Skip to main content
sharethis

V-Reform สัมภาษณ์ 'อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์' ทวนกระแสปฏิรูป ‘อย่างแรกที่ต้องทำ คือกลุ่มปฏิรูปต้องปฏิรูปตนเองให้พ้นมายาคติเสียก่อน’



เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 55 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ V-Reform ของเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป เป็นโครงการภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ รศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับประเด็นการปฏิรูป ซึ่งประชาไทเห็นว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงขอนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง ดังต่อไปนี้


0 0 0

ปัจจุบัน คือสามปีนับแต่กระแสการปฏิรูปประเทศถูกจุดขึ้นอีกครั้ง ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย (คสป.) ในปัจจุบัน คปร. ได้ยุติบทบาทตัวเองไป โดยทิ้งหนังสือข้อเสนอเล่มหนาหนึ่งเล่มเป็นของดูต่างหน้า ในขณะที่ คสป. ยังคงพยายามสานต่อภารกิจของตนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสการปฏิรูปฯ ครั้งนี้ไม่โหมแรงเหมือนช่วงหลังพฤษภาทมิฬ ช่วงต้นอาจเป็นที่จับตา แต่สามปีผ่านมา เงียบเหงาจนยากจะมีใครรู้ว่ามีใครสักคนกำลังปฏิรูปอะไรบางอย่างอยู่

ทีมงานจึงชวน รศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมต่อจิ๊กซอว์ เพื่อให้เห็นภาพความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งอรรถจักรชี้ประเด็นตั้งแต่พบหน้ากัน ว่าทิศทางการปฏิรูปกระแสหลักนั้น ขัดแย้งกับสภาพสังคมที่กำลังปฏิรูปตัวเอง

เชิญผู้อ่านติดตามภาพรวมประเทศไทย และทำความเข้าใจว่าทำไมบทสรุปสามปีของการปฏิรูป จึงได้ความว่า ‘อย่างแรกที่ต้องทำ คือกลุ่มปฏิรูปต้องปฏิรูปตนเองให้พ้นมายาคติเสียก่อน’

กระแสปฏิรูปที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์นองเลือด ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

ถ้าพูดถึงเรื่องแนวโน้มของกระแสปฏิรูป ผมคิดว่ามีเรื่องที่ใหญ่กว่าการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปทั้งสองชุด กล่าวคือท่ามกลางความขัดแย้งเหลืองแดง สังคมไทยก็มีการปฏิรูปตัวมันเองด้วย ได้แก่การที่คนตัวเล็กตัวน้อยนิยามตัวเองว่าพวกเขาเป็นพลเมือง แล้วก็เริ่มสร้างเครือข่ายต่อรองกับรัฐ ตรงนี้ไม่ได้มีใครมาวางแผนหรือชี้นำอะไร แต่เห็นได้ชัด อย่างแต่ก่อนผมคุยกับชาวบ้าน เวลาถูกเอาเปรียบเขาจะบอกว่า ‘เฮาเป็นคนตุ๊ก เฮาเป็นแค่จาวบ้าน’ ตอนนี้ถ้าไปถาม เขาจะบอกว่า ‘เฮาบ่ยอมดอก เฮาเท่ากัน’

ตัวอย่างมีให้เห็นเรื่อยๆ เช่น ในเชียงใหม่ มีการรวมกลุ่มเครือข่ายตลาดนัด ต่อรองกับตำรวจเรื่องการจัดระเบียบเวลาค้าขาย ทุกวันนี้ก็ค้าขายกันได้ทั้งเดือน ส่วนตัวผมมีข้อสังเกตว่าพวกเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของคนจะมีพลัง อย่างทุกคนในเครือข่ายตลาดนัดนี่เขาต้องค้าขายเลี้ยงชีพ ไม่เช่นนั้นอดตาย ก็ต้องเกาะกุมกันสู้ จึงเกิดความเข้มแข็ง ส่วนการสร้างเครือข่ายผ่านชนชั้นจะทำได้ลำบากกว่า เพราะรวมกันยาก พอหมดสถานการณ์สู้รบก็จะซาไป ส่วนบางเครือข่ายที่น่าจะสำเร็จ มีการวางแผนสร้างเครือข่าย การเคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วล้มเหลวไปก็มีนะ เพราะไปสุดทางแค่การรวมกันตั้งกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น

ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศหรือไม่?

ที่ผมเล่าไปนี่เป็นเรื่องในภาคเหนือ แต่ปรากฏการณ์ในแต่ละที่จะต่างกันไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจ ภาคเหนือกับภาคอีสานจะคล้ายกัน เพราะมีการปรับตัวของคนตัวเล็กตัวน้อยสูง แต่ภาคตะวันออกกับภาคใต้สัดส่วนชนชั้นกลางจะมาก เพราะมั่งคั่งกว่า มีฐานเศรษฐกิจหลากหลาย ทั้งฐานเกษตร เหมืองแร่ ประมง กระแสก็จะมุ่งไปที่การรักษาสถานะเดิมมากกว่าจะปฏิรูปอะไร ส่วนกรุงเทพฯ ผมเห็นว่าครึ่งๆ พวกชนชั้นกลางเก่าก็อยากจะรักษาสถานะเดิม ส่วนพวกที่อพยพเข้าไปใหม่ก็ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง

นอกเหนือการปฏิรูปตัวเองของสังคมที่อาจารย์กล่าวไป กระแสปฏิรูปที่เริ่มจากส่วนกลางเป็นอย่างไรบ้าง?

ในเรื่องความคึกคัก กระแสปฏิรูปจากส่วนกลางรอบนี้จะเงียบเหงาในกรุงเทพฯ ต่างจากรอบหลังพฤษภาทมิฬ เพราะตอนนั้นเป็นกระแสปฏิรูปของคนชั้นกลาง คนที่กุมทิศทางก็เป็นตัวแทนพวกเขา แต่ทุกวันนี้ชนชั้นกลางต้องการรักษาสถานะดั้งเดิม ก็เลยไม่มีอะไรต้องผลักดัน ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเป้าหมายของเขาก็ไปสนใจเรื่องการชนะการเลือกตั้ง มากกว่า

ส่วนเรื่องทิศทาง ผมคิดว่าสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือสายวัฒนธรรมชุมชน พวกนี้เป็นกระแสหลัก เพราะเขามีทรัพยากรสนับสนุนและมีความแข็งขันมาก เป้าหมายเขาคือปฏิรูปโดยเน้นเรื่องความพอเพียง การผลิตยังชีพ การพึ่งพากันในชุมชน ซึ่งสุดท้ายจะไม่สำเร็จในภาพรวม เพราะสภาพจริงมันเปลี่ยนไปจากอุดมคติไกลแล้ว ปลายทางของกลุ่มนี้คงจบที่การปฏิรูปเป็นหย่อมๆ คือไปหาชุมชนที่เขาคิดว่าใช่ แล้วยกเป็นพื้นที่นำร่อง พวกนี้ก็หวังดีนะ แต่โครงการทางการเมือง (Political project) ของเขา ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ มันกลายเป็นการปฏิรูปเพื่อคงสถานะเดิม คือจะกลับไปหาชุมชนแบบเก่าที่ไม่มีแล้ว

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่มุ่งเปลี่ยนแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sector) ให้กลายเป็นผู้ประกอบการ แล้วผลักให้เข้ามาอยู่ในระบบ (Formal Sector) ฐานคิดคล้ายๆ ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือต้องการขยายฐานภาษี เพราะเห็นว่าถ้าคนส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบก็จะเก็บภาษีไม่ได้ รัฐขยับอะไรลำบาก ซึ่งแผนนี้นักการเมืองก็จะเอาด้วย เพราะการช่วยคนให้เลื่อนชนชั้นขึ้นมาจะได้ฐานเสียงที่จงรักภักดี พวกที่มีความคิดแบบนี้ส่วนใหญ่ ก็เลยไปทำงานโดยอาศัยการสนับสนุนของพรรคการเมือง

ส่วนกลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่มุ่งสร้างอิสระทางการเมือง โจทย์ของพวกนี้คือทำยังไงให้คนรวมถึงท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้น ข้อเสนอก็เช่นยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคเพื่อตัดสายต่อของอำนาจบัญชาการจาก ส่วนกลาง กลุ่มนี้จะสนใจเรื่องเศรษฐกิจน้อยกว่ากลุ่มอื่น เพราะมองว่าถ้าปฏิรูปโครงสร้างการเมือง จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในทางที่ดีเอง

กระแสการปฏิรูปจากส่วนกลางกับแนวโน้มการปฏิรูปตัวเองของสังคม สอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไร?

มีทั้งส่วนที่สอดคล้องและขัดแย้ง ผมเห็นว่ากระแสที่เน้นเรื่องอิสระทางการเมือง จะสอดคล้องและได้รับการสนับสนุนจากสังคม เช่น เครือข่าย อบต. ทางเหนือ ที่เขารวมตัวกันเพื่อต่อรอง เพราะไม่อยากเสียทรัพยากรไปกับการจัดงานตามคำสั่งจากส่วนกลาง แต่อยากใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ พวกนี้จะสนับสนุนกระแสปฏิรูปนี้ เพราะโจทย์เป็นเรื่องอิสระทางการเมืองเหมือนกัน ที่สำคัญคือแนวทางแบบนี้ทั้งเหลือง-แดงจะไปด้วยกันได้ เช่นเรื่อง เชียงใหม่จัดการตนเอง นี่เหลือง-แดงก็หยุดทะเลาะกันแล้วมาร่วมกันผลักดัน

แต่สำหรับกระแสปฏิรูปที่เน้นแนวทางกลับสู่ชุมชนแบบเก่าจะเจอทางตัน เพราะสภาพจริงของชุมชนเปลี่ยนไป ดังนั้นการปฏิรูปชุมชนจึงหมายถึงชุมชนบางแห่งที่เขาเลือกทุ่มทรัพยากรลงไป คนในพื้นที่รอบๆ ก็จะรู้สึกว่า เป็นพลเมืองเหมือนกันแต่ทำไมเราไม่ได้บ้าง แล้วก็จะเริ่มหมั่นไส้กัน งานวิจัยชี้ว่าในบางพื้นที่ ตอนนี้เกลียดกันจริงๆ ไปแล้ว

ส่วนกระแสที่ต้องการจะเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ให้กลายเป็นผู้ประกอบการในระบบ สุดท้ายคนคงจะไม่ชอบ เพราะพอเข้ามาในระบบมันต้องรับภาระมากขึ้น อย่างน้อยก็เรื่องการจ่ายภาษี แต่ตอนนี้ไม่มีการคัดค้าน เพราะคนยังรู้สึกพอใจกับรายได้ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น

ถ้าปมปัญหาของทิศทางปฏิรูปกระแสหลัก อยู่ที่การไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบท แล้วอะไรคือสภาพจริงของชนบทในปัจจุบัน?

สิ่งที่กลุ่มการปฏิรูปกระแสหลักทำขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงแบบคนละ เรื่อง เขาคิดถึงสังคมชาวนาแบบอดีต ทั้งที่ตอนนี้ไม่มีชาวนาแล้ว มีแต่คนที่ทำการผลิตภาคเกษตร ซึ่งมีลักษณะเป็นชายขอบของการผลิตในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ กล่าวคือ เขาทำเกษตรกันเป็นเพียงขาหนึ่ง แต่อีกขาหนึ่งอยู่นอกภาคเกษตรซึ่งเขาถือว่าสำคัญกับเขามากกว่า แล้วในภาคเกษตรที่ทำๆ กันก็เป็นแรงงานรับจ้างไปแล้ว 98%

ถ้ายังจะให้เรียกว่าชาวนา ก็ต้องบอกว่าตอนนี้เหลือชาวนาแค่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือชาวนารวย มีที่ดินยี่สิบถึงแปดสิบไร่ นี่ตัวเลขของภาคเหนือ อีสานจะมากกว่านี้ พวกนี้จะจ้างแรงงาน ใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตร อีกกลุ่มเป็นชาวนาขนาดเล็กมีที่สี่ถึงหกไร่ ปลูกเพื่อเก็บกิน อยู่อย่างลำบาก อาศัยเครือข่ายญาติที่เป็นรายเล็กด้วยกันมาเอามื้อเอาวัน เป็นแรงงานให้กันไปมา

พอการปฏิรูปกระแสหลักในระดับชาติไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ข้อเสนอของเขาก็จะแฝงไว้ด้วยความพยายามที่จะรักษาและทำให้เกิดชาวนาเล็ก ที่อยู่กินพอเพียงและเอื้ออาทรกัน อย่างเรื่องการจำกัดการถือครองที่ดินที่ออกมาคงไม่พอช่วยเขา เพราะถ้าไม่ช่วยเขาให้รอดในฐานะผู้ผลิต สุดท้ายก็ต้องขายที่ดินทิ้งอยู่ดี ตรงนี้ผมไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดเรื่องการพึ่งพากันในชุมชนนะ คนชนบทน่ารักกว่าคนในเมืองแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่เอะอะจะไปให้เขาเอื้ออาทรกัน แล้วไม่คิดอะไรมากกว่านี้เลย

ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเดินต่อไปโดยไม่ทำอะไร จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต?

ในภาคเกษตรก็จะมีชาวนารายใหญ่ที่มีอำนาจอิทธิพลสูงขึ้นเรื่อยๆ เราคงได้เห็นเจ้าที่ดินขนาดมหึมา ผู้ผลิตรายย่อยก็จะค่อยๆ ล้มลง สุดท้ายคนจำนวนมหาศาลก็ถอนตัวออกไปเป็นแรงงานนอกระบบ ไปรับจ้างในภาคเกษตร หรือ เข้าไปทำงานในเมือง โดย อบต. ก็คงไม่ทำอะไร นอกจากสนับสนุนชาวนารายใหญ่ไปเรื่อยๆ มีให้เห็นบ้างแล้ว เช่น บางพื้นที่มีไร่ส้มขนาดมหึมาเกิดขึ้น ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็ก เจ๊งหมด แข่งไม่ไหว

สุดท้ายคนที่ถูกผลักออกไป ก็จะเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร ไม่ก็ไปทำงานในเมือง กลุ่มหลังนี่บางส่วนอาจปรับตัวเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแรงงานนอกระบบต่อไป แล้วถ้าวันหนึ่งระบบเศรษฐกิจพังขึ้นมาจะหายนะแน่นอน อาจเป็นเหมือนประเทศบราซิลก่อนสมัยประธานาธิบดีคาร์โดโซ คนจนจนฉิบหาย สลัมเกลื่อนประเทศ มีการก่ออาชญากรรมมาก คนรวยก็ต้องสร้างกำแพงบ้านให้สูงๆ หรือเหมือนในฟิลิปปินส์ ที่ทุกวันนี้แรงงานนอกระบบ 72% ของเขา ตอนนี้ต้องไปต่อคิวรอกระดูกไก่ที่ทิ้งจากเคเอฟซี เพื่อเอาไปล้างแล้วชุบแป้งทอดกิน

บ้านเราตอนนี้แปลกๆ ไม่สนใจคนตัวเล็กตัวน้อยพวกนี้ เรื่องอาเซียนที่จับตากัน ก็ไปสนใจแต่เรื่องการรวมกลุ่มทำกำไรของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไม่ได้สนใจว่าคนตัวเล็กตัวน้อยจะอยู่ตรงไหน ทั้งที่คนพวกนี้รวมกันทุกประเทศมีสัดส่วนกว่า 65% ของกำลังแรงงานทั้งหมด

เพื่อหลบเลี่ยงหุบเหวเหล่านี้ อะไรคือทิศทางของการปฏิรูปที่ควรจะเป็น?

ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยก็ต้องมาตีแผ่ดูกันทีละประเด็น ในกรณีที่ดินที่ผมคิดว่าผิดทาง แต่อย่างข้อเสนอเรื่องการเงินชุมชน ผมคิดว่าจะช่วยระดมทุนสนับสนุนการผลิตของคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งสอดคล้องกับสภาพจริงของคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตรายย่อย

โจทย์คือ ต้องปฏิรูปให้คนตัวเล็กตัวน้อยเป็นผู้ผลิตขนาดเล็กที่อยู่รอดได้เองในตลาด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมาก สิ่งที่ทำได้คือการสร้างแนวทางการผลิตที่เกื้อหนุนกัน ให้ผู้ผลิตรายย่อยในชุมชนซื้อขายกันเอง และ ซื้อขายระหว่างเครือข่ายชุมชนมากขึ้น ส่วนการผลิตก็ต้องคำนึงถึงการเชื่อมโยงไปข้างหน้า (Backward Linkages) และ การเชื่อมโยงไปข้างหลัง (Forward Linkages) เหมือน OVOP ในญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้เราไม่มีอะไรแบบนี้เลย ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่งทำผ้าบูติก เขาสั่งวัตถุดิบทุกอย่างจากกรุงเทพฯ ทำเสร็จก็ส่งขายกรุงเทพฯ คนในชุมชนได้ค่าแรงกันนิดหน่อย อย่างนี้ตายเลย

นอกจากการสร้างเครือข่ายผู้ผลิต และตลาดขนาดย่อย สินค้าก็จะต้องมีความหลากหลาย รวมถึงแปรรูปได้ง่าย เพราะสินค้าหลายประเภททุกวันนี้สู้ในตลาดลำบาก เช่นผักอายุยืนๆ ยังไงก็สู้ที่ส่งมาจากจีนไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องขายความหลากหลาย เช่นในภาคใต้มีทำสบู่มังคุด ส่งออกได้เดือนละตั้งห้าล้านก้อน

มากกว่านั้นรัฐอาจช่วยผู้ผลิตรายย่อยได้ ด้วยการสนับสนุนการระดมและลดตุ้นทุนในระดับชุมชน เช่นผ่อนปรนให้ชุมชนบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นตัวเอง อย่างสหกรณ์ญี่ปุ่นเขาสามารถปลูกไม้สนในเขตป่าเสื่อมโทรมเพื่อขายทำตะเกียบ หรือถ้าชาวบ้านทำนา ก็ให้ อบต. ไปซื้อแทร็กเตอร์มาเป็นของส่วนกลาง ให้เช่าเวียนกันใช้ในราคาถูก

สรุปทุกวันนี้ สังคมเราหนีไม่พ้นที่คนตัวเล็กตัวน้อยจะถูกผลักออกมาให้ดิ้นรนเอาตัวรอดใน ตลาด ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็ต้องมุ่งสนับสนุนให้คนชนบทอยู่รอดในฐานะผู้ผลิต และ ผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ใช่ไปคาดหวังให้เขากลับไปเป็นชาวนาแล้วปลูกยังชีพแบบพอเพียง

ถ้ามีการสนับสนุนคนตัวเล็กตัวน้อยในการแข่งขันในตลาด แล้ว สุดท้ายเขาไปไม่ไหวขึ้นมาจะทำอย่างไร?

ถ้าสนับสนุนแล้วยังไปไม่ไหว เบื้องต้นก็ต้องยอมรับ อย่างไรก็ตามรัฐจะเป็นทางออกที่สำคัญ กล่าวคือต้องมีการสร้างระบบสวัสดิการสังคม เพราะจะให้คนที่ล้มกลับไปหาฟูกที่ชื่อว่าชุมชนก็ไม่ได้แล้ว สำนึกพลเมืองปัจเจกชนแบบ ‘เฮาเท่ากัน’ พาเขาถอนตัวจากชุมชนกันหมด ต้องมีสวัสดิการมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน ถึงที่สุด เรื่องทั้งหมดคือการจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐ ตลาด และ ชุมชน

แต่บทบาทรัฐตรงนี้ไม่ใช่เข้าไปอุ้มโดยตรงนะ แบบนั้นจะสร้างผลเสียในระยะยาว อย่างนโยบายรับซื้อข้าวทุกเม็ดจะทำให้ผู้ประกอบการไม่พัฒนาตัวเอง เพราะปลูกข้าวอีลุ่ยฉุยแฉกยังไงเอาไปขายก็ได้เงินจากรัฐบาลหนึ่งหมื่นห้าพัน บาท ในระยาวคุณภาพสินค้าก็ลด ที่ควรคือรัฐสนับสนุนโดยไม่เข้าไปอุ้ม ก็คงมีล้มหายตายจากไปบ้าง แต่ถ้ารัฐเป็นฟูกให้ เขาก็พักฟื้นแล้วไปเริ่มแข่งใหม่ในตลาดอื่น ประเด็นคือต้องให้เขาอยู่รอดได้ด้วยตัวเองจริงๆ ถ้าจะฝืนอุ้มไว้ตลอด ชาวนาก็จะปลูกข้าวโดยไม่กังวลเรื่องความเสี่ยงที่รัฐเข้ามาแบกรับแทน ข้าวก็ออกมายี่สิบล้านตันทุกปี ต่อไปจะส่งออกไม่ได้เหมือนเดิม เพราะตลาดเปราะบาง (Thin market) มีคนแข่งขันกันมาก ก็ต้องดึงภาษีส่วนรวมไปอุ้มเรื่อยๆ แล้วที่แย่คือถ้าดูรายละเอียด เงินตรงนี้มันวนเข้ากระเป๋าชาวนารวยสี่สิบเปอร์เซ็นต์

อะไรคือบทเรียนเกี่ยวกับการปฏิรูปในช่วงสามปีที่ผ่านมา?

การปฏิรูปเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อหลีกหนีหายนะ แต่ทุกวันนี้ถ้าจะหวังพึ่งกระแสปฏิรูปที่มาจากส่วนกลาง ก็ต้องวนกลับไปเรื่องเก่า ว่ากลุ่มกระแสหลักยังติดอยู่กับมายาคติชุมชนแบบโรแมนติก ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปกัน อย่างแรกที่ต้องทำ คือกลุ่มปฏิรูปต้องปฏิรูปตนเองให้พ้นมายาคติเสียก่อน

 

 

ที่มา: http://v-reform.org/v-report/attachak/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net