โครงสร้างความสัมพันธ์ของสังคมไทยใน 'แรงเงา'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กระแสที่มาแรงที่สุดบน face book ของมหาชนชาวสยามเวลานี้ คงจะหนีไม่พ้นรายการ “The Voice” และละครโทรทัศน์เรื่อง “แรงเงา” ซึ่งเรียกได้ว่า เมื่อรายการทั้งสองเล่นเมื่อไหร่ ข่าวสารเกี่ยวกับการบ้านการเมืองแทบจะหายไปชั่วขณะ

ในกรณีละครเรื่อง “แรงเงา” นั้น ความ “แรง” ของมันได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงและข้อวิจารณ์กันมากมายในหลายวงการ เริ่มตั้งแต่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรมเลื่อนละครไปฉายหลังสี่ทุ่ม เนื่องจากความรุนแรงของเนื้อหา[1] หรือจะเป็นเจ้าเก่าอย่างคุณหญิงระเบียบรัตน์ก็ออกมาตีโพยตีพายว่า ละครดังกล่าวสร้างความเสื่อมเสียให้ “สถาบันเมียหลวง” [2] (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคืออะไร) ไม่เว้นแม้กระทั่งนักวิชาการมีชื่อหลายท่านก็ออกมาพูดถึงละครดังกล่าวอีกด้วย[3]

สำหรับผู้เขียนนั้นมิได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของละครเรื่องดังกล่าว แต่เนื่องจากบุคคลใกล้ชิดตกอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า “ติดงอมแงม” ผู้เขียนจึงได้ติดตามละครเรื่องดังอยู่บ้างเป็นครั้งคราว กระนั้นก็ตาม จากการติดตามแบบห่างๆ อย่างห่วงๆ  เช่นนี้กลับพบว่า ละครเรื่องดังกล่าวมีความน่าสนใจมากกว่าประเด็นเรื่องการตบตีแย่งผัว แย่งเมีย แต่พบว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยได้ดีทีเดียว แม้ว่าจะไม่ชัดเจนและจงใจนักก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเองไม่ใช่นักวิจารณ์มืออาชีพ สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้ จึงคล้ายกับการจับแพะชนแกะ พยายามลากเรื่องราวในเนื้อเรื่องให้เข้าสู่โครงเรื่องที่ผู้เขียนวางเอาไว้ ดังนั้น ท่านผู้อ่านจึงอย่าหวังที่จะหาความเป็นวิชาการ หรือบทวิจารณ์ที่เข้มข้นลึกซึ้งจากบทความของผู้เขียนฉบับนี้

ผู้เขียนเห็นว่า “แรงเงา” เป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่าง “บ้าน” กับ “เมือง” ในช่วง 50 ปีหลังนี้เป็นอย่างดี โดยแสดงผ่านตัวละครต่างๆ ที่สัมพันธ์กันอย่างสับสนวุ่นวายภายในเนื้อเรื่อง ซึ่งผู้เขียนได้แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ดังต่อไปนี้ หนึ่งคือ “พวกผู้ดีเก่า” สะท้อนผ่านตัวละครคือ “ผอ.เจนภพ” สองคือ “พวกผู้ดีใหม่” สะท้อนผ่านครอบครัวเมียหลวง “นพนภา” สามคือ ชนชั้นกลางในเมืองกรุง สะท้อนผ่านพระเอกของเรื่อง “วีกิจ” สี่คือ “ชนบทเก่า” ผ่านตัวละคร “มุตตา” และสุดท้ายคือ “ชนบทใหม่” ผ่านนางเอกสุดร้าย มากฤทธิ์อย่าง “มุนินทร์”

เจนภพ: ผู้ดีเก่าตกอับ
เจนภพ เป็นข้าราชการตัวเล็กๆ (ตามคำนิยามของนพนภาภรยาของเขา) ผู้อำนวยการกองพัสดุ สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางเก่า ซึ่ง (น่าจะ) เคยเฟื่องฟูมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตราบถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งถือว่าเป็นยุคสมัยที่กลุ่มขุนนางข้าราชการมีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจภาคเอกชนเฟื่องฟูขึ้นหลังนโยบายการพัฒนาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ได้ทำให้การทำมาค้าขายเป็นภาคธุรกิจที่นำมาซึ่งความมั่งคั่งอย่างมหาศาล ขุนนางเก่ากลุ่มนี้ไม่สามารถปรับตัวได้ จนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มคนที่เหลือแต่เกียรติ ไม่มีเงินทองพอที่จะประคับประคองตนเองให้ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างสมฐานะ ดังที่เจนภพพูด (กึ่งหลอก) กับมุตตาไว้ว่า “เรื่องของผมมันน่าอาย มันยิ่งกว่าละครน้ำเน่าเสียอีก บ้านผมเป็นตระกูลขุนนางเก่า มีแต่เกียรติไม่มีเงิน ยิ่งคุณพ่อผมอยากทำธุรกิจ แต่ไม่มีประสบการณ์ ลงท้ายเป็นหนี้สินกว่าสิบล้าน” ทางออกหนึ่งของคนกลุ่มนี้จึงอยู่ที่การสร้างความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับพวกผู้ดีหรือเศรษฐีใหม่อย่างครอบครัวของนพนภา จนกระทั่งมีสถานะเป็น “..ปูกล้ามโพลก มีแต่เปลือก เกาะเมียกินเป็นแมงดาอยู่ทุกวัน” (นพนภา)

นพนภา: เศรษฐีใหม่ผู้ฝักใฝ่ในเกียรติยศ
ครอบครัวของนพนภาเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์จากนโยบายพัฒนา เติบโตมาจากการค้าและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (เล็กๆ น้อยๆ ตามคำของนพนภา) คนกลุ่มนี้แม้จะสะสมความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาได้ แต่ในจิตใจลึกๆ แล้วกลับยังรู้สึกว่าตนเองเป็นพวกไร้ราก ไร้เกียรติยศ จึงต้องสร้างความสัมพันธ์กับพวกตระกูลขุนนางเก่าอย่างเจนภพ เนื่องจากว่า “บ้านของเขามีเงินล้นฟ้า แต่ไม่มีเกียรติไงครับ” (เจนภพ) ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะดิ้นให้หลุดออกจากภาพพ่อค้าหน้าเลือด ผู้ที่พร้อมจะกดขี่ขูดรีดคนอื่นอย่างๆ ไร้มนุษยธรรมเพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ดังที่เนตรนภิศกล่าวถึงพฤติกรรมของพี่สาวของตนเองไว้ว่า “ก็วิธีตอบแทนใครๆ ของพี่สาวชั้นไง เอาเงินฟาดหัวมันเข้า มันจะได้คลานมามอบแล้วกระดิกหางทุกครั้งเวลาเรียกใช้”

นอกจากนั้น การสร้างสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับพวกตระกูลข้าราชการ ยังเป็นวัฒนธรรมสำคัญของนายทุนไทยในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะในยุคของเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์จนถึงจอมพลถนอมนั้น การมีเส้นสาย มี connection กับข้าราชการย่อมนำมาซึ่งสัมปทานและสิทธิพิเศษต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งย่อมเป็นผลประโยชน์กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของนพนภาอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งพันธมิตรระหว่างเจนภพ (ขุนนางข้าราชการ) กับนพนภา (นักธุรกิจนายทุน) นั้น พร้อมที่จะกดขี่บีฑาชนบท/ชาวบ้านอย่างมุตตาให้จมดิน จนกระทั่ง “มุตตาสูญเสียจนไม่เหลืออะไรเลย จากฝีมือมนุษย์ที่มีหัวใจเป็นสัตว์” (มุนินทร์)

วีกิจ: ชนชั้นกลางเมืองกรุงผู้หมดจด งดงาม
วีกิจเป็นตัวแทนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่เติบโตมาจากนโยบายการพัฒนาเช่นเดียวกัน เขาถูกเลี้ยงดูมาแบบครอบครัวเดี่ยวในเมืองโดยแท้ ดังที่เขาได้เล่าให้มุตตาฟังว่า “พ่อผมตายตั้งแต่ผม 10 ขวบเอง แม่เลี้ยงผมมาตัวคนเดียว แม่ผมน่ะเป็นซูเปอร์มัมตัวจริงฮะ” เขาสมาทานศีลธรรมแบบชนชั้นกลางอย่างเต็มที่ เลือกที่จะเป็นข้าราชการตัวเล็กๆ เจียมเนื้อเจียมตัว กินอยู่อย่างพอเพียง ไม่ทำตัวโอ้อวดใหญ่โต แม้ว่าจะมีอาเป็นถึงผู้อำนวยการของหน่วยงานที่ตนทำงานอยู่ และเขาก็ไม่เคยคิดจะใช้บารมีของอาเพื่อส่งเสริมตนเองเลย ดังที่เขาได้กล่าวตอนที่นพนภาสร้างภาพออกสื่อไว้ว่า “พรุ่งนี้มีรายการสร้างภาพอีกแล้วซิฮะ...ให้อาภพกับอานภาเป็นพระเอกนางเอกไปเถอะฮะ ผมไปด้วยเดี๋ยวแย่งซีนเปล่าๆ”

บทละครเรื่อง “แรงเงา” มอบบทบาทสำคัญให้กับวีกิจ (กลุ่มชนชั้นกลาง) เขาเป็นคนที่คอยให้ความช่วยเหลือดูแลมุตตา สาวชนบทที่ต้องมาเผชิญกับชาวเมืองผู้โหดร้าย นอกจากนั้นเขายังเป็นตัวกลางที่ต้องคอยไกล่เกลี่ย สร้างความเข้าใจ สร้างความสมาฉันท์ให้กับความแตกแยกของเจนภพ (ขุนนางเก่า) นพนภา (พ่อค้านายทุน) มุนินทร์ (สาวชนบทสมัยใหม่) และมุตตา (สาวชนบทแบบเก่า) อีกด้วย

ในเนื้อเรื่องนั้น วีกิจเพียงแค่แอบเมตตา สงสาร เอ็นดู และคอยช่วยเหลือมุตตา (ชนบทแบบเก่า) จากการถูกรังแกจากรัฐและทุน (ผอ.เจนภพและภรรยา) แต่เขากลับ “หลงรัก” มุนินทร์ สาวชนบทใหม่ผู้มาดมั่น มีความรู้ เปี่ยมด้วยพลังอย่างสุดหัวใจ ดังที่ตัวเขาได้สารภาพกับมุนินทร์ไว้ว่า “เมื่อปีก่อน ผมเคยขอคบคุณเป็นแฟนแต่คุณปฏิเสธ รู้ไหมฮะวันนั้นผมไม่เจ็บเท่าไหร่ ผมถึงบอกตัวเองว่าผมคงไม่ได้รักคุณ แต่ช่วงหลังนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป คราวนี้มันกลับเจ็บ เจ็บอย่างที่ผมไม่เคยคิดว่ามันจะเจ็บได้ถึงขนาดนี้”

มุตตา: ชนบทแบบเก่า ถูกเหยียบย่ำ รังแก และไร้พิษสง
มุตตาเปรียบได้กับชาวชนบทรุ่นแรกที่ต้องอพยพเข้าสู่เมืองภายหลังนโยบายการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ เธอเป็นชาวชนบทที่ไร้พิษสง “ไม่ใช่คนเข้มแข็ง..เปราะบางเกินไปด้วยซ้ำ” (วีกิจ) แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่งก็ “ดูบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนน้ำค้างกลางหาว” (สรรค์ เพื่อสนิทของเจนภพ) ซึ่งความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาของเธอ ทำให้เธอต้องหลงติดกับอยู่ในวังวนคำหวานของเจนภพ ที่พร่ำพรรณนาบอกกับเธอว่า “ผมรักตา ตาคือทุกสิ่งทุกอย่าง คือชีวิต คือลมหายใจของผม” จนกระทั่งเธอต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป

ประโยคเด็ดประโยคนี้ เปรียบดั่งโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐบาลเผด็จการทหารในสมัยพัฒนา ที่พร่ำบอกกับประชาชนอยู่เสมอว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ซึ่งเมื่อชาวชนบทหลงเชื่อ ก็ต้องเผชิญกับความฉิบหายวายวอด และสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างไม่มีทางที่จะหวนกลับ

มุตตาจึงเป็นดังตัวแทนของชาวชนบทจำนวนมากที่ถูกปู้ยี่ปู้ยำจากรัฐและทุน จนสูญเสียทั้งเรือนร่าง ความบริสุทธิ์ ครอบครัว เครือญาติ จนกระทั่งวิญญาณ

มุนินทร์: ชนบทใหม่ผู้ไม่ศิโรราบ
แม้ว่านโยบายการพัฒนาจะได้ “ฆ่า” ชาวชนบทแบบเก่าอย่างมุตตาไปจากโลก แต่ในทางตรงกันข้าม นโยบายดังกล่าวก็ได้สร้างชาวชนบทแบบใหม่อย่างมุนินทร์ขึ้นมาด้วย เธอปรากฏตัวในละครฉากแรกในฉากสุดท้ายของมุตตา ดังนั้น ด้านหนึ่งของความตายของมุตตาก็คือการเกิดขึ้นมาของมุนินทร์

มุนินทร์เป็นสาวชนบทสมัยใหม่ผู้มาดมั่น เปี่ยมด้วยความรู้ เธอเรียนหนังสือและทำงานอย่างหนักหน่วงเพื่อเลื่อนชนชั้น จนรายได้ (นอกภาคการเกษตร) ที่เธอหามาสามารถเปลี่ยนฐานะของครอบครัวจากร้านขายกาแฟโบราณเล็กๆ จนกลายเป็นเจ้าของไร่ดอกไม้ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งจากประสบการณ์การสร้างเนื้อตัวด้วยลำแข้งดังกล่าว ทำให้เธอไม่ใช่ชาวชนบทที่ยอมก้มหัวศิโรราบให้แก่รัฐและทุนอีกต่อไป ดังที่เธอได้ประกาศกร้าวไว้ว่า “มุตตาคนเดิมไม่กลับมาแล้ว” แต่กระนั้นมุตตาก็ “จะไม่ตาย จะอยู่ค้ำฟ้าไปจนกว่าเขาทั้งสองคนจะพินาศไปก่อน”

เธอกลับมาเรียกร้องความยุติธรรม ในลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งมาดใหม่ของเธอนั้นได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับทั้งมิตรและศัตรู วิธีการ “เอาคืน” ของเธอทำให้วีกิจและกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ซึ่งมุนินทร์ได้อธิบายการกระทำของเธอเอาไว้ว่า “ฉันทำอย่างนั้นเพราะว่าฉันเป็นคน หรือคุณคิดว่าพวกคุณเท่านั้นที่เป็นคน แต่คนอื่น เป็นแค่สัตว์เดียรัจฉาน” ซึ่งสาวชนบทใหม่อย่างเธอนั้น ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ดังที่เธอเองได้อธิบายไว้ในอีกตอนหนึ่งว่า “ตาเลือกแบบนั้น มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะเลือก มันอาจไม่ถูกต้อง แต่ตาเลือกไปแล้ว ในขณะที่ฉันเลือกที่จะให้ตายังอยู่ และกลับไปเรียกหาความยุติธรรม”

บทส่งท้าย
ละครเรื่องนี้มอบบทบาทสำคัญให้กับหนุ่มชนชั้นกลางอย่างวีกิจ ในการเป็นโซ่ข้อกลาง เรียกสติสตางค์ และสร้างความเข้าใจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ จนนำมาสู่การอโหสิกรรมเลิกแล้วต่อกัน (สมานฉันท์??) ในที่สุด

แต่หากพิจารณาในบริบททางการเมืองไทยปัจจุบันแล้ว กลุ่มคนที่ไร้สติรองจากพวกขุนนางมากที่สุดก็ดูเหมือนจะเป็นพวกชนชั้นกลางในเมืองกรุงอย่างวีกิจ พวกเขารังเกียจชาวชนบทใหม่อย่างมุนินทร์ ที่เข้ามาเรียกร้องหาความยุติธรรมในกรุงเทพฯ และพร้อมที่จะใช้ยาขนานใดก็ได้เพื่อกวาดล้างเชื้อโรคเหล่านั้นออกไปให้สิ้นซาก ด้วยทัศนคติเช่นนี้ จึงเป็นไปได้ยากยิ่งที่เราจะพบจุดจบแบบสมานฉันท์อย่างที่ละครเรื่องนี้ได้วาดภาพเอาไว้ ซึ่งลึกๆ แล้ว “มุนินทร์” ก็ตระหนักถึงจิตใจของ “วีกิจ” เป็นอย่างดี เพราะเธอได้รำพันถึงมุตตาไว้ว่า “เขารักเธอ ไม่ได้รักฉัน” เพราะว่าในสายตาของชนชั้นกลางนั้น ชนบทที่น่ารัก บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา น่าคบหากว่ากันเยอะ

 

หมายเหตุ: คำพูดของตัวละครต่างๆ อ้างอิงจาก นิตยสารภาพยนตร์ ฉบับละคร, ปีที่ 9 ฉบับที่ 755. ซึ่งทำให้อาจจะไม่ตรงกับที่ปรากฏในละครทีวีมากนัก



[3] อาทิเช่น ยุติ มุกดาวิจิตร, “ทำไมพระเองมันโง่จัง” ใน http://blogazine.in.th/blogs/yukti-mukdawijitra/post/3707 และ ธเนศร์ เจริญเมือง, “แรงเงา-แรงซ้ำรอยเดิมๆ” ใน http://www.prachatai.com/journal/2012/10/43357

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท