Skip to main content
sharethis

บริษัทน้ำตาลไทยร่วมหุ้นทุนไต้หวันละเมิดสิทธิที่ทำกินชาวบ้านกัมพูชากว่า 450 ครอบครัวไร้ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเพื่อผลิตน้ำตาลทรายส่งขายสหรัฐ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา กรณีข้อเรียกร้องโดยชาวบ้าน 207 ครอบครัวแห่งอำเภอสเรอัมเบิล จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ถูกละเมิดและไล่ออกจากที่ดินทำกิน เพื่อเปลี่ยนเป็นไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ถูกยื่นต่อตัวแทนองค์การของรัฐบาลอเมริกันเพื่อการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ*OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) เนื่องจากบริษัทน้ำตาลฟอกขาวอเมริกัน (American Sugar Refining Company) แห่ง รัฐนิวยอร์ค ผูกขาดการรับซื้อน้ำตาลซึ่งผลิตบนที่ดินพิพาทโดยบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ร่วมกับนักการเมืองมากอิทธิพลของกัมพูชา ก่อให้เกิดปัญหายืดเยื้อ นับตั้งแต่ ปี 2549

เมื่อบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) บริษัทวีวอง สัญชาติไต้หวัน และสมาชิกวุฒิสภากัมพูชา ลี ยง พัด ได้ตั้งสองบริษัทสัญชาติกัมพูชาขึ้นมารับสัมปทานที่ดินเพื่อทำไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล จนทำให้ชาวบ้านในตำบลชุก (Chhouk) ชิกอร์ (Chikhor) และตราเพ็ง กันดาล (Trapeng Kendal) อำเภอสเรอัมเบิล จังหวัดเกาะกง กว่า 450 ครอบครัวกลายเป็นผู้ไร้ที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินโดยทันที โดยปราศจากคำบอกกล่าวและค่าชดเชยที่เหมาะสม และปัจจุบันต้องประสบกับปัญหาความยากจนและขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ทั้งนี้ กรณีการยึดครองที่ดินดังกล่าว ขัดต่อกฎหมายกัมพูชา ทั้งในประเด็นการปรึกษาหารือกับชุมชน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงขนาดของที่ดินสัมปทานที่อนุญาตอีกด้วยโดยยังไร้ทางแก้ไข

บริษัทน้ำตาลฟอกขาวอเมริกัน หรือที่รู้จักกันดีในนาม “โดมิโน่” เป็นคู่สัญญาแต่เพียงผู้เดียวในการรับซื้อน้ำตาลที่ผลิตจากจังหวัดเกาะกง บริษัทฟอกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลกนี้เป็นเจ้าของโดยตระกูลแฟนจูลส์ ครอบครัวคิวบาอพยพที่เคยถูกยึดที่ดินในช่วงการปฏิวัติคิวบา ที่แม้จะแสดงความเห็นอกเห็นใจเล็กน้อยต่อเกษตรกรชาวกัมพูชาผู้สูญเสียทั้งที่ดินและวิถีชีวิตเพื่อการผลิตน้ำตาลให้ตน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้เคยตอบรับต่อความพยายามหลายต่อหลายครั้งของชาวบ้านในการหาทางออกต่อกรณีดังกล่าว ในฐานะบริษัทผู้มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานน้ำตาลแต่อย่างใด

ข้อร้องเรียนต่อOECDดังกล่าว ถูกยื่นผ่านหน่วยงานที่เป็นตัวแทนประสานงานของโออีซีดี ในรัฐบาลอเมริกันที่ทำหน้าที่รับเรื่องพิพาทเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าว เป็นหนึ่งในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดชอบของบรรษัทข้ามชาติในการประกอบธุรกิจซึ่งสหรัฐอเมริกาให้การรับรองไว้ ฉะนั้น การกระทำผิดของบริษัทอเมริกันในประเทศกัมพูชาย่อมอยู่ภายใต้แนวปฏิบัติดังกล่าวด้วย โดยนับเป็นกรณีแรกที่ถูกยื่น ทั้งนี้ การยื่นร้องดังกล่าว ทำโดยศูนย์ศึกษากฎหมายชุมชน (Community Legal Education Center) และองค์กร EarthRigths International (ERI) เป็นผู้ร่วมยื่นแทนประชาชนในชุมชน สอดคล้องกับจุดประสงค์ของประชาชนผู้ร้องเรียนที่กล่าวไว้ว่า “บรรดาบริษัทที่รับซื้อน้ำตาลที่ผลิตบนที่ดินที่เคยเป็นของพวกเรา จะต้องมีส่วนในความรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนของพวกเรา” และ “พวกเราหวังว่ารัฐบาลอเมริกันจะช่วยทำให้บริษัทสัญชาติอเมริกันแสดงความรับผิดชอบได้”

แมน วุดที ทนายความศูนย์ศึกษากฎหมายชุมชน (CLEC)  กัมพูชา อธิบายว่า “ที่ดินคือทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับชาวบ้าน การสูญเสียที่ดินเท่ากับการสูญเสียแหล่งอาหาร ความอุดมสมบูรณ์ และความปลอดภัย วิกฤตดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อคนรุ่นต่อไปอีกด้วย เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่พิพาทต้องให้ลูกหลานออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงาน หรือคอยดูแลวัวควายไม่ให้เข้าไปในเขตสัมปทาน เพราะอาจถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทยิงทิ้งหรือกักไว้เพื่อเรียกเอาเงินค่าไถ่ได้”

บริษัทน้ำตาลขอนแก่นและหุ้นส่วน เริ่มต้นจากการทำข้อตกลงกับบริษัทเทท แอนด์ ไลย์ล (Tate & Lyle) สัญชาติอังกฤษ เพื่อส่งออกน้ำตาลทั้งหมดจากกัมพูชาผ่านสิทธิพิเศษทางการค้าที่เรียกว่า “ทุกอย่างยกเว้นอาวุธ” (Everything But Arms) ไปยังตลาดยุโรป ต่อมาในปี 2553 บริษัทน้ำตาลฟอกขาวอเมริกันได้ซื้อกิจการของบริษัทเทท แอนด์ ไลย์ล ชาวบ้านเชื่อว่าบริษัทน้ำตาลฟอกขาวอเมริกันมิได้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของโออีซีดี ในฐานะผู้ซื้อน้ำตาล ที่ต้องพยายามปฏิบัติต่อคู่ค้าทางธุรกิจ ในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขผลกระทบเชิงลบด้านสิทธิมนุษยชน

ก่อนหน้าการยื่นเรื่องต่อโออีซีดีผ่านทางรัฐบาลอเมริกัน ประชาชนกัมพูชาและเครือข่ายผู้สนับสนุนเรียกร้องกับทุกหน่วยงานที่เป็นไปได้ ทั้งต่อบริษัท ศาลจังหวัดเกาะกง องค์กรตรวจสอบของสหภาพยุโรป สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย ซึ่งได้มีรายงานฉบับย่อออกมาแล้ว (ดูรายละเอียดรายงานได้ที่ http://www.nhrc.or.th/2012/wb/th/news_detail.php?nid=662&parent_id=1&type=hilight) อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเปิดตัวการรณรงค์ในระดับนานาชาติซึ่งมุ่งเป้าไปที่เรื่องของอุตสาหกรรมน้ำตาลโลกกับการยึดครองที่ดินโดยผิดกฎหมายในประเทศกัมพูชา (รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.boycottbloodsugar.net/)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net