Skip to main content
sharethis

 

แวดวงสื่อมวลชนของมาเลเซียกำลังมีปรากฏการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น “Talk of the Town” เมื่อนักข่าวสายรัฐสภา 77 คน ร่วมลงชื่อในจดหมายที่เขียนถึงประธานรัฐสภา ร้องเรียนให้ประธานรัฐสภาพิจารณาออกระเบียบห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาใช้สถานที่รัฐสภาแถลงข่าวที่นักข่าวกลุ่มนี้บอกว่า “ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับกิจการรัฐสภา”

จดหมายจากนักข่าวฉบับนี้ระบุว่า “การที่บุคคลภายนอก ซึ่งบางครั้งก็มีจำนวนมากด้วยเข้ามาใช้รัฐสภาแถลงข่าวที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐสภานั้น เป็นการรบกวนพวกเรา] เนื่องจากที่สภาก็มีการแถลงข่าวเยอะอยู่แล้ว”

นักข่าวกลุ่มนี้ยังบอกด้วยว่า "นักข่าวรัฐสภาควรทำแต่ข่าวที่เป็นเรื่องของสภาผู้แทนและการแถลงข่าวของ ส.ส. และรัฐมนตรี”

เราจึงขอให้ประธานสภาออกระเบียบอนุญาตให้ สส.เท่านั้นที่สามารถจัดแถลงข่าวที่รัฐสภาได้ บุคคลภายนอกไม่ควรได้รับอนุญาตให้มาแถลงข่าวที่ห้องโถงของรัฐสภาแม้ว่าจะมากับ สส.ก็ตาม”

จดหมายฉบับนี้ถูกนำมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์โดยนักเขียนชื่อ Wong Chin Huat โดยเขาเรียกนักข่าวกลุ่มนี้ว่า Journalists who are against (too many) press conferences

Wong Chin Huat วิจารณ์ว่านักข่าวกลุ่มนี้ควรได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊กในฐานะที่นักข่าวกลุ่มแรกที่พยายามจะปิดปากแหล่งข่าว

“นักข่าวที่อื่นกลัวว่าแหล่งข่าวจะไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล แต่นักข่าวในประเทศมาเลเซียนี่กลับกลัวว่าแหล่งข่าวจะพูดมากเกินไป”

Wong Chin Huat เขียนถามนักข่าวกลุ่มนี้ว่า “มีใครเอาปืนไปจี้บังคับให้คุณต้องทำข่าวหรือไง?

“ถ้าพวกคุณเห็นว่าการแถลงข่าวของพวกนั้นใช้เวลามากไปและไม่มีประเด็นอะไรเกี่ยวข้อง ทำไมคุณไม่อยู่ห่างๆไว้ล่ะ? พวกคุณมีปัญหาอะไรไหมที่จะบอกบรรณาธิการของพวกคุณว่าคุณไม่ต้องการทำข่าวพวกนั้น ทำไมถึงมาเรียกร้องให้ประธานรัฐสภากับรัฐมนตรีห้ามไม่ให้พวกเขาใช้สถานที่ล่ะ?

Wong Chin Huat ประกาศไว้ในเฟซบุ๊คของเขาว่า เขาเชื่อมั่นในเสรีภาพ ความหลายหลาย และประชาธิปไตยในมาเลเซีย

ต่อกรณีนี้ เขาตั้งคำถามเตือนว่า นักข่าวทั้ง 77 คนที่เซ็นชื่อในจดหมายนี้กำลังปฏิเสธสิทธิของ สส.ในการที่จะนำพยานมานำเสนอในรัฐสภาหรือไม่?

“สส.ควรจะพาพยานไปจัดแถลงข่าวที่ไหนดีล่ะ – นอกเขตรัฐสภางั้นหรือ? ต้องนอกเวลาทำงานด้วยหรือเปล่า?

Wong Chin Huat บอกว่าเห็นรายชื่อนักข่าวและสำนักข่าวที่ร่วมลงชื่อแล้ว เขาปวดใจมาก เห็นชื่อคนคุ้นเคยบางคนแล้วอยากร้องไห้เลย ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่าในจำนวนรายชื่อเหล่านี้ไม่มีอดีตนักเรียนสื่อที่เขาเคยสอนนักข่าว 77 คนนี้มาจากสื่อหลายแขนงและหลายภาษา ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์

Wong Chin Huat ระบุชื่อสำนักข่าวต่างๆที่ร่วมลงชื่อในจดหมายไว้ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อนักข่าวทั้ง 77 คน แต่มีคนเดียวที่ Wong Chin Huat บอกว่าสาธารณชนควรจะรับรู้ไว้

“บุคคลเดียวที่ผมจะเปิดเผยชื่อคือ ผู้ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสหภาพนักข่าวแห่งชาติ (The National Union of Journalist: NUJM) เขาลงชื่อในจดหมายทั้งในฐานะของ Sin Chew Daily และ NUJM ผมคิดว่าสาธารณชนควรจะรับรู้เรื่องนี้”

ตอนนี้สาธารณชนมาเลเซียคงรับรู้กันอย่างแพร่หลายตามความประสงค์ของ Wong Chin Huat แล้ว แต่เขาคงไม่สามารถเอาเรื่องนี้ไปลงกินเนสบุ๊คได้แน่ เพราะปรากฏการณ์แบบเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นที่ประเทศไทยมาแล้ว ก่อนหน้านี้ตั้งสี่ปี

หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 รายงานเรื่องนี้ไว้ว่า

 

นักข่าวรัฐสภาจี้ปู่ชัยจัดระเบียบคนใช้ห้องสื่อแถลงข่าว

สื่อหวั่นเหตุขัดแย้งแบ่งขั้วลุกลามไปสู่รุนแรง ยื่นหนังสือปู่ชัย ด้านเลขาธิการสภาฯ รับเรื่อง ให้อออกระเบียบ 3 ข้อ ปู่ชัยหารือสื่อทำอย่างไรให้เล่นตามกติกา หวังไม่สร้างปัญหาให้บ้านเมือง

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.30 น.กลุ่มตัวแทนผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เข้ายื่นหนังสือต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อให้ออกระเบียบเรื่องการอนุญาตให้สมาชิกรัฐสภานำบุคคลภายนอกมาใช้ห้องสื่อมวลชนแถลงข่าว พร้อมกับแนบรายชื่อผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาทั้ง 36 คนด้วย โดยในหนังสือระบุถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งประกอบด้วยนาย จรัล ดิษฐาอภิชัย นพ. เหวง โตจิราการ นาย ชินวัตร หาบุญพาด และนาย สุชาติ นาคบางไทร ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 26พ.ค.ที่ผ่านมาโดยอ้างถึงการใช้สิทธิของนาย นิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน ซึ่งนายสุชาติได้แสดงความไม่พอใจ พร้อมกับนำกล้องดิจิตอลส่วนตัวขึ้นมาถ่ายภาพผู้สื่อข่าว โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวที่ยิงคำถาม โดยอ้างว่าต้องการรู้จักใบหน้าและศึกษาประวัติ และในช่วงคืนของวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ ได้ขึ้นเวทีพร้อมกล่าวปราศรัยในทำนองว่าถ้าเห็นหน้ากลุ่มผู้สื่อข่าวที่ซักถามที่รัฐสภาจะหวดทันที

จากพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาจากสำนักต่างๆ ได้หารือกันเห็นว่าขณะนี้สถานการณ์การเมืองมีความขัดแย้งแบ่งเป็นขั้วและมีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายเคารพการทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการเคารพต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนตามหลักจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ แต่พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นเห็นว่าเข้าข่ายการคุกคามข่มขู่สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนทำให้ไม่ปลอดภัยในการทำงานและจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่จะรายงานข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ ดังนั้นจึงขอให้ประธานรัฐสภากำชับสมาชิกรัฐสภาที่จะนำบุคคลภายนอกมาใช้ห้องแถลงข่าวต้องแสดงความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้แถลงข่าวที่อาจเกิดขึ้นได้และขอให้สร้างหลักประกันในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนว่าจะไม่ถูกคุกคามใดๆ

ทั้งนี้นายชัยได้รับเรื่องและสั่งให้นาย พิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับไปดำเนินการ โดยให้ออกระเบียบ 3 ข้อคือ1.ให้สมาชิกรัฐสภาต้องรับผิดชอบในการนำบุคคลภายนอกเข้ามาแถลงข่าวในห้องสื่อมวลชนและต้องอยู่รับฟังการแถลงข่าวจนจบ 2.ห้ามบุคคลที่มาแถลงข่าวนำกล้องถ่ายรูปขึ้นมาถ่ายภาพสื่อมวลชน และ3.ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรัฐสภาดูแลความเรียบร้อยอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามนายชัยได้หารือกับสื่อมวลชนว่า จะทำอย่างไรให้กลุ่มพันธมิตรเข้ามาใช้เวทีของสภาในการแก้ปัญหา เพราะได้ยื่นถอดถอนส.ส. ส.ว.แล้วก็ถือว่าจบ ควรเล่นกันตามกติกา จะเกิดประโยชน์และไม่สร้างปัญหาต่อบ้านเมือง

ขณะที่ น.ส. นาตยา เชษฐโชติรส นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ทางสมาคมฯได้ติดตามข้อมูลด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่ง ซึ่งสมาคมมีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของนักข่าวรัฐสภาว่า ได้ทำหน้าที่ในการหาข้อมูลข่าวสารด้วยความเที่ยงธรรมต่อวิชาชีพสื่อ ดังนั้นทางสมาคมฯขอให้กำลังใจในการยืนหยัดทำหน้าที่ให้ดีที่สุดต่อไป แต่ขณะเดียวกันจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมากในขณะนี้ ก็เป็นที่คาดหมายว่าการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนจะมีความลำบากมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจเกิดการกระทบกระทั่งกับบางฝ่ายที่ไม่เข้าในบทบาทหน้าที่ของสื่อได้

"ดังนั้นสมาคมฯจึงใคร่ขอให้เพื่อนพ้องน้องพี่ผู้สื่อข่าว ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง และที่สำคัญในการซักถามแหล่งข่าวที่เป็นคู่กรณีความขัดแย้ง ซึ่งอาจจะเจอกับการใช้อารมณ์รุนแรงดังกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็ขอให้ใช้ท่าทีที่สุภาพ อย่าใส่อารมณ์ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยืนหยัดในหลักการที่จะแสวงหาความจริงจากผู้ที่ให้สัมภาษณ์ให้ได้มากที่สุดเช่นกัน" นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าว

 

ที่มา:  https://www.facebook.com/notes/wong-chin-huat/journalists-who-are-against-too-many-press-conferences/463623213687835

http://news.sanook.com/politic/politic_271699.php

หมายเหตุ

ขอบคุณจีรนุช เปรมชัยพร ที่นำข่าวนี้มาเผยแพร่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net