สภาอภิปราย ร่างฯวิชาการทหารฯ 'สุนัย' เสนอเลิกทหารเกณฑ์

เสนอให้ใช้การสมัครพร้อมให้สิทธิพิเศษสอบเข้า รร.นายร้อยแทน  ส.ส.ปชป.ถาม คนจบสาขาอื่นจะมาเรียนด้วยได้หรือไม่ ส่วน ส.ส.หญิงอภิปราย ควรเปิดให้ผู้หญิงได้เรียน จปร. ด้าน รมว.กลาโหม ปัดพูดเรื่องเกณฑ์ทหาร ยันชัดไม่เอา

เมื่อที่ 7 พ.ย. 55 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปิดวาระอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จ วิชาการทหาร ฉบับที่... พ.ศ.... โดยมีเนื้อหาเรื่องการขยายวิชาการทหารไปสู่หลักสูตรปริญญาเอกและการเปิดโอกาสให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมในการกำหนดหลักสูตรได้ ซึ่งในการอภิปรายมีการกล่าวถึง การเพิ่มเนื้อหาด้านสิทธิมนุษยชนในหลักสูตร การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปเรียนในโรงเรียนเตรียมทหาร การเปิดโอกาสให้ผู้ที่จบสาขาอื่นมีโอกาสเข้าไปเรียน รวมทั้งการเสนอให้มีการยกเลิกระบบการเกณฑ์ด้วย 

นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.แบบสัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ถ้าพิจารณาให้ดีคือ การเปิดการปฏิรูประบบแนวคิดของกองทัพ ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า โครงสร้างของทหาร
 
ไทยได้แสดงบทบาทสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แต่หลังจากนั้น 60 ปีที่ผ่านมากลับกลายเป็นโครงสร้างอุปสรรคแก่การพัฒนา จึงขอเสนอ 3 ประเด็น เพื่อให้กฎหมายนี้เป็นการปฏิรูปแนวคิดของกองทัพที่หากสามารถทำได้จริงก็สมควรที่จะบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์รัฐสภาแห่งนี้
 
ดร.สุนัย กล่าวถึงประเด็นแรกว่า รูปแบบของร่าง พรบ.ฉบับนี้น่าจะยังมีปัญหาซึ่งอาจถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เช่น กรณีที่ตนเป็นลูกครึ่งจีนรวมทั้งลูกที่เกิดในเมืองไทยกลับไม่สามารถที่จะสอบเข้าเป็นทหารได้แม้แต่นายสิบ แต่กลับต้องเกณฑ์ทหารได้ ตรงนี้จึงอาจขัดกับหลักความเสมอภาคในรัฐธรรมนูญ 
 
ประการที่สอง ต้องมีกระบวนการจัดการเนื้อหลักสูตรที่ก้าวหน้า ให้ทหารได้เรียนรู้การเมืองการปกครอง เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุยชน มีความคิดเท่าทันโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่นายจะใช้ไปฆ่าใครก็ได้ และ
 
ประการสุดท้ายคือ การปรับปรุงระบบที่จะทำอย่างไรไม่ให้ทหารมายึดอำนาจ หรือการเณฑ์ทหารจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกฎหมายฉบับนี้ 
 
ทั้งนี้ ดร.สุนัย กล่าวว่า กฎหมายการเกณฑ์ทหารของไทยเป็นกฎหมายที่อิงกับระบบไพร่ ทาส ในอดีต เพราะเกณฑ์มาแล้วเงินเดือนก็น้อยแล้วยังไปถูกฝึก โขก สับ จึงทำให้ต้องมีหนี ยัดเงิน จึง
 
อยากให้ยกเลิก รวมทั้งที่ระบุว่า พ่อเป็น จีน ฝรั่ง สมัครสอบทหารไม่ได้จนกว่าจะผ่านไปสองรุ่นก็ต้องยกเลิกเสีย อย่างในวันนี้ที่ พันตรีหญิงลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ (Ladda Tammy Duckworth) ลูกครึ่งไทย-อมเริกัน ผู้ลงสมัคร ส.ส.พรรคเดโมแคตรก็กลายเป็นสตรีเชื้อสายไทยคนแรกได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส เขต 8 รัฐอิลลินอยล์ สหรัฐ หรืออย่างลูกคนขับแท็กซี่ที่ไปเรียนที่อเมริกาก็สอบเข้าเป็นทหารได้ เห็นชัดเจนว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเปิดโอาสแห่งความเสมอภาค ขณะที่ทั้งตนและลูกเกิดเมืองไทยแท้ๆกลับเป็นได้แค่ทหารเกณฑ์  นอกจากนี้ เขายังเสนอแนวทางในเรื่องนี้ด้วยว่า เมื่อยกเลิกแล้วจึงควรเปิดให้สมัครรับทหารเกณฑ์จากเด็กที่จบระดับมัธยมปลายแล้วจึงให้สิทธิในการสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยเป็นกรณีพิเศษแทน 
 
"คนจะมีโอกาสในชีวิต แล้วเราจะได้ทหารเกณฑ์ที่มีคุณภาพสูงทันที เปิดช่องให้เขาเสีย ต้องให้โอกาสเขาบ้าง ทุกอย่างจะได้เข้าสู่กระบวนการได้" ดร.สุนัย กล่าว  
 
พอ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่างกฎหมายฉบับดียวกันว่า ปัญหาของการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยเวลานี้คือ คนที่ไปจบปริญญาเอกจากต่างประเทศหลายท่านเมื่อมาทำงานในโรงเรียนนายร้อยระยะหนึ่งแล้วจะลาออกจากโดยอาจไปมหาวิทยาลัยภาครัฐหรือทำงานเอกชน ดังนั้น จึงควรสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่จะมาเป็นอาจารย์ เพราะปัญหาคืออาจารย์เหล่าทั้งหลายมองเห็นอนาคตตัวเองที่ พันเอกพิเศษ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ควรจะยกยศออกจากเงินเดือน โดยอาจออกเป็นกฤษฎีกาพิเศษซึ่งไม่ติดที่ยศ แต่ปรับเงินเดือน เช่น ศาสตรจารย์ก็ให้เท่ากับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือเปิดโอกาสให้สภามหาวิทาลัยแนะนำผู้ที่จะมาเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์พิเศษ หรือผู้ช่วยศ.พิเศษได้ ซึ่งจะทำให้นักวิชาการจากภายนอกเข้ามามีส่วนในการกำหนดหลักสูตรมากขึ้น
 
ด้านนายสุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ อาชีพทหารเป็นอาชีพที่ผู้ปกครองอยากให้ลูกเรียนสูงมาก เพราะมองว่ามีความมั่นคง ได้บรรจุเป็นราชการแน่นอนหากสามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร และทำให้สถาบันกวดวิชาทำเงินได้อย่างมากมาย แต่สถานการณ์ตรงนี้ที่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ทั้งหมดจะทำได้อีกกี่ปีในขณะที่อาชีพอื่นๆอย่างพยาบาลก็ต้องปรับเป็นลูกจ้างชั่วคราวกันแล้วและมีการออกมาเรียกร้องสิทธิกัน ส่วนเรื่องการขยายหลักสูตรปริญญาโทและเอกนั้นคงไม่มีใครไม่เห็นด้วย แต่อยากถามว่า เมื่อมีการขยายหลักสูตรไประดับนี้ สถาบันอื่นๆทั่วไปจะเปิดโอกาสให้คนที่จบจากที่อื่นได้เจ้ามาเรียนด้วย ดังนั้น โรงเรียนนายร้อยจะให้คนที่จบจากสถาบันอื่นได้เรียนด้วยหรือไม่ เพราะโดยวิชาก็น่าเรียนน่าสนใจ เช่น วิศวะกรรมสาขาต่างๆโดยมีวิชาทางทหารพ่วงด้วย ตรงนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนทั่วไป รวมทั้งทหารก็ได้ซึมซับเรียนรู้กับคนธรรมดาบ้าง เพราะคนเรียนทหารบางคนอาจสำคัญตัวว่าตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และอาจทำตัวไม่เคารพกฎหมายบ้าง 
 
ในช่วงหนึ่งของการอภิปรายยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงทานหนึ่งได้กล่าวถึงเรื่องหลักสูตรที่ควรมีเรื่องสิทธิมนุษยหรือเรื่องการเจรจาด้วย เพราะสำคัญที่จะพัฒนาศัยภาพความพร้อมของ
 
ทหารและบ้านเมือง นอกจากนี้ เธอยังกล่าวด้วยว่า โรงเรียนเตรียมทหารยังเป็นโรงเรียนเดียวที่ไม่รับผู้หญิงเข้าไปเรียน ซึ่งโรงเรียนตำรวจหรือเหล่าอื่นๆมีแล้วและโดยศักยภาพก็ไม่แตกต่างกัน 
 
ในขณะที่มุมมองในการแก้ไขปัญหาหรือเดินหน้าจำเป็นต้องใช้ทั้งสองมุมมอง จึงเป็นข้อสังเกตว่า ร่าง พรบ.ดังกล่าว น่าจะเติมเรื่องข้อปฏิบัติในเรื่องเพศด้วย
 
ในช่วงท้าย พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกะทรวงกลาโหม ได้ตอบข้อสังเกตต่างๆที่มีการอภิปรายดังกล่าวว่า ในกรณีที่ถามถึงการรับผู้หญิงหรือโรงเรียนนายร้อยหญิงนั้นเหมาะสมหรือไม่ ในเรื่องนี้เคยคิดกันหลายครั้ง แต่หน้าที่หลักยังอยู่ที่ทำการรบ เป็นทหารราบ ถือปืน ซึ่งเราต้องการไม่มากและไม่คิดถึงขนาดนั้น ปีหนึ่งแค่ประมาณ 80 คน และผู้หญิงก็มีอยู่หลายส่วน เช่น ทหารหญิง หรือแพทย์ทหารหญิง อย่างไรก็ตามในอนาคตข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้แน่ ส่วนเรื่องการเกณฑ์ทหารคงไม่พูดเพราะคงไม่เอาย่างนั้น
 
สำหรับผลการลงมติในวาระที่ 1 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ

 

ที่มา: เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท