Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการค่าจ้างกลางหรือบอร์ดค่าจ้าง ได้เคยสำรวจ แรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลรายรอบพบว่า   ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ไม่พอต่อรายจ่ายตามอัตภาพ วันละ 6.8-11 บาท และไม่พอต่อรายจ่ายตามคุณภาพชีวิต วันละ 24-25 บาท ขณะที่โดยภาพรวมรายภาคนั้นแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายสูงที่สุด คือมีรายได้ไม่พอต่อรายจ่ายตามอัตภาพ วันละ 32.67 บาท และไม่พอต่อรายจ่ายตามคุณภาพชีวิต วันละ 48.81 บาท

การสำรวจผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศกว่า 23,194 คน ช่วง 1 เม.ย. - 31 พ.ค. 2554 เฉลี่ยค่าใช้จ่ายรายเดือนของแต่ละคนนั้น ค่าอาหารอยู่ที่ 2,015 บาท, ค่าที่พัก 1,400 บาท, ค่าพาหนะ 649 บาท, ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 819 บาท ซึ่งว่ากันเฉพาะค่าใช้จ่ายหลักเหล่านี้ ไม่รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด-สันทนาการ รวมแล้วก็เดือนละ 4,883 บาท

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ ผอ.ศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยแสดงความคิดเห็นไว้ว่า..  การสำรวจอัตราค่าครองชีพกับค่าใช้จ่ายของแรงงานในแต่ละครั้ง ผลออกมาก็ ’ไม่เคยพอกิน" ยิ่งถ้ามีหนี้สิน กู้เงินนอกระบบมาใช้ ยิ่งมีปัญหา แรงงานต้องทำโอที-ทำงานล่วงเวลา

"ต้องทำโอทีอย่างน้อยวันละ 2-4 ชั่วโมง เพื่อให้ได้เงินเพิ่ม การไม่พอกินทำให้เกิดปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัวตามมา คือไม่มีเวลากลับบ้านไปหาพ่อ-แม่ ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ลูกเมีย หรือไม่มีเวลาไปเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะ ศักยภาพ เพื่อให้ได้ขึ้นค่าแรง ก็เลยต้องทำงานแบบย่ำอยู่กับที่ ไม่ได้ไปไหนไกล"

ดังนั้น กรณี ’ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท" ที่กำลังเป็นประเด็น ถึงขึ้นได้จริง ๆ "ก็ยังคง ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตอยู่ดี ซึ่งแต่ละวันลูกจ้างต้องจ่ายค่ารถไปทำงาน บางคนไป-กลับวันละหลายต่อ ไหนจะค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่าสังคมต่าง ๆ บางคนมีลูกมีเมียต้องดูแล ยังไงก็ไม่มีทางพอแน่นอน"

ชีวิตที่เป็นจริงของผู้ใช้แรงงานมักต้องทำงานมากกว่าวันละแปดชั่วโมง ต้องทำโอที ต้องทำฮอลลิเดย์ ไม่มีวันหยุด ไม่มีเวลาพักผ่อน จึงไม่ได้นั่งสมาธิ จึงไม่ได้สนทนาธรรมกันที่โรงแรมหรู แต่ต้องดิ้นรนเพื่อให้มีเงินพอที่ตนเองและครอบครัวมีชีวิตอยู่รอด

อย่างไรก็ตาม  นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นี้เมื่อปีที่แล้ว  รัฐบาลได้มีการนำร่องค่าจ้างขั่นต่ำ 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร  สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม  นนทบุรี สมุทรปราการ และ ภูเก็ต   ก็ได้ถูกคัดค้าน จาก กลุ่มนายทุนสามานต์สายอำมาตย์  ผู้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ และการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา  ไม่ว่าในนามของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย   หรือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

แต่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์  ก็ยังยืนยันจุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง โดย  นายเผดิมชัย   สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน     แถลงยืนยันแน่ชัดว่า  ปี 2556    ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททุกจังหวัดทั่วประเทศตามที่ให้สัญญากับผู้ใช้แรงงานอย่างแน่นอน ไม่มีอะไรต้องการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้แล้ว  เมื่อวันที่ 31 ต.ค.55ที่ผ่านมา  ได้มีการจัดงาน “วันนิคม จันทรวิทุร” ครั้งที่ 10 มีการปาฐกถานำในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจและแรงงานไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน” โดย ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต

ดร.อนุสรณ์  ได้กล่าวถึง นโยบายด้านแรงงาน จะเป็นนโยบายที่สำคัญที่จะช่วยดูแลให้ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจมีปัญหาน้อยลง อย่างนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่จะให้เกิดขึ้นต้นปีหน้าทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเดินหน้า แม้จะมีเสียงคัดค้านจากธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยว่า จะทำให้เกิดปัญหาปิดกิจการหรือปัญหาเลิกจ้าง ขอให้ท่านนึกถึงตอนที่เราเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายประกันสังคม หรือประกันการว่างงาน ก็มีคนไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเราคิดให้ดีแล้ว มันเป็นสิ่งที่จะต้องทำ

แน่นอนว่านโยบายหรือมาตรการใดๆ ก็ตาม มันย่อมมีผลกระทบทั้งด้านบวกด้านลบ และมีผลกระทบต่อผู้คนในแต่ละส่วนแตกต่างกัน

“ กรณีของค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เราอาจจะเห็นว่ามีผลกระทบต่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่อยู่ในจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่เดินหน้านโยบายนี้ ถ้าเราต้องการให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้และความมั่งคั่งมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ รัฐจะต้องมีมาตรการในการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม”

หากเราไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในบางกิจการหรือบางอุตสาหกรรมก็อาจเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานได้ เพราะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เกิดการขยายตัวอย่างมาก ทั้งด้านการผลิต การบริโภค และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจนี้ ก็เกิดประโยชน์ต่อการบริโภคและการผลิต การผลิตก็สามารถสร้างเครือข่ายที่ไร้พรมแดนมากขึ้น การบริโภคก็จะมีทางเลือกมากขึ้น สินค้าถูกลง คุณภาพดีขึ้น เพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก

ประเด็นทางด้านการผลิต ที่เราสามารถสร้างเครือข่ายแบบไร้พรมแดนมากขึ้น ก็เป็นประเด็นเชื่อมโยงกับด้านแรงงานหรือการจ้างงาน เพราะผู้ประกอบการ นักธุรกิจอุตสาหกรรมก็อาจจะย้ายฐานการผลิตไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อบริหารต้นทุน

กระนั้นก็ตาม   นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300  บาทในปีหน้า (ปี2556 ) ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวคัดค้านจาก   องค์กรของกลุ่มทุนสามานย์สายอำมาตย์ เช่นเดิมเหมือนเดิม    เนื่องเพราะพวกเขายังคิดหากำไรจากการลงทุน โดยการกำหนดต้นทุนให้ค่าจ้างแรงงานราคาถูกมากที่สุด   มากกว่าการพัฒนาพลังการผลิต ประสิทธิภาพด้านอื่นๆให้ก้าวหน้าแบบทุนนิยมสมัยใหม่  

และพวกเขาหาได้ให้ความสำคัญถึงผู้ใช้แรงงาน ผู้มีส่วนทำให้พวกเขาได้ประโยชน์จากกระบวนการผลิตในกิจการของพวกเขาแต่อย่างใด  เนื่องเพราะพวกเขาเคยชินกับการเป็นทุนอำมาตย์สามานย์ที่ขูดรีดแรงงานอย่างที่เห็นและเป็นอยู่  มองแรงงานเสมือนทาสของพวกเขาเท่านั้นเอง

องค์กรแรงงานไม่ว่าในรูปแบบสหภาพแรงงาน สมาคม  สภาแรงงานต่างๆ  ก็ยังเงียบเฉยไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่แสดงบทบาทพลังเพื่อสนับสนุนนโยบายนี้ทั้งๆเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงาน อย่างที่ควรจะเป็น ?

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net