วรดุลย์ ตุลารักษ์: เลือกตั้งสหรัฐ และด้านกลับของการเมืองระบบสองพรรค

สัมภาษณ์ "วรดุลย์ ตุลารักษ์" นักวิจัยด้านเศรษฐกิจและแรงงาน มหาบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเนแบรสกา ในโอกาสที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 57 กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. นี้โดยเป็นการแข่งขันของผู้สมัครหลักๆ คือบารัก โอบา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต และมิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน

โดยคุณวรดุลย์ ซึ่งเคยอาศัยในสหรัฐอเมริกาตรงกับช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 สมัย ตอบคำถามที่ว่าการเมืองของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีสีสันอย่างที่สื่อมวลชนนำเสนอหรือไม่ โดยเขากล่าวว่า ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าการเมืองสหรัฐอเมริกามีสีสัน มีการแข่งกันค่อนข้างสูง แต่จากการสังเกตการเมืองสหรัฐจะใช้ประเด็นหาเสียงอยู่ไม่กี่ประเด็น เช่น พรรครีพับลิกันจะชูนโยบายลดภาษีให้บริษัท ลดภาษีให้คนรวย ซึ่งพรรคเดโมแครตจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ส่วนนโยบายด้านสังคม พรรคเดโมแครตดูจะเป็นเสรีมากกว่า เช่น สนับสนุนการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย และการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ซึ่งพรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วย ประเด็นเหล่านี้ถูกนำเสนอและใช้แข่งขันกันมาหลายสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ประเด็นแข่งขันของสองพรรคใหญ่ และนโยบายจะอยู่ตรงกลางๆ แม้จะดูหวือหวาในช่วงเลือกตั้ง แต่หลังเลือกตั้งไปแล้วก็ดำเนินนโยบายใกล้เคียงกัน อย่างนโยบายการทำสงครามในตะวันออกกลาง รัฐบาลทุกพรรคก็เข้าไปทำสงครามในตะวันออกกลาง และเมื่อทหารอเมริกันเสียชีวิตกลับมาทั้งสองพรรคก็ต้องไปแสดงความไว้อาลัยกับทหารอเมริกัน

ทั้งนี้ระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาทำให้พรรคเล็กๆ ขึ้นมาเป็นตัวเลือกได้ยาก โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคกรีนคือ พญ.จิล สไตน์ ที่ต่อมาไม่สามารถเข้าร่วมการดีเบตได้ เพราะคณะกรรมการการจัดการโต้วาทีชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (Commission on Presidential Debate หรือ CPD) กำหนดให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องได้รับคะแนนนิยมจากการสำรวจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ทำให้คะแนนของผู้สมัครจากพรรคอื่นไม่เพียงพอที่จะได้เป็นแคนดิเคตในการดีเบต

นอกจากนี้ยังมีวิธีคิดที่ผู้มีสิทธิลงคะแนน จะลงคะแนนแบบยุทธศาสตร์ (Strategic voting) ให้พรรคที่สามารถแข่งขันกันได้เท่านั้น ทำให้พรรคที่ไม่มีความหวังอยู่เลย แนวโน้มของการเมืองสหรัฐอเมริกาจะเป็นระบบสองพรรคมากขึ้น จะไม่มีพรรคเล็กเกิดขึ้นได้เลย ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับยุโรปแล้ว ประเทศในยุโรปเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมาเป็นตัวเลือกมากกว่า

วรดุลย์สรุปในตอนท้ายว่า "การเมืองสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มนำไปสู่ระบบสองพรรค และเบียดขับพรรคอื่นๆ ออกไปจากตลาดการเมือง เหลือแต่พรรคใหญ่ๆ ข้อดีก็คือพรรคการเมืองที่เหลืออยู่มีฐานเสียงอยู่แน่นอน ผลักดันนโยบายของพรรคได้แน่นอนเพราะมีฐานเสียงรองรับ และมีเสถียรภาพเพราะเป็นพรรคใหญ่ แต่ข้อเสียคือเมื่อโลกก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ความหลากหลายของผู้คนในประเทศก็ย่อมมากขึ้น ดังนั้นคนเหล่านั้นต้องการนโยบาย พรรคการเมือง หรือความเป็นเจ้าของพรรคการเมืองมารองรับตรงนี้ ถ้าขาดซึ่งความหลากหลายของตัวเลือกที่เป็นพรรคการเมืองไป คนที่ไม่เห็นด้วยกับสองพรรคนี้ ก็ต้องถูกบังคับให้ไปเลือกพรรคที่ชอบน้อยกว่า ซึ่งเรียกว่าผู้เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic voting) เลือกพรรคที่สูสีกันเท่านั้น พรรคที่สามก็เลยไม่เกิด สังคมอเมริกันที่บอกว่าเป็นหม้อที่หลอมรวมคนที่หลากหลายเข้ามาด้วยกัน (Melting Pot) แต่วันหนึงระบบการเมืองกลับไม่สะท้อนโครงสร้างและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ก็คงเกิดความขัดแย้งและต้องปรับตัวกันอีกรอบ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท