Skip to main content
sharethis

 

พรุ่งนี้ (31 ต.ค.55)  เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา จะมีการพิพากษา คดีของนายสุรภักดิ์ จำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

 

สุรภักดิ์ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 ก.ย.54 ไม่ได้ประกันตัวและอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน

สุรภักดิ์ อายุ 40 ปี เป็นโปรแกรมเมอร์ที่เพิ่งจัดตั้งบริษัทของตนเอง รับจ้างออกแบบระบบให้บริษัทเอกชนต่างๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วย

เขาถูกกล่าวหาว่า เป็น “เจ้าของ” บัญชีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “เราจะครองxxxx”  โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดทั้งสิ้น 6 ข้อความ แต่เมื่ออัยการทำคำฟ้องปรากฏเพียง 5 ข้อความ (4 พ.ค.54, 18 มิ.ย.54, 22 มิ.ย.54, 23 มิ.ย.54, 16 ส.ค.54) ดังนั้น หากศาลพิพากษาให้เขามีความผิดจริง เขาจะมีความผิด 5 กรรม

สุรภักดิ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวน โดยระบุด้วยว่า ไม่ใช่เจ้าของอีเมล์และเฟซบุ๊กดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังสุรภักดิ์ถูกจับกุม เฟซบุ๊กบัญชีนี้ยังเปิดใช้งานและมีความเคลื่อนไหวอยู่

ความเป็นมาของคดีนี้เริ่มต้นจาก มีประชาชนทั่วไปชื่อ มานะชัย แจ้งเบาะแสไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. โดยแจ้งว่ามีเฟซบุ๊คที่กระทำความผิดดังกล่าว มีเจ้าของเป็นนายสุรภักดิ์ พร้อมให้ชื่อ-นามสกุล-ที่อยู่ แก่เจ้าหน้าที่ด้วย โดยในการสืบพยานในศาล เจ้าหน้าที่เบิกความว่าไม่รู้และไม่ได้ตรวจสอบว่าบุคคลผู้ให้เบาะแสนี้คือใคร และไม่สามารถนำตัวผู้แจ้งเบาะแสมาเบิกความได้

จากนั้นไม่นานจึงมีนักศึกษาราชภัฏคนหนึ่งไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ ทำให้เรื่องนี้เป็นคดีขึ้นมาอย่างเป็นทางการ พยานปากนี้ขึ้นเบิกความในชั้นศาลด้วย ซึ่งทั้งพยานและจำเลยไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ตาม พยานปากนี้ระบุว่าได้ปลอมตัวเป็นคนเสื้อแดงเข้าไปเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาดังกล่าว จึงสามารถเห็นข้อความหมิ่นที่ถูกโพสต์ได้ และทำการ capture หน้าจอ ปริ๊นท์ออกมาเป็นหลักฐานให้ตำรวจ

นักศึกษาราชภัฏยังระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างอีเมลและเฟซบุ๊กที่กระทำผิดไว้ว่า พยานเป็นสมาชิกในอีเมลกรุ๊ปหนึ่งของกูเกิลกรุ๊ป และได้นำอีเมลสมาชิกคนหนึ่ง คือ dorkao@hotmail.com (ดอกอ้อ) ไปค้นหาใน google ผลการค้นหาพบหน้าเฟซบุ๊กบัญชี เราจครองxxxx จึงสันนิษฐานว่าเจ้าของอีเมลนี้เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวด้วย ต่อมาจึงได้ทราบในภายหลังจากตำรวจว่า อีเมลดังกล่าวนั้นคือนายสุรภักดิ์

สิ่งที่น่าสนใจในคดีนี้ คือ การต่อสู้กันระหว่างพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยและตัวจำเลยเอง กับ พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นกองพิสูจน์หลักฐาน , เนคเทค (ไอซีที)

กองพิสูจน์หลักฐานซึ่งตรวจสอบคอมพิวเตอร์ของกลางระบุว่า ไม่พบถ้อยคำหมิ่นสถาบันตามที่พนักงานสอบสวนให้ตรวจเช็คหลายรายการ แต่พบร่องรอยการใช้อีเมล dorkao@hotmail.com  และการใช้เฟซบุ๊กเจ้าปัญหาในฐานะเจ้าของเพจ โดยทำการกู้จาก temporary file  ขึ้นมาได้อย่างละ 1 ไฟล์

อย่างไรก็ตาม ข้อต่อสู้ที่สำคัญของฝ่ายจำเลยคือ คอมพิวเตอร์ของกลางดังกล่าวมีการเปิดใช้เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในวันที่ 2 ก.ย.เวลากลางคืน และ 7 ก.ย.54 (อ้างอิงตามเอกสารที่อยู่ในสำนวนคดี) ทั้งที่จำเลยถูกจับกุมและอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.54 ช่วงบ่ายแล้ว ซึ่งเมื่อพยานจากกองพิสูจน์หลักฐานดูเอกสารก็รับว่าเป็นเช่นนั้น

ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ใช้ในการต่อสู้ เนื่องจากคดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีหลักการที่ต้องไม่เปิดคอมของกลางอีกเลย ดังที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีนี้ก็ได้เบิกความไว้ว่าการส่งคอมพิวเตอร์จากพนักงานสอบสวนไปให้กองพิสูจน์หลักฐานต้องผนึกหีบห่ออย่างดี จะเปิดได้ต่อเมื่อส่งถึงผู้ชำนาญการแล้วและมีการทำสำเนาข้อมูลออกมาโดยไม่เปิดเครื่อง ที่ทำเช่นนี้เพราะถ้าเปิดดูก่อนเครื่องจะบันทึกการเปิดเครื่องไว้ทำให้เกิดความเสียหายต่อหลักฐานที่ได้มา

นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้กันว่า temporary file หรือ cache ที่เจ้าหน้าที่กู้ได้และใช้เป็นหลักฐานในคดีนี้ เป็นเอกสารจริงหรือไม่

เนื่องจากฝ่ายจำเลยชี้ว่าฮอตเมลและโดยเฉพาะเฟซบุ๊ก จะมีระบบที่กำหนดไม่ให้คอมพิวเตอร์ผู้ใช้งานเก็บ temporary file ใดๆ ที่เกี่ยวกับการใช้งาน อีกทั้งตามหลักฐานในสำนวนยังพบว่ามีการเก็บไฟล์ดังกล่าวใน partition ที่สองของเครื่อง ไม่ใช่ partition หลัก ซึ่งเชื่อว่าผิดปกติ

ที่สำคัญฝ่ายจำเลยระบุว่า ไฟล์ที่เกิดจาก cache file จะไม่มี source code ในภาษา html ส่วน source code ที่เจ้าหน้าที่ได้มาและใช้เป็นหลักฐานในคดีนั้นเป็นการ copy มาจากหน้าเว็บโดยการเข้าไปในเว็บไซต์เฟซบุ๊กแล้วคลิกขวาคัดลอก source code โดยเปลี่ยนข้อความให้เป็นอีเมลที่ต้องการ (dorkao@hotmail.com  เพื่อระบุความเป็นเจ้าของ-ประชาไท) แล้วนำมาลงไว้ใน partition 2 เสมือนว่าเจ้าของเครื่องได้เข้าไปใช้เว็บไซต์นั้นจริงๆ อีกทั้งในเอกสาร source code ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นหลักฐานการเข้าใช้เฟซบุ๊กเพจ ก็เป็นภาษา htm ขณะที่ source code ของเฟซบุ๊กใช้ภาษา php  

ดังนั้นจำเลยจึงสันนิษฐานว่า ไฟล์ที่เอามาใช้ฟ้องคดีนี้เป็นการคัดลอก source code จากเว็บมาวางใน note pad แล้วแก้ไขสาระสำคัญที่ต้องการ จากนั้นก็ทำการบันทึกซึ่งจะบันทึกเป็นนามสกุลใดก็ได้ ในกรณีนี้บันทึกเป็นนามสกุล html แล้วนำไปเก็บไว้ในเครื่อง จากนั้นใช้โปรแกรม internet explorer อ่าน โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็ได้ เพราะไฟล์ลักษณะนี้เป็นชิ้นส่วนของเว็บไซต์ที่ไม่ต้องต่ออินเทอร์เน็ต และสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยคำได้ จากชื่อเพจดังกล่าวจะเปลี่ยนให้เป็นเพจเรารักในหลวงก็สามารถทำได้

คำเบิกความของทั้งสองฝ่ายก็ต่างสนับสนุนข้อสันนิษฐานของตนเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับคดีนี้คือ การที่ศาลอนุญาตให้มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาร่วมประกอบการอธิบาย โดยให้ฉายผ่านโปรเจกเตอร์ไปยังผนังห้องเพื่อให้เห็นกันได้อย่างสะดวก ขณะในคดี 112 ที่เกี่ยวพันกับคอมพิวเตอร์ก่อนหน้านี้ ศาลมักไม่อนุญาตให้เอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ประกอบ ด้วยเหตุผลว่าไม่ว่าเรื่องจะซับซ้อนเพียงใดก็สามารถใช้การอธิบายผ่านปากผู้เชี่ยวชาญของสองฝ่ายได้ และเปิดไปศาลก็ไม่เข้าใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีนี้อนุญาตให้มีการใช้คอมพิวเตอร์ประกอบการอธิบาย ทำให้ฝ่ายจำเลยสามารถเรียกร้องให้พยานฝ่ายโจทก์สาธิตให้ดูว่า การเปิดใช้เฟซบุ๊กจะมีการเก็บ temporary file หรือไม่  ซึ่งปรากฏว่าไม่มี แต่พยานโจทก์ระบุว่าอาจเป็นเพราะ browser ของคอมพิวเตอร์ที่กำหนดให้เก็บหรือไม่เก็บก็ได้ นอกจากนี้ฝ่ายจำเลยยังมีการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสาธิตให้ดูได้ว่า ไฟล์ html ไม่สามารถใช้กับเฟซบุ๊คได้ การปรับแต่งหลักฐาน หากจะมีเกิดขึ้นนั้นกระทำได้ง่ายเพียงใด และสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าวันเวลาให้เป็นตามต้องการได้ด้วย ส่วนผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อแสดงให้ศาลเห็นได้ว่า source code ของเฟซบุ๊กในส่วน header จะมีคำสั่งไม่ให้เครื่องผู้ใช้มีการเก็บ cache file จริง

หากจะดูรายละเอียดของคดีไล่ตั้งแต่การจับกุมจนถึงการเบิกความของพยานปากต่างๆ ทั้งของโจกท์และจำเลย แหล่งข้อมูลที่ละเอียดที่สุดในเวลานี้ก็คือ เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม หรือ iLaw  (คดีสุรภักดิ์ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/176#detail ) ก่อนจะรับฟังคำพิพากษาร่วมกันในวันที่ 31 ต.ค.นี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net