จากโคมลอยถึงโคมไฟ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ที่มาของภาพประกอบ: Rachakhomloy

(1)

ก่อนหน้าจะถึงช่วงยี่เป็งของปีนี้ (บรรยากาศคึกคักกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากมีทั้งคนกรุงเทพฯ และคนจังหวัดอื่นๆ ที่หนีภัยน้ำท่วมขึ้นมาอยู่ที่เชียงใหม่จำนวนมาก) หลายสัปดาห์ สองข้างทางกลับบ้านผมเต็มไปด้วยแผงขายโคมลอย หลายร้านเลือกที่จะเอาโคมลอย ลายหมีแพนด้าบ้าง ลายโดเรมอนบ้าง ลายแองกี้เบิร์ดบ้าง มาแขวนเรียกลูกค้า

แน่นอน ตลอดหลายปีมานี้ มีบ่อยครั้งที่ผมเห็นภาพโคมไฟลอยอยู่เต็มท้องฟ้า ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาลลอยกระทงเท่านั้น แต่ยังพบได้ในโอกาสสำคัญอื่นๆ อีก เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา คืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตามร้านอาหารขันโตก เป็นต้น พอจำได้ว่าตอนเด็กๆ เห็นโคมเมื่อใดเป็นตื่นเต้นกันทั้งห้อง ต้องขออนุญาตครูวิ่งออกมายืนดูที่ระเบียง เท่าที่ยังจำได้ตอนนั้นจะเจอโคมส่วนใหญ่ช่วงกลางวัน และรูปทรงจะแตกต่างจากตอนนี้อยู่มาก ทั้งขนาดและวัสดุที่ใช้ มาลองๆ ทบทวนดูว่า ผมเองเคยเห็นภาพแบบนี้ (โคมลอยเต็มฟ้า) ครั้งแรก และมีประสบการณ์ร่วมเมื่อใด คำตอบข้อแรกคือ เห็นในพิธีปิดกีฬาซีเกมส์ที่จัดขึ้นที่เชียงใหม่ เมื่อปี 38 หรือประมาณ 15 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นซัก 2 ปี ผมถึงได้ไปปล่อยโคม (น่าจะเป็น) ครั้งแรกในชีวิตที่ธุดงคสถานล้านนา (สาขาของวัดพระธรรมกาย อยู่หลังมหาวิทยาลัยแม่โจ้) เป็นคำตอบข้อหลัง งานนั้นคนเยอะมากๆ และโคมก็ไม่ต้องเตรียมไป แต่หาซื้อในงานได้เลย

 

(2)

เมื่อค่ำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2554 จากวงเสวนา “ยี่เป็งเมื่อตะก่อน” โดย อ.นิคม พรหมมาเทพย์, อ.แสวง มาละแซม และ อ.บุญวรรณี วิริยะ สะท้อนแง่มุมจากคนแต่ละรุ่น ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง จัดที่ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ (ใกล้ๆ โรงเรียนยุพราชฯ) เนื้อหาพอสรุปได้ว่า

1.ประเพณีเดือน “ยี่เป็ง” เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในวันเป็ง (วันพระจันทร์เต็มดวง หรือวันเพ็ญ) เดือนยี่ (เดือนสองของล้านนา หรือเดือนสิบสองของทางภาคกลาง) หลังจากออกพรรษาแล้วหนึ่งเดือน

2.เทศกาลยี่เป็งในอดีตเน้นการฟังเทศน์ใหญ่ (เทศน์มหาชาติ หรือตั้งธรรมหลวง) มักเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก ชาติสุดท้ายก่อนที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา ซึ่งจะถือเป็นการฟังธรรมครั้งสำคัญประจำปี อาจกินเวลานาน ตั้งแต่ 3-7 วันติดกัน ขึ้นอยู่กับศรัทธาญาติโยมในแต่ละพื้นที่

3.สัญลักษณ์ต่างๆ นานาที่เห็น ไม่ว่าจะประตูป่า โคมลอย โคมไฟ สะตวง (หรือกระทง) ผางประทีป ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อพุทธบูชา เช่น การตกแต่งประตูป่าก็ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นการต้อนรับพระเวสสันดรเดินทางกลับเข้าสู่เมืองใน ชาติสุดท้าย, การจุดผางประทีปที่วัด ตามบ้าน ก็เพื่อบูชาพระรัตนตรัย, การลอยสะตวง (เช่นแบบดั้งเดิมเก้าห้อง) ที่ทำด้วยใบตองและกาบกล้วยแบ่งเป็นช่องๆ สำหรับใส่ของบูชาต่างๆ ลงสู่แม่น้ำ คือการบูชารอยพระบาทพระพุทธเจ้า และลอยเคราะห์หลวง

4.กิจกรรมเน้นการแข่งขันและความบันเทิง เช่น ขบวนแห่กระทงใหญ่ การประกวดนางนพมาศ จุดบอกไฟ เป็นกิจกรรมที่ส่วนกลางริเริ่มให้จัดขึ้น เพื่อใช้ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว น่าจะมีมาตั้งแต่ราวๆ ต้นทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา

5.เมื่อไฮไลท์ของเทศกาลนี้อยู่ที่ตัวเมือง ท้องถิ่นรอบนอกย่อมถูกละเลย หลายชุมชนต้องเลื่อนมาจัดงานยี่เป็งก่อนหน้าวันจริงนานนับสัปดาห์ เพื่อจะไม่ให้ไปชนกับงานใหญ่ในเมือง เป็นต้น

 

(3)

ปรากฎการณ์โคมยี่เป็ง จากที่เห็นวางขายอยู่สองข้างทางกระทั่งไปล่องลอยอยู่เต็มฟากฟ้านั้น สามารถใช้สะท้อนรูปธรรมของสิ่งที่เรียกว่า การทำวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า (commoditization of culture) ได้เป็นอย่างดี

อ.นิคม ผู้อาวุโสสูงสุดในวงเสวนาวันนั้น เล่าว่าจริงๆ แล้ว โคมนั้นแบ่งกว้างๆ ได้ 2 ชนิด คือ โคมลอยกับโคมไฟ โคมลอย (แบบที่ผมเคยเห็นตอนเด็กๆ) ใช้ปล่อยในเวลากลางวัน ทำด้วยกระดาษหลากสีสันมาต่อกัน ทรงคล้ายๆ บอลลูน และใช้วิธีการรมควันให้โคมลอยขึ้นไป ส่วนที่ปล่อยตอนกลางคืนจะเรียกว่า โคมไฟ (แบบเดียวกับที่ขายกันทั่วไปทุกวันนี้) ตัวโคมจะทำด้วยกระดาษสีขาวเพื่อให้เห็นแสงไฟข้างใน เชื่อกันว่าปล่อยโคมเพื่อให้ไปบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในอดีตมักร่วมกันทำโคมและปล่อยในนามกลุ่ม ในนามชุมชน เป็นกิจกรรมรวมหมู่ที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่กิจกรรมแบบปัจเจกที่ใครคิดจะปล่อย-จะปล่อยเมื่อใดก็ได้ตามสบายอย่างเช่นปัจจุบัน

ทุกวันนี้คนปล่อยโคมส่วนใหญ่นอกจะปล่อยกันด้วยความสนุกสนาน และความไม่รู้ (เช่นไปเรียกโคมไฟว่าเป็นโคมลอย) แล้ว การปล่อยโคมที่มากเกินไป และไร้ระเบียบ ยังก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินอากาศ มลพิษทางอากาศ อุบัติเหตุบนท้องถนน รวมถึงอัคคีภัย ฯลฯ

เราคงยากที่จะไปห้ามใครต่อใครไม่ให้ปล่อยโคมกันอีก ในเมื่อการพาณิชย์ได้เข้าครอบงำประเพณีในอดีตเสียขนาดนั้น แต่อย่างน้อย การทำงานร่วมกันเพื่อรื้อฟื้นความรู้เก่าๆ ให้กลับมา ย่อมทำให้คนที่จะปล่อยโคมต่อไปได้รู้ถึงที่มาที่ไป และตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ไม่มากก็น้อย.

 

เผยแพร่ครั้งแรกในเชียงรายทูเดย์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 28 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2554, หน้า 14

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท