Skip to main content
sharethis

กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล จัดกิจกรรม “รับขวัญเพื่อนนักโทษ ม.112 กลับสู่เสรี” สุรภักดิ์โปรแกรมเมอร์อดีตจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ศาลพึ่งตัดสินยกฟ้อง หลังถูกขังระหว่างดำเนินคดีมาถึง 14 เดือน

สุรภักดิ์ ภูไชยแสงและแม่

11 พ.ย.55 เวลา 13.30 น. ที่บริเวณบาทวิถีหน้าศาลอาญา รัชดา กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ประมาณ 150 คน ได้จัดกิจกรรม “รับขวัญเพื่อนนักโทษ ม.112 กลับสู่เสรี” ให้กับนายสุรภักดิ์ ภูไชยแสง วัย 40 ปี โปรแกรมเมอร์ซึ่งเคยตกเป็นจำเลยในความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550มาตรา 3, 14, 17 โดยศาลพิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 31 ต.ค.55 เนื่องจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งนี้ในระหว่างการดำเนินคดีนายสุรภักดิ์ ถูกควบคุมตัวในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัวเป็นเวลาถึง14 เดือน

สุรภักดิ์ ภูไชยแสง

สุรภักดิ์ ได้กล่าวกับผู้ร่วมกิจกรรมด้วยว่า ถึงแม้ความยุติธรรมนี้จะมาช้าไป แต่ก็ถือว่าได้รับความเป็นธรรมในท้ายที่สุด พร้อมกับยืนยันด้วยว่าคดีนี้ตนเองบริสุทธิ์ตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว แต่กลับถูกเอาไปกักกันไว้โดยไม่ให้สิทธิในการประกันตัว และการถูกนำตัวไปขังในเรือนจำ สิทธิความเป็นพลเมืองก็หายไปด้วย

โปรแกรมเมอร์อดีตจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กล่าวด้วยว่าคดีของตนเองเป็นคดีทางเทคนิค ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนที่ใช้อีเมลอันหนึ่งและใช้อีเมลนั้นไปสร้างเฟซบุ๊กชื่อหนึ่งและนำเข้าข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ถูกฟ้องถึง 5 กรรม

สุรภักดิ์ เล่าถึงวันที่ถูกจับกุมด้วยว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาชาร์จตนเองที่ห้อง โดยที่ขณะนั้นไม่ทราบว่าใครเป็นใคร และเข้ามาตรวจค้น โดยนำคอมพิวเตอร์ของตนเองไปเครื่องหนึ่งพร้อมกับนำตัวตนเองไปแม้ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่มีเพียงหมายค้น แต่มีการควบคุมตัวไปด้วยและขอหมายจับตามมาอีก ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐาน

เขากล่าวอีกว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นหลักฐานชิ้นสำคัญคือข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ต้องได้ตรงนี้มาก่อน ไม่ใช่ไปจับใครมาแล้วมาหาหลักฐานภายหลัง เขาเล่าอีกว่าหลังจากส่งเข้าเรือนจำศาลก็นัดพร้อม โดยที่ตนมั่นใจว่าศาลจะปล่อย เพราะตนไม่ใช่ผู้กระทำความผิด สิ่งที่เห็นคือหลักฐานที่ฟ้องกับหลักฐานที่นัดพร้อมหลักฐานไม่ใช่ชุดเดียวกัน

 

เล่ากระบวนการเตรียมข้อมูลขณะถูกพันธนาการ

สุรภักดิ์ เล่าต่อว่าหลักฐานที่เจ้าหน้าที่เอามานำสืบครั้งแรกในช่วงตรวสอบหลักฐานนั้นเป็นคุกกี้ (Cookies) โดยเขาอธิบายเสริมว่าประวัติการใช้งานคอมพิวเตอร์มันมีอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทแรกที่เป็นหน้าเว็บเพจ เรียกว่า อินเทอร์เน็ต แคช (Internet Cache) อีกตัวหนึ่งที่เป็น text file เรียกว่า คุกกี้โดยยืนยันว่าดูจากหลักฐานแล้วจะเห็นว่ามีการปลอมคุกกี้ ที่สำคัญ ในตอนแรก อินเทอร์เน็ต แคช ยังไม่ได้ถูกใช้เป็นหลักฐาน ผู้พิพากษาได้สอบถามอัยการถึงหลักฐานที่จะระบุว่าจำเลยกระทำความผิด ซึ่งคดีนี้ไม่มีหลักฐานตั้งแต่เริ่มต้น อัยการเพียงอธิบายว่า ถึงวันนำสืบจะนำสืบเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อจะขมวดปมว่าจำเลยกระทำความผิดอย่างไรแต่ตนก็ต้องมานอนรออยู่ในเรือนจำกว่าจะได้ขึ้นศาลก็ 1 ปีพอดี

หลังจากได้ดูเอกสารเกี่ยวกับการฟ้องในส่วนของอินเทอร์เน็ต คุกกี้ ก็ได้ถูกเปลี่ยนไปเป็น อินเทอร์เน็ต แคช สำหรับกระบวนการเตรียมหลักฐานขณะอยู่ในเรือนจำนั้น สุรภักดิ์ เล่าว่า ได้ให้น้องๆนักศึกษาที่ไปเยี่ยมทดสอบช่วย เช่น ลองเล่นเฟซบุ๊กแล้วดูว่าจะปรากฏหลักฐานแบบที่เจ้าหน้าที่ใช้ฟ้องตนเองในเครื่องที่เล่นได้หรือไม่ การทดสอบเหล่านี้ใช้คนประมาณ 10 คน โดยให้แม่เป็นศูนย์กลางในการประสาน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การเล่นเฟซบุ๊กและใช้ฮอตเมล์ไม่มีการสร้างอินเทอร์เน็ต แคช ในเครื่อง

“ไม่ใช่หลักฐานเท็จ แต่เป็นหลักฐานที่ไม่มีอยู่ในโลก”

โปรแกรมเมอร์อดีตจำเลย อธิบายถึงการเกิดแคชว่าเว็บไซต์ทั่วไป เช่น sanook.com kapook.com pantip.com ฯลฯ จะเป็นเว็บที่มีแคช โดยระบบแคชถูกคิดค้นในบริบทที่อินเตอร์เน็ตยังมีความเร็วต่ำ เป็นทำสำเนา(copy)หน้าเพจใดๆ ที่เราเปิดทำงานเอาไว้ในเครื่องเรา เพื่อให้ครั้งต่อไปเราสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้เร็วขึ้น โดยจะอ่านที่เครื่องเราก่อนแล้วค่อยอัพเดทไปที่เว็บไซต์จริงๆ ภายหลังอินเทอร์เน็ตมีความเร็วสูงขึ้นแล้วนักพัฒนาโปรแกรมส่วนใหญ่ก็ไม่ใช้ระบบแคชอีกต่อไป โดยเฉพาะโปรแกรมระดับสูงอย่างHotmail , Facebook , Twitter เพราะการใช้แคชจะทำให้การเข้าถึงเว็บช้าลงกว่าเดิมเพราะต้องอ่านกลับไปกลับมา แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าไฟล์ที่เครื่องของตนทั้งสองไฟล์ เป็นแคช ไฟล์ ที่เป็นประวัติการใช้ Hotmail และ facebook

“หลักฐานที่คุณกระทำมันไม่ใช่หลักฐานเท็จ แต่มันเป็นหลักฐานที่ไม่มีอยู่ในโลก” เขาเล่าถึงคำเบิกความของตนเองในการสืบพยาน พร้อมอธิบายว่าเหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะหลักฐานเท็จนั้นยังต้องมีหลักฐานจริงเป็นพื้นฐาน แต่ facebookหรือ hotmailนั้นไม่มีกระทั่งร่องรอยการใช้งาน

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอีกว่าหลังจากเขาถูกจับกุม มีรายงานการใช้งานของคอมพิวเตอร์ของเขาที่ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไปแล้วถึง2 ครั้ง ซึ่งเป็นการเปิดใช้งานก่อนที่จะมีการตรวจพิสูจน์หลักฐาน

ยกนโยบาย‘privacy’ ของ facebookสู้คดี

เขาระบุข้อต่อสู้ที่สำคัญอีกว่า ในวันสืบพยาน ทนายได้คุยกับผู้เชียวชาญและถ่ายเอกสารคำแนะนำการใช้งาน facebookของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg)เจ้าของ facebookว่า facebook มีนโยบายหลักที่จะไม่ยอมให้เกิดแคช เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล

เขาเห็นว่า นี่เป็นประเด็นทางเทคนิคที่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ศาลไม่ได้ระบุในคำพิพากษา

สุดท้าย สุรภักดิ์ กล่าวขอบคุณผู้ที่มาร่วมกิจกรรมและร่วมรณรงค์เคลื่อนไหวเกี่ยวกับนักโทษ ม.112 และกล่าวด้วยว่า คดีนี้ถ้าไม่มีน้องๆนักศึกษาและมวลชนให้ความช่วยเหลือตรวจสอบข้อมูลหลักฐานในการสู้คดีโดยมีแม่เป็นศูนย์กลางการประสานงาน แต่มีแม่เพียงคนเดียวแม่ก็ทำงานไม่ได้ ที่สำคัญ แม่ก็มีกำลังใจอยู่ได้เพราะมีมวลชนคอยดูแล

จรัล ดิษฐาอภิชัยย้ำอย่าลืมและอย่าให้อภัย

นอกจากนี้ จรัล ดิษฐาอภิชัย ที่ปรึกษานายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลรองนายกรัฐมนตรี และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มาร่วมกิจกรรมพร้อมกับกล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่าเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากเป็นพิธีที่ประชาชนจัดขึ้นเพื่อเรียกขวัญให้กำลังใจให้กับสุรภักดิ์ นอกจากนี้ยังกล่าวฝากกับสุรภักดิ์ด้วยว่า 14 เดือนที่ถูกจองจำนั้น อย่าลืมและอย่าให้อภัย และขอให้ยืนหยัดร่วมกับผู้ที่รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยต่อไป

จิตรา คชเดช เล่าถึงแม่ของสุรภักดิ์

จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน ผู้เคยร่วมกิจกรรมรณรงค์สิทธิการประกันตัวของนักโทษ ม.112 กล่าวถึงแม่ของสุรภักดิ์ว่า เป็นแม่ที่ประเสริฐมาก เราจะเห็นแม่แอบยืนร้องไห้อยู่หน้าศาล และไปทุกที่เพื่อเรียกร้องสิทธิของลูกและนักโทษคนอื่นๆด้วย อย่างไม่ท้อถอย อายุมากก็ยังมาอดอาหารเรียกร้องสิทธิการประกันตัวเพื่อลูก สิ่งที่ประทับใจมากๆ ก็คือแม่ของสุรภักดิ์เคยพูดว่า “ต่อให้ฉันไปกินขี้เขาฉันก็จะกิน ขอให้ปล่อยลูกฉันเถอะ”

นอกจากน้าภายในงานกลุ่มเสื้อแดง 15 เขตธนบุรี ยังได้นำสินค้าราคาถูกมาจำหน่าย พร้อมทั้งมีโครงการทำบริเวณนี้เป็นถนนคนเดินเพื่อจำหน่ายสินค้าราคาถูก รวมทั้งการร่วมเล่าประสบการณ์ ความคืบหน้ากรณีการเข้าไปขุดศพไร้ญาติในสุสาน จ.ระยองที่สงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 52 และ 53 อีกด้วย โดยมีกลุ่มเสื้อแดงจากจังหวัดชลบุรีติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

 

ภาพบรรยากาศกิจกรรม

สุชาติ นาคบางไทรอดีตนักโทษ ม.112 กล่าวรับขวัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net