Skip to main content
sharethis

31 ต.ค.55 เวลาประมาณ 9.50 น. ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลอาญา รัชดา ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.4857/2554 ที่นายสุรภักดิ์ ภูไชยแสง เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และ มาตรา 3, 14, 17 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2

(อ่านคำพิพากษาฉบับย่อด้านล่าง)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ได้แก่ ผู้พิพากษาณรงค์เดช นวลมณี ผู้พิพากษาสุรพล โตศักดิ์ และผู้พิพากษาอิสริยา ยงพาณิชย์ ส่วนบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีวันนี้มีผู้เข้าร่วมฟังคำพิพากษาจนเต็มห้องทั้งสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ขณะที่เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ประกาศว่าผู้สื่อข่าวสามารถรับคำพิพากษาฉบับย่อได้ที่สำนักเลขานุการศาลอาญา

หลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษาสุรภักดิ์มีอาการยิ้มแย้มและเข้าสวมกอดมารดาก่อนจะถูกคุมตัวไปยังเรือนจำ และคาดว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯในช่วงเย็นวันนี้

สุรภักดิ์กล่าวในภายหลังว่า การประกันตัวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่มาตราในรัฐธรรมนูญกลับกับมีค่าไม่เท่ากัน การไม่ได้รับการประกันตัวทำให้เขามีความยากลำบากในการต่อสู้คดีอย่างมาก ต้องอยู่ในเรือนจำเกือบ 1 ปี 2 เดือน ทำให้สูญเสียทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการงาน ครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจเยียวยาได้ รัฐไทยมีงบประมาณปกป้ององค์กรต่างๆ มากมายแต่กลับไม่มีการปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์

ธิติพงษ์ ศรีแสน ทนายความของสุภักดิ์ กล่าวว่า ไม่ว่าคดีอะไรก็ตาม ถ้าจำเลยต้องติดคุกในระหว่างพิจารณาคดีจะทำให้จำเลยเสียเปรียบ โดยเฉพาะกฎหมายไทยเป็นระบบกล่าวหา และคดีลักษณะนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคซับซ้อน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราควรพูดกันมากกว่าสิทธิการประกันตัวตามที่รัฐธรรมนูญรับรองซึ่งพูดกันมามากแล้ว ก็คือ อำนาจของการไม่ให้ประกันของแต่ละส่วนว่ามีอำนาจแค่ไหน หากเราวางระบบให้ดี ก็จะปิดช่องการใช้ดุลยพินิจที่อาจละเมิดสิทธิประชาชนได้

ส่วนกรณีว่าหากศาลยกฟ้องแล้วจำเลยจะได้ค่าชดเชยการถูกคุมตัวในเรือนจำหรือไม่นั้น กรณีนี้สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ไม่น่าจะเข้าข่าย เนื่องจาก ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 มาตรา 20 บัญญัติว่า จำเลยที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ต้องค่าชดเชยดังกล่าวจะให้ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขหลัก ๆ คือ (1) เป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ (2) ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี และ (3) ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

สาวตรีระบุต่อว่า หากศาลพิพากษาแค่เพียงยกประโยชน์แห่งความสงสัย คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา" จะใช้และตีความบทบัญญัตินี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน (3) ว่า ต้องเป็นกรณีที่ศาลตัดสินโดยชัดเจนเท่านั้นว่า "จำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด" หรือ "การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด" คือ มีเหตุยกเว้นความผิดนั่นเอง จึงจะจ่ายค่าทดแทนให้ หากศาลพิพากษาแค่เพียงว่า "ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย" คณะกรรมการฯ จะไม่จ่ายค่าทดแทนให้

 

 

คำพิพากษาย่อ

(จัดย่อหน้าและทำตัวเน้นโดยประชาไท)

คดีหมายเลขดำที่ อ.๔๘๕๗/๒๕๕๔

  คดีหมายเลขแดงที่

ศาลอาญา

วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด                      โจทก์

            ระหว่าง

                        นายสุรศักดิ์หรือสุรภักดิ์ ภูไชยแสงหรือภูไชยแสนหรือภูไชแสง จำเลย

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสร้างอีเมล์ส่วนตัวชื่อ dorkao@hotmail.com และใช้งานในลักษณะเป็นเจ้าของแล้วใช้อีเมล์ดังกล่าวสร้างบัญชีผู้ใช้ (โปรไฟล์) ในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก (Facebook) ชื่อ “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” ขึ้น และจำเลยได้เขียนข้อความอันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แล้วนำข้อความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๑, ๑๑๒ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓, ๑๔, ๑๗ ริบของกลาง

            จำเลยให้การปฏิเสธ

            พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าจำเลยมีที่อยู่อีเมล์ของ dorkao@hotmail.com และรหัสผ่านเฟซบุ๊ก “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” ที่ลงทะเบียนไว้ในระบบแต่อย่างใด ทั้งได้ความว่ารหัสผ่านที่จำเลยเขียนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นรหัสผ่านสำหรับใช้เปิดคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กของจำเลยเท่านั้น และเป็นรหัสผ่านเดียวกันกับที่อยู่อีเมล์และเฟซบุ๊กในชื่อ surapach_phuchaisang@hotmail.com ของจำเลยเอง ซึ่งตามปกติแล้วผู้เป็นเจ้าของบัญชีผู้ใช้ย่อมต้องปกปิดรหัสสำหรับผ่านเข้าสู่ระบบอีเมล์หรือเฟซบุ๊กเป็นความลับเพื่อไม่ให้คนอื่นเข้าถึงข้อมูลของตนได้ แต่ปรากฏว่าหลังจับกุมจำเลยและควบคุมตัวไว้นั้น ยังมีบุคคลอื่นเข้าใช้งานอีเมล์ dorkao@hotmail.comอยู่อีก

             ที่โจทก์นำสืบว่ารหัสอีเมล์แอดเดรสอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของบุคคลใดและอีเมล์แอดเดรสนั้นมีการใช้เฟซบุ๊กจะสามารถบอกได้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กก็เพียงเป็นความเข้าใจของพยานโจทก์เท่านั้น โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนให้รับฟังได้เช่นนั้น ซึ่งจากการตรวจแฟ้มข้อมูลบันทึกประวัติการเข้าใช้งานไปรษณีย์อีเล็กทรอนิกส์ InboxLight[2].htm ระบุถึงชื่อ dorkao@hotmail.com และประวัติการเข้าใช้เว็บไซด์เฟซบุ๊ก home[1].htm ซึ่งระบุถึงชื่อโปรไฟล์ “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” พบว่ามีบันทึกอยู่ในคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กของจำเลยที่ยึดเป็นของกลางอย่างละ ๑ รายการ โดยพบประวัติการใช้อีเมล์และเฟซบุ๊กในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ และ ๘ มกราคม ๒๕๕๔ ตามลำดับ ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนวันเวลาที่มีการเขียนข้อความตามที่โจทก์ฟ้องนานหลายเดือน หากมีการใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กของกลางเขียนข้อความตามที่โจทก์ฟ้องจริงก็น่าจะตรวจพบประวัติการใช้ในช่วงวันเวลาดังกล่าวบ้าง แต่กลับตรวจไม่พบประวัติการใช้แต่อย่างใด และไม่พบความเชื่อมโยงระหว่าง อีเมล์แอดเดรส dorkao@hotmail.com กับเจ้าของเฟซบุ๊ก “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร”

             นอกจากนี้ข้อมูลที่แสดงรายละเอียดหัสต้นฉบับยังสามารถคัดลอกจากเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นได้โดยใช้เวลาไม่ถึง ๑ วินาที ซึ่งประการนี้จำเลยได้นำสืบต่อสู้ว่าแฟ้มข้อมูลและรหัสต้นฉบับตามที่ตรวจพบนั้นเป็นแฟ้มที่ไม่อาจพบอยู่ในพื้นที่จัดเก็บข้อมูลปกติ และไม่ได้เกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ต แต่ถูกทำขึ้นแล้วนำไปวางไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง และคุณสมบัติด้านเวลาของแฟ้มมีความผิดปกติ โดยระหว่างสืบพยานจำเลยได้แสดงวิธีคัดลองแฟ้มให้ดู ผลปรากฏว่าสามารถกระทำได้จริง เมื่อพิจารณารายงานการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ของกลางโดยละเอียดแล้ว พบว่า มีความผิดปกติหลายประการดังที่จำเลยนำสืบจริง

               และเนื่องจากข้อมูลลักษณะดังกล่าวอาจถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ดังนั้นในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์จึงต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของลักษณะหรือวิธีการที่ใช้สร้าง การเก็บรักษา ความครบถ้วน ซึ่งต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความ ลักษณะหรือวิธีการที่ใช้ในการระบุหรือแสดงตัวผู้ส่งข้อมูล รวมทั้งพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางการเก็บรักษาพยานหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ที่ต้องพยายามรักษาข้อมูลต้นฉบับไว้ เพราะการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละครั้งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ข้อมูลอาจถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย แต่ปรากฏว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของจำเลยไว้แล้ว กลับมีผู้เปิดใช้งานคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของกลางในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๒๐.๑๓.๔๔ นาฬิกา และวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๒๑.๑๒.๐๗ นาฬิกา ซึ่งเป็นวันก่อนที่จะถูกส่งไปให้ว่าที่พันตำรวจตรีนิติทำการตรวจพิสูจน์ อันอาจเป็นช่องทางให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของกลางได้ง่าย จึงทำให้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของกลางมีข้อบกพร่องกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ยังไม่อาจรับฟังได้แน่ชัดว่า ข้อมูลการใช้อีเมล์ dorkao@hotmail.com และเฟซบุ๊ก “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” เกิดขึ้นจากการใช้งานจากเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของจำเลย

              พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง

 

              พิพากษายกฟ้อง

 

 

*มีการเพิ่มเติมเนื้อหาเวลา 18.15 น. (31 ต.ค.55)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net