ประภาส ปิ่นตบแต่ง "การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง : ฐานคิดและวิธีวิทยา"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้จัดพิมพ์หนังสือ ออกมาวางตลาดสดๆ ร้อนๆ ชื่อ 'การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง : วาทกรรม อำนาจและ พลวัตชนบทไทย' (อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ, บรรณาธิการ) ในหนังสือเล่มนี้รวมบทความแปลของนักวิชาการต่างประเทศที่มีชื่อเสียงด้านไทยศึกษา จำนวน 4 ชิ้น 4 ท่าน คือ วิเลียม เอ. คัลลาฮาน, แอนดรู วอล์คเกอร์, แคเธอรีน อ.เบาร์วี และโยชิโนริ นิชิอิ  หนังสือเล่มนี้ ได้ท้าทายเพดานเดิมของฐานคิดในการศึกษา ที่มีสมมติฐานหรือคำตอบล่วงหน้า ว่าปัญหาประชาธิปไตยไทยคือ การขายเสียงของคนในชนบท  ดังที่อาจารย์ประจักษ์ สรุปว่า การศึกษาพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนชนบท ล้วนตั้งอยู่ในกรอบโครงของนิทานการเมืองเรื่อง 'โง่ จน เจ็บ' งานวิจัยที่ ผ่านมา จึงล้วนมีคำตอบสำเร็จรูปว่า คนชนบทไม่รู้จักเลือกพรรค พิจารณานโยบาย และผู้สมัครที่มีความรู้ ความสามารถ ฯลฯ

โดยมีประโยคและวรรคทองของงานเหล่านี้คือ  "ผู้เลือกตั้งชาวชนบทขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของการเลือกตั้ง และไม่เข้าใจประชาธิปไตย ทำให้ ไม่รู้จักการใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีความหมาย" นอกจากนี้ ยังนิยมศึกษาเปรียบเทียบกับคนในเมืองว่าเป็นคนที่มีการศึกษาดี รับรู้ข่าวสารการเมืองมากกว่า จึงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ดีกว่าชาวชนบทผู้โง่เขลา

ด้านวิธีวิทยาในการศึกษาการเมืองเรื่องการเลือกตั้งกระแสหลักดังกล่าว มักใช้แนวพฤติกรรมนิยมที่มุ่งศึกษาการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของปัจเจกบุคคล ซึ่งครอบงำวงการรัฐศาสตร์และนักวิชาการผู้ศึกษามายาวนาน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณและมีเป้าหมายในการศึกษา คือ การมุ่งหาแบบแผนและปัจจัยที่มีผลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของปัจเจกบุคคล

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ได้วิพากษ์ฐานคิดและวิธีวิทยาแนวพฤติกรรมนิยมว่า การแยกพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงออกจากบริบทของสังคม หรือชุมชนทางการเมืองที่ห้อมล้อมผู้คน ทำให้ลดทอนความเข้าใจการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของผู้คน บทความทั้งหมดโดยนักวิชาการต่างประเทศ ทำให้เห็นว่า  การศึกษาแนวมานุษยวิทยาการเมืองจะช่วยทำให้เข้าใจการเลือกตั้งได้ดีกว่าซึ่งก็คือ การศึกษาที่มุ่งเน้นหาความหมายในการแสดงออกทางการเมืองในทัศนะของ 'คนใน' หรือของผู้คนซึ่งอยู่ในบริบททางเศรษฐกิจการเมือง และมีความสัมพันธ์ในชุมชนการเมืองที่สลับซับซ้อนเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้โดยใช้วิธีการศึกษาด้วยการให้นิสิต นักศึกษา ผู้ช่วยวิจัย ฯลฯ ไปแจกแบบสอบถามแบบโฉบๆ เฉี่ยวๆ เมื่อได้แบบสอบถามแล้วก็เอามาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติและการหาอิทธิพลของตัวแปร และที่สำคัญก็คือ การหมกมุ่นอยู่กับการยืนยันหาคำตอบว่า  เงินหรือการซื้อเสียงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนชนบท

ในบทความ 2-3 ชิ้นที่ผ่านมาของผู้เขียน ก็ชี้ให้เห็นว่า การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนในสังคมชนบท อยู่บนฐานของความสัมพันธ์ในชุมชนที่เกาะเกี่ยวกับพื้นที่ทางสังคมการเมือง ที่ขยายขึ้นมาผ่านการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย การกระจายอำนาจในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา

การทำความเข้าใจการแสดงออกทางการเมืองในลักษณะต่างๆ (การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้สีเสื้อ) ต้องศึกษาผ่าน เครือข่ายความสัมพันธ์ดังกล่าว

การศึกษาเช่นนี้จะทำให้ได้ภาพคำตอบจากชาวบ้านที่อธิบายว่า เขาสัมพันธ์กับพื้นที่การเมือง นักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์กับการเลือกตั้งอย่างไรในบริบทวิถีชีวิตของพวกเขา ฯลฯ

ไม่ใช่ทัศนะของนักวิจัย หรือนักวิชาการ ซึ่งมีคำตอบล่วงหน้าในโครงของนิทานการเมืองว่าด้วยเรื่องโง่ จน เจ็บ และไม่ใช่การศึกษาที่เป็นทาสอยู่กับกรอบแนวคิดทฤษฎี

งานเขียนของนักวิชาการต่างชาติทั้ง 4 ชิ้น จึงล้วนหันมาศึกษาการเมืองเรื่องการเลือกตั้งในสังคมด้วยแนวทางมานุษยวิทยาการเมือง ซึ่งทำให้ได้แง่มุมในการตอบคำถามที่แตกต่างไปจากสมมติฐานเดิมๆ ที่น่าสนใจหลายประการ

ดังงานเขียนของ นิชิซากิ เรื่อง 'การสร้างความมีอำนาจทางศีลธรรมในชนบทไทย' ศึกษากรณีจังหวัดสุพรรณบุรี หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า 'บรรหารบุรี' ซึ่งเขาพบว่า มีปัจจัยที่มากไปกว่าเงินหรือการซื้อเสียงที่ทำให้เกิดภาพของบรรหารบุรีขึ้น นั่นก็คือ การสร้าง อัตลักษณ์ท้องถิ่นนิยม หรือจังหวัดนิยม จนทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเกิดความภาคภูมิใจในจังหวัดตน

นิชิซากิ ตอบคำถามว่า ทำไมชาวสุพรรณฯ จึงเห็นว่า บุคคลที่ชาวกรุงเทพฯ มองว่าเป็นคนที่โกง น่ารังเกียจ กลับเป็นผู้นำที่ดีของชาวบ้าน โดยศึกษาผ่านการสร้างอำนาจทางศีลธรรมของคุณบรรหาร (ศิลปอาชา) ในการดำเนินการโครงการต่อต้านยาเสพติดแบบไม่ใช้ความรุนแรง 'เยาวชนคนดีศรีสุพรรณ' เมื่อปี 2540 ซึ่งปัญหายาเสพติด หรือยาบ้า มีความรุนแรงอย่างมาก

ด้านวิธีวิทยาในการศึกษา นิชิซากิ อาศัยแนวคิดเรื่อง 'รัฐนาฏกรรม' ของ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ เพื่ออธิบายโครงการ 'เยาวชนคนดีศรีสุพรรณ' ในฐานะของพิธีกรรมทางการเมืองที่มีความทรงพลัง และสำคัญยิ่งในการสื่อสารทางการเมืองและกล่อมเกลาทางสังคม ทำให้ คุณบรรหารสามารถใช้แสดง และเน้นย้ำความเป็นผู้นำ ศีลธรรมต่อหน้าผู้ร่วมพิธีกรรม

บทความของนักวิชาการญี่ปุ่นท่านนี้ จึงชี้ให้เห็นว่า นักเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ ต้องสามารถสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ความภาคภูมิใจกับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการซื้อเสียงหรืออิทธิพลมืดและเรียกกระบวนการสร้างอัตลักษณ์นี้ว่า 'การสร้างความมีอำนาจทางศีลธรรม'

ภาพของบรรหารบุรีในสายตาของนักวิชาการรัฐศาสตร์ไทย จึงแตกต่างไปจากสายตาคนใน คือ ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีผู้ลงคะแนน เพราะนี่คือภาพนักการเมืองในอุดมคติของชาวบ้านที่แตกต่างไปจากภาพคุณบรรหาร ศิลปอาชา ที่ถูกแปะป้ายเอาไว้ว่าเป็นนักการเมืองเก่า คร่ำครึ ผู้มีอิทธิพลและใช้ระบบอุปถัมภ์ ซื้อเสียง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง

งานชิ้นนี้ จึงเป็นการหาคำตอบแบบ 'คนใน'  ในการอธิบายความสัมพันธ์ของชาวบ้านสุพรรณฯ  กับคุณบรรหาร ภายใต้สิ่งที่เขารับรู้และสัมผัสผ่านประสบการณ์ปัญหาชีวิตของชุมชน ซึ่ง นิชิซากิ เห็นว่า คนที่ไม่ใช่ชาวสุพรรณฯ ย่อมไม่ตระหนักถึง หรือมองเห็น

งานของ วอล์คเกอร์ เรื่อง 'ธรรมนูญแห่งชนบท  (rural constitution)' ซึ่งเป็นการศึกษาแนวมานุษยวิทยาการเมืองที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง (เช่นเดียวกับอีก 2 ชิ้นที่เหลือ ซึ่งไม่มีพื้นที่พอจะพิจารณาในที่นี้) เสนอในแง่วิธีวิทยาในการศึกษาที่มีลักษณะเดียวกันคือ การทำความเข้าใจการแสดงออกทางการเมืองของคนชนบท จำเป็นต้องเข้าใจ ว่า เขามีรัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่บนค่านิยม ความเชื่อ ประสบการณ์ หรือสิ่งที่สั่งสมถ่ายทอดมาท่ามกลางพัฒนาการของชุมชน และอาจจะแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญในระดับประเทศ

ธรรมนูญดังกล่าวนี้ ทำหน้าที่เป็นกรอบหรือกฎเกณฑ์ในการดำเนินการทางการเมืองในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนชนบท โดยวางอยู่บนระบบคุณค่าและค่านิยมของชุมชนท้องถิ่น กรณีศึกษาบ้านเทียน (นามสมมติ) หมู่บ้านในภาคเหนือแห่งหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับนักเลือกตั้งบนค่านิยม เช่น การนิยมผู้สมัครที่มาจากท้องถิ่นเดียวกัน คาดหวังว่าผู้สมัครจะต้องช่วยเหลือเมื่อได้รับเลือกตั้ง และผู้ที่มีความสามารถในการบริหารที่เข้มแข็งและโปร่งใส

ในงานเขียนชิ้นนี้ ไม่ได้ปฏิเสธภาพของการซื้อสิทธิขายเสียง แต่ต้องการอธิบายให้เห็นถึงการแสดงออกทางการเมืองของชาวบ้าน ภายใต้บริบทของระบบคุณค่าบางอย่างของคนชนบท ชัยชนะของนักเลือกตั้งและพรรคการเมือง ต้องสอดคล้องกับคุณค่าดังกล่าวนี้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงสะท้อนให้เห็นคนชนบทในฐานะผู้กระทำการ มากกว่าเป็นผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์และขับเคลื่อนด้วยกลไกการซื้อสิทธิ-ขายเสียง

เหล่านี้คงพอเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า หนังสือเล่มนี้ ได้เปิดประเด็นและพื้นที่ในการศึกษาการเมืองว่าด้วยการ เลือกตั้งด้วยการเปลี่ยนฐานคิดจากแนวการศึกษาแบบเดิมๆ ที่มองคนชนบทเป็นเหยื่อของการซื้อสิทธิ-ขายเสียง เป็นต้นตอของปัญหาประชาธิปไตยไทยภายใต้นิทาน การเมือง 'โง่ จน เจ็บ' และเสน่ห์ของวิธีวิทยาแบบ มานุษยวิทยาการเมืองที่ควรจะเข้ามาแทนที่แนวพฤติกรรมนิยมให้มากกว่าที่ดำรงอยู่

 

 

ที่มา:  เนชั่นสุดสัปดาห์ 2  พ.ย. 2555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท