให้กลัวมัวเมาเข้าไว้ซี

จะได้มีที่ขอทานทั้งหวานคาว

ไปเว็จวัดดัดใหม่ว่าไปฐาน

ไปขอทานโปรดสัตว์สัตว์ที่ไหน

พอเย็นเที่ยวเกี้ยวสาวอค้าวใจ

ค่ำก็ไปปลงอบัติสัตว์หรือคน

 

และอีกตอนหนึ่งว่า

 

     บ้างหมดท่าหากินก็ปลิ้นปล้อน

เข้าวัดกล้อนกระบาลผมห่มผ้าเหลือง

กินข้าวเย็นนอนสายสบาย......
เทศน์ให้เฟื่องแล้วคอยตุ๋นพวกคุณนาย

ท่านมหาจ๋าจ๊ะน่าจะถอง

เดี๋ยวก็ป่องมหาสึกพิลึกหลาย

บ้างเก็บเงินเพลินพูนเป็นมูลนาย

ได้ทีขายจีวรแพรสึกแน่ละกู

ทุดไอ้โจรจัญไรได้ผ้าเหลือง

ล้วนแต่เครื่องควรขยายให้อายสู

อาศัยสิทธัตถะท่านพระครู

ได้นอนกู้สูบเขาแล้วเจ้าคุณ

มีพระใยไม่เห็นจำเป็นเหวย

อย่างมเงยโง่เง่าให้เขาตุ๋น

โรงเรียนนำธรรมป้อนสอนดรุณ

ใช่เจ้าคุณท่านที่วัด....ตัว

วัดเดี๋ยวนี้มีประโยชน์หรือโทษเหวย

อย่าพูดเลยป่วยเปล่าพวกเจ้า....[๑๓](สะกดตามต้นฉบับ)

                การตั้งข้อกังขาต่อพฤติกรรมของพระสงฆ์และค่านิยมในการทำบุญเช่นนี้ยังปรากฏขึ้นในครอบครัวของจิตรด้วย จิตรได้บันทึกเรื่องนี้ไว้น่าสนใจมาก ดังนี้

อีกข้อหนึ่งที่ชีวิตระยะนี้สอนให้ก็คือเรื่องทำบุญ แม่ทำบุญมาแต่เล็กไปวัด ตักบาตร รับกัณฑ์เทศน์มหาชาติ ฯลฯ แต่ระยะที่ยากจนและจะหาเงินส่งลูกนี้ สวดมนต์ภาวนาเท่าไหร่ บุญแต่หนหลังก็ไม่ช่วยเลย มีแต่ยิ่งลำบากยากจน ยิ่งอดๆอยากๆ จะกินแต่ละคำก็ต้องคิดหน้าคิดหลังว่าหาพอให้ลูกแล้วหรือยัง ถ้าวันนี้ยังหาไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายของลูก ก็ต้องพยายามกินแต่น้อยเข้าไว้ อะไรที่พอจะอดได้ก็อดเสียเลย แม่เห็นว่าความปารถนาของแม่ที่จะส่งเสียลูกเป็นของดี เป็นของถูกต้อง ทำไมบุญไม่ช่วย? ส่วนคนที่เลวๆเสเพล คดโกง ทำไมรวย? ยิ่งกว่านั้นในระยะนั้นก็มักถูกพระมาบอกบุญเรี่ยไร  แจกฎีกาทอดกฐิน สร้างกุฏิ สร้างศาลา ฯลฯบ่อยๆแม่จึงเริ่มรู้สึกว่าตนเองอยู่ห้องแถว พื้นผุ จะเดินก็ต้องเลือกเหยียบหลังคาก็รั่วพรุน แล้วทำไมพระจึงยังมาเรี่ยไรเอาเงินที่หาแสนยากไปปลูกกุฏิอยู่สบายๆ ฯลฯ ความรู้สึกนี้ค่อยๆสั่งสมมา และตัวข้าพเจ้าเองก็ได้ศึกษาเรื่องของพุทธศาสนาจากหนังสือต่างๆมากขึ้นๆ กว้าวขวางขึ้นได้นอนคุยกันทุกคืน ปรับทุกข์กันทุกคืน ในที่สุดเราก็เลยเลิกทำบุญกันเสียที พอกันทีกับเรื่องทำบุญกับพระภิกษุ และเลิกกันเด็ดขาดมาแต่นั้น (ยกเว้นบางคราวที่เลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาความปรกติในสายตาคนทั่วไป)[๑๔] (ตัวเน้นเป็นของผู้เขียน)

                แม้ว่าจิตรวิจารณ์ความเหลวแหลกของการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ตาม แต่จุดมุ่งหมายแท้จริงของบทความ เรื่อง ผีตองเหลือง คือ การถกเถียงว่าที่สุดแล้วพระพุทธศาสนาคืออะไร และที่สุดแล้วสิทธารถ(เจ้าชายสิทธัตถะ) คือนักปฏิวัติหรือเป็นเพียงแค่นักปฏิรูปสังคม?? อันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาโดยตรงต่อบทความของนิสิตผู้หนึ่งที่จิตรพาดพิงถึง ดังนี้ว่า

เพื่อนนิสิตผู้เขียนบทความมีทัศนะต่อพุทธศาสนาว่าเป็นรูปแบบของสังคมที่ปราศจากชนชั้น ทุกคนเท่าเทียมกันโดยชาติกำเนิด เป็นสังคมที่ประกอบรูปด้วย “ภราดรภาพ” อันเป็นสิ่งที่พวกเราไขว่คว้าและเรียกร้องอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บทความนั้นเขียนเป็นทำนองชีวประวัติของสิทธารถศาสดาของพุทธศาสนา ผู้เขียนได้แถลงไว้ตามความเข้าใจว่า สิทธารถคือนักปฏิวัติสังคม การเล็งพุทธศาสนาไปในแนวทางวัตถุที่เกี่ยวข้องกับสังคมแบบนี้ เป็นสิ่งที่พวกเราควรยินดี ควรรับฟังและควรรับช่วงมาวิเคราะห์แม้ว่าแนวของการเล็งของเพื่อนนิสิตผู้นั้น จะยังไขว้เขวไม่ตรงตามความที่ควรเป็นจริงนักก็ตาม เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราอุ่นใจได้ว่า มีพวกเราหลายคนกำลังตื่น หลุดพ้น และกำลังหลุดพ้นจากปลักนรก วิมานสวรรค์อันงมงาย และ การก้าวพ้นออกจากปลักและวิมานของพวกเขาเหล่านี้มิใช่สักแต่ว่าก้าวออกมาให้ทันสมัย อย่างที่เราได้ยินอยู่เสมอว่า ก็ไม่เห็นเขาทำอะไรก้าวหน้า นอกเหนือจาก “ความไม่เชื่อ” ขึ้นไป แต่การก้าวออกมาของเพื่อนนิสิตผู้นี้ เป็นการก้าวออกมาพร้อมด้วยเตรียมตัวที่จะก้าวเข้าสู่ทัศนะใหม่ เป็นการก้าวที่รุดหน้า มิใช่ก้าวให้สมสมัยอย่างไร้จุดหมาย[๑๕]

              จิตรเริ่มด้วยการถกเถียงว่าแท้ที่จริงแล้วสิทธารถเป็นเพียง “นักปฏิรูปสังคม” เพราะสิทธารถเพียงแต่ปฏิเสธโครงสร้างสังคมแบบเก่า แต่มิได้ “...รวมหรือคิดจะรวมประชาชนเข้าด้วยกัน และนำหน้าให้ลุกฮือขึ้นทลายล้างรากเหง้าของสังคมเก่า โดยกำลังเพื่อผลเพื่อผลเด็ดขาดตามวิถีทางของปฏิวัติ แล้ววางรากฐานของสังคมใหม่ขึ้น...พูดง่ายๆก็คือสิทธารถใช้วิธีประนีประนอมอันไม่มีผลเด็ดขาดมิได้ใช้วิธีปฏิวัติอันได้ผลเด็ดขาดและสมบูรณ์[๑๖] ขณะเดียวกันสิทธารถก็หาได้เป็นนักฏิรูปสังคมโดยแท้จริง “เพราะจุดมั่นในการปฏิบัติและหลักการของสิทธารถมิได้มุ่งตรงสังคมทีเดียว” และ “จริงอยู่ สิทธารถยื่นมืออกไป โอบอุ้มประชาชนให้หลุดพ้นออกมาได้เพียงส่วนเดียวกันเท่านั้น คือ สภาพทางจิต ส่วนสภาพทางวัตถุคือ ความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมแบบเก่านั้นสิทธารถมิได้โอบอุ้มขึ้นมาโดยตรงแต่ประการใดเลย”[๑๗] แม้กระนั้นก็ตามจิตรก็เห็นว่า “ทฤษฎีของสิทธารถละม้ายเหมือนและเคียงคู่ไปกับวัตถุนิยมไดอะเล็คติค แต่แนวการปฏิบัติเท่านั้นที่ผิดแผกกับวัตถุนิยมโดยสิ้นเชิง ซึ่งเรากล่าวได้ว่าแนวปฏิบัติของสิทธารถเป็นไปในแบบจิตนิยม”[๑๘] ด้วยเหตุดังนี้สิทธารถจึงเห็นว่าต้นกำเนิดของความทุกข์ยากในสังคมเกิดจาก “กิเลส”ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาสังคมต้องแก้ด้วยการตัดกิเลสออกจากจิต[๑๙]

จิตเห็นว่า แม้ว่าเป้าหมายของสิทธารถคือการยกระดับสังคมให้ดีขึ้น อันเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับปรัชญาวัตถุนิยมก็ตาม แต่การแก้ไขสภาพสังคมนั้น ปรัชญาวัตถุนิยมมิได้มุ่งแก้ปัญหาที่กิเลส แต่มุ่งแก้ไปยังสิ่งที่สิทธารถก้าวไปไม่ถึง และมองต้นเหตุของความเหลวแหลกในสังคมไปถึงจุดที่มาของกิเลสอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งปัญหานั้นเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ มิใช่เกิดจากการนึกคิดโดยจิต หากแต่ คือ“ความขัดแย้งของสภาพสังคม” “ภายใต้การผลิตแบบทุนนิยม” ต่างหากที่เป็นต้นตอของกิเลส[๒๐] ปัญหาอีกประการอันเป็นข้อต่างของแนวคิดทั้งสอง คือ วิธีการเพื่อไปสู่เป้าหมายในการยกระดับสังคม ขณะที่วัตถุนิยมไดอะเลคติค มุ่งทำการปฏิวัติและแตกหักอย่างเด็ดขาดกับโครงสร้างสังคมเดิม สิทธารถกลับเลือกที่จะใช้วิธีประนีประนอม ซึ่งเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำเดิมกุมสภาพนำของสังคมต่อไป[๒๑]กล่าวคือ

วิธีแก้ปัญหาให้เด็ดขาดและได้ผลสมบูรณ์ตามแบบของวัตถุนิยมไดอะเลคติค ก็คือต้องรวมกำลังคนเล็กที่ปลุกให้ตื่นแล้วให้ลุกฮือโค่นคนใหญ่ ลงเสียให้สิ้นทรากด้วย[๒๒]

               

ด้วยเหตุนี้ สิทธารถในทรรศนะของจิตจึงมิใช่นักปฏิวัติสังคม เพราะถ้าเป็นนักปฏิวัติสังคมจริง

“ก็คงเดินตามแนวปรัชญาฝ่ายวัตถุนิยมไดอะเลคติค(ซึ่งเพิ่งเกิดใหม่)ปฏิวัติระบบและสภาพของสังคมอินเดียสำเร็จเรียบร้อยไปนานแล้ว ด้วยเหตุที่มักเข้าใจผิดกันเสมอในหมู่พวกนิสิตเรานี้ จึงขอให้พึงระวังว่าสิทธารถมิใช่นักปฏิวัติอย่าได้เข้าใจผิดว่าสิทธารถคือปรมาจารย์แห่งวัตถุนิยมไดอะเลคติค ซึ่งยึดถือการปฏิวัติ เป็นทางผ่านที่ตรงที่สุดที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากสภาพความขัดแย้งของสังคมเป็นอันขาด สิทธารถเป็นบุคคลที่มีจิตใจละเอียดอ่อนละมุนละไม เกินกว่าที่จะทำการปฏิวัติสังคม สิทธารถพึงประสงค์ที่จะเดินตามทางผ่านที่ราบรื่น แม้จะเห็นอยู่ว่าใกล้ไกลตีน เมื่อรู้ถึงแก่ความจริงแล้วก็จงอย่าได้จับปรัชญาทั้งสองฝ่ายนี้ปะปนกันให้เกิดความด่างพร้อย เศร้าหมอง พึงนึกว่าศาสนาก็คือศาสนา จะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขสภาพของสังคมไม่ได้เลย นอกจากจะขัดเกลากิเลสของสังคม ตามทางสายกลางอย่างประนีประนอมเท่านั้น”[๒๓]

                แม้ว่าสารัตถะหลักในบทความนี้ หาได้อยู่ที่การวิจารณ์พฤติกรรมของพระภิกษุอย่างสาดเสียเทเสียก็ตาม แต่บทความนี้ก็ได้นำจิตไปพบกับโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในชีวิต นั่นคือ “กรณีโยนบก” อันเนื่องมาจากข้อกล่าวหาว่าทรรศนะของเขา “หมิ่นศาสนา”และ “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” บทความนี้ซึ่งจิตรตั้งใจจะพิมพ์ในหนังสือ “๒๓ ตุลา” ประจำปี พ.ศ.๒๔๙๖ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขารับหน้าที่สารณียกรอยู่นั้นถูกระงับการเผยแพร่ในระหว่างขั้นตอนการพิมพ์ ส่วนจิตรนอกจากถูกจับโยนบกโดยเพื่อนนิสิตฝ่ายอนุรักษ์นิยมแล้ว เขายังถูกคำสั่งพักการเรียนด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ตำรวจสันติบาลได้ออกหนังสือรับรองความบริสุทธิ์ให้กับจิตร และกลับมาศึกษาต่ออีกครั้ง[๒๔]

 

 ๓.ศาสนา คือ เครื่องมือของศักดินา : สถาบันศาสนาในโฉมหน้าศักดินาไทย

                ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ จิตรสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมกับเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในปีเดียวกันนั้น นอกจากทศวรรษนี้จะช่วงทศวรรษสุดท้ายของเขาแล้ว จิตรยังได้ผลิตงานเขียนจำนวนหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับศาสนาด้วย พ.ศ.๒๕๐๐ จิตรซึ่งใช้นามปากกาว่า “ขวัญนรา” ได้แต่งบทกวีตั้งคำถามถึงค่านิยมในการทำบุญของผู้คนในสังคมไทย ชื่อ การทำบุญ ‘เพื่อตัวกู’ ดูชอบกล ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิติศาสตร์ ฉบับต้อนรับศตวรรษใหม่ ดังนี้         

ทำบุญ

เชิญคุณคุณช่วยกันคิดสักนิดเหนอ

ทำอย่างไรคือทำบุญนะคุณ...เออ

ผมคนเซ่อต้องถามเรื่อยเปื่อยเปื่อยไป

 

“การฆ่าไก่ไปวัดจัดเป็นบุญ”

จริงเร้อ...คุณ! ผมชักงงออกสงสัย

ศีลปาณาห้ามฆ่าสัตว์ถนัดใจ

ไง๋ฆ่าไก่ตัวเบ้อเร่อ...เฮ้อ...นิจจา!

 

บ้างขนนของมามากมายถวายพระ

เพราะหวังลาภสักการะเจียวสิหวา

เพื่อชาติอื่นได้เกษมเปรมปรีดา

เซ็งลี้บุญเหมือนพ่อค้าค้ากำไร

 

การทำบุญที่แน่แท้ที่สุด

คือทำดีแก่มนุษย์ทั้งน้อยใหญ่

คือช่วยเหลือเกื้อกูลหนุนกันไป

คือปลดให้เขาพ้นทุกข์ที่รุกรน

 

เก็บดอกเบี้ยหูฉี่เงินปรี่ถุง

นอนตีพุงกรอกหัวตัวเป็นขน

เช้าใส่บาตรเย็นตรวจน้ำพร่ำสวดมนต์

นั่นหรือคนทำบุญ...บุญ...นิจจา!

 

สร้างบ่อน้ำทำสะพานการกุศล

สร้างถนนบำรุงด้านการศึกษา

เพื่อมวลชนทั่วไปได้พึ่งพา

จักได้บุญเสียยิ่งกว่าพร่ำสวดมนต์

 

การสร้างพระสร้างเจดีย์ที่โตใหญ่

เห็นจะพอแล้วผองไทยฟังเหตุผล

เรามีวัดมากจนเกินเดินแทบชน

พระภิกษุสุขสมตนแล้วทั่วกัน

 

มาเถิดมา มาทำบุญสุนทรทาน

ช่วยพยุงชีพชาวบ้านให้สุขสันต์

เขายังทุกข์มิใช่น้อยนับร้อยพัน

เป็นภาระที่สำคัญกว่าเจดีย์

 

เมื่อทุกคนได้อยู่ดีมีความสุข

เขาย่อมมีใจสนุกกันเต็มปรี่

ย่อมจักสร้างวัดหลากมากทวี

สมกับที่เป็นแดนพุทธสุดวิมล

 

นี่แหละคือข้อคิดอันนิดน้อย

บุญที่แท้คนยังคอยอยู่ทุกหน

การทำบุญ ‘เพื่อตัวกู’ ดูชอบกล

เชิญคิดหน่อยเถอะทุกคนที่ทำบุญ[๒๕]

 

                อย่างไรก็ตามหนึ่งในบทวิเคราะห์เกี่ยวกับศาสนาที่แหลมคมของจิตร ยังปรากฏในงานเขียนระดับตำนานของเขาด้วย นั่นก็คือ โฉมหน้าศักดินาของไทยในปัจจุบัน[๒๖]ซึ่งตีพิมพ์ออกมาในปีเดียวกันกับบทกวีข้างต้น ในเขียนชิ้นนี้จิตรอธิบายศาสนาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเชิงโครงสร้างสังคมทั้งในยุโรปและสังคมไทย แม้ว่าเขาจะมิได้มุ่งหมายวิพากษ์สถาบันศาสนาโดยตรงก็ตาม แต่จิตรก็ได้แสดงทรรศนะวิจารณ์สถาบันศาสนาตามกรอบความคิดของมาร์กซิส์มอย่างแหลมคม ในฐานะที่ศาสนาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในค้ำยันหนุนเสริมสถานะของชนชั้นศักดินา เขาอธิบายว่า แม้ว่าศาสนาจะมีความขัดแย้งกับศักดินาในช่วงยุคต้น เพราะศาสนามุ่งหมายที่จะรักษาอำนาจที่เคยมีมาเหนือฝ่ายศักดินา อย่างไรก็ตามความสามารถในการรวบรวมปัจจัยการผลิตทำให้ศาสนาต้องพ่ายแพ้ และกลายมาเป็นเครื่องมือของศักดินาในท้ายที่สุด ศาสนาต้องยอมรับว่ากษัตริย์เป็น ‘สมมติเทพ’ ‘พระผู้เป็นเจ้าที่อวตารลงมา’ ‘พระพุทธเจ้ากลับชาติเกิด’ และ ‘ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนา’ จิตรอธิบายต่อว่า

 

เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ศาสนาก็มีหน้าที่อบรมสั่งสอนให้ผู้คนเคารพยำเกรงกษัตริย์ พวกนักบวชทั้งหลายกลายเป็นครูอาจารย์ที่ให้การศึกษาที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ซึ่งแน่นอนแนวทางของการศึกษาย่อมเป็นไปตามความปรารถนาของศักดินา (เน้นตามต้นฉบับ)[๒๗]

                และ

โดยทั่วไปแล้วศาสนาก็ยังคงเป็นแหล่งที่รักษาทรากเดนความคิดศักดินาได้นานที่สุด เพราะจริยธรรมต่างๆที่มีอยู่ในศาสนาส่วนมากได้ถูกดัดแปลงจนเหมาะสมที่จะรับใช้ศักดินาแล้วทั้งสิ้น[๒๘]

 

                นอกจากศาสนาจะทำหน้าที่ค้ำยันและครอบงำอุดมการณ์แบบศักดินาแล้ว ศาสนายังเป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากในระบอบศักดินานั้นนอกจากวงศ์ญาติและพวกพ้องของกษัตริย์จะได้รับการแบ่งปันที่ดินแล้ว ศาสนาเป็นอีกสถาบันหนึ่งที่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินมากที่สุดภายใต้ระบอบศักดินา(ซึ่งเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นทั่วโลก)[๒๙] และธรรมเนียมการถวายที่ดินและคนให้กับศาสนาเช่นนี้ก็เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยทาส[๓๐] ในกรณีของระบอบศักดินาไทยนั้น จิตรชี้ว่ากระบวนการถวายที่ดินที่สำคัญ คือ “พิธีกัลปนา”อันมีต้นกำเนิดมาจากเขมรโบราณ[๓๑] และเป็นแหล่งที่มาสำคัญของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของวัดต่างๆในราชอาณาจักร กล่าวคือ ตามโบราณราชประเพณีนั้น พระมหากษัตริย์มักทรงพระราชทานอุทิศที่ดินให้แก่วัด พร้อมด้วยบรรดาผู้คนที่อยู่ในบริเวณที่ดินที่ทรงอุทิศนั้นให้เป็นผลประโยชน์สิทธิขาดแก่วัด “ผลประโยชน์ทั้งปวงที่ทำได้ตกเป็นของวัดสำหรับบำรุงพระสงฆ์ที่อาศัยและซ่อมแซมวัดนั้นๆพวกคนที่ตกเป็นของวัดนี้เรียกกันว่า ‘เลกวัด’...บางทีก็เรียก ‘ข้าพระ’ หรือไม่ก็ ‘โยมสงฆ์’ หรือเรียกควบว่า ‘ข้าพระโยมสงฆ์’ คนพวกนี้ทั้งหมดได้รับการผ่อนปรนไม่ต้องเสียอากรใดๆทั้งสิ้นเพราะผลประโยชน์ที่ได้ใช้บำรุงวัดโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว’[๓๒]

แม้ว่าประเพณีกัลปนาจะได้ถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่จิตรก็ชี้ว่ายังคงมีธรรมเนียมปฏิบัติที่คล้ายคลึง กล่าวคือ ยังคงมีการพระราชทานวิสุงคามสีมา* ให้แก่วัดต่างๆซึ่งวัดเหล่านั้นได้ใช้เพื่อสร้างโบสถ์วิหารการเปรียญ และแบ่งให้ประชาชนเช่าเพื่อเก็บผลประโยชน์บำรุงวัด ส่วนพระสงฆ์ที่มียศศักดิ์และความรู้ในธรรมะ ก็ได้รับเงินเดือนเป็นค่านิตยภัตร(ค่าอาหาร)แทนข้าวปลาอาหารที่เคยได้รับจากพวกเลกวัดในครั้งก่อน[๓๓]

ภายใต้ธรรมเนียมดังกล่าวมานี้ วัดจึงมีโอกาสครอบครองปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือ ที่ดิน และ แรงงาน ดังที่จิตรกล่าวว่า

โดยลักษณะการเช่นนี้ วัดในพระพุทธศาสนาจึงกลายสภาพเป็น ‘เจ้าที่ดินใหญ่’ ไปโดยมาก[๓๔](เน้นตามต้นฉบับ)

               

๔.ความเรียงว่าด้วยศาสนา : “พระเจ้ากำเนิดข้ามาเสรี” และ “ศีลธรรมของชาวคอมมิวนิสต์”

                ผลงานสุดท้ายว่าด้วยศาสนาของจิตรที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ คือ งานแปล เรื่อง ความเรียงว่าด้วยศาสนา[๓๕] ของ ศาสตราจารย์ยอร์จ ทอมสัน แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าจิตรน่าจะแปลงานดังกล่าวในช่วงระหว่างที่ถูกจำคุกระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๑-๒๕๐๗[๓๖] แม้ว่างานชิ้นนี้จะเป็นงานแปล ซึ่งมิใช่ผลิตผลโดยตรงของจิตรเองก็ตาม หากแต่ว่างานแปลชิ้นนี้ก็สามารถสะท้อนทรรศนะที่จิตรมีต่อศาสนาได้เป็นอย่างดี

                สาระสำคัญของผลงานแปลเล่มนี้ของจิตร คือ การแสวงหาคำอธิบายถึงท่าทีที่ชาวลัทธิมาร์กซิส์มมีต่อศาสนา วิวัฒนาการของศาสนานับแต่ยุคบุพกาลกระทั่งถึงยุคสังคมนิยม ที่สำคัญคือ อะไรคือศีลธรรมที่ชาวคอมมิวนิสต์ควรยึดถือ ในงานแปลดังกล่าวสะท้อนทรรศนะทางศาสนาที่คล้ายคลึงกับจิตรที่ปรากฏในงานดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้นว่า

ศาสนานั้นได้ถูกพวกชนชั้นปกครอง ใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจของตนไว้เสมอมา. ด้านหนึ่ง ก็ถูกใช้ให้เทศนาสาธยายความศักดิ์สิทธิ์ละเมิดมิได้ของระเบียบแบบแผนทางสังคมที่มีอยู่แล้ว: ‘สูเจ้าจงรับใช้พระผู้เป็นเจ้าโดยพร้อมเพรียงกันด้วยการรับใช้พระราชธุระ และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์, ด้วยการเชื่อฟังกฎหมายของแผ่นดินและด้วยการรักใคร่กันและกันเหมือนพี่น้อง.’ อีกด้านหนึ่งก็ถูกใช้สำหรับปลอบโยนผู้ที่ทำงาน และเหนื่อยยากสายตัวแทบขาด ด้วยยื่นโยนความหวังในความผาสุกอันนิรันดรในชาติหน้าให้[๓๗]

                ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ‘ศาสนาเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับกล่อมคนยากจนให้ยอมทนรับความทุกข์ยากลำเค็ญ โดยหลอกลวงว่านั่นเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า’[๓๘]ซึ่ง “ก็เท่ากับว่าเขาถูกควักลูกตาออก” อันเป็น “ความเพ้อฝันจอมปลอมและคือเมฆที่ไร้ฝน”[๓๙] เมื่อถูกนำไปใช้เช่นนี้ ศาสนาจึงมีหน้าที่เป็นเพียงเครื่องบรรเทาความอยุติธรรมของสังคมให้ดูลดน้อยลง จิตรถอดแปลข้อความของมาร์กซ์ที่ทอมสันอ้างถึงว่า

ความทุกข์ในศาสนานั้น. ด้านหนึ่งก็เป็นการแสดงออกของความทุกข์ที่แท้จริง และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการแสดงออกเพื่อคัดค้านความทุกข์ที่เป็นจริง. ศาสนาคือเครื่องปลอบใจของสัตว์โลกผู้ถูกกดขี่ คือหัวใจของโลกที่ปราศจากวิญญาณ ศาสนาคือยาเสพติดของประชาชน[๔๐]

ต่อประเด็นที่ว่าคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูกับศาสนานั้น ทอมสันอธิบายว่า ‘พวกนายทุนประณามว่าเราเป็นศัตรูของศาสนา. เราเป็นศัตรูกับศาสนาตราบเท่าที่พวกนายทุนใช้ศาสนามาหลอกลวงประชาชน, และเราเชื่อมั่นว่า พร้อมกับการสูญสลายไปแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น มนุษย์ก็จะหมดสิ้นความต้องการในศาสนา’[๔๑] นอกจากประเด็นว่าด้วยศาสนาดังกล่าวข้างต้นแล้วหัวใจสำคัญของ ความเรียงว่าด้วยศาสนา นี้ คือ มุ่งอธิบายว่าอะไรคือศีลธรรมที่ชาวคอมมิวนิสต์พึงยึดถือ? สิ่งที่ชาวคอมมิวนิสต์พึงยึดถือ เป็นดั่งที่เลนิน ได้กล่าวไว้ว่า “ศีลธรรมของเรานั้นสรุปได้มาจากการต่อสู้ทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพ”[๔๒]และ “ศีลธรรมต้องขึ้นต่อผลประโยชน์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้นกรรมาชีพ”[๔๓]ชาวคอมมิวนิสต์ไม่เชื่อในศีลธรรมนิรันดร์ และปฏิเสธความสุขในโลกภูมิหน้า หากแต่การปฏิวัติทางชนชั้นและการรังสรรค์สังคมที่ปราศจากการขูดรีดต่างหาก คือ ความสุขบนโลกนี้ที่แท้จริง

                ในตอนท้ายของหนังสือจิตรยังสามารถถอดบทกวีและใช้ภาษาได้อย่างประณีตงดงามด้วย หนึ่งในข้อความที่ถูกกล่าวถึงมากจากงานแปลชิ้นนี้ คือ

ขอมหา สามัคคี จงมีเถิด

ก่อบังเกิด พลังกล้า อันคลาคล่ำ

ประกาศก้อง กังวานไกล ด้วยใจนำ

“พระเจ้ากำ-เนิดข้า มาเสรี”[๔๔](เน้นโดยผู้เขียน)

 

๕.จิตรกับศาสนา

                จากบรรดาผลงานทั้งหมดเกี่ยวกับศาสนาของจิตรที่กล่าวถึงในบทความนี้ อาจทำให้พอสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า จิตรมิได้ปฏิเสธพระพุทธศาสนา/ศาสนาเสียทีเดียว หากแต่มีท่าทีวิพากษ์ต่อบรรดาวัฒนธรรม ประเพณีพิธีกรรมบางประการที่ไม่พึงปารถนาหรือเป็นเพียงกระพี้ ขณะเดียวกันความสนใจในศาสนาของจิตรมีท่าทีแบบปัญญาชนมากกว่า ดังที่ ศาสตราจารย์วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์[๔๕] อาจารย์และผู้อุปถัมภ์ได้เคยกล่าวถึงท่าทีของจิตรที่มีต่อศาสนาว่า

 

ก็นับถือมาก แต่ไม่ได้ไปวัด นับถือแบบพวกที่มีความรู้ แกชำนาญเรื่องพระปางต่างๆเช่นที่ระเบียงวัดเบญจฯ แกอธิบายได้หมด ที่เขาสนใจเขียนเกี่ยวกับศาสนาก็คงเพราะว่าตอนที่เขามาอยู่ตอนแรก ผมก็เช่าบ้านใหญ่ ต่อมาเจ้าของขายบ้าน เราก็ต้องย้าย ก็ไปเช่าบ้านที่ซอยร่วมฤดี ข้างๆทางรถไฟ ตรงข้ามมีบ้านแปลกอยู่หลังหนึ่ง ผู้ชายในบ้านนั้นทุกๆวันพระก็เอาผ้าเหลืองมาห่มไปขอทาน จิตรเห็นว่าเป็นเรื่องที่สกปรกมาก เขาเคยเป็นลูกศิษย์วัด เขาก็เคยเจอบ้าง พระที่ไม่ดี เขาก็เอาเขียน ก็ไม่แปลกที่จะเขียน พวกที่ใช้ศาสนาไปในทางไม่ดี น่าจะเป็นสิ่งที่เขียนได้[๔๖]

 

                ทำนองเดียวกับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ซึ่งวิเคราะห์ถึงบทกวี “การทำบุญเพื่อตัวกู ดูชอบกล”ว่า

ร้อยกรองบทนี้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า จิตรมิได้โจมตีสถาบันทางศาสนาโดยตรง หากได้ตั้งข้อสังเกตให้ผู้คนหันมามองประเพณีทำบุญในรูปที่เป็นบุญเป็นทานแท้ๆ มิใช่บุญจารีตหรือประเพณีอันเป็นรูปธรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จิตรเน้นที่จิตใจ การกระทำให้สอดคล้องกัน และเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ทุกข์ยากอย่างแท้จริง มิใช่จับกระพี้ของการทำบุญอันเป็นรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนา และขณะเดียวกัน ก็หวังประโยชน์ส่วนตนในชาติหน้า ลักษณะทำนองนี้จิตรไม่เห็นว่าเป็นการทำบุญที่ถูกต้อง[๔๗]

 

                คำอธิบายที่ดีที่สุดสำหรับทรรศนะที่จิตรมีต่อศาสนา ปรากฏในคำแถลงต่อศาลเมื่อเขาถูกดำเนินคดีว่า

จำเลย จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาเหตุผล ข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงแล้วพิจารณาชี้ขาดให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ซึ่งได้ถูกกักขังทรมานมาเป็นเวลา ๖ ปีเศษแล้วให้ได้รับอิสรภาพอันมีเกียรติ ขอศาลได้ชี้ว่า การกระทำโดยสุจริตเพื่อสร้างสรรค์ เพื่อความดีงามเพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระศาสนาอันเป็นสิ่งที่แม้พระศาสดา พระภิกษุ และชาวพุทธที่แท้ทั้งหลายย่อมกระทำกันนี้ เป็นความผิดและต้องรับโทษหรือ และจำเลยเองในฐานะที่เป็นสาราณียกรซึ่งเชื่อโดยสุจริตว่า บทความนี้เป็นบทความเพื่อพิทักษ์พุทธศาสนา (หมายถึงบทความผีตองเหลือง-ผู้เขียน)และกำจัดสิ่งโสโครกสิ่งปฏิกูลทั้งหลายบรรดาที่เข้ามาแอบแฝงอาศัยศาสนาหากิน ซึ่งพระศาสดาพระพุทธสาวกที่แท้ทั้งหลายได้ต่อสู้เพื่อทำลายให้หมดไปนี้ พึงต้องได้รับโทษหรือ คำพิพากษาของศาลย่อมจักเป็นประวัติศาสตร์อยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน[๔๘]

๖.การเผยแพร่งานหลังการจากไปของจิตร

                งานวิพากษ์ศาสนาของจิตรก็เช่นเดียวกับงานของปัญญาชนหัวก้าวหน้าอื่นๆที่ร่วมสมัยกับเขา ที่ผลงานจำนวนไม่น้อยไม่มีโอกาสได้เผยแพร่ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือหากได้รับการเผยแพร่ก็ย่อมนำเภทภัยมาสู่ดังที่จิตรได้เคยประสบมาแล้ว ในบรรดางานเขียนเกี่ยวกับการวิพากษ์ศาสนาของจิตรที่นำมากล่าวถึงในที่นี้นั้น มีเพียง โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน และ บทกวี การทำบุญเพื่อตัวกูฯ เท่านั้น ที่เผยแพร่ในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ ขณะเดียวกันความตายก่อนวัยอันควร (พ.ศ.๒๕๐๙) ของปัญญาชนนักปฏิวัติผู้มาก่อนกาลคนนี้ ยังได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวในยุคคลื่นแห่งการแสวงหาในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ ด้วย และเช่นเดียวกับงานเขียนฝ่ายซ้ายอื่นๆที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในทศวรรษนี้ งานของจิตรก็ได้ถูกนำมาเผยแพร่ ผลิตซ้ำในช่วงเวลานี้เช่นกัน[๔๙]

                ในกรณีของบทความ ‘ผีตองเหลือง’และงานแปล   ‘ความเรียงว่าด้วยศาสนา’นั้น ได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งในวารสาร ‘อักษรศาสตร์พิจารณ์’ (เมษายน-พฤษภาคม) ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ อันเป็นฉบับที่อุทิศให้กับจิตรเป็นการเฉพาะ[๕๐] ผ่านบทความของสุจริต สัจจวิจารณ์ เรื่อง “พุทธปรัชญาในทรรศนะ “นาครทาส””[๕๑] และ บทวิจารณ์หนังสือแปล “ความเรียงว่าด้วยศาสนา” โดย ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์[๕๒]  ซึ่งทั้งสองต่างอ้างว่ามีโอกาสได้ใช้ต้นฉบับลายมือของจิตรด้วย กรณีของสุจริต สัจจวิจารณ์ นั้นเขากล่าวว่า

แม้ต้นฉบับของงานชิ้นนี้จะยังคงมีอยู่กับบางคน แต่ด้วยเงื่อนไขและเพื่อความเหมาะสมดังได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น งานนี้จึงยังต้องรอโอกาสอันสมควรที่จะปรากฏตัวออกมาต่อหน้าสาธารณชน[๕๓]

                ขณะที่ประเสริฐกล่าวถึงต้นฉบับ ความเรียงว่าด้วยศาสนา อย่างน่าสนใจดังนี้

‘ความเรียงว่าด้วยศาสนา’ เป็นหนังสือแปลของจิตร ภูมิศักดิ์ อีกเล่มหนึ่งซึ่งขณะที่วิจารณ์นี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ หนังสือนี้เขียนด้วยปากกาหมึกซึมขนาดยาว ๔๙ หน้าด้วยลายมือบรรจงและเชื่อกันว่าเป็นผลงานขณะอยู่ในคุกในระหว่างปี ๒๕๐๑-๒๕๐๗ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากสำหรับใครก็ตามที่จะได้อ่านหนังสือลายมือของจิตร ภูมิศักดิ์ที่ยังไม่เคยตีพิมพ์มาก่อนโดยเฉพาะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและศีลธรรมซึ่งเป็นเรื่องหลักหรือแก่นของชีวิตที่ถกเถียงกันมาก หนังสือเล่มนี้มีผู้ขอยืมมาจากมารดาของจิตรและคงจะมีผู้ขออนุญาตนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในเร็ววันนี้[๕๔]

                ข้อเท็จจริงอันน่าสนใจอีกประการ ที่ปรากฏในบทความของสุจริต ซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงต้นฉบับลายมือ บทความ ผีตองเหลือง คือ ในต้นฉบับลายมือดังกล่าวได้มีการเขียนถึง ธรรมกถา เรื่อง พระพุทธศาสนาที่แท้ ของท่านปัญญานันทภิกขุ หรือ สีลัพพตปรามาส ของพุทธทาสภิกขุด้วย[๕๕] สอดคล้องกับข้อเท็จจริงช่วงระหว่างที่จิตรถูกดำเนินคดีกรณีบทความ “ผีตองเหลือง”และจิตรได้ต่อสู้หาความยุติธรรมในชั้นศาลนั้น ด้วยเหตุที่น้ำหนักของคดีเน้นไปที่เรื่องทำลายศาสนา จิตรจึงระบุพยานเอกสารเป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสนาเป็นจำนวนมากต่อศาล เฉพาะหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุก็หลายเล่ม มี เรื่อง ความงมงาย, เกียรติคุณพระพุทธเจ้า, ตอบปัญหาพระผู้เป็นเจ้า กรรม และอนัตตา, ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ นอกจากนั้นก็มีนิตยสาร พุทธสาสนา สำนักธรรมทาน ไชยา ระหว่าง ปี พ.ศ.๒๔๙๘-๒๕๐๕, นิตยสารชาวพุทธ ปี พ.ศ.๒๔๙๖-๒๕๐๖,หนังสือ พุทธวิทยา ของ พร รัตนสุวรรณ, เที่ยวอินเดีย ของ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, กำเนิดคน ของเสฐียร โกเศศ ตลอดจน พระสุตันตปิฎก ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๐ [๕๖]

งานเขียนเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ทางความคิดว่าด้วยพระพุทธศาสนาของจิตรกับปัญญาชนร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ ทำนองเดียวกันกับที่เรโนลส์ อ้างว่า งานของสมัคร บุราวาศ(พ.ศ.๒๔๕๙-๒๕๑๘)  มีอิทธิพลทางความคิดต่อการตีความพระพุทธศาสนากับสังคมนิยมของจิตรด้วย[๕๗] ประเด็นว่าด้วยอิทธิพลทางความคิดนี้จึงเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ควรได้รับการค้นคว้าต่อไป

                ควรกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า งานของทั้งสองนี้(ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์และสุจริต สัจจวิจารณ์)ก็มิได้เผยแพร่บทความฉบับเต็มของจิตรในอักษรศาสตร์พิจารณ์ฉบับดังกล่าว แต่ในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน(พ.ศ.๒๕๑๙) “ความเรียงว่าด้วยศาสนา”ก็ได้รับการตีพิมพ์โดยชมรมหนังสือแสงตะวัน ส่วนบทความ “ผีตองเหลือง”นั้นได้ถูกตีพิมพ์ฉบับเต็มโดย โลกหนังสือ ในปลายปี พ.ศ.๒๕๒๔[๕๘]หลังจากที่ชิ้นนี้ถูกทำให้หายเงียบไปถึง ๒๘ ปี[๕๙] และในราวปี พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๕๐ เมื่อสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน รวบรวมผลงานโครงการสรรพนิพนธ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ นั้นบทกวี “อะไรแน่ ศาสนา ข้าสงสัย” ซึ่งสันนิษฐานว่าจิตรน่าจะแต่งราว พ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๘(คาบเกี่ยวกับผีตองเหลือง) บทกวีนี้บางส่วนยังแต่งไม่เสร็จและบางส่วนไม่อาจจัดเข้าประเภทได้ ที่สำคัญเป็นงานที่ไม่เคยได้รับการเผยแพร่มาก่อนได้ถูกนำมาตีพิมพ์เป็นครั้งแรกด้วย

การค้นพบงานดังกล่าวจึงช่วยให้เราเห็นภาพศาสนาในทรรศนะวิจารณ์ของปัญญาชนผู้นี้ได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการตอกย้ำคำกล่าวของเรโนลส์ที่ว่า จิตรวิจารณ์พระได้แหลมคมพอๆกับที่วิจารณ์ ‘เจ้า’[๖๐]

 

               

 

                                                         



* บทความนี้ข้าพเจ้าขอร่วมระลึกถึงการจากไปของ ‘สหายปรีชา’ (ชื่อจิตรของจิตรเมื่อครั้งเข้าป่าร่วมกับ พคท.) ซึ่งถูกลอบยิง ณ ชายป่าจังหวัดสกลนคร เมื่อ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙

อนึ่งผู้เขียนขอน้อมรับทุกคำวิจารณ์จากชุมชนทางความคิดแห่งนี้ด้วยความยินดียิ่ง หากมีข้อชี้แนะใดโปรดส่ง buangsuang@hotmail.com ,ขอกราบขอบพระคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน ที่กรุณาให้คำแนะนำในการปรับปรุงบทความ ช่องทางในการเผยแพร่ รวมถึง อ.ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม สำหรับการแนะนำที่เป็นประโยชน์ แม้กระนั้นความผิดพลาดย่อมเป็นของผู้เขียนเพียงผู้เดียว

[๒] นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[๓] ดูชาญวิทย์ เกษตรศิริ.ประวัติการเมืองไทย ๒๔๗๕-๒๕๐๐.(พิมพ์ครั้งที่ ๔).กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.๒๕๔๙.น.๔๓๗.

[๔] Craig J.Reynolds. The Radical Discourse The Real face of Thai Feudalism Today. Ithaca, N.Y: Southeast Asia Program, Cornell University, 1987. p.15.

[๕] สุวิมล รุ่งเจริญ.บทบาทของนักหนังสือพิมพ์ในการเมืองไทยระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๐-๒๕๐๑ วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๒๖ น.๙๖.

[๖] ใจ อึ้งภากรณ์อธิบายท่าทีต่อศาสนาของลัทธิมาร์กซ์ว่า แม้ว่าชาวมาร์กซิสต์ไม่มีความประสงค์จะจับพระสงฆ์มาไถนาหรือเผาวัดเผาวา แต่ก็มีทรรศนะต่อต้านศาสนาจริง ทั้งนี้เพราะในทรรศนะของชาวมาร์กซิสต์นั้นศาสนาเป็นปรัชญารูปแบบหนึ่งของมนุษย์เท่านั้น และปรัชญาทางศาสนาไม่ว่าศาสนาใดๆไม่สามารถนำมาแก้ปัญหาของสังคมมนุษย์ในปัจจุบันได้ อีกทั้งศาสนาเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองผ่านยุคสมัยต่างๆเมื่อเป็นเช่นนั้นศาสนาก็สามารถหายไปจากสังคมได้เช่นกัน. นอกจากนี้มาร์กซ์ยังเห็นว่าศาสนาเป็นเครื่องสำคัญของผู้ขูดรีดใช้ปลอบประโลมผู้ถูกกดขี่ ให้แสวงหาโลกที่ดีกว่าในภพภูมิหน้า และจำนนต่อความทุกข์ทนในโลกนี้ ทั้งมาร์กซ์และเลนิน มีมุมมองต่อศาสนาว่าเป็นสิ่งที่ครอบงำจิตใจคน ไม่ให้ลุกขึ้นสู้เพื่อปลดปล่อยตนเอง ดังนั้นเขาจึงปฏิเสธศาสนาแบบนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในใจ อึ้งภากรณ์.อะไรนะลัทธิมาร์คซ์ เล่ม ๒.กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน, ๒๕๔๒.น.๑๓๓-๑๗๔.

[๗] Leo Bogart, Premises for propaganda : the United States Information Agency's operating assumptions in the Cold War (New York: Free Press, 1976),pp. xiii,61-62.  อ้างถึงใน ณัฐพล ใจจริง.การเมืองไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.๒๔๙๗-๒๕๐๐)วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๕๒.น.๑๕๕.

[๘] ณัฐพล ใจจริง.พระบารมีปกเกล้าฯใต้เงาอินทรี แผนสงครามจิตวิทยาเอมริกัน กับการสร้างสถาบันกษัตริย์ให้เป็น “สัญลักษณ์”แห่งชาติ ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๒ เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๔ น.๑๐๙.

[๙] จิตร มาจากครอบครัวข้าราชการ บิดารับราชการเป็นเสมียนสรรพสามิต มารดาเป็นแม่บ้าน จิตรเกิดที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งบิดาถูกส่งไปประจำที่นั่น ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ในตัวอำเภอเมืองปราจีนบุรี พ.ศ. ๒๔๗๙ บิดาถูกส่งไปทำงานที่จังหวัดกาญจนบุรี ครอบครัวทั้งหมดได้ย้ายตามไป ที่นี่จิตร  ภูมิศักดิ์  เริ่มเข้าเรียนระดับปฐมศึกษาที่โรงเรียนเดียวกับพี่สาวคือ โรงเรียนสตรีกาญจนานุเคราะห์  หลังจากนั้นจิตร ภูมิศักดิ์ ย้ายตามครอบครัวไปจนเรียนจบชั้นปฐมศึกษาที่สมุทรปราการ  ซึ่งก่อนเขาเรียนจบบิดาถูกส่งไปประจำที่พระตะบอง  ซึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของไทยในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง จิตร  ภูมิศักดิ์  ได้ย้ายตามครอบครัวไปอยู่พระตะบอง  และเริ่มต้นเรียนชั้นมัธยมที่พระตะบอง  จนทำให้จิตร  ภูมิศักดิ์สามารถเรียนรู้และพูดภาษาเขมรได้อย่างคล่องแคล่ว  เขามีเพื่อนสนิทที่เป็นชาวเขมรคนหนึ่งชื่อโสพัสซึ่งคบหากับจิตร  ภูมิศักดิ์และมีโอกาสไปเยี่ยมจิตร  ภูมิศักดิ์ที่กรุงเทพฯหลายครั้ง  ต่อมาบิดาแยกทางกับมารดา  มารดาพี่สาวและเขาได้กลับไปอยู่กรุงเทพฯ  เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร  และมาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมจนจบชั้นมัธยมตอนปลาย 

หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือได้ว่าจิตร  ภูมิศักดิ์ เป็นปัญญาชนรุ่นทศวรรษ ๒๔๙๐ อย่างแท้จริง  เพราะเขาเริ่มมีบทบาทและเข้าสู่วงการนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ช่วงกลางทศวรรษ ๒๔๙๐ โดยสืบเนื่องตั้งแต่เขาได้เป็นสาราณียากรให้กับหนังสือของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้นำมาสู่เหตุการณ์กรณีที่เขาถูกโยนบกโดยนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์  และนำไปสู่การพิจารณาให้จิตร  ภูมิศักดิ์ พักการเรียน  แต่ช่วงการพักการเรียนช่วงนี้นี่เองที่จิตร  ภูมิศักดิ์ ได้เข้าทำงานกับสุภา ศิริมานนท์  ซึ่งเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ และทำให้จิตร  ภูมิศักดิ์  ได้รู้จักกับทวีป วรดิลก บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ที่ต่อมาได้ชักชวนให้จิตร  ภูมิศักดิ์เขียนลงหนังสืออื่นๆ ตามมา พร้อมกับการเกิดนามปากกาใหม่ๆ เช่น “สมชาย ปรีชาเจริญ” และ “ศิลป์ พิทักษ์ชน” ใช้เขียนวิจารณ์ศิลปวรรณคดีใน พิมพ์ไทย สารเสรี ซึ่งมีเนตร เขมะโยธิน เป็นผู้อำนวยการ และ ปิตุภูมิ

จิตร  ภูมิศักดิ์ ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของนักเขียนรุ่นก่อนหน้านั้น อาทิ งานของอินทรายุทธ (อัศนี พลจันทร)  เสนีย์ เสาวพงศ์  และ สุภา  ศิริมานนท์  ที่บ้าหลายครั้งเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ ซึ่งประวุฒิ ศรีมันตะ เองก็ยอมรับว่านิสิตในรุ่นของเขานั้นได้รับอิทธิพลความคิดจากงานเขียนใน อักษรสาส์น อยู่มาก และมีนิสิต ที่มีแนวคิดก้าวหน้าอยู่หลายกลุ่มในจุฬาฯ จิตร  ภูมิศักดิ์ มีชะตากรรมเช่นเดียวกันกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าอื่นๆ ที่ถูกกวาดล้างและจับกุมในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้นมามีอำนาจ แต่จุดจบของจิตร  ภูมิศักดิ์ อาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมมากกว่าปัญญาชนคนอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนเกี่ยวกับประวัติชีวิตของเขา เพราะเมื่อภายหลังออกจากคุก จิตร  ภูมิศักดิ์ เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และถูกยิงตายในจังหวัดสกลนครในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ชีวิตของเขาจึงเปรียบเสมือนตำนานที่เล่าขานต่อมาไม่รู้จบในรุ่นหลัง ดูโสภา ชานะมูล. “ชาติไทย” ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐. น.๖๖-๖๗.

[๑๐] จิตร ภูมิศักดิ์.กรณีโยนบก ๒๓ ตุลาคม.กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองชัย, ๒๕๓๙.น. ๓๐-๓๑.

[๑๑] เรื่องเดียวกัน น.๓๕

[๑๒] จิตร ภูมิศักดิ์.ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง.กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๕๑. น.๑๓-๑๔.

[๑๓] เรื่องเดียวกัน น.๑๖-๑๗.

[๑๔] เรื่องเดียวกัน น.๑๕.

[๑๕] จิตร ภูมิศักดิ์.กรณีโยนบก ๒๓ ตุลาคม.กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองชัย,๒๕๓๙. น.๓๕.***

[๑๖] เรื่องเดียวกัน น.๓๖.

[๑๗] เรื่องเดียวกัน น.๓๖.

[๑๘] เรื่องเดียวกัน น.๓๖.

[๑๙] เรื่องเดียวกัน น.๓๙.

[๒๐] เรื่องเดียวกัน น.๓๙.

[๒๑] เรื่องเดียวกัน น.๔๐.

[๒๒] เรื่องเดียวกัน น.๔๑.

[๒๓] เรื่องเดียวกัน น.๔๒.

[๒๔] ดูวีระศักดิ์ จันทร์ส่องแสง.จิตร ภูมิศักดิ์ : คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย.กรุงเทพฯ: สารคดี, ๒๕๔๙.น.๗๘-๗๙.

[๒๕] ขวัญนรา.การทำบุญเพื่อตัวกูดูชอบกล ใน จิตร ภูมิศักดิ์. ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง.กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๕๑. น.๑๓๓-๑๓๖.

[๒๖] สมสมัย ศรีศูทรพรรณ.โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน.กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองชัย, ๒๕๓๙.

[๒๗] เรื่องเดียวกัน น.๓๘๐.

[๒๘] เรื่องเดียวกัน น.๓๘๑.

[๒๙] เรื่องเดียวกัน น.๔๓๗.

[๓๐] เรื่องเดียวกัน น.๔๓๘.

[๓๑] เรื่องเดียวกัน น.๔๓๙.

[๓๒] สมสมัย ศรีศูทรพรรณ.โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน.น.๔๓๙.ธรรมเนียมการถวายที่ดินแก่วัดมิได้จำกัดแต่เฉพาะวัดในพระพุทธศาสนาเท่านั้น หากแต่รวมถึงวัดในคริสต์ศาสนาด้วย ดู น.๔๔๓

* การพระราชทานวิสุงคามสีมา หมายถึง การที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งวัดและอุทิศถวายที่ดินบริเวณนั้นแก่วัดๆนั้นโดยสิทธิขาดเพื่อประกอบศาสนกิจ ในปัจจุบันเมื่อวัดใดก็ตามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามักกำหนดให้มีการเฉลิมฉลองที่เรียกกันว่า “งานผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิต”

[๓๓] เรื่องเดียวกัน น.๔๔๓.

[๓๔] เรื่องเดียวกัน น.๔๔๒.ดูงานที่ศึกษาประเด็นนี้โดยเฉพาะใน อุทิศ จึงนิพนสกุล.วิวัฒนาการเศรษฐกิจวัด. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, ๒๕๒๘.

[๓๕] ทอมสัน,ยอร์จ(เขียน).ความเรียงว่าด้วยศาสนา.จิตร ภูมิศักดิ์(แปล).กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือแสงตะวัน,๒๕๑๙.

[๓๖] ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์.วิจารณ์หนังสือแปล “ความเรียงว่าด้วยศาสนา”ของจิตร ภูมิศักดิ์ ใน อักษรศาสตร์พิจารณ์ ฉบับที่ ๑๑-๑๒ ปีที่ ๓ (เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙) น.๑๐๑.

[๓๗] ทอมสัน,ยอร์จ(เขียน)ความเรียงว่าด้วยศาสนา.จิตร ภูมิศักดิ์(แปล) น.๒.

[๓๘] เรื่องเดียวกัน น.๔๘.

[๓๙] เรื่องเดียวกัน น.๔๙.

[๔๐] เรื่องเดียวกัน น.๓.

[๔๑] เรื่องเดียวกัน น.๖๑.

[๔๒] เรื่องเดียวกัน น.๖๕.

[๔๓] เรื่องเดียวกัน น.๗๓.

[๔๔] เรื่องเดียวกัน น.๗๗., ควรกล่าวด้วยว่า เมื่อคราวที่ชมรมหนังสือต้นกล้ารวมเล่มตีพิมพ์บทกวีบางส่วนของจิตร เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ นั้น สำนักพิมพ์ได้นำประโยค “พระเจ้ากำ-เนิดข้า มาเสรี” มาใช้เป็นชื่อหนังสือด้วย ดู จิตร ภูมิศักดิ์.พระเจ้ากำเนิดข้ามาเสรี รวมบทกวีคัดสรรแล้ว.กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือต้นกล้า, ๒๕๒๑.

[๔๕] ศาสตราจารย์วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ เป็นชาวอเมริกัน เคยเป็นที่ปรึกษาหอสมุดแห่งชาติ ,อาจารย์ด้านภาษาและวรรณคดี ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ช่วงระหว่างที่เก็ดนีย์อยู่ที่จุฬาฯนั้น เขาได้มีโอกาสพบกับจิตร ขณะนั้นจิตรเป็นน้องใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ ศาสตราจารย์เก็ดนีย์ได้อุปการะเอาจิตรมาพำนักอยู่กับตนที่บ้านเช่าหลังหนึ่ง แถวถนนวิทยุ เป็นบ้านหลังใหญ่ มีคนอาศัยอยู่มาก และขณะอยู่ด้วยกันได้ร่วมกันศึกษาโดยเป็นที่ปรึกษาให้แก่กันและกัน และร่วมกันทำงานแปลโดยแบ่งค่าจ้าง ดูเพิ่มเติมใน กันศิริชัย หงส์วิทยากร และ ศรีวรรณ ตั้งใจตรง(สัมภาษณ์). คุยกับศาสตราจารย์วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ ‘อาจารย์ฝรั่ง’ ของจิตร ภูมิศักดิ์ ใน ถนนหนังสือ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐. น.๑๙. เมื่อคราวที่จิตรโดนโยนบกนั้นเก็ดนีย์เองก็ถูกกดดันให้ออกนอกประเทศ เพราะถูกมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพลความคิดหนุนหลังจิตร ขณะเดียวกันภายหลังจิตรถูกโยนบก เก็ดนีย์ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ความตอนหนึ่งว่า

...อาการเช่นนี้ดูจะเปนโรคระบาด คือเกิดไม่พอใจอะไรขึ้นมาสักอย่างก็หาว่าแดงไปเลยซึ่งผมคิดว่า น่าจะเสียใจอยู่หน่อย แต่เรื่อง “หาว่าผมแดง” นั้นผมไม่ตกใจอะไรพวกผู้ใหญ่ในวงการทั้งฝรั่งและไทยก็รู้จักผมดีตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย ๖ ปีกว่า คงไม่มีใครเชื่อว่าผมแดงแน่ ถึงจิตรก็เถอะ ถ้าแดงผมก็ไม่ให้เขาอยู่ด้วยเสียนานแล้ว”(สะกดตามต้นฉบับ)

ดู หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวซึ่งจิตรเป็นผู้ตัดเก็บไว้เอง ใน จิตร ภูมิศักดิ์.กรณีโยนบก ๒๓ ตุลาคม.กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองชัย,๒๕๓๙. น.๑๐๙-๑๑๐.

[๔๖] ศิริชัย หงส์วิทยากร และ ศรีวรรณ ตั้งใจตรง(สัมภาษณ์). คุยกับศาสตราจารย์วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ ‘อาจารย์ฝรั่ง’ ของจิตร ภูมิศักดิ์ ใน ถนนหนังสือ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐.

[๔๗] ดูจิตร ภูมิศักดิ์. ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง.กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๕๑. น.๑๓๕-๑๓๖.

[๔๘] วิชัย นภารัศมี.หลายชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์.กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน,๒๕๔๖.น.๑๓๓.

[๔๙] ดูเพิ่มเติมใน Craig J.Reynolds and Hong Lysa.Marxism in Thai Historical Studies. Journal of Asian Studies Vol.XLIII, No.1 November,1983.p.78. ประจักษ์ ก้องกีรติ.ก่อนจะถึง ๑๔ ตุลาฯ: ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๑๖) วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๔๕ น.๓๑๒-๓๑๑.

[๕๐] นอกจากบทความเกี่ยวกับศาสนาแล้วยังประกอบด้วยงานอื่นๆทั้งที่เกี่ยวกับความทรงจำและบรรดาผลงานอมตะของจิตรด้วย

[๕๑] สุจริต สัจจวิจารณ์.พุทธปรัชญาในทรรศนะ “นาครทาส” ใน อักษรศาสตร์พิจารณ์’ ฉบับที่ ๑๑-๑๒ ปีที่ ๓ (เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙) น.๔๕-๕๙.

[๕๒] ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์.วิจารณ์หนังสือแปล “ความเรียงว่าด้วยศาสนา”ของจิตร ภูมิศักดิ์ ใน อักษรศาสตร์พิจารณ์ ฉบับที่ ๑๑-๑๒ ปีที่ ๓ (เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙) น.๑๐๑-๑๐๕

[๕๓] สุจริต สัจจวิจารณ์.พุทธปรัชญาในทรรศนะ “นาครทาส” ใน เรื่องเดียวกัน น.๔๗.

[๕๔] ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์.วิจารณ์หนังสือแปล “ความเรียงว่าด้วยศาสนา”ของจิตร ภูมิศักดิ์ ใน เรื่องเดียวกัน น.๑๐๑

[๕๕] ดูสุจริต สัจจวิจารณ์.พุทธปรัชญาในทรรศนะ “นาครทาส” ใน เรื่องเดียวกัน น.๕๐.

[๕๖] วิชัย นภารัศมี.หลายชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์.กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๔๖. น. ๑๓๒.

[๕๗] ดู Craig J.Reynolds. The Radical Discourse The Real face of Thai Feudalism Today.p.26.สมัคร บุราวาศ(พ.ศ.๒๔๕๙-๒๕๑๘)  เป็นนักเรียนทุนของรัฐบาลไทยที่สำเร็จการศึกษาด้านธรณีวิทยาและเหมืองแร่จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกิจการเหมืองแร่ของไทย อย่างไรก็ตามสมัครยังมีความรู้เป็นเลิศด้านปรัชญาด้วย เมื่ออายุได้เพียง ๒๖ ปี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตสาขาอภิปรัชญา มีผลงานด้านพุทธปรัชญาที่ตีความเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์สำคัญๆหลายชิ้น เช่น พุทธปรัชญาอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ (๒๔๘๐), วิทยาศาสตร์ใหม่และพระศรีอาริย์ (๒๔๙๗) ,ปัญญา (๒๔๙๗) ดู สมัคร บุราวาศ. พุทธปรัชญา :มองพุทธศาสนาด้วยทรรศนะทางวิทยาศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่ ๔).กรุงเทพฯ: ศยาม,๒๕๕๒. ผลงานชิ้นสำคัญที่ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะมีอิทธิพลต่อจิตรตามที่เรย์โนลส์อ้างก็คือ พุทธิสม์เผชิญหน้ากับคอมมิวนิสต์ เผยแพร่ครั้งแรกใน อักษรสาส์นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ โดยสมัครใช้นามปากกว่า กัปตันสมุทร อันเป็นงานเขียนแรกๆที่อธิบายความเหมือนและต่างของทั้งสองแนวคิดได้อย่างเป็นระบบ และในปีเดียวกันนั้นเองเขาก็ถูกกวาดจับในข้อหากบฏสันติภาพพร้อมกับนักคิดหัวก้าวหน้าคนอื่นๆดู สมัคร บุราวาศ. พุทธิสม์เผชิญหน้ากับคอมมิวนิสต์(พิมพ์ครั้งที่ ๒).กรุงเทพฯ: จงเจริญการพิมพ์, ๒๕๑๗.

[๕๘] ดู โลกหนังสือ  ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๔ น.๔๐-๕๒.

[๕๙] เรื่องเดียวกัน น.๔๒. สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือ เมื่อคราวที่ชมรมหนังสือแสงตะวันพิมพ์งานชิ้นนี้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ นั้น ในคำนำได้กล่าวว่า

งานชิ้นนี้เป็นงานที่เราพึงให้ความสำคัญกับมัน มิใช่แต่เพียงเพราะเหตุว่ามันมีความเหมาะสมกับช่วงเวลาปัจจุบันซึ่งการถกเถียงอภิปรายปัญหาอันเกี่ยวกับแนวคิดทางปรัชญาทั้งเก่าและใหม่กำลังเป็นไปอย่างกว้างขวางและหนังสือเล่มนี้ อาจช่วยได้บ้างในบางประการแล้วเท่านั้น หากแต่กล่าวโดยตัวมันเองแล้ว,มันเป็นเอกสารทางปัญญาที่ได้ก่อให้เกิดทรรศนะใหม่ในการมองดูรูปโฉมของสถาบันอันเคยเป็นที่ยอมรับนับถือมานานหลายศตวรรษแล้วว่าเป็นสิ่ง “ศักดิ์สิทธิ์”นั้นว่ามีลักษณาการที่แท้จริงเป็นอย่างไร นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่ง และกล่าวสำหรับคุณประโยชน์ ที่จะมีต่อผู้อ่านชาวไทยแล้วก็นับว่าเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งได้  แม้ว่าเนื้อหาในส่วนทั้งหมดแล้วจะเป็นทรรศนะอันเกิดจากการมองคริสตศาสนา(สะกดตามต้นฉบับ)ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมของท่านผู้เขียนเดิม (ยอร์จ ทอมสัน-ผู้เขียน)ก็ตาม ทว่า เมื่อมองในแง่ที่เป็นสากลแล้วการกำเนิด,ภาวะความเป็นไปที่แนบแน่นกับกระบวนการทางสังคมและจุดมุ่งหมายของศาสนาต่างๆในโลกก็ดูจะไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก นี้เองที่เราอาจใช้แนวทรรศน์ใหม่ๆเหล่านี้มาพิจารณาดูสังคมไทยเราบ้างว่ามันเกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร เช่นไร.

ดู ทอมสัน,ยอร์จ(เขียน).ความเรียงว่าด้วยศาสนา.จิตร ภูมิศักดิ์(แปล).กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือแสงตะวัน,๒๕๑๙.คำนำผู้จัดพิมพ์ไม่ปรากฏเลขหน้า

[๖๐] Craig J.Reynolds. The Radical Discourse The Real face of Thai Feudalism Today. New York.1987. p.31.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท